จาก SCB สู่ SCBX การปฏิวัติครั้งใหญ่ เพื่อฝ่าทุกกระแส Disrupt และเดินหน้าสู่บริษัทมูลค่า 1 ล้านล้านบาท ภายใน 5 ปี

  • 31
  •  
  •  
  •  
  •  

นับเป็นข่าวใหญ่ของวงการธุรกิจทางการเงินก็ว่าได้ เมื่อ ‘ธนาคารไทยพาณิชย์’ หรือ SCB ได้ประกาศปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ ด้วยการตั้ง ‘SCBX’ ซึ่งจะเป็น ‘ยานแม่’ ในการทลายกรอบไม่จำกัดอยู่กับการทำธุรกิจแบงก์ในรูปแบบเดิม และบุกตะลุยสู่สนามฟินเทคใน Business Model ใหม่ ๆ  เพื่อฝ่าทุกกระแส Disrupt  มีการเติบโตอย่างยั่งยืน และเดินหน้าสู่ The Most Admire & Financial Technology Group in Asean ที่มีบริษัทมูลค่า 1 ล้านล้านบาท ภายใน 5 ปี

การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้  ‘อาทิตย์ นันทวิทยา’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหาร SCB ให้เหตุผลว่า หลังจากช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมาทาง SCB ได้โฟกัสการ Transformation และ Upside down ธุรกิจ เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ และเติบโตในระยะยาว แต่สิ่งที่พบ คือ การ Transformation ที่เอาทุกอย่างมาอยู่ภายใต้การดำเนินการของ SCB ได้สร้างข้อจำกัดในหลายเรื่อง และทำให้ศักยภาพในการขับเคลื่อนองค์กรไม่เต็มที่

‘อาทิตย์ นันทวิทยา’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหาร SCB

จึงเป็นที่มาของการจัดตั้งบริษัทที่เป็น ‘ยานแม่’  ขึ้นมา เพื่อเป็นบริษัทใหญ่ของกลุ่มธุรกิจทางการเงิน โดยดำเนินธุรกิจในลักษณะ ‘บริษัทลงทุน’ ที่ไม่ได้ทำธุรกิจของตนเอง (Non-operating holding company) ทว่าจะเข้าไปถือหุ้นในบริษัทอื่น ซึ่งจะพา SCB ก้าวสู่โลกใหม่ที่ไม่จำกัดตัวเองอยู่ที่ธุรกิจธนาคารแบบดั้งเดิมอีกต่อไปและเร่งขยายธุรกิจเข้าสู่ธุรกิจการเงินประเภทอื่นที่ตลาดต้องการ และสร้างขีดความสามารถทางด้านเทคโนโลยี รวมถึงการบริหารจัดการแพลตฟอร์มทางเทคโนโลยี (technology platform) ขนาดใหญ่ให้ทัดเทียมกับคู่แข่งระดับโลก

วัตถุประสงค์  เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการขยายธุรกิจไปยังธุรกิจการเงินอื่น ๆ เพิ่มความสามารถในการแข่งขันและความแข็งแกร่งให้กับกลุ่มไทยพาณิชย์ เพิ่มความชัดเจนในการทำธุรกิจให้ขยายและพัฒนาธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง เข้าถึงกลุ่มได้ตรงและกว้างขึ้น  เพื่อจะให้บริษัทอยู่รอดปลอดภัยในอีก 3-5 ปีข้างหน้านี้

ขออนุมัติผู้ถือหุ้นทำ share swap

สำหรับขั้นตอนของการปรับโครงสร้างครั้งนี้ จะมีขอมติผู้ถือหุ้น SCB ในการแลกหุ้น (Share Swap) เพื่อให้ผู้ถือหุ้น SCB ไปเป็นผู้ถือหุ้น SCBX แทน กรณีอนุมัติ ขั้นต่อไปจะนำ SCBX  เข้าไปเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และเพิกถอน SCB ออกจากตลาดฯ

นอกจากนี้ เพื่อให้เป็นไปตามแผนการปรับโครงสร้างข้างต้น บอร์ดมีมติให้เสนอผู้ถือหุ้น SCB เพื่อพิจารณาจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล เป็นกรณีพิเศษจำนวน 70,000 ล้านบาท โดย 70% จะมาใช้ดำเนินการในการจัดตั้งบริษัทใหม่ โอนย้ายธุรกิจ และการลงทุนต่อเนื่อง โดยเฉพาะธุรกิจใหม่ ๆ ที่อยู่ระหว่างการดีล เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจและการเติบโตในอนาคต

โดยการจะจ่ายปันผลดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ ภายหลังจากการแลกหุ้นระหว่างธนาคารและ SCBX เสร็จสิ้น  มีผู้แสดงเจตนาแลกหุ้นไม่น้อยกว่า 90% และได้รับการอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทยให้จ่ายปันผลดังกล่าว

วางธุรกิจ 2 กลุ่มสร้างการเติบโต

ภายใต้โครงสร้าง SCBX จะแบ่งธุรกิจออกเป็น 2 กลุ่ม ประกอบด้วย

กลุ่มแรก Cash Cow อาทิ ธุรกิจธนาคาร , ธุรกิจประกันภัย และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เป็นต้น

กลุ่มที่ 2 Growth จะอยู่ในตลาด Blue ocean ด้วยการขยายสู่ธุรกิจทางการเงินในรูปแบบใหม่  ๆ ที่ตลาดและผู้บริโภคต้องการ เพื่อจะสร้างการเติบโตให้กับ SCBX ทั้งในประเทศและต่างประเทศในอีก 2-3 ปี ซึ่งต่างประเทศที่โฟกัสนั้น ก็ได้แก่ อินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์

โดยธุรกิจกลุ่ม Growth ยกตัวอย่างเช่น การขยายเข้าสู่ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (digital asset business) ในระดับโลกเพื่อเข้าสู่โลกการเงินแห่งอนาคตผ่าน SCB 10X และบริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) ที่จะร่วมลงทุนและเป็นพันธมิตรกองทุนระดับโลก และการพัฒนาธุรกิจ digital asset ด้านต่างๆ ใน business model ใหม่เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกลุ่มในระยะยาว

รวมถึงการที่บริษัท เอสซีบี เท็นเอกซ์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยและบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของ SCB ร่วมมือกับบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด หรือ CPG จัดตั้งกองทุน Venture Capital ขนาด 600-800 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อการลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีทางการเงินในด้านต่างๆ เช่น เทคโนโลยีบล็อกเชน Decentralized Finance ตลอดจนเทคโนโลยีที่เกิดใหม่อื่นๆ

นอกจากนี้ ในกลุ่ม Growth ยังมีอีกหลายธุรกิจ ได้แก่

– การสร้างให้ ‘โรบินฮู้ด ฟู้ดเดลิเวอรี’ สามารถแข่งขันกับแพลตฟอร์มระดับโลก

– Card X บริษัทที่รับโอนธุรกิจเครดิตการ์ดและสินเชื่อส่วนบุคคลจาก SCB มาดูแล

– Auto X   บริษัทที่รับโอนธุรกิจสินเชื่อรถยนต์จาก SCB มาดูแล แยก

-บริษัท SCB Tech X และบริษัท Data X ที่เป็นการร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ระดับโลก เพื่อสร้างขีดความสามารถพื้นฐานด้านเทคโนโลยีภายในที่จะสามารถสร้างและ scale platform ได้ภายในระยะเวลาอันสั้น

– บริษัท AISCB ที่ร่วมทุนกับบริษัท AIS  ทำสินเชื่อดิจิทัล

-บริษัท Alpha X ที่ร่วมทุนกับ บริษัท มิลเลนเนียม กรุ๊ป คอร์ปอเรชั่น (เอเชีย) จำกัด ประกอบธุรกิจให้เช่าซื้อลีสซิ่ง และให้สินเชื่อรีไฟแนนซ์สำหรับรถยนต์ รถจักรยานยนต์ (Big Bike) และยานพาหนะทางน้ำ

ตั้งเป้าผู้นำในอาเซียน และก้าวสู่บริษัทมูลค่า 1 ล้านล้านบาท ภายใน 5 ปี

การปรับโครงสร้างครั้งใหญ่นี้ ทางอาทิตย์ วางเป้าหมายให้ SCBX เป็น The Most Admire & Financial Technology Group in Asean โดยคาดหวังว่า ในปี 2025 จะสามารถสร้างมูลค่าของบริษัทจากธุรกิจใหม่ให้มีขนาดที่มีนัยยะสำคัญนอกเหนือจากผลกำไรพื้นฐานและความมั่นคงของธุรกิจธนาคารหลัก

นอกจากนี้ จะช่วยสร้างฐานลูกค้าในระบบให้ได้ถึง 200 ล้านคนในภูมิภาค  และคาดว่า จะทำให้กลุ่มไทยพาณิชย์มีมาร์เก็ตแคปถึง 1 ล้านล้านบาทได้ภายใน 5 ปี


  • 31
  •  
  •  
  •  
  •