ด้านมืดของ WeChat!! เรื่องที่ควรระวัง ในการทำการตลาดบนโลกออนไลน์ในจีน

  • 70
  •  
  •  
  •  
  •  

ด้านมืดwechat

มีเรื่องที่ควรระวังเกี่ยวกับการใช้งาน WeChat ซึ่งเป็นโซเชียลมีเดียอันดับหนึ่งของจีน เพราะทุกอย่างก็มีด้านมืดซ่อนอยู่เสมอ ยิ่งเป็นบริการที่มีคนจีนเป็นผู้ใช้งานมากกว่า 1,000 ล้านคน นั่นก็ยิ่งมีความหลากหลายและผู้ที่จ้องหาโอกาสในทางมิชอบ ซึ่งแม้ว่าทาง Tencent บริษัทผู้พัฒนาแอพลิเคชั่นจะได้หาทางป้องกันปัญหาต่างๆอยู่ตลอดก็ตาม แต่ก็ยังมีเรื่องที่ผู้ใช้งานควรต้องระวังอยู่ดี

สำหรับคนไทยและผู้ประกอบการไทยที่ใช้งาน WeChat เพื่อธุรกิจ ก็มีเรื่องที่ควรระวัง ได้แก่

1.คนใช้งานมาก ระวังการแฮกกิ้งตรงนี้เนื่องจาก WeChat เป็นแพลตฟอร์มโซเชียลที่มีมีผู้ใช้งานมากที่สุดในประเทศจีน มีจำนวน Account ที่ลงทะเบียนไว้มากกว่า 1,000 ล้านคน จึงทำให้บัญชีผู้ใช้ของ WeChat กลายเป็นเป้าหมายชั้นเยี่ยมของพวกแฮกเกอร์ที่ต้องการเข้ามาดึงข้อมูลส่วนตัว รวมถึงบัญชีธนาคาร

เนื่องจาก WeChat เป็นมากกว่าแค่โปรแกรมสำหรับแชทสื่อสารในประเทศจีน แต่คนจีนยังนิยมใช้งานด้านการทำธุรกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายเงินออนไลน์ หรือค่าบริการต่างๆ ทั้งโรงพยาบาล ธนาคาร ค่าทางด่วน ค่าจอดรถ ไปจนถึงร้านค้าปลีกอื่นๆ ด้วย

อย่างไรก็ตาม ในเมื่อเป็นแพลตฟอร์มที่มีจำนวนผู้ใช้งานมากขนาดนี้ ก็ไม่น่าแปลกที่คู่แข่งหรือแฮกเกอร์สนใจจะเข้ามาโจมตีทางไซเบอร์ ไปจนถึงพวกพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ที่ใช้ช่องทางนี้ในการหลอกเอาเงินจากผู้ซื้อสินค้า รวมถึงหลอกใช้ข้อมูลส่วนตัวเพื่อแกล้งเป็นเพื่อน ครอบครัว ญาติ ในการเข้ามาหาผลประโยชน์ ซึ่งในปีนี้ก็มีข่าวทำนองนี้อยู่ในประเทศจีน

2.หลอกส่งสินค้าแล้วเก็บเงินปลายทางกำลังเป็นข่าวดราม่าในเมืองไทยเรานี่เอง เมื่อได้มีการตรวจสอบแล้วพบผู้ค้าจีนที่ใช้กลยุทธ์ส่งสินค้าที่ไม่ได้มีผู้สั่งออกไปจำนวนมาก แล้วเรียกเก็บเงินค่าสินค้าปลายทาง ซึ่งวิธีของมิจฉาชีพเหล่านี้สามารถทำรายได้เป็นหลักสิบล้านเลยทีเดียว

เรื่องนี้ถือว่าเป็นกลุยทธ์เชิงจิตวิทยามาก เพราะสินค้าที่ถูกส่งออกไปแบบสุ่มตามบ้านต่างๆนั้น เป็นของประเภทที่มีราคาต่อหน่วยไม่สูงมากนัก ตั้งแต่หลักร้อย จนถึงพันต้นๆ อีกทั้งก็เป็นสินค้าประเภทอุปโภค บริโภค ที่ก็ใช้งานได้จริง (คุณภาพก็อีกเรื่องนะ) ทำให้ผู้รับสินค้าคิดว่าคงมีการส่งสินค้ามาผิด เมื่อได้รับแล้วก็ไม่ได้คิดจะส่งกลับเช่นกัน ไม่ว่าจะเพราะ ไม่มีเวลาไปที่ทำการไปรษณีย์ และต้องมาวุ่นวายกับการส่งคืน ก็เลยรับสินค้าไปใช้ พร้อมเสียเงินไป ซึ่งก็ไม่ได้แพงอะไร

แต่ลองคำนวณดูว่า หากมีการส่งสินค้ายัดเยียดแล้วสร้างสถานการณ์ให้ดูเหมือนส่งผิดแบบนี้ติดต่อกันสักล้านกล่อง มันจำกำไรขนาดไหน ซึ่งเรียกได้ว่ามิจฉาชีพเหล่านี้ทำกันเป็นขบวนการเลยทีเดียว จนกระทั่งมีการจับกุมตัวและเปิดโปงขบวนการเหล่านี้ได้เมื่อไม่นานมานี้

ที่ประเทศจีนเองก็มีปัญหาเรื่องนี้เกิดขึ้น โดยทางเจ้าหน้าที่ก็กำลังตรวจสอบและเร่งปราบปรามเช่นกัน

3.คลิกลวงว่าได้รางวัล และโปรโมชั่น เป็นทริคยอดนิยมที่ล่อผู้คนกันมานักต่อนัก ช่วงแรกเป็นกลโกงที่ได้ผลมาก แต่ตอนหลังคนเริ่มรู้ทางกันมากขึ้นแล้ว

คำแนะนำที่ดีที่สุดสำหรับเรื่องนี้ เวลาได้รับแชร์ข้อความในทำนองว่า ท่านได้รับรางวัลพิเศษ มีโปรโมชั่น เพียงแค่คลิกเข้ามาดูทั้งหลาย นั่นคือ “อย่าไปกด”เรียกว่ามันเล่นกับความโลภและอยากรู้ของคนได้ดีมากครับ

4.คลิกลวงเรื่องสมัครงาน และหารายได้งามๆ เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่เริ่มเห็นบ่อยขึ้น กลยุทธ์ที่พบคือ เป็นการส่งลิ้งก์หรือข้อมูลเกี่ยวกับการแนะนำการหารายได้เสริม ที่สามารถมีรายได้ง่ายๆ ผ่านอินเทอร์เน็ต แล้วแชร์เข้ามาใน WeChat

ในเมืองจีนมีกรณีที่พบบ่อยที่สุดคือ ทำให้เหมือนการจ้างงานอย่างจริงจังครับ แล้วมีการนัดสัมภาษณ์ไปที่สำนักงานด้วย จากนั้นก็จะมีค่าใช้จ่ายที่ผู้สมัครงานต้องควักออกมาก่อนก็คือ ค่าตรวจสุขภาพก่อนเข้ารับทำงาน แล้วอ้างว่า จะคืนเงินให้หลังจากทำงานผ่านไปแล้วหนึ่งเดือน

แต่หลังจากผู้เคราะห์ร้ายได้จ่ายเงินไปครบแล้ว สิ่งที่มิจฉาชีพเหล่านั้นตอบกลับมาก็คือ “ไม่ผ่านการเข้ารับทำงาน” แถมพอไปตรวจสอบอีกที บริษัทนั้นหายไปแล้วด้วย ซึ่งวิธีการนี้มักจะทำมาเพื่อหลอกเอาเงินที่ว่าจากผู้สมัครครั้งละจำนวนมาก ก่อนจะหายไป ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่ทางเจ้าหน้าที่ของจีนกำลังตรวจสอบอย่างเข้มข้นเช่นกัน

จีนเป็นประเทศใหญ่ ที่มีผู้คนหลากหลาย และทำให้มิจฉาชีพมองหาโอกาสใช้โซเชียลในการหาประโยชน์ ดังนั้นคำแนะนำที่ดีที่สุดก็คือ ถ้าเจออะไรแปลกๆส่งมา ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่ได้ต้องการ ก็อย่าไปกดรับครับ ซึ่งหวังว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับคนไทยก่อนจะบุกตลาดจีนออนไลน์

เขียนโดย อิทธิชัย อรรถกระวีสุนทร
Expertise: China Marketing
อ่านบทความ Exclusive เพิ่มเติมได้ที่นี่

Copyright © MarketingOops.com


  • 70
  •  
  •  
  •  
  •  
Ittichai
ผู้ก่อตั้ง บริษัท เลเวลอัพ โฮลดิ้ง จำกัด ที่ปรึกษาด้านการตลาดจีน เจ้าของเพจ Level Up Thailand, Level Up China และ เว็บไซต์ Level Up Thailand (https://www.levelupthailand.com) มีความรู้ด้านการตลาดออนไลน์ในจีน เป็นนักพูดสร้างสรรค์ และผู้เขียนหนังสือ “บุกตลาดจีนด้วยโซเชียลมีเดีย”