เผยเบื้องหลังความสำเร็จแอพฯ สุขพอที่พ่อสอน พร้อมเตรียมพบกับเฟส 2 เร็วๆ นี้

  • 105
  •  
  •  
  •  
  •  

ในช่วงเวลาแห่งการรำลึกพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรามหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ตลอดระยะเวลาแห่งการครองราชสมบัติ 70 ปี สิ่งหนึ่งที่เป็นเครื่องช่วยเตือนสติให้กับพวกเราได้ดีที่สุดก็คือ คำสอนของพระองค์ ซึ่งหลายท่านคงจะทราบดีแล้วว่าได้มีการรวบรวมไว้ในแอพพลิเคชั่นที่ชื่อว่า “สุขพอที่พ่อสอน” ซึ่งได้รับความนิยมสูงมากในขณะนี้ (คลิกอ่านรีวิวการใช้งานเพิ่มเติมที่นี่)

kingapp-hili-1

แอพฯ “สุขพอที่พ่อสอน” เกิดจากความร่วมมือระหว่าง สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ “สรอ.” หน่วยงานในกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมกับ สำนักราชเลขาธิการ เริ่มเปิดให้ดาวน์โหลดตั้งแต่ปี 2557 และมียอดดาวน์โหลดประมาณ 1 แสนครั้งครั้ง ทว่า หลังเหตุกาณ์วันที่ 13 ตุลาคมเป็นต้นมาก็ได้รับความนิยมอย่างล้นหลามจากประชาชนคนไทย โดยมียอดดาวน์โหลดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วถึง 3 แสนครั้ง จนทะยานขึ้นไปเป็นแอพฯ ยอดนิยมในแอพฯ สโตร์เลยทีเดียว แถมเร็วๆ นี้ยังมีข่าวดีว่าจะเพิ่มคอนเทนต์มากขึ้นในเฟดที่ 2 อีกด้วย

และจากความสำเร็จที่เกิดขึ้นนี้ Marketing Oops! จึงได้ขอโอกาสพูดคุยกับผู้อยู่เบื้องหลังผลงานต่างๆ ของ สรอ. เพื่อสอบถามความคืบหน้ารวมทั้งนำเสนอผลงานที่เป็นประโยชน์อื่นๆ ที่ทาง สรอ.ได้ทำเพื่อประชาชน แต่หลายคนอาจจะยังไม่ทราบ ซึ่งมีประโยชน์ต่อการติดต่อราชการประโยชน์ในชีวิตประจำวันเป็นเรื่องง่ายและทำได้รวดเร็วขึ้น ที่สำคัญคือสนองตอบต่อนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” ของรัฐบาลนั่นเอง โดยผู้ที่จะมาพูดคุยกับเราได้แก่ ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์กรมหาชน)

sak02

 ที่มาของการรวบรวมพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทในรูปแบบแอพฯ?

ดร.ศักดิ์ กล่าวว่า เริ่มต้นมาจากการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีนโยบายในเรื่อง “ค่านิยม 12 ประการ” ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการเดินตามรอยพระราชดำรัสของในหลวง รัชกาลที่ ๙ เมื่อได้สืบค้นดูพบว่ามีอยู่มากมายเยอะแยะไปหมด และก็กระจัดกระจาย ที่สำคัญคือหลายแหล่งยังตรวจสอบที่มาที่ไปไม่ได้ ไม่รู้ด้วยว่าอันไหนถูกอันไหนผิด ดังนั้น เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสต่างๆ เราจึงได้ประสานงานกับทางสำนักราชเลขาธิการเพื่อขอคัดพระบรมราโชวาทรวมทั้งเลือกพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์ท่านมาด้วย ที่สำคัญคือจะมีรายละเอียดที่บอกว่าพระองค์ท่านพูดขึ้นเมื่อใด และที่ไหน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้มีน้อยมาก หลายคนไม่ทราบด้วยซ้ำ และเมื่อสมบูรณ์เรียบร้อยจึงจัดทำปล่อยออกมาให้ประชาชนดาวน์โหลดเมื่อคราวฉลองพระชนมายุ 88 พรรษา

“ในครั้งแรกที่เปิดให้ดาวน์โหลดมียอดอยู่ราว 1 แสนครั้ง แต่พอหลังเหตุการณ์วันที่ 13 ตุลาคม ปรากฏว่าได้รับความนิยมมหาศาลยอดดาวน์โหลดเพิ่มขึ้นเป็น 3 แสนครั้งในวันเดียว และมีอยู่ช่วงหนึ่งด้วยที่แอพฯ ของเราขึ้นเป็นอันดับ 1 ใน App Store ที่สำคัญคือเป็นแอพฯ จากทางหน่วยราชการหนึ่งเดียวที่ได้ขึ้นแรงกิ้งอันดับยอดนิยมอีกด้วย”

sak03

ทราบมาว่าจะมีการดำเนินงานในเฟสที่ 2 อีกด้วย?

ดร.ศักดิ์ กล่าวถึงการดำเนินงานในส่วนของเฟสที่ 2 ของแอพฯ สุขพอที่พ่อสอนว่า เราจะมีการเพิ่มในส่วนของโครงการพระราชดำริต่างๆ เข้าไปด้วย โดยจะลิ้งก์กับGoogle map เช่น เราไปเที่ยวหัวหินแล้วอยากจะรู้ว่าโครงการพระราชดำริที่หัวหินอยู่ตรงไหนบ้าง เราก็สามารถเปิด Google map และดูจากแผนที่ได้เลย และยังใส่ประวัติของโครงการในพระราชดำริลงไปอีกด้วย รวมทั้งโครงการต่างๆ ในอดีตที่พระองค์ทรงทำไว้ด้วย

“นอกจากนี้ เรายังมี content ที่บอกในวันเดียวกันนี้เหตุการณ์ได้เคยเกิดเหตุการณ์สำคัญในอดีตอะไรบ้าง พูดง่ายๆ ว่าเป็น ‘วันนี้’ (ในอดีต) พระองค์ท่านทรงทำอะไรไว้บ้าง เพื่อประชาชนคนไทยทราบว่าในทุกๆ วันพระองค์ท่านทรงมีพระราชกรณียกิจมากมายที่ยังประโยชน์เพื่อประชาชนคนไทยตราบจนทุกวันนี้ เราก็ได้รวบรวมเพิ่มเติมในแอพฯ ซึ่งคาดว่าเฟส 2 จะเสร็จสมบูรณ์ในเร็วๆ นี้ก่อนวันที่ 5 ธันวาคมอย่างแน่นอน”

และไม่เพียงแค่แอพฯ สุขพอที่พ่อสอนเท่านั้น ก่อนหน้านี้ สรอ.ยังได้จัดทำแอพฯ “สุขแท้ที่แม่ให้” เป็นการรวบรวมพระราชดำรัสและพระราโชวาทของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ โดยจัดทำเมื่อวันที่ 12 สิงหาคมที่ผ่านมานี้เอง

eda3

ในยุคของโซเชียล มีเดีย สรอ. มีหน้าที่ในการดูแลเรื่องข้อมูลข่าวสารทางราชการอย่างไรให้ถูกต้อง?

ดร.ศักดิ์ กล่าวว่า รัฐบาลตระหนักและทราบดีในผลกระทบของการใช้โซเชียล มีเดียของประชาชน สรอ.จึงจัดทำแอพพลิเคชั่นที่เรียกว่า G-News เป็นแอพฯ ที่รวบรวมแอพฯ จากทุกหน่วยงานราชการ 20 กระทรวงมารวมกันไว้ในแอพฯ เดียว ที่สำคัญคือเป็นแอพฯ ของจริงและมีความถูกต้องเชื่อถือได้ 100% ดังนั้น จะช่วยแก้ปัญหาแอพปลอม ข่าวลือ ข่าวลวงได้อย่างแน่นอน นอกจากนี้ เรายังได้แบ่งหมวดหมู่เอาไว้ให้ตรงกับความสนใจของ user ด้วย ซึ่งประชาชนไม่จำเป็นต้องดาวน์โหลดหมดทุกกระทรวง เช่น หมวดเศรษฐกิจ ก็อาจจะมาจาก ก.คลัง ก.อุตฯ ก.พาณิชย์ เป็นต้น และเร็วๆ นี้เราจะมีข่าวเกี่ยวกับพระราชพิธีต่างๆ แจ้งให้แก่ประชาชนทราบด้วย เพราะปัจจุบันประชาชนก็อยากที่จะติดตามข่าวสารเรื่องนี้ด้วยเหมือนกัน

eda4

นอกจากข้อมูลข่าวสารในรูปแบบแอพฯ แล้ว ยังมีบริการอื่นๆ ที่มีประโยชน์ต่อประชาชนผ่านระบบดิจิทัลอีกหรือไม่?

ดร.ศักดิ์ เผยว่า ทาง สรอ.ยังได้จัดทำเว็บไซต์ GovChannel เป็นเว็บไซต์ศูนย์กลางบริการภาครัฐสำหรับประชาชนในจุดเดียว เป็นช่อทางในการเข้าถึงข้อมูลและบริการสำหรับประชาชนเชื่อมโยงภาครัฐให้ชีวิตคุณง่ายขึ้น  มีทั้งหมด 6 ช่องทาง ดังนี้

1.แหล่งค้นหาคู่มือบริการภาครัฐ เช่น ค้นหาการเตรียมเอกสารทำใบขับขี่ หรือทำบัตรประชาชน ก็สามารถเข้าไปเสิร์ชเลยว่าต้องเตรียมอะไรบ้าง ทำที่ไหนได้บ้าง มีค่าใช้จ่ายหรือไม่ ตรงนี้จะบอกหมดเลย ซึ่งมีข้อมูลมากกว่า 7 เรื่อง โดยที่ไม่จำเป็นต้องโทรไปสอบถาม สะดวกสบายและรวดเร็วมากขึ้น

2.แหล่งค้นหาแอพฯ ภาครัฐ  เป็นลักษณะแอพฯพอร์ทัล เป็นศูนย์กลางแอพฯ ภาครัฐส่งตรงถึงมือประชาชน มีประมาณ 240 แอพ แบ่งออกมามีหลายหมวดหมู่ ที่ผ่านมาประชาชนไม่ทราบว่าหน่วยงานราชการมีแอพฯ บางครั้งเสิร์ชก็ไม่เจอ หรือเจอก็อาจจะเป็นของปลอม เราก็ได้รวบรวมเอาไว้ที่ที่เดียว

3.แหล่งค้นหา eService ภาครัฐ เป็นการรวมบริการทางออนไลน์ของภาครัฐเอาไว้ในที่เดียว ซึ่งมีมากกว่า 800 บริการ แตกต่างจากข้อที่ 1 อย่างไร ต่างกันตรงที่ว่าบริการแรกยังเป็นเพียงแค่ข้อมูล แต่ตรงส่วนนี้สามารถทำธุรกรรมออนไลน์ได้เลย อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับหน่วยงานนั้นๆ ว่ามีบริการออนไลน์รองรับหรือไม่ ถ้ามีที่เว็บของกระทรวงนั้นๆ ก็จะมีที่นี่เช่นกัน ประโยชน์ของบริการนี้นอกจากจะเป็นเรื่องของการอำนวยความสะดวกแล้ว ยังช่วยให้ประชาชนทำธุรกรรมผ่านเว็บจริงของแท้ ซึ่งปัจจุบันมีเว็บลวงหลอกให้กรอกข้อมูลมากมาย

eda2

4.แหล่งค้นหาชุดข้อมูลเปิดภาครัฐ เราเรียกข้อมูลเหล่านี้ว่าชุดข้อมูล ซึ่งอาจจะไม่เหมาะกับประชาชนทั่วไป แต่จะเหมาะกับพวกนักพัฒนา หรือ developer มากกว่า เป็นชุดข้อมูลดิบที่สามารถนำไปเขียนเป็นแอพฯ หรือโปรแกรมต่างๆ ได้ เป็นในเรื่องอของงาน Open data

5.แหล่งค้นหาข้อมูลจัดตั้งธุรกิจ มีทั้งข้อมูลและบริการที่ช่วยลดความยุ่งยากซ้ำซ้อนให้แก่ผู้ประกอบการในประเทศไทย เช่นเปิดบริษัทต้องไปขอทะเบียนการค้า ต้องไปขอเลขภาษี ลงทะเบียนลูกจ้างกับกระทรวงแรงงาน ต้องไปเปิดมิเตอร์น้ำ/ไฟ แต่เว็บนี้จะรวมทุกหน่วยงานที่นักธุรกิจจำเป็นต้องติดต่อให้เป็นจุดเดียว กรอกแบบฟอร์มแบบฟอร์มเดียว แล้วใช้ได้กับทุกหน่วยงานเลย ทำให้ผู้ประกอบการไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปหลายๆ หน่วยงาน ซึ่งภายในมีนาคมปี 2560 ก็จะพร้อมสมบูรณ์เต็มรูปแบบ

6.แหล่งค้นหาโครงการภาครัฐ  ทำให้เราทราบได้ว่าภาษีที่ถูกเรียกเก็บทุกๆ ปีของประชาชนนั้นไปอยู่ที่ไหน พูดง่ายๆ ว่าเป็นการเปิดเผยข้อมูลว่ารัฐบาลตอนนี้ทำโครงการกี่โครงการ อะไรบ้าง ตรงไหน บริษัทไหนได้ไป เว็บนี้จะบอกหมด เพราะฉะนั้นเราจะทราบว่ารัฐบาลลงเงินไปกับโครงการอะไร ตรงไหน ก็จะสามารถเปิดแผนที่ดูได้ ทำให้เราสามารถดูภาพรวมของการใช้จ่ายงบฯ ของรัฐได้ นอกจากจะตรวจสอบได้แล้ว ยังจะทำให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการแนะนำโครงการต่างๆ ได้อีกด้วย

 

“นอกจากนี้ ในอนาคตเราจะเพิ่มในส่วนของการเสิร์ชให้ฉลาดขึ้น เช่นแค่คีย์ข้อความหลักๆ ก็จะเปิดขึ้นมาเจอเลย เช่น ตอนนี้ถ้าพิมพ์แค่คำว่าบัตรประชาชนเฉยๆ ก็จะไม่พบ แต่ต้องพิมพ์คำว่าบัตรประจำตัวประชาชน ถ้าคีย์ผิดก็หาไม่เจอ เราก็เลยต้องพัฒนาเสิร์ชเอ็นจิ้นที่มันง่ายๆ สำหรับประชาชน ปีหน้าก็จะเริ่มออกมาแล้ว”

eda5
ตู้คีออซ

ดร.ศักดิ์ ยังได้แนะนำอีกช่องทางสุดท้ายในการเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวในภาครัฐบาล ได้แก่ “คีออซ” เป็นตู้คีออซในการเช็คข้อมูลเกี่ยวกับตัวเราทั้งหมด ตั้งแต่ข้อมูลในมหาดไทย สาธารณสุข แรงงาน และเครดิตบูโร ฯลฯ ซึ่งเพียงแค่เสียบบัตรประชาชนข้อมูลที่เกี่ยวกับตัวเราทั้งหมดก็จะแสดงออกมา เช่น สิทธิในการรักษาพยาบาล ข้อมูลเครดิตบูโร เป็นต้น ซึ่งตอนนี้เราติดตั้งอยู่ 13 แห่งในกรุงเทพฯ และตั้งเป้าปีหน้าจะขยายไปอีก 100 จุดทั่วประเทศ เพราะฉะนั้นต่อไปในอนาคตบัตรประชาชนจะสำคัญมาก เพราะจะสามารถใช้เช็คทุกอย่างออนไลน์ได้ตลอดเวลา ซึ่งในอนาคตถ้า บัตรหายไปให้รีบไปแจ้งที่มหาดไทยโดยเร็ว และจะสามารถแจ้งทำการระงับการใช้บัตรได้เหมือนกับ ATM เลย

จะทำอย่างไรให้ประชาชนเชื่อมั่นได้ว่าข้อมูลส่วนตัวจะไม่รั่วไหล?

ดร.ศักดิ์ ชี้แจงว่า ระบบและข้อมูลทั้งหมดอยู่บน Cloud ซึ่งทาง สรอ.ได้จัดทำความลปอดภัยได้มาตรฐานสากล ISO/IEC 27001 ซึ่งสิ่งที่ประชาชนจะต้องระวังก็คือเรื่องของการรักษา username และ password ของตัวเองไว้ให้ดีเท่านั้นเอง

“เป็นหน้าที่ สรอ.ที่ต้องทำงานกับทุกหน่วยงานภาครัฐ ในการที่จะต้องเอาดิจิทัลเซอร์วิส และดิจิทัลอินฟอร์เมชั่น ให้เข้าถึงประชาชน เราอยากจะให้มันถึงขนาดที่ว่าภายใน 5 ปีเป็นไปได้ไหมว่าจะไม่มีสำเนาเอกสารเลย เพราะภาครัฐได้มีการเชื่อมโยงข้อมูลถึงกันหมดแล้ว และใช้บัตรประชาชนบัตรเดียวทำธุรกรรมในทุกเรื่องได้แล้ว และนี่คือหนึ่งในเป้าหมาย e-Government ของ สรอ.”

ประเทศไทยจะก้าวไปสู่ Thailand 4.0 ได้อย่างไร?

ดร.ศักดิ์ กล่าวว่า เรามองเรื่องของดิจิทัลว่าจะเป็นตัวช่วยประชาชนได้อย่างไร ในการที่จะเข้าถึงระบบออนไลน์ และช่วยในการลดความยุ่งยากในการทำธุรกรรมต่างๆ ได้อย่างไร และที่สำคัญคือทำอย่างไรให้ทุกข้อมูลนั้นมันเชื่อมโยงถึงกัน เช่น ต่อไปเวลาที่ผู้ป่วยจะย้ายโรงพยาบาลก็ไม่ต้องไปทำเรื่องขอเอกสาร หอบแฟ้มโตๆ เพื่อเปลี่ยนโรงพยาบาล

“เพราะฉะนั้นดิจิทัลจะเป็นเหมือน ‘กาว’ ที่เชื่อมทุกเซ็คเตอร์ของไทยแลนด์ 4.0 ทำอย่างไรที่ให้ข้อมูลภาครัฐเชื่อมกัน ลดการใช้กระดาษ ลดความยุ่งยาก และเข้าถึงง่ายจากที่ไหนก็ได้ นี่คือมุมมองของ สรอ.ในการที่จะไปเป็นตัวเสริม เป็นผู้ซัพพอร์ตให้กับไทยแลนด์ 4.0 คือเราจะเป็นพระรองให้กับนโยบายนี้อย่างเต็มที่นั่นเอง”

จากข้อมูลทั้งหมดนี้ทำให้เราเห็นภาพชัดเจนขึ้นถึงการทำงานในส่วนของภาครัฐเพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงระบบสารสนเทศของรัฐได้สะดวกรวดเร็วขึ้น โดยมี ‘พระรอง’ อย่าง สรอ. เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการทำงานประสานสิบทิศ อย่างไรก็ตาม ที่สำคัญไปกว่าการสร้างแอพฯ และเว็บไซต์ต่างๆ มันคือการที่จะพาประชาชนให้เข้าถึงระบบต่างๆ ดังนั้น เรื่องของการให้ความรู้และการเผยแพร่ข้อมูลจึงสำคัญมาก ทำอย่างไรที่จะให้ประชาชนทราบว่ามีแอพฯ จากทางราชการที่จะช่วยเขาได้ ทำอย่างไรที่จะให้ประชาชนทราบว่าเว็บเหล่านี้เอื้อประโยชน์ใกนารติดต่อราชการอย่างไร บางทีคำตอบสุดท้ายเหล่านี้อาจจะอยู่ที่ประชาชนอย่างเราก็ได้.

Copyright © MarketingOops.com


  • 105
  •  
  •  
  •  
  •  
pigabyte
การเรียนรู้ไม่มีวันจบสิ้น มาเรียนรู้และสนุกไปกับบทความ จาก MarketingOops! กันนะคะ แล้วเราจะได้ค้นพบว่าโลกของ Marketing นั้น So Sexy and Cool!
CLOSE
CLOSE