4 โมเดลธุรกิจ “O2O” ในประเทศจีนที่ประสบความสำเร็จ

  • 954
  •  
  •  
  •  
  •  

^A145C9A27A8FF3235940E4957D1C4076C183600D667895B2BA^pimgpsh_fullsize_distr

โมเดลธุรกิจ O2O หรือ Online to Offline คือ “การผสานธุรกิจจากออนไลน์ไปยังออฟไลน์” และ “การนำคุณภาพของออฟไลน์มาช่วยยกระดับออนไลน์” ที่ประเทศจีนการทำ Online to Offline อย่างเดียวคงไม่พอ คุณจำเป็นต้องมี Offline to Online อีกด้วย ในช่วงแรกที่ O2O เข้ามาในประเทศจีนนั้น ประสบปัญหาอย่างมาก เพราะ โมเดลธุรกิจ O2O ค่อนข้างให้ความสำคัญในมาตรฐานของคุณภาพของสินค้าและบริการ ( O Online ก็สำคัญแต่แพ้ชนะก็วัดกันที่ O Offline อยู่ดี) ในด้านคุณภาพของสินค้านั้นผมคงไม่ขอให้คำนิยามกับประเทศจีน แต่ในเรื่องบริการนั้น อย่างที่เราทราบ ๆ กันอยู่ว่า คนจีน ไม่มี Service Mind เลย เมื่อประมาณปี 2012 ช่วงที่ผมมีโอกาสได้เข้าไปทำงานที่ประเทศจีน และ เป็นที่ปรึกษาในด้านการดูแลระบบ Operations ของธุรกิจ F&B แห่งหนึ่งนั้น การสอนหรือวางระบบให้พนักงานคนจีนมีความเอาใจใส่และให้ความสำคัญกับการดูแลลูกค้านั้น เป็นเรื่องที่ยากมาก โรงแรม 5 ดาวที่มีชื่อเสียงหลาย ๆ แห่งในหัวเมืองหลัก ได้รับคะแนนวิจารณ์ว่า มี Hardware (อุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวก) ระดับ 6 ดาว แต่ มี Software (บริการ) ระดับ 1 ดาว ในช่วงนั้น ร้านอาหารในเซี่ยงไฮ้ แทบจะไม่มีร้านไหนกล้าที่เรียกเก็บ Service Charge เลย

แต่หลังจากปี 2011 ที่โมเดลธุรกิจ O2O เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นในประเทศจีนนั้น การแข่งขันภาคธุรกิจ สินค้าและ บริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาคบริการ ทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง จีนผุดไอเดีย O2O ออกมาแทบจะคลอบคลุมทุกกลุ่มธุรกิจ ต่อจากนี้ผมจะขอแนะนำ โมเดลธุรกิจ O2O ประเภทต่าง ๆ ที่ได้รับความนิยมและประสบความสำเร็จในประเทศจีน

อาหารกับ O2O เรื่องกินเรื่องใหญ่

อาหาร น่าจะเป็นสิ่งแรก โมเดลธุรกิจ O2O ฟู้ด เดลิเวอรี (Food Delivery) ในประเทศจีน ปัจจุบันมีมูลค่าทางการตลาดสูงถึง 6,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ปัจจุบัน ฟู้ด เดลิเวอรี (Food Delivery) มีอัตราส่วนมูลค่าทางการตลาด จากธุรกิจอาหารทั้งหมด ไม่ถึง 8% นั่นก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งให้ ตลาดนี้ไม่มีที่อยู่สำหรับเหล่านักพัฒนาที่ไม่มีเงินทุนสนับสนุน เราจะเห็นว่าแอปพลิเคชั่นประเภทนี้เกิดขึ้นเยอะ แต่ก็ปิดตัวกันเยอะมาก ซึ่งการแข่งขันที่สูงมากในตลาดนี้ทำให้ผลประโยชน์ เข้า ผู้บริโภคไปเต็ม ๆ สังเกตได้ว่านี่ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คุณภาพในการให้บริการของร้านอาหารในประเทศจีนยกระดับขึ้นอย่างมาก ซึ่งในจำนวนนี้ มีอยู่ 3 แอปพลิเคชั่น ที่กินส่วนแบ่งทางการตลาดมากถึง 87.9% ได้แก่ Meituan-Dianping (美团点评) 45.2%, Ele.me (饿了吗) 36.4%, Baidu-Waimai (百度外卖) 6.3% และ อื่น ๆ 12.1% ตามลำดับ

ซึ่งเมื่อช่วงปี 2015 กรุ๊ป Meituan-Dianping (美团点评) ก็ได้เข้าเพิ่มทุนใน Ele.me (饿了吗) เป็นจำนวนเงินสูงถึง 80 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และทำข้อตกลงทางธุรกิจในการแบ่งปันฐานข้อมูลกัน ส่งผลให้การถือส่วนแบ่งทางการตลาดของ O2O ประเภทฟู้ด เดลิเวอรี (Food Delivery) ในประเทศจีนนั้น ค่อนข้าง “ผูกขาด” พอสมควร

นอกจากนี้นั้นยังมี โมเดล O2O ที่เกี่ยวข้องกับ อาหารที่หลากหลายประเภท อาทิเช่น “ตำราอาหารออนไลน์ (Food Recipe)” โดยผู้ใช้สามารถ นำความรู้เกี่ยวกับ ตำหรับอาหารแปลกขึ้นมาแชร์กันบนโลกออนไลน์ โดยหารายได้จาก ผู้พัฒนาได้รับรายได้จากการจัดกิจกรรม แลกเปลี่ยนความรู้บนโลกออฟไลน์ โดยดึงกลุ่มคนที่สนใจด้านการทำอาหาร โดยเฉพาะกลุ่มแม่บ้านที่ต้องทำอาหารให้ ครอบครัวรับประทานเอง

“เชฟ เดลิเวอรี (Chef Delivery)” มีส่งอาหาร ก็ต้องมี “ส่งพ่อครัว” ด้วย เราสามารถเรียกพ่อครัวเข้ามาทำอาหารถึงที่บ้านได้เลยทีเดียว ฟังดูเหลือเชื่อว่าจะมีคนใช้งานได้ยังไง แต่ผู้พัฒนาที่ชื่อว่า Ai DaChu (爱大厨) เริ่มเปิดใช้บริการตั้งแต่ปี 2014 ซึ่งก็ได้รับผลตอบรับที่ดีพอสมควรจากกลุ่มผู้ใช้ในปักกิ่ง

^67733B2BD2BCF8BB2B44D0359F4FBA780D77C36600DB3C1B93^pimgpsh_fullsize_distr

ชุมชนที่อยู่อาศัยกับ O2O

มนุษย์เป็นสัตว์สังคม เมื่อคนอาศัยอยู่ด้วยกันเป็นจำนวนมากจึงเกิดเป็นชุมชน ในโลกของออนไลน์นั้น แพลตฟอร์มประเภท BBS (ประมาณพันทิป) ถือเป็นยุคแรก ๆ ที่สะท้อนความเป็นชุมชนออกมาในโลกออนไลน์อย่างสมบูรณ์แบบ คนเรามักต้องการความคิดเห็น และ เชื่อข้อเสนอของคนหมู่มาก เป็นสาเหตุให้แพลตฟอร์ม BBS ในประเทศจีน มีผู้ใช้จำนวนมากแน่นอน การที่เราจะพัฒนามาอีกระดับหนึ่ง เราก็แค่นำ O2O เข้ามาปรับใช้เท่านั้นเอง

ปัจจุบัน O2O ที่ปรับใช้เพื่ออำนวยความสะดวกให้ชุมชน มีจำนวนมากหลัก ๆ จะหนีไม่พ้นพวกกลุ่มบริการ สารพัดซ่อม ลากยาวไปจนถึงการส่งของ – รับของ แลกเปลี่ยนของมือสอง ทางเดียวกันไปด้วยกัน ซักอบรีด ดูแลสัตว์เลี้ยง ตัดขนสัตว์ ฯลฯ เกือบทุกบริการในชุมชนที่เรานึกกันออก จีนเค้ามีหมด

ความสวยความงามกับ O2O

ธุรกิจความสวยความงาม ถือได้ว่ามาแรงมากในปีสองปีนี้ หากเราได้มีโอกาสไปอยู่ที่ประเทศจีน จะเห็นได้ว่า คนจีนน่าจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก 5 ปีก่อน หากเราได้นั่งรถไฟฟ้าใต้ดินที่เซี่ยงไฮ้แล้วลองนับดูเล่น ๆ ว่ามีผู้หญิงจีนแต่งหน้ากี่คน ผมว่า 100 คน คงมีไม่ถึง 5 คนที่แต่งหน้าไปทำงาน นี่ยังไม่ได้นับว่าแต่งเป็นรึเปล่า เราลองนึกดูว่าแค่เราเปลี่ยนพฤติกรรมให้คนจีนหันมาแต่งหน้ากันมากขึ้น มูลค่าตลาดความสวยความงาม และ เครื่องสำอางจะเติบโตขึ้นขนาดไหน แต่สิ่งที่คาดไม่ถึงก็คือ O2O กับธุรกิจความงามที่จีนที่มาแรง ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับ ผิวหน้า หรือ เครื่องสำอาง แต่เป็น “เล็บ”

ผู้พัฒนา XiuMeiJia (秀美甲) หรือ แปลแบบบ้าน ๆ คือ อวดเล็บสวย เริ่มพัฒนาและเปิดตัวระบบเมื่อเดือนตุลาคม ปี 2013 โดยใช้วิธีเข้าถึง User ด้วย โมเดลแบบ UCG และ PGC ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดีเกินคาด ปัจจุบันมี Active User มากกว่า 10 ล้านคน และมีร้านทำเล็บรวมถึงผู้เชี่ยวชาญการดูแลเล็บ มากกว่า 100,000 คน ล่าสุด พึ่งรวมทุนกับกลุ่มธุรกิจ จงซิ่น ได้รับเงินสานต่อผลงานอีก 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นอกจาก “เล็บ” ก็จะมี “เส้นผม” เริ่มต้นจากการเป็น Community Online เพื่อให้คนมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับทรงผมในรูปแบบต่าง ๆ สร้างเวทีเพื่อให้ ร้านตัดผม หรือ ช่างตัดผม มาแชร์ประสบการณ์ แสดงความคิดเห็น รวมถึงการให้คำปรึกษาออนไลน์ให้กับลูกค้า สุดท้ายก็จบด้วยการเชื้อเชิญมาตัดที่ร้าน หรือ ไปตัดให้ถึงที่บ้านเลยก็มี ซึ่งก็เป็นอีกธุรกิจที่ประสบความสำเร็จจาก โมเดล O2O อย่างคาดไม่ถึง

การศึกษากับ O2O

การศึกษาจัดว่าเป็นประเภทของบริการที่เป็นนามธรรมมาก ที่ผมให้คำนิยามแบบนี้ เพราะว่า การตั้งมาตรฐานการศึกษา หรือ การสร้างดัชนีวัดความพึงพอใจ หลังได้รับบริการด้านการศึกษา ในส่วนนี้ O แรก คืออาจารย์ หรือผู้สอน เป็นบุคคล O ที่สองที่เป็นนักเรียน ก็เป็นบุคคล ยิ่งทำให้การวัดผลยากขึ้นไปเอง ดัชนีชี้วัดเพียงอย่างเดียวก็คงจะเป็นผลสอบของผู้เรียนนั่นเอง ซึ่งก็ไม่สามารถสะท้อนคุณภาพของผู้สอนได้

การศึกษากับ O2O เริ่มมีการพัฒนาอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2011 ในประเทศจีน ที่ประสบความสำเร็จก็อาทิเช่น
WuYouYingYu (无忧英语) หรือที่แปลว่า ภาษาอังกฤษหายห่วง ที่ผู้พัฒนาเล็งเห็นถึงความต้องการในการพัฒนาระดับภาษาอังกฤษของนักเรียนจีนที่ประสบปัญหากับการฝึกสนทนาจริง เนื่องจากปริมาณของครูชาวต่างช่าติที่มีไม่มากพอ ประกอบกับค่าใช้จ่ายที่สูง จึงเริ่มพัฒนาแพลตฟอร์มนี้ขึ้นมา โดยให้นักเรียนจีนได้มีโอกาสสนทนาภาษาอังกฤษออนไลน์กับครูชาวฟิลิปปินส์ (ต้นทุนต่ำกว่ายุโรป) แบบตัวต่อตัว (ทางออนไลน์) ซึ่งก็ได้รับความนิยมอย่างมาก ปัจจุบันมี User จำนวนกว่า 80,000 และมีอาจารย์ชาวต่างชาติบนออนไลน์มากกว่า 15,000 คน เริ่มต้นจากการพัฒนา Online to Online

ปี 2014 ผู้พัฒนาเริ่มสานต่อธุรกิจ ด้วยการ เปิดโรงเรียนสอนภาษา และ โรงเรียนกวดวิชา ที่มีหน้าร้าน โดยขยายสาขาไปยังเมืองและมณฑลต่าง ๆ เพื่อนำผลลัพธ์จาก Online มาสู่ Offline เข้าสู่บริบทของโมเดลธุรกิจ O2O อย่างแท้จริง

จากตัวอย่างดังขั้นต้นนั้น เป็นเพียงส่วนน้อยของ ธุรกิจในประเทศจีนที่นำ โมเดล O2O มาปรับใช้ได้ “จริง” ที่สำคัญคือ คนจีนมองเห็นถึงแก่นแท้ของการผสานระหว่างธุรกิจ ออนไลน์ และ ออฟไลน์ นั่นก็คือการเล็งเห็นความต้องการของผู้ใช้ในตลาด เช่น การส่งอาหาร และที่คาดไม่ถึงคือ การทำเล็บ และ การศึกษา ซึ่งปรับใช้โมเดล O2O ได้ยืดหยุ่นตามสถานการณ์จริง ส่งผลให้เกิดธุรกิจใหม่ขึ้นจากพื้นฐานเดิม และ ทำให้เกิดการแข่งขันในตลาดเพิ่มมากขึ้น ซึ่งแน่นอน ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์อย่างแท้จริงก็คือ “ผู้บริโภค” นั่นเอง

เขียนโดย เธียรศักดิ์ ธรรมเจริญกิจ 

Expertise: Marketing Strategy

อ่านบทความ Exclusive เพิ่มเติมได้ที่นี่

Copyright © MarketingOops.com


  • 954
  •  
  •  
  •  
  •  
Tiensak Thamcharonkij
ผู้ก่อตั้งธุรกิจเครือท่องไทยกรุ๊ป สื่อภาษาจีน มีเดียเอเจนซี่จีน แพลตฟอร์มอสังหาริมทรัพย์สำหรับผู้ใช้ภาษาจีน และที่ปรึกษาด้านการเจาะตลาดจีนที่ได้รับความนิยมในกล่มธุรกิจชั้นนำ ผ่านประสบการณ์ การเรียน ทำงาน และ เปิดบริษัท ในประเทศจีน กว่า 10 ปี จบการศึกษาทั้งปริญญาตรีและโท ในสาขาเศรษฐศาสตร์ รวมถึงการจัดการองค์กรและกลยุทธ์ ปัจจุบัน เริ่มจัดตั้งบริษัทสื่อภาษาจีน ทั้งประเภทสิ่งพิมพ์และออนไลน์ รวมถึงการเป็น Full Service Agency ที่ให้บริการองค์กรชั้นนำในประเทศไทยหลากหลายองค์กร