เปิดใจ ‘ชวิณ เจียรวนนท์’ นักลงทุนรุ่นใหม่ ที่มี ‘วอร์เรน บัฟเฟตต์’ เป็นไอดอล และเผยเคล็ดลับความสำเร็จ ‘ทุกอย่างต้องดีที่สุด’

  • 12
  •  
  •  
  •  
  •  

‘ชวิณ เจียรวนนท์’ ผู้ร่วมก่อตั้งและ Managing Partner ไนน์ เบซิล (9 Basil) ให้สัมภาษณ์แบบ Exclusive กับ Marketing oops! เป็นที่แรกถึงมุมมองด้านการลงทุน พร้อมเคล็ดลับความสำเร็จ ซึ่งไม่ได้มาจาก ‘นามสกุลดัง’ แต่เริ่มต้นจากความมุ่งมั่นและทุกอย่างต้องดีที่สุด

ชวิณ เป็นหนึ่งในนักลงทุนรุ่นใหม่ที่ถูกจับตามองมากที่สุดในปัจจุบัน เพราะตอนนี้ด้วยวัยเพียง 29 ปี เขาดูแลและบริหารสินทรัพย์มีมูลค่าหลายพันล้านเหรียญฯ แถมมีนามสกุลดัง ‘เจียรวนนท์’ โดยชวิณจบการศึกษาจาก Kenan-Flagler Business School ของ University of North Carolina at Chapel Hill ใน 2 สาขาวิชาหลัก นั่นคือ ด้านเศรษฐศาสตร์ และการบริหารธุรกิจ โดยเฉพาะสาขาบริหารธุรกิจที่โฟกัสในด้าน Entrepreneurship และ Corporate Finance

เขาเริ่มต้นสนใจด้านการลงทุนเมื่ออายุ 22 ปี และในปี 2014 ได้ก่อตั้ง ‘2W Group’ จากนั้นในปี 2018 ได้ก่อตั้ง ‘ไนน์ เบซิล’ ธุรกิจบริหารจัดการกองทุน Private Equity ที่เน้นการลงทุนในบริษัทอยู่นอกตลาดหลักทรัพย์ ทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  โดยเน้นลงทุนในธุรกิจไทยเป็นหลัก ร่วมกับ ดร. กฤษณ์ พานิชพันธ์ (ดร. กฤษณ์ มีบทบาทหลักในฐานะพาร์ทเนอร์ของ 9 Basil เท่านั้น) และ Kai Lam อีกพาร์ทเนอร์คนสำคัญที่ร่วมก่อตั้ง Blueprint Forest บริหารกองทุน Open Forest ซึ่งกองทุนนี้มีกลยุทธ์เน้นการบริหารกลุ่มกองทุน

“ผมไม่ได้มองการลงทุนเป็นธุรกิจ และความสำเร็จที่เกิดขึ้นผมภูมิใจที่ทำทุกอย่างเอง ไม่ได้มาจากมีนามสกุลใหญ่อย่างที่หลายคนอาจจะมอง อย่างตอนเริ่มต้นธุรกิจไม่มีพนักงาน ผมทำเองหมดทุกอย่าง ตั้งแต่เตรียมเอกสาร ส่งเอกสารก็นั่งบีทีเอสไปส่งเอง เจรจาเอง ครอบครัวผมก็ไม่ได้ให้อะไรมา เพราะคิดว่าเด็กคนนี้จะทำได้รึเปล่า และตอนนั้นกว่าจะหาเงินลงทุนได้ล้านเหรียญฯแรก ผมหาพาร์ทเนอร์เองต้องคุยกันแล้วคุยกันอีกไม่รู้กี่เดือน” ชวิณเปิดใจกับ Marketing oops!

มี วอร์เรน บัฟเฟตต์เป็นไอดอล และความสำเร็จมาจาก ‘ทุกอย่างต้องดีที่สุด’

‘วอร์เรน บัฟเฟตต์’ ไอดอลของชวิณ

ส่วนเหตุผลที่ทำให้ชวิณสนใจด้านการลงทุนนั้น เพราะมี Passion จากการได้ศึกษา ‘วอร์เรน บัฟเฟตต์’ เจ้าพ่อนักลงทุนระดับโลกตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง Buffet Partnership ไปจนถึงช่วงไปลงทุนใน Berkshire hathaway จนอยากจะทำ Return to investment และ Track Record ในระยะยาวให้ได้เหมือนกับบัฟเฟตต์

“บัฟเฟตต์ เป็นไอดอลของผม เขาเก่ง ฉลาด มีความสามารถ คุณคิดดูว่าเขาสร้าง Track Record ได้ในระดับ 24%ทุกปี ได้อย่างไรเป็น 60-70 ปี ทั้งๆที่บริษัทเติบโตมีมูลค่ามหาศาล ผมมองเป็นเรื่องมหัศจรรย์ ที่สำคัญบัฟเฟตต์ มี value ดีมาก เชื่อเรื่องความซื่อสัตย์ มีความโปร่งใส ยากมากที่จะหานักธุรกิจแบบนี้ เป็น Good standard ทำให้ผมมีความเชื่อได้ว่า ใครก็ตามที่มีความพยายาม ฉลาด มีความสามารถ ก็จะประสบความสำเร็จได้ นอกจากเขาผมได้ศึกษาติดตามอ่านผลงานของชาร์ลี มังเกอร์ และได้เรียนรู้อะไรมากมายจากเขาเช่นกัน”

ส่วนประเด็นที่ว่า การมาถึงจุดนี้ได้ เพราะ ‘นามสกุลดัง’ และ ‘มีเครือใหญ่อย่าง ซีพี’ คอยหนุน

ชวิณอธิบายว่า สิ่งที่ภูมิใจมาก คือ ความสำเร็จที่เกิดขึ้นมาจากการความทุ่มเทของตัวเอง และการเน้นย้ำตั้งแต่วันแรกของการทำธุรกิจ ‘ทุกอย่างต้องให้ดีที่สุด’ และทุกครั้งเวลาต้องไปพรีเซ็นต์เพื่อร่วมลงทุน ชวิณจะบอกเสมอว่า ‘ผมไม่ใช่ซีพี ถ้าหวังว่า คุยกันแล้วจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับซีพี หยุดคุยกันได้เลย’

ส่วนการโตก้าวกระโดดมาถึงจุดนี้ หลัก ๆ มาจากการทำงานหนัก ผสมกับความโชคดีด้วย ที่สำคัญมาจากการหาคนที่ดีที่สุดมาร่วมทีม อย่างเช่นตอนจะทำไนน์ เบซิล ได้พยายามถามทุกคนที่เก่งว่า ใครเก่งสุดในเรื่องกองทุน คำตอบก็คือ ดร.คริส (ดร. กฤษณ์ พานิชพันธ์) ซึ่งเขาใช้เวลา 18 เดือนกว่าจะชักชวนมาได้ บวกกับตัวชวิณเองเดินทางเยอะ ชอบศึกษาและพูดคุยกับคนเก่ง ๆ

อย่างไรก็ตามอย่างที่รู้กันดี การเข้าถึงคนเก่งระดับโลกก็ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ด้วยความพยายาม สุดท้ายเขาก็เปิดใจ เพราะพวกเขามีความสนใจและต้องการหาคนเก่งเข้ามาใน network เช่นกัน

“จุดยืนของผม คือ independent  จากซีพี ซึ่งที่ผ่านมาทางซีพีไม่เคยเข้ามาช่วยหรือมีส่วนเกี่ยวข้องเลย อย่างตอนเข้าไปประมูลเงินติดล้อ เพื่อประมูลถือหุ้น 50% ผมเข้าใจว่า ซีพีก็เข้ามาแข่งด้วยเหมือนกัน อันนี้เป็นตัวอย่างชัด ๆ ว่า เราไม่เกี่ยวข้องกัน”

 

Value Investor คือสไตล์การลงทุน 

ชวิณมองตัวเองเป็นนักลงทุนแบบ Value Investor หรือนักลงทุนที่เน้นคุณค่า และมองว่า ‘คน’ เป็นส่วนสำคัญที่สุดของธุรกิจ ดังนั้นจึงเลือกคนที่ดีที่สุดเข้ามาทำงานด้วยกัน นอกจากนี้หลักการการลงทุน ต้องเป็นไปอย่างมีระบบระเบียบ และมองภาพในระยะยาว ซึ่งเป็นหลักการที่เขาใช้มาโดยตลอด เพราะการมองภาพในระยะยาวจะทำให้การแข่งขันน้อยลง

รวมไปถึงการที่เขาทำงานอย่างอิสระ ไม่ได้ขึ้นกับใครหรือบริษัทไหน และการให้อิสระกับบริษัทที่เข้าไปลงทุน มีส่วนสำคญที่ทำให้ไนน์ เบซิลเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยชวิณจะเข้าไปมีส่วนร่วมก็ต่อเมื่อบริษัทที่เข้าไปลงทุนขอให้เข้าไปเท่านั้น ซึ่งวิธีบริหารแบบนี้มาจาก ‘วอร์เรน บัฟเฟตต์’ นั่นเอง

“ทุกดีลผมจะเป็นทั้งเจ้าของและพนักงานของบริษัท วันแรกที่เข้าไปผมจะแนะนำตัว และเปิดตัวว่า เป็นผู้ถือหุ้นใหม่ ไม่ได้ต้องการมาเทคหุ้นหรือมาคุมบอร์ด และหน้าที่บริหารก็เป็นของคุณ หลายคนอาจมองเราเป็นคนขี้เกียจก็ได้ แต่เราอยากลงทุนในสิ่งที่ดีอยู่แล้ว การที่คุณไปเปลี่ยน อาจหมายความว่า บริษัทนั้นไม่ดีพอหรือเปล่า เหมือนบัฟเฟตต์ ที่เลือกคนดีแล้วปล่อยให้เขาบริหาร แบบนี้ทำให้ผู้บริหารสบายใจทำงานมากกว่า”

ไนน์ เบซิล ไม่ใช่แค่ให้ ‘เงิน’ แต่ซัพพอร์ตทุกทางเพื่อให้ธุรกิจเติบโต

สำหรับหลักในการลงทุนของไนน์ เบซิล ก็จะเป็น Value Investor เน้นหาบริษัทที่คุณภาพดี มีวิสัยทัศน์ดี มี Business model  ยืนยาวไปได้ไกล และมีทีมที่เก่ง โดยคุณภาพดีนั้น คำถามแรกที่ชวิณจะถามตัวเองก่อนเข้าไปลงทุน คือ บริษัทนี้จะยืนอย่างแข็งแรงในระยะยาวช่วง 10 ปี ได้หรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ตอบได้ยากมาก เพราะหลายบริษัทกระทั่งใน S&P 500 ก็มีหลายแห่งที่มีปัญหาในช่วง 10 ปี

ดังนั้นสิ่งที่พยายามศึกษา ต้องดูว่า อะไรของบริษัทที่ทำให้แตกต่างและคู่แข่ง copy ไม่ได้ และสามารถเพิ่มมาร์จิ้นได้ในระยะยาวหรือไม่ ขณะที่ระยะสั้นจะดูเรื่องทีมงานผู้บริหาร สภาพคล่อง และ Business เป็นต้น  ที่สำคัญ การเข้าไปลงทุนของไนน์ เบซิล จะไม่ใช่เพียงแค่การลงทุนด้วยเม็ดเงินเท่านั้น ยังจะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุน สร้างความสัมพันธ์ที่ยั่งยืน และช่วยเหลือใหัธุรกิจเติบโตไปอย่างมั่นคงผ่านเครือข่ายนักลงทุนที่มีพาร์ทเนอร์อยู่ทั่วโลก

ส่วนบริษัทที่สนใจเข้าไปลงทุน หลัก ๆ จะโฟกัส 3 เซ็กเตอร์ ได้แก่ การเงิน, Consumer Brand คอนซูมเมอร์ แบรนด์ และบริษัทที่อยู่ในซัพพลายด์เชนของอีคอมเมิร์ซ เช่น ลอจิสติกส์ที่ต่อยอด, warehouse ฯลฯ เพราะมองเป็น New economy ที่โตได้ไกลในระยะ 10 ปี แต่จะไม่เข้าไปลงทุนในตัวบริษัทอีคอมเมิร์ซ เพราะแข่งขันรุนแรง

อย่างไรก็ตาม หากมีบริษัทไหนน่าสนใจ ทางชวิณก็พร้อมเข้าไปศึกษาและลงทุน โดยไนน์ เบซิล ได้มีการระดมทุนครั้งแรกไปแล้ว 120 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และตอนนี้ใช้เงินไป 70-80% จากที่มี สามารถทำ IRR (Internal Rate of Return) ได้ในระดับ 100% โดยได้เข้าไปลงทุนใน ‘บริษัท เงินติดล้อ จำกัด(มหาชน)’ ซึ่งถือเป็นตัวอย่างที่ดีของธุรกิจที่เข้าไปลงทุน เพราะหลังจากที่ลงทุนไปในปี 2019 และมีการสนับสนุนในหลากหลายด้าน ไนน์ เบซิล ก็ได้ผลตอบแทนอย่างรวดเร็วภายใน 20 เดือน

โดยนอกจากให้เงินลงทุนแล้ว ชวิณได้เข้าไปนั่งในฐานะ ‘กรรมการบริหาร’ และให้การสนับสนุนด้านอื่น ๆ  เพื่อให้บริษัทมีการเติบโตและเพิ่มความแข็งแกร่งในระยะยาว อาทิ ส่งเสริมให้เงินติดล้อมีความเป็นอิสระในการตัดสินใจภายใต้กรอบ Business Judgement Rule , การใช้เครือข่ายที่มีในการหาโลเคชั่นที่ดีในการขยายสาขา, สนับสนุนในการทำมาร์เก็ตติ้ง แคมเปญ ซึ่งตอนนี้ทางชวิณอยู่ระหว่างคุยกับพาร์ทเนอร์ในการทำการตลาดร่วมกัน, การพัฒนาระบบไอทีให้มีมาตรฐานเทียบเท่าซีลีคอน วัลเลย์ เป็นต้น

นอกจากนี้เงินติดล้อ ไนน์ เบซิล ยังได้ลงทุนใน ‘อัลฟา แคปปิตอล’ บริษัทที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการบริหารสินทรัพย์ เพื่อซื้อ,จัดการบริหารและจัดเก็บหนี้ด้อยคุณภาพ รวมไปถึงเจรจากับบางบริษัทในประเทศอินโดนีเซีย,ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ซึ่งภายในปีนี้ 2021 มีแผนจะปิดดีลอีก 2-3 ดีล และนอกจากเงินติดล้อแล้ว ใน 2-3 ปีข้างหน้ามีแผนจะนำบริษัทอื่นๆ เข้าตลาดหลักทรัพย์อีก

ข้อแนะนำสำหรับนักลงทุน-บริษัทที่ต้องการเข้าถึงแหล่งเงินทุน

สำหรับนักลงทุนแล้วสิ่งที่สำคัญ ต้อง Intellectually honest กับตัวเอง คือ ‘ถ้ารู้ก็บอกว่ารู้ ถ้าไม่รู้ก็คือไม่รู้’ และต้องเชื่อมั่นอย่างมากในสิ่งที่กำลังทำอยู่ โดยใช้เหตุและผลเป็นหลัก ลองคิดว่าธุรกิจนั้นๆ จะยังอยู่และเติบโตหรือไม่ใน 10 ปีจากนี้ และควรลงทุนต่อเนื่อง เมื่อคุณโอเคว่า ต้องการจะถืออยู่เป็นเวลานานและไม่ขายออกไป

ส่วนบริษัทที่ต้องการเข้าถึงแหล่งเงินทุนนั้น อยากให้มุ่งมั่นกับสิ่งที่ธุรกิจของคุณตั้งขึ้นมาและคุณสร้างธุรกิจนั้นเพื่ออะไร หากจะตัดสินใจอะไรก็ควรจะเป็นไปเพื่อทำให้ธุรกิจเติบโตขึ้นในระยะยาวและยั่งยืน รวมถึงเป็นสิ่งที่เป็นไปตามวิชั่นและเหตุผลที่คุณสร้างธุรกิจขึ้นมาตั้งแต่แรก


  • 12
  •  
  •  
  •  
  •