จับ 10 สัญญาณ Toxic culture ในที่ทำงาน เหตุผลสำคัญของการลาออก หาให้เจอแล้วรีบแก้ให้ทัน

  • 108
  •  
  •  
  •  
  •  

 

ปรากฎการณ์ Great resignation ที่เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี 2021 เป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่หลายๆองค์กรต้องพบเจอและยังคงมีมาอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน เรื่องนี้ทุกๆองค์กรพยายามทำความเข้าใจเพื่อ retain พนักงานให้ยังอยู่กับองค์กรต่อไปให้ได้มากที่สุด และหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้พนักงานลาออกมากที่สุดก็คือ วัฒนธรรมการทำงานที่เป็นพิษ หรือ Toxic Workplace Culture คำถามก็คือทำอย่างไรถึงจะรู้ว่าองค์กรของเราเกิดปรากฏการณ์นี้ขึ้นแล้ว ในบทความนี้เรามี 10 สัญญาณของ Toxic Workplace Culture มาให้ลองสังเกตดูว่าองค์กรของเรามีสัญญาณเหล่านี้อยู่หรือไม่เพื่อที่จะได้เข้าไปแก้ไขได้ทัน

Toxic Workplace Culture คืออะไร?

ก่อนจะไปดู 10 สัญญาณที่ว่านั้นมาทำความเข้าใจ Toxic Workplace Culture กันก่อน สำหรับ วัฒนธรรมหรือบรรยากาศในสถานที่ทำงานที่เป็นพิษ คือบรรยากาศของการทำงานที่ทำให้พนักงานรู้สึกถึงการถูกลงโทษ ถูกปฏิเสธ รู้สึกผิด ต้องป้องกันตัวเองหรือรู้สึกอับอาย ความรู้สึกและบรรยากาศเหล่านี้จะทำให้รู้สึกว่าทำงานได้ยากและส่วนใหญ่เป็นพฤติกรรมแง่ลบที่มาจากเพื่อนรวมงานหรือหัวหน้างานเช่นการ บุลลี่ การตะโกนด่ากัน การควบคุมบงการ รวมถึงการเมินเฉยไม่ให้ความสำคัญ

สิ่งเหล่านี้เป็นบรรยากาศที่ทำให้พนักงานไม่กล้าที่จะบอกในสิ่งที่คิด เกิดความกังวล ไม่กล้าแสดงความคิดเห็นเพราะกลัวที่จะถูกปฏิเสธหรือถูกเหยียดหยาม นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบให้เกิดอาการวิตกกังวล, เครียด หรือภาวะซึมเศร้า ทำให้ Productivity ลดลง เกิดการลางานมากขึ้นและสุดท้ายนำไปสู่การลาออกในที่สุด

10 สัญญาณของ Toxic Workplace Culture

สัญญาณของ Toxic Workplace Culture มีได้หลากหลายรูปแบบตามแต่ลักษณะของพนักงานและสถานที่ทำงานที่แตกต่างกันไป แต่ก็ลักษณะร่วมบางอย่างที่พบเจอได้บ่อยที่รวบรวมมาแล้ว 10 รูปแบบด้วยกัน

1. การกลัวความผิดพลาด

เป็นบรรยากาศของการมีกฎเกณฑ์และการลงโทษที่รุนแรงจากการทำผิดพลาดที่มากจนเกินไป บรรยากาศลักษณะนี้จะทำให้พนักงานกลัวทำผิดพลาด กลัวการถูกลงโทษจนกลายเป็นกรอบกับการทำงาน ทำให้พนักงานกลัวที่จะก้าวออกมาจาก Comfort Zone และจะส่งผลกระทบเชิงลบกับทีมโดยรวม

2.ขาดความไว้เนื้อเชื่อใจ

เป็นบรรยากาศการทำงานที่ Toxic อีกรูปแบบที่องค์กรขาดความไว้เนื้อเชื่อใจกับพนักงาน จนเกิดเป็นการสร้างกฎเกณฑ์หรือระบบต่างๆในการสอดส่องหรือจับจ้องการทำงานของพนักงานในทุกขั้นทุกตอนหรือที่เรารู้จักกันว่า Micromanagement หรือการเข้าไปจัดการเรื่องเล็กๆน้อยๆ และสิ่งนี้่ยังส่งผลกระทบกับตัวพนักงานเองด้วยในแง่ของการทำให้ไม่มั่นใจในความสามารถของตนเอง

3.บทบาทหน้าที่ไม่ชัดเจน

การที่องค์กรไม่กำหนดบทบาทหน้าที่ความรรับผิดชอบของพนักงานให้ชัดเจน อาจส่งผลให้การทำงานไม่มีประสิทธิภาพได้ ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งระหว่างเพื่อนร่วมงานในแง่ของหน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ละคน ซึ่งเรื่องนี้แก้ได้ด้วยการสื่อสารให้ชัดเจนถึงความคาดหวังในบทบาทของพนักงานแต่ละคน

4.เครียด-กดดันมากเกินไป

พนักงานเกิดความเครียดได้จากหลายเหตุผลไม่ว่าจะเป็นภาวะ burnout ความคิดที่ไม่ตรงกันกับฝ่ายบริหาร การขาดการสื่อสาร ความกลัวต่อความล้มเหลว รวมถึงความไม่แน่นอนเกี่ยวกับหน้าที่การงาน เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่อง Metal Health ที่ไม่ได้กระทบกับสภาพจิตใจและอารมณ์เท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบทางกายด้วยไม่ว่าจะเป็นอาการอ่อนล้ารวมถึงปัญหาการนอนหลับ ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลกระทบการทำงานแน่นอน

5.การซุบซิบนินทา

บางครั้งการซุบซุบนินทาอาจเป็นเรื่องปกติสำหรับบางออฟฟิส แต่การซุบซิบนินทาจะเกิดขึ้นรุนแรงมากๆใน Toxic Workplace สิ่งเกิดขึ้นคือจะเกิดการซุบซิบ นินทา จับจ้อง จับผิดกันมากกว่าการสื่อสารกันอย่างชัดเจนตรงไปตรงมา และอาจรุนแรงกันไปจนถึงการบุลลี่ในที่ทำงาน สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้เกิดความวิตกกังวล เกิดความขัดแย้ง ทำร้ายความรู้สึกซึ่งกันและกัน ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่เป็นบวกกับองค์กรแน่นอน

6.อัตราการเข้าออกสูง

เป็นสัญญาณสำคัญที่คงไม่มีองค์กรไหนไม่หันมาสนใจ อาจเรียกได้ว่าเป็น “สัญญาณเตือนระดับสีแดง” แล้วว่าอาจมีปัญหาอะไรบางอย่าง แม้ว่าการลาออกจากงานจะมีหลายเหตุผล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรายได้ โอกาสในการเติบโต แต่หนึ่งในนั้นอาจเป็นเหตุผลเรื่องบรรยากาศหรือวัฒนธรรมการทำงานที่มีปัญหาด้วย ดังนั้นสังเกตดูว่าหากองค์กรมีพนักงานที่ทำงานมานานๆจำนวนน้อยลง นั่นอาจหมายถึงว่าอาจเกิด Toxic Workplace Culture ขึ้นแล้วก็ได้

7.งานรุกพื้นที่ชีวิตส่วนตัว

สำหรับบางองค์กรนี่นับเป็นอีกหนึ่งวัฒนธรรมการทำงานที่ Toxic ที่อาจส่งผลให้เกิดการลาออกจากงานได้ เป็นวัฒนธรรมการทำงานที่องค์กรเน้นให้พนักงานให้ความสำคัญกับงานมากกว่าชีวิตส่วนตัวที่ส่งผลให้เกิดภาวะ burnout เช่นฝ่ายบริหารที่มีความคาดหวังให้พนักงานทำงานเลยเวลาเลิกงาน ตอบอีเมล์นอกเวลางานรวมถึงคาดหวังให้ทำงานให้เสร็จในวันหยุดเป็นต้น

8.Gaslighting

คำนี้เป็นหนึ่งใน buzz word ของวงการ HR ในปี 2022 ที่ผ่านมา โดยคำว่า Gaslighting หมายถึง กลวิธีที่บุคคลใช้เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจ ทำให้เหยื่อตั้งคำถามกับตัวเองว่า เราเป็นคนผิดรึเปล่า? หรือจะอธิบายอีกอย่างได้ว่าเป็นการปั่นให้รู้สึกผิดโดยไม่รู้ตัว คำพูดที่มักจะได้ยินบ่อยๆก็เช่น “คิดมากไปรึเปล่า?” “ที่ทำแบบนี้เพราะเป็นห่วงนะ?” หรือ  “ทำไมไม่อดทนเลยทำไมคนอื่นยังทนได้” เป็นคำถามที่จะสร้างบรรยากาศให้เหยื่อรู้สึกสูญสิ้นความมั่นใจ และอาจหมดไฟการทำงานในที่สุด

9.ขาดการเติบโตในสายงาน

อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหาและถูกมองว่าเป็นหนึ่งในสัญญาณของ Toxic Workplace Culture ก็คือการขาดโอกาสที่จะเติบโตในสายงาน พนักงานจะขาด Mentor และรู้สึกถูกตัดขาดออกจากทีม การขาดคนแนะแนวทางในการทำงานทำให้พนักงานมองถึงก้าวต่อไปในสายงานได้ยากมากขึ้น และปัญหาเหล่านี้มีมากขึ้นเมื่อมีการทำงานแบบ remote working มากขึ้นในยุคนี้

10.ขาดกำลังใจในการทำงาน

การขาดกำลังใจหรือความมั่นใจในการทำงานส่งผลให้เกิดพลังงานลบในที่ทำงานและสิ่งนี้ก็จะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังคนอื่นๆด้วย ดังนั้นเรื่องนี้ต้องแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน คนในระดับ management จะต้องลงมาจัดการที่ต้นตอของปัญหาเพื่อจัดวงจรเหล่านี้และสร้างวัฒนธรรมการทำงานที่ productive ให้เกิดขึ้นให้ได้

นั่นคือ 10 สัญญาณจับสังเกตที่หากเกิดขึ้นในองค์กรอาจหมายถึงว่ากำลังเกิด Toxic Workplace Culture ขึ้นแล้วและจำเป็นต้องหากทางแก้ไขให้เร็วที่สุดหากไม่ต้องการให้ Talent ต้องหันหลังให้องค์กรออกไป และหนึ่งในวิธีแก้ไขที่ต้องทำก็คือ ต้องเข้าใจพนักงานอย่างแท้จริงเพื่อให้เกิดการสื่อสารที่จริงใจระหว่างกัน เริ่มสร้างบรรยากาศการทำงานที่ให้ความสำคัญกับสุขภาวะในการทำงานให้เกิดขึ้น และที่สำคัญที่สุดก็คือการเลือกคนทำงานที่มีทัศนคติเป็นบวกและสามารถทำงานเป็นทีมได้ดีนั่นเอง

ที่มา Techtarget


  • 108
  •  
  •  
  •  
  •  
CLOSE
CLOSE