King Power กับตลาด Duty Free ที่ใหญ่ที่สุดของเมืองไทย

  • 170
  •  
  •  
  •  
  •  

kingpower

ถือว่าเป็นกลยุทธ์และแนวทางที่น่าศึกษา สำหรับ King Power เจ้าของ Chain Store สินค้าปลอดภาษีหรือ Duty Free ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย ซึ่งปัจจุบันได้ทำตลาดกับนักท่องเที่ยวจีนจนประสบความสำเร็จอย่างน่าสนใจมาก

จากการสำรวจในปี 2017 ที่ผ่านมา จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในประเทศไทยเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 35 ล้านบาท โดยมีคนจีนเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 27 จากจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมดที่เข้ามาในประเทศไทย

สำหรับประเทศไทย หากเปรียบเทียบสัดส่วนกับชาติอื่นในอาเซียน จะพบว่ามีนักท่องเที่ยวจีนที่มีรายได้ปานกลางและสูงขึ้นเข้ามาเพิ่ม หรือเรียกง่ายๆ ว่า เป็นนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากความพยายามที่จำกัด “ทัวร์จีน 0 เหรียญ” หรือทัวร์จีนราคาถูก ซึ่งได้เริ่มลงมืออย่างจริงจังมาตั้งแต่ปี 2016 ที่ผ่านมา ก็ส่งผลทำให้นักท่องเที่ยวจีนในระยะหลังเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงขึ้น และมีพฤติกรรมในการเข้าไปยังสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ที่ดีขึ้นกว่าเดิม หลังจากที่เคยเป็นกระแสดราม่าจากการกระทำที่ไม่สนใจกฎเกณฑ์ของสถานที่ต่างๆ อย่างมากในหลายปีที่ผ่านมา

shutterstock_173613704

สำหรับ King Power นับว่าได้รับประโยชน์ไม่น้อยจากการยกระดับนักท่องเที่ยวจีนในช่วงหลัง ซึ่งนอกเหนือจากสำนักงานใหญ่ที่ซอยรางน้ำ ซึ่งมีร้าน Duty Free ไว้คอยให้บริการแล้ว ในปัจจุบันก็มีร้านค้าอยู่ในสนามบินสุวรรณภูมิสำหรับรองรับนักท่องเที่ยวทั้งขาไปและขาเข้าโดยเฉพาะ มีการเก็บสถิติว่า จำนวนลูกค้าใน Duty Free กว่าครึ่งหนึ่งในสองปีมานี้ คือนักท่องเที่ยวจากจีน

หนึ่งในกลยุทธ์ที่ทำให้ Duty Free ประสบความสำเร็จมาก ก็คือการให้ความสำคัญกับการเรียกลูกค้าด้วยภาษาจีน และพยายามทำการตลาดด้วยสินค้าแบรนด์เนมต่างๆ ด้วยราคาถูก มีการเขียนป้ายโฆษณาเป็นภาษาจีนว่า “สินค้าเหล่านี้มีราคาถูกกว่าที่ประเทศจีน ถ้าท่านกลับบ้านโดยไม่ซื้อรับรองว่าต้องเสียใจ” ซึ่งกลยุทธ์ที่ดีเยี่ยมคือ เขียนเป็นภาษาจีนอยู่เหนือภาษาอังกฤษหรือภาษาอื่นๆ ยิ่งเป็นการขับเน้นความสำคัญ และราวกับต้องการจะบอกชาวจีนว่า “เนี่ยนะครับ เราใส่ใจกับพวกคุณเป็นพิเศษเลยนะ สินค้าชิ้นนี้คุณต้องซื้อจริงๆ” ที่สำคัญคือ ที่บอกว่าถูกกว่าที่บ้านเกิด (ประเทศจีน) มีแต่ในภาษาจีนซะด้วย ในขณะที่ป้ายบอกภาษาอื่นเช่นภาษาอังกฤษนั้นอาจจะแค่บอกว่า Sale เฉยๆ หรือไม่ได้บอกอะไรมากไปกว่านั้น

shutterstock_748510759

นอกจากนี้ยังมีโซนที่วางขายสินค้าบางประเภท แล้วชูป้ายที่เขียนไว้เป็นพิเศษว่า “Top 20 สินค้าที่เราขอแนะนำ” แน่นอนว่าการสื่อสารเหล่านี้ มีให้กับคนจีนเท่านั้น แล้วยังทำ QR Code สำหรับใช้ร่วมกับ Alipay โดยเฉพาะ เรียกว่าเชิญชวนให้มาซื้อและบริการชนิดถึงที่

shutterstock_703262539

สำหรับคนจีนที่ใช้บริการจ่ายช็อปปิ้ง Online ในช่วงหลัง ค่อนข้างเชื่อถือเว็บไซต์ Tmall มากเป็นพิเศษ ซึ่งวิธีการที่คนจีนใช้ตรวจสอบราคาดูว่า มันลดอย่างที่โฆษณาไว้หรือไม่นั้น พวกเขาจะเช็คจาก Tmall ถ้าหน้าร้านของ Duty Free มีราคาที่ถูกกว่าที่มีใน Tmall คนจีนถึงจะเชื่อ

ส่วนฝั่ง King Power ก็มีการทำ Research ในเรื่องนี้มาก จากคำสัมภาษณ์ของคุณอัยวัฒน์ สิริวัฒนประภา CEO ของกลุ่มได้กล่าวว่า “คนจีนแทบจะก้มหน้ามองโทรศัพท์มือถือของพวกเขาตลอดเวลา ไม่ว่าจะเพื่อค้าหาข้อมูล ราคาสินค้า สถานที่ท่องเที่ยว ไปจนถึงการสั่งสินค้าแบบ Pre-Order ซึ่งทำให้การท่องเที่ยวของพวกเขาง่ายขึ้น” ซึ่งราวกับว่าอยากได้อะไรก็แค่ใช้นิ้วเลื่อน แล้วก็คลิกเลือกเท่านั้น การที่ King Power สามารถจับกระแส E-Payment กับคนจีนได้ก่อนใคร ทำให้พวกเขาประสบความสำเร็จอย่างมาก และน่าจะเป็นกรณีศึกษาให้ร้านค้าปลีก SME ไปจนถึงร้านค้า Chain Store อื่นๆ ได้ศึกษาและเริ่มลงมือทำ ก่อนที่จะตกขบวนไปในอนาคต

เขียนโดย อิทธิชัย อรรถกระวีสุนทร
Expertise: China Marketing
อ่านบทความ Exclusive เพิ่มเติมได้ที่นี่

Copyright © MarketingOops.com


  • 170
  •  
  •  
  •  
  •  
Ittichai
ผู้ก่อตั้ง บริษัท เลเวลอัพ โฮลดิ้ง จำกัด ที่ปรึกษาด้านการตลาดจีน เจ้าของเพจ Level Up Thailand, Level Up China และ เว็บไซต์ Level Up Thailand (https://www.levelupthailand.com) มีความรู้ด้านการตลาดออนไลน์ในจีน เป็นนักพูดสร้างสรรค์ และผู้เขียนหนังสือ “บุกตลาดจีนด้วยโซเชียลมีเดีย”