สำหรับผู้ที่ไม่ทราบ คำว่า M-Commerce (Mobile Commerce) เชื่อได้ว่าต่อไปหลายคนอาจจะได้ยินคำนี้หรือพบตามสื่อโซเชียลและในหนังสือต่าง ๆ ซึ่งในช่วงหลังก็เริ่มมีการศึกษาและวิเคราะห์เรื่องการประยุกต์ใช้ M-Commerce ในทางธุรกิจและการตลาดมากขึ้นแล้ว วันนี้จึงอยากแนะนำ 5 กระแสหลักของ M-Commerce ในประเทศจีน ว่ามีอะไรที่น่าสนใจบ้าง
1. กระตุ้นยอดขายในช่วงเทศกาลพิเศษ
มีรายงานน่าสนใจเกี่ยวกับเทศกาลวันคนโสดเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2017 ซึ่งทางเจ้าตลาดใหญ่ทั้งสองอย่าง Alibaba และ JD.com ได้จัดช่วงลดและโปรโมชั่นกระหน่ำผ่านช่องทาง E-Commerce ของตนเอง แล้วทำแคมเปญโปรโมทผ่านทางมือถือ เพื่อกระตุ้นความสนใจของผู้ซื้อ ปรากฏว่า ยอดขายสินค้าออนไลน์ผ่านทางมือถือได้พุ่งทะลุเป็นสถิติโลก โดยทาง JD.com มียอดผู้ใช้บริการผ่านทางมือถือหรือ M-Commerce เพิ่มขึ้นจากปีก่อนมากกว่าร้อยละ 50 หรือเติบโตอยู่ที่ประมาณ 127 ล้านหยวนภายในวันเดียวเท่านั้น นอกจากนี้ การขายในช่วงเทศกาลพิเศษ มันยังเป็นโอกาสขายของที่ดีสำหรับแบรนด์ท้องถิ่นและจากต่างชาติ (รวมของไทยด้วย)
2. ความต้องการบริโภคสูงขึ้น
ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญอย่างหนึ่งที่ M-Commerce มีผลโดยตรงในประเทศจีน นั่นคือความต้องการของผู้บริโภคชาวจีนที่เพิ่มขึ้นจากในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เป็นผลมาจากรายได้ของคนจีนต่อครัวเรือนที่สูงขึ้น ความต้องการเหล่านี้ครอบคลุมตั้งแต่เรื่องของปัจจัยพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็น อาหาร เสื้อผ้า ที่อยู่อาศัย ยา ข้าวของเครื่องใช้ในครัวเรือน ไปจนถึงสินค้าฟุ่มเฟือยอื่น ๆ เช่น เครื่องสำอาง อาหารเสริม นาฬิกา เครื่องประดับต่าง ๆ ซึ่งคนจีนมีความต้องการในเรื่องเหล่านี้เพิ่มขึ้นทุกขณะ แล้วไม่เพียงแต่จะมีกำลังซื้อเท่านั้น พวกเขายังต้องการของที่มีคุณภาพที่หาได้จากต่างประเทศด้วย เนื่องจากการผลิตในประเทศเองยังไม่สามารถตอบโจทย์ได้มากพอ
สำหรับชาวจีนที่มีรายได้และฐานะปานกลางและนายได้สูง จะนิยมหันมาซื้อสินค้าคุณภาพสูงและมีแบรนด์ที่น่าเชื่อถือจากต่างประเทศมากกว่าของที่ผลิตในจีนซึ่งหลายกลุ่มยังมีคุณภาพไม่เพียงพอ ตามรายงานของ World Economic Forum ในปี 2017 ยังระบุอีกว่า จีนเป็นตลาดของผู้บริโภคในโลกอนาคตที่มีการเติบโตและขยายตัวมากที่สุด แล้วก็เป็นโอกาสสำคัญสำหรับแบรนด์ดังที่มีราคาแพงและมีคุณภาพสูงจากตะวันตกที่จะใช้ช่องทางออนไลน์บนมือถือให้เป็นประโยชน์มากขึ้นไปด้วย
มีรายงานเพิ่มเติมจาก World Economic Forum อีกว่า ในปี 2017 คนจีนมีการสั่งซื้อสินค้าผ่านออนไลน์แบบข้ามชาติมากขึ้นถึงร้อยละ 67 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้านี้ สำหรับ Platform ของจีนที่มีการเติบโตและใช้งานมากที่สุดทางมือถือ ได้แก่ Tmall JD.com และ Kaola.com
3. ผสมหน้าร้านค้าปลีกทาง Online และ Offline
ร้านค้าปลีกของจีนได้นำกลยุทธ์การ Merge กันระหว่าง Online และ Offline มาใช้งานจริงได้อย่างน่าทึ่ง ซึ่งแนวทางนี้ ตัวของ Jack Ma เองก็เคยออกมากล่าวไว้ตั้งแต่ปี 2016 ว่านี่จะเป็นแนวทางของค้าปลีกแบบใหม่ ซึ่งไม่ใช่แค่ของจีน แต่ยังเป็นของโลกด้วย
สำกรับกลยุทธ์นี้ ตัวอย่างเช่น Supermarket Hema ซึ่งเป็นร้านแบบไร้เงินสดในเครือ Alibaba ที่ใช้วิธีการโชว์สินค้าผ่านทางระบบออนไลน์ด้วย Platform ต่างๆในเครือ Alibaba จากนั้นก็จะให้ผู้ซื้อกดเข้าไปสั่งสินค้าผ่านทางภาพที่นำเสนอไว้เพื่อเลือกสินค้าที่ต้องการ โดยผู้ที่สั่งผ่านช่องทางนี้ก็จะได้รับส่วนลดหรือโปรโมชั่นแถมอื่น ๆ ประกอบ โดยในส่วนของ Offline ก็เป็นการใช้งานร่วมกับระบบจัดส่งสินค้า ทำให้ลูกค้าไม่จำเป็นต้องเสียเวลาออกจากบ้านมาเดินเลือกซื้อของข้างนอก แต่สามารถสั่งตรงได้เลยนั่นเอง
แล้วสิ่งที่น่าทึ่งก็คือ จะมีบริการจัดส่งที่รวดเร็วมาก หากว่าบ้านของผู้สั่งอยู่ไม่ไกลจาก SupermarketHema ที่อยู่ใกล้ที่สุด ปกติแล้วการจัดส่งใช้เวลาอย่างน้อยราว 30 นาทีก็สามารถนำสินค้าที่ต้องการมาส่งถึงหน้าบ้านได้
สำหรับสินค้าใน Supermarket แห่งนี้ก็คือกลุ่มบริโภคและอุปโภคที่ต้องซื้อหามากันประจำวันหรือประจำอาทิตย์ อาทิ เนื้อสด ผัก ผลไม้ อาหารแห้ง เครื่องดื่ม ขนม ของใช้เล็กๆน้อยๆ เป็นต้น
4. Digital Payment
นอกจากสินค้าอุปโภคและบริโภค เวลานี้ระบบ Payment ยังขยายไปถึงธุรกรรมทางการเงินต่าง ๆ ซึ่งทำให้เราสามารถชำระค่าบริการผ่านทาง App ต่าง ๆ ได้โดยตรง ซึ่งเวลานี้ทาง Alibaba และ JD.com ก็เข้าไปจับธุรกรรมทางการเงินแล้วโยงกับภาคธนาคารต่าง ๆ แล้วด้วย
5. Media Platform
โซเชียลมีเดียกลายเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังในด้านการสื่อสารมากที่สุดในโลกยุคใหม่ ซึ่งเราทุกคนสามารถกลายเป็นสื่อหรือช่องทางในการแชร์ข้อมูลข่าวสารและติดตามเรื่องราวต่าง ๆ ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว มีเนื้อหา Content ต่าง ๆ ขึ้นมาในโซเชียลชนิดที่ไม่รู้จบในทุกวัน ทำให้รูปแบบการทำโฆษณาและด้านบันเทิงต้องโยกย้ายและปรับตัวเองมาลงทางโซเชียลบนมือถือมากขึ้นไปด้วย
เขียนโดย อิทธิชัย อรรถกระวีสุนทร
Expertise: China Marketing
อ่านบทความ Exclusive เพิ่มเติมได้ที่นี่
Copyright © MarketingOops.com