ขาลงของสื่อสิ่งพิมพ์ กับ 3 ทรรศนะจากคนในแวดวงสื่อฯ

  • 51
  •  
  •  
  •  
  •  

จากข่าวสะเทือนวงการสิ่งพิมพ์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กรณีการประกาศปิดตัว IMAGE (อิมเมจ) นิตยสารชื่อดังของไทย ด้วยสาเหตุที่สิ่งพิมพ์อยู่ในช่วงขาลง และต้องเผชิญกับภาวะขาดทุนติดต่อกันหลายปี เหตุการณ์ลักษณะนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดให้ฮือฮากันเป็นครั้งแรก เพราะรอบปีที่ผ่านมามีนิตยสารหลายฉบับทยอยอำลาแผงกันอย่างต่อเนื่องตามข่าวที่ออกมาเป็นระลอก

ในสถานการณ์ที่สิ่งพิมพ์อยู่ในช่วงขาลง โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์และนิตยสาร ทำให้หลายบริษัทมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารและกลยุทธ์ในการก้าวข้ามอุปสรรคในครั้งนี้ โดยเฉพาะนิตยสารสำนักต่างๆ หลังเม็ดเงินโฆษณาของนิตยสารในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาลดลงกว่า 1 ใน 3  …..จากการเก็บข้อมูลของ บริษัท เดอะนีลเส็นคอมปะนี (ประเทศไทย) เผยว่าปี 2558 เม็ดเงินโฆษณาในธุรกิจสื่อนิตยสาร ลดลงมากที่สุดจากทุกสื่อ ซึ่งลดลงถึง 14% และนี่จึงเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ปี 2558 มีนิตยสารปิดตัวต่อเนื่องมาจนถึงปี 2559

เงินโฆษณาในธุรกิจนิตยสาร

ส่วนเงินโฆษณาในธุรกิจหนังสือพิมพ์แม้จะมีจำนวนรวมมากกว่าธุรกิจนิตยสาร แต่จำนวนเงินก็มีอัตราลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน จาก 1.5 หมื่นล้านบาทต่อปี ลดลงมาเหลือ 1.2 หมื่นล้านบาทต่อปี ซึ่งเท่ากับว่าเงินโฆษณาในธุรกิจหนังสือพิมพ์ลดลงกว่า 20% ในระยะเวลาเพียง 10 ปีเท่านั้น

เงินโฆษณาในธุรกิจนสพ

สืบเนื่องจากสถานการณ์ที่น่าจับตาของสื่อสิ่งพิมพ์ ณ ตอนนี้ MarketingOops ได้สอบถามความคิดเห็นไปยังบุคคลที่ทำงานในแวดวงสื่อฯทั้ง 3 ท่าน ที่ข้องเกี่ยวกับทั้งสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อดิจิทัล โดยสอบถามถึงภาพรวมของอุตสาหกรรมสื่อสิ่งพิมพ์ในไทย ณ ปัจจุบันในมุมมองของแต่ละฝ่าย ซึ่งก็ได้ทรรศนะที่น่าสนใจถึงภาพรวมสื่อสิ่งพิมพ์ และความท้าทายของคนทำสิ่งพิมพ์

 

cover opinion สิ่งพิมพ์

 

 

unnamed-10

 

คนซื้อหนังสือพิมพ์น้อยลงเป็นเรื่องที่เกิดไปทั่วโลกและเป็นแบบนี้ต่อเนื่องมากว่า 5 ปีแล้ว คนที่อ่านก็ยังคงมีอยู่แต่น้อยลง คนหันไปอ่านบนออนไลน์กันมากขึ้น เพราะไม่ต้องซื้อและข่าวเร็วกว่า ยิ่งใน Twitter ยิ่งเร็ว อย่างในอเมริกาเขาจะลดขนาดหนังสือพิมพ์ลง จากเคยเป็น boardsheet ก็ลงมาเหลือเป็น tabloid

อย่างเมื่อเช้าผมอ่านกรุงเทพธุรกิจ  นิตยสารค่อยๆทยอยปิดตัวเพราะยอดโฆษณาลดลง เป็นแบบนี้มาตั้งแต่ปี 2554-2558 และปีนี้ก็จะตกลงไปอีก บวกกับเศรษฐกิจที่ไม่ดีด้วย เราจะเห็นการหดตัวของเม็ดเงินโฆษณาในสิ่งพิมพ์ลงเรื่อยๆ หลายเจ้าก็ทยอยขยายมาอยู่บนออนไลน์กันมากขึ้น  ซึ่งแม้ออนไลน์จะโตไว แต่เม็ดเงินบนออนไลน์ตอนนี้ยังถือว่าน้อยมากถ้าเทียบกับอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์

นอกจากออนไลน์แล้ว ก็มีกลุ่มที่ขยายไปทำทีวีซึ่งก็มีทั้งไปได้ดีและไปได้ยาก เพราะทีวีต้นทุนสูงมาก มีผู้เล่นเยอะ และต้องใช้เวลานานพอสมควรกว่าจะติดตลาด แถมตอนนี้คนก็ดูทีวีน้อยลงการย้ายไปทำทีวีจึงอาจยังไม่ใช่คำตอบ ส่วนอุปสรรคคือคนทำสิ่งพิมพ์ยังเคยชินกับการทำข่าวที่ไม่ต้องรีบ เพราะออนไลน์มันเร็ว คนอ่านกันไปแล้วจะไม่มาอ่านซ้ำ รวมถึงมีวิสัยทัศน์ที่ไม่ชัดเจน ซึ่งค่อนข้างเป็นอุปสรรค เพราะในยุคนี้มันต้อง multimedia ถ้าช้ากว่าก็ต้องลึกกว่า แต่ถ้าจะให้ดีคือคอนเทนท์เราต้องเร็ว

นพพร วงศ์อนันต์
รองบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ Bangkok Post

 

 

 

 

unspecified

 

 

สิ่งพิมพ์ที่กระทบหนักตอนนี้จะเป็นสิ่งพิมพ์ประเภทที่เสนอข่าวที่ต้องใช้ความไว เพราะออนไลน์ไวกว่า และคอนเทนท์บนออนไลน์มี element มากกว่า คือคนอ่านสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับเนื้อหาได้ แชร์  ไลค์ แสดงความคิดเห็นได้ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นคือพฤติกรรมผู้บริโภควันนี้ไม่เหมือนเดิม เขาอยู่กับสิ่งที่สะดวกกว่า เร็วกว่า และสร้างประสบการณ์ให้พวกเขาได้มากกว่า

ซึ่งสิ่งที่จะช่วยคนทำสิ่งพิมพ์ได้คือต้องเปลี่ยน Mindset  อย่างแรกคือต้องเปิดใจครับ พฤติกรรมคนอ่านเปลี่ยนไปแล้ว รูปแบบสื่อที่ผู้บริโภคเสพไปอยู่บนออนไลน์ เราอย่ามองว่าออนไลน์เป็นคู่แข่งสิ่งพิมพ์ครับ

ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์
Chief executive officer, Ookbee

 

 

 

bohอันที่จริงสื่อสิ่งพิมพ์โดยเฉพาะนิตยสารกับหนังสือพิมพ์ตกต่อเนื่องมา 2-3 ปีแล้ว สื่อออนไลน์ที่เข้ามาทดแทนทำให้คนอ่านกระดาษน้อยลงมาก พอคนบริโภคสิ่งพิมพ์กันน้อยลงโฆษณาก็น้อยลงตามไปด้วย สาเหตุหลักเกิดจากพฤติกรรมคนอ่านแปรผันไปตามเทคโนโลยี ที่เข้ามาซัพพอร์ตการเสพคอนเทนท์ในแต่ละวัน เดี๋ยวนี้คนไม่ต้องรอตอนเช้าเพื่อจะซื้อหนังสือพิมพ์อ่าน  ไม่ต้องรีบกลับบ้านมาดูละครให้ทัน เพราะดิจิทัลมีเดียทำให้คนสามารถเสพคอนเทนท์ได้ตลอดเวลา มันคือความสะดวกที่เข้ามาทลายกรอบของเวลาและสถานที่

ซึ่งคนทำสิ่งพิมพ์ก็ต้องปรับตัวให้ทันกับพฤติกรรมของ target ที่เปลี่ยนไป จะเห็นได้ว่าคนทำสิ่งพิมพ์หลายเจ้าโดดเข้ามาเล่นบนออนไลน์ กับบนทีวี ซึ่งบางเจ้ายังคงทำสิ่งพิมพ์ควบคู่ไปด้วย แต่บางเจ้าก็เลิกทำสิ่งพิมพ์ไปเลย  ความท้าทายของคนทำสิ่งพิมพ์คือพฤติกรรมของคนเสพคอนเทนท์ที่ไปไวมาก และแยกย่อยได้หลาย segment มองหากลุ่มเป้าหมายของตัวเองให้เจอ เสิร์ฟในสิ่งที่พวกเขาต้องการบนสื่อที่พวกเขาเลือกใช้ แล้วลงให้ลึกถึง consumer insight ว่าคนดูคนอ่านของเราเป็นใคร ชอบอะไร ไม่ชอบอะไร ในวันหนึ่งพวกเขาทำอะไรบ้าง  การแข่งขันสูง จะไปให้ได้ต้องหากลุ่ม niche ของตัวเองให้เจอแล้วให้ในสิ่งที่พวกเขาต้องการ

ภวัต เรืองเดชวรชัย
VP media insight & business director, Media Intelligence Co.,Ltd.

 

แม้เราจะได้ยินวลีติดหูที่ว่า “สิ่งพิมพ์กำลังจะตาย” กันมาหลายปีต่อเนื่อง และมีการยกประเด็นนี้ขึ้นมาถกกันอยู่เป็นระยะ แต่อันที่จริงคำว่า ‘สิ่งพิมพ์กำลังจะตาย’ ยังไม่น่าใช่คำอธิบายเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น ณ ตอนนี้ได้ ไม่เช่นนั้นยุคนี้คงไม่เกิด free copy ขึ้นมากมาย แต่ถ้าจะให้วิเคราะห์ไปตามสถานการณ์ เราคิดว่าสิ่งพิมพ์ไม่ได้กำลังจะตายแต่สื่อดิจิทัลกำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด จนไปแย่งพื้นที่และเวลาของสื่ออื่นๆ

เพราะฉะนั้นไม่ใช่แค่สื่อสิ่งพิมพ์ที่กระทบ แต่สื่ออื่นๆก็กระทบเช่นกัน วันนี้เราไม่ต้องรีบกลับบ้านเพื่อไปดูละครเรื่องโปรดให้ทันเวลา เราดูรีรันผ่านเว็บไซต์ได้, เราไม่ต้องรอฟังคลื่นวิทยุเปิดวนเพื่อให้เจอเพลงโปรด เพราะมีบริการฟังเพลงสตรีมมิ่งให้เลือกมากมาย เช่นเดียวกันกับสื่อสิ่งพิมพ์ ข่าวที่ตีพิมพ์ในตอนเช้าถูกพูดถึงบนออนไลน์ไปตั้งแต่เมื่อคืน ส่วนเนื้อหาต่างๆที่อยู่ในนิตยสารก็ขึ้นมาอยู่บนหน้าจอได้อย่างเกือบสมบูรณ์ แม้จะให้สัมผัสที่ต่างกันในการเสพเนื้อหา แต่ก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ผู้อ่านนิยมกันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

สิ่งที่เราจะบอกคือสื่อดิจิทัลได้เข้ามาทำลายข้อจำกัดในเรื่องเวลาและสถานที่อีกทั้งยังมีราคาถูกกว่า ผลกระทบจึงเกิดขึ้นกับสื่ออื่นๆที่อยู่ในสถานะถูกทดแทนได้ด้วยสื่อดิจิทัล

Copyright © MarketingOops.com


  • 51
  •  
  •  
  •  
  •  
CLOSE
CLOSE