ทำวิดีโอต้องไวรัลเท่านั้นหรือ?

  • 253
  •  
  •  
  •  
  •  

Viral_Video_2

พักเรื่องเว็บไซต์ มาคุยเรื่องวิดีโอกันสักหน่อยครับ ปีนี้คงเป็นอีกปีทองของสื่อรูปแบบวิดีโอ แบรนด์เองก็มาผลิตวิดีโอคอนเทนท์กันอย่างต่อเนื่อง เราจะได้ยินการกล่าวถึงวิดีโออยู่สองประเภท คือ ไวรัลวิดีโอ กับ อินฟลูเอนเซอร์วิดีโอ มันเหมือนหรือต่างกันอย่างไร?

พูดถึงสื่อวิดีโอ ตัววัดที่เกี่ยวข้อง ที่สำคัญ ที่เป็นที่รู้จักกัน ก็คือจำนวนวิว (video views) ซึ่งหมายถึงจำนวนครั้งของการชม ผู้ชมหนึ่งคน อาจจะชมวิดีโอตัวเดิมมากกว่า 1 วิว ก็เป็นได้ เช่นการดูซ้ำแล้วซ้ำอีก ในคอนเทนท์ที่เขาชื่นชอบเป็นต้น หรือวิดีโอแนะนำการท่องเที่ยว ก็อาจจะดูซ้ำเพื่อเก็บรายละเอียด นอกจากวิวแล้ว ตัววัดเชิง Engagement มาตรฐานอย่าง Like, Comment และ Share ก็มีเหมือนกัน ผลลัพธ์ของมันต่างกันไปตามแต่ platform เช่น Facebook ก็เป็นแบบหนึ่ง Youtube ก็อาจจะเป็นอีกแบบหนึ่ง ไม่เหมือนกันเป้ะๆ แต่ตัววัดตัวหนึ่ง ที่ค่อนข้างจะส่งผลไปในทางเดียวกันคือ “Share” ยิ่งมีคนแชร์ให้มาก ก็ช่วยทำให้วิดีโอนั้นๆ มีจำนวนวิว เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน เป็นที่มาของคำว่า “ไวรัลวิดีโอ” คือวิดีโอที่ถูกส่งต่อกันไป คล้ายไวรัส นั่นเอง

ถ้ามีวิวมาก ก็แสดงว่ามีคนดูมาก ไม่ว่าจะดูซ้ำมากหรือน้อย อย่างไรเสีย มีวิวมากไว้ก่อน ย่อมดีกว่ามีวิวน้อยแน่ๆ นี่เป็นสิ่งที่หลายๆ คนคิด หลายๆ แบรนด์ก็คิด การลงทุนทำวิดีโอสักตัวหนึ่ง ถ้ายิ่งมีวิวเยอะ ก็ดูเหมือนจะคุ้มทุน คุ้มค่า ถ้าลงทุนทำแล้ว มีวิวน้อย ก็เหมือนจะไม่คุ้ม เป็นตรรกะพื้นฐานที่เข้าใจได้ไม่ยาก คำถามคือจำนวนวิวที่มากนั้น เกิดมาจากอะไร? ผมมองว่ามีสักสามปัจจัยหลักๆ ได้แก่ 1. ช่องทางที่เผยแพร่นั้น (ศัพท์เทคนิคมาก) มีฐานผู้ชมที่มาก คือคนที่ติดตามดูช่องทางนั้นอยู่แล้วนั่นเอง, 2. การใช้สื่อเพิ่มเติมช่วยโปรโมท เช่น การซื้อมีเดีย แบนเนอร์ เฟสบุ้คโพสท์ เพิ่มเติมเพื่อทำให้คนเห็น รู้จัก คลิกไปชมมากขึ้น หรือบางกรณี คลิกชมจากในแบนเนอร์ได้เลย และ 3. มีคนช่วยแชร์ให้มาก ก็ทำให้มีคนเห็นมากขึ้นด้วย ดังกล่าวข้างต้น ทั้งสามปัจจัยนี้ ไม่จำเป็นต้องมีพร้อมกัน แต่ถ้ามีพร้อมกัน ก็ยิ่งทำให้มีจำนวนวิวเพิ่มขึ้น

นั่นอาจเป็นเหตุที่ทำให้คน และแบรนด์ พูดถึง ไวรัลวิดีโอมากขึ้น ถ้าลงทุนทำวิดีโอ ก็มักจะคาดหวังให้เป็นไวรัล ก็เพราะว่าอยากได้ยอดวิวมากๆ แต่ว่าไม่ได้มีปัจจัยข้อที่ 1. ซึ่งการจะใช้ช่องทางเผยแพร่ที่มีคนดูมากก็ต้องใช้เงินมาก หรือเพราะว่าจะเผยแพร่ผ่านช่องทางของตัวเอง ซึ่งคนดูไม่มาก และไม่มีปัจจัยข้อที่ 2. ด้วย เพราะต้องใช้เงินเพิ่มเติมในการซื้อมีเดีย จึงฝากความหวังไว้ที่ปัจจัยข้อ 3. เต็มๆ คือ ต้องทำให้วิดีโอมีคนช่วยแชร์เยอะๆ นะ นั่นเอง

วิดีโอ ถ้าเป็นไวรัล ก็น่าจะดี เพราะมีคนช่วยแชร์ ทำให้ได้วิวมาเพิ่มโดยไม่เสียเงิน แต่ไม่ได้หมายความว่า วิดีโอที่ดี จะต้องเป็นไวรัลเสมอ นั่นนำไปสู่การพูดถึง วิดีโออีกประเภทคือ อินฟลูเอนเซอร์วิดีโอ

อินฟลูเอนเซอร์วิดีโอ คือ คอนเทนท์วิดีโอที่สร้างโดยออนไลน์อินฟลูเอนเซอร์ อาจดูเหมือนเป็นการตอบแบบกำปั้นทุบดิน แต่ความจริงมันก็เป็นอย่างนั้น (ฮา) สำหรับ อินฟลูเอนเซอร์ ที่ผลิตคอนเทนท์ในรูปแบบวิดีโอนั้น ยังมีคำที่ใช้เรียกพวกเขาอีกหลายคำที่เรามักจะได้ยินกัน เช่น บล็อกเกอร์ หรือ วล็อกเกอร์ สำหรับวงการความงาม, แคสเตอร์ สำหรับวงการเกม หรือ ครีเอเตอร์ สำหรับ อินฟลูเอนเซอร์ ที่ทำวิดีโอบน platform Youtube (เพราะยูทู้ปเป็นคนเรียกชื่อนี้) ส่วนมากแล้ว อินฟลูเอนเซอร์ เหล่านี้ มักจะเป็นคน หรือกลุ่มคน อาจเป็นคนที่คนไม่รู้ตัวจริงว่าเป็นใคร เป็น character ตัวการ์ตูนก็ได้ แต่มีตัวตนในความคิดของผู้ชม และสื่อสารโต้ตอบได้ ที่แน่ๆ อินฟลูเอนเซอร์ มักไม่ใช่แบรนด์ หรือสื่อ โดยทั่วไป

เหตุผลสำคัญ ที่ทำให้คนเหล่านี้ถูกเรียกว่า อินฟลูเอนเซอร์ ก็เพราะพวกเขาสามารถ อินฟลูเอนซ์ (influence) ผู้ชม ผู้ติดตาม ได้ มากน้อยต่างกันไป มันก็จะคล้ายๆ กับดาราในสมัยก่อนหน่อยๆ ที่มีคนชื่นชอบ มีแฟนคลับ พอเขาทำอะไรก็มีคนอยากทำตาม พอเขาพูดอะไรก็มีคนเชื่อ มีคนฟังอย่างนั้น แต่ในยุคนี้ พลังนั้นมันถูกกระจายออก จากการพัฒนาของเทคโนโลยีดิจิทัล ทำให้ไม่ใช่แค่ดาราที่มีพลัง แต่คนทั่วไปที่สร้างคอนเทนท์ในโลกออนไลน์ ก็สามารถจะมีพลังแบบนั้นได้ และดูเหมือนว่าผู้ชม เลือกที่จะเชื่อคนที่ดูเหมือนคนธรรมดาเหมือนกัน มากกว่าดารา อย่างในสมัยก่อนเพิ่มมากขึ้นด้วย

แม้จำนวนวิวที่มาก จะเป็นเรื่องดี แต่จำนวนวิว ก็ไม่ใช่ประโยชน์เดียวที่คอนเทนท์ในรูปแบบวิดีโอจะทำได้ ต้องดูที่เป้าหมายก่อน

ไวรัลวิดีโอนั้น มีจุดประสงค์ที่ต้องการให้กระจายตัวไปมากๆ เข้าถึงคนมากๆ มีวิวเยอะๆ เพราะมันมีหน้าที่หลักในการสร้าง Awareness ในขณะที่ อินฟลูเอนเซอร์วิดีโอ มีพลังที่ซ่อนอยู่อีกอย่างหนึ่งคือ พลังในการ อินฟลูเอนซ์ ทำให้คนเชื่อ ทำให้คนซื้อ พูดให้ดีหน่อยคือเป็นสิ่งที่เข้าไปมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อ (Consideration) การนำมาใช้ทางการตลาด จึงต้องทราบก่อนว่า เราต้องการอะไรจาก อินฟลูเอนเซอร์วิดีโอ ระหว่างช่วยเรื่อง Awareness หรือ ช่วยเรื่อง Consideration เพราะ อินฟลูเอนเซอร์วิดีโอ ทำได้ทั้งสองอย่าง แต่ไม่จำเป็นจะต้องได้ทั้งสองอย่างพร้อมกันเสมอไป เช่น ถ้าเราต้องการ Awareness ก็ต้องเลือกอินฟลูเอนเซอร์ที่มีฐานผู้ชมมากๆ ในขณะที่ถ้าเราต้องการ Consideration ก็ต้องเลือกอินฟลูเอนเซอร์ที่มีความน่าเชื่อถือ มีพลังในการชักจูงคน ซึ่งอาจจะไม่ได้มีฐานผู้ชมมากที่สุด

สุดท้ายแล้ว ขึ้นอยู่กับเป้าหมาย ว่าเราต้องการอะไร เลือกใช้ให้เหมาะสม ก็จะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดนะครับ ;)

เขียนโดย เจริญ ลักษณ์เลิศกุล
Expertise: Web Site Evangelist
อ่านบทความ Exclusive เพิ่มเติมได้ที่นี่

Copyright © MarketingOops.com


  • 253
  •  
  •  
  •  
  •  
Jarern Lucklertkul
ประสบการณ์ 15 ปี ในหลากบทบาท Digital เช่น Publisher, Service provider, Agency หรือ Brand ปัจจุบันผันตัวไปเปิดโลกในธุรกิจทีวี เพื่อเป้าหมายการวางกลยุทธ์ตลาดแบบ 360 องศา มีความรัก ในเครื่องมือ "เว็บไซต์" อย่างยิ่งยวด เป็นหนึ่งในคณะผู้เขียนหนังสือ "re:digital" ในบทที่ว่าด้วยเรื่องเว็บไซต์ มีอุดมการณ์ที่จะถ่ายทอดสิ่งที่ตนเองได้เรียนรู้ แก่คนรุ่นหลัง จึงริเริ่มสอนเด็กๆ ที่มีไฟ อยากเรียนรู้เรื่อง Digital Business & Digital Marketing ในชื่อโครงการ OBP (Online Business Professional) เป็นโครงการที่ไม่มีค่าใช้จ่าย มากว่า 4 ปี ทำงานให้กับสมาคมไทยเว็บมาสเตอร์ ในฐานะกรรมการและวิทยากร ในค่าย YWC (Young Webmaster Camp) เป็นบล็อกเกอร์อิสระสายบิวตี้สำหรับผู้ชาย ในยามว่าง