เพราะยุคนี้ ‘การตลาด’ กับ ‘อินฟลูเอนเซอร์’ กลายเป็นเรื่องเดียวกันไปแล้ว จากเคยทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงแทนแบรนด์ แต่ตอนนี้ อินฟลูเอนเซอร์ ต้องเป็นมากกว่านั้น เรื่องนี้มีการพูดถึงในงาน Trends Hunter 2021 กับหัวข้อ ‘Influencer MKT 2021 กับสิ่งที่เปลี่ยนไป’
โดย คุณสุวิตา จรัญวงศ์ ประธานบริหาร Tellscore (เทลสกอร์) แพลตฟอร์มการทำตลาดผ่านอินฟลูเอนเซอร์ ได้เล่าถึงเทรนด์การตลาดและอินฟลูเอนเซอร์ ที่จะเปลี่ยนแปลงไปในปี 2021 ว่า ภาพของอินฟลูเอนเซอร์เปลี่ยนไปหลายอย่าง ยกตัวอย่าง สายบิวตี้ในอดีตแบรนด์อาจมองแค่คนสวย คนหล่อ บุคลิกดี มาช่วยทำรีวิวและโปรโมทสินค้า แต่ปัจจุบันกลายเป็น KOC หรือ Key Opinion Customer ซึ่งเป็นผู้ใช้งานจริง เพื่อบอกเล่าประสบการณ์ได้ดีกว่าเดิม
“เทรนด์ของอินฟลูเอนเซอร์ในไทยมีความน่าสนใจมากขึ้น มีความ Niche มากขึ้น มีโปรดักท์ที่ไม่คิดว่าจะได้เห็นการรีวิวมาก่อน เช่น ปลั๊กราง โปรดักท์การเงิน จะเห็นว่าเป็นการทำเรื่องที่อธิบายยากให้เข้าใจง่ายขึ้น”
อินฟลูเอนเซอร์ ไม่ได้เน้นแค่หน้าตา แต่ต้องมองถึงฟังก์ชัน
ปัจจุบัน อินฟลูเอนเซอร์ ก็คือ ดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งแขนงหนึ่ง ที่เน้นการขายฟังก์ชันซึ่งไม่ได้ใช้เพื่อขายโปรดักท์เพียงอย่างเดียว แต่ใช้กับ CSR หรือสร้างภาพลักษณ์ก็ได้ จึงไม่น่าแปลกใจที่เม็ดเงินโฆษณาในปี 2020 จะได้เห็นว่าการใช้จ่ายกับ KOL หรืออินฟลูเอนเซอร์ เพิ่มขึ้นถึง 30% โดยมีมูลค่า 1,800-2,000 ล้านบาท โดยเป็นครั้งแรกที่แซงหน้าการใช้ SEM (Search Engine Marketing) ซึ่งมีมูลค่า 1,700-1,800 ล้านบาท
นอกจากนี้ คุณสุวิตา เล่าถึงอินฟลูเอนเซอร์อิโคโนมีว่า ในอดีตผู้บริโภคมีบทบาทเป็นผู้ฟัง ซึ่งต้องฟังจากแบรนด์ที่เป็นผู้พูดส่งสารออกมา แต่ในช่วงไม่กี่ปีหลังเกิดเทรนด์ที่ผู้บริโภคเป็นผู้พูดขึ้นมาบ้าง ดังนั้น แบรนด์จึงต้องเข้าหาผู้บริโภคเหล่านั้นเพื่อให้พวกเขาพูดถึงแบรนด์ของตนเองบ้าง สิ่งสำคัญที่แบรนด์ไม่ควรมองข้ามจึงเป็นการมองหาผู้บริโภคที่มี Brand Loyalty ออกมาพูดถึงตนเองบ้าง
อย่างไรก็ตาม ในปี 2020 การสื่อสารกับผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปแล้วรวมถึงการใช้อินฟลูเอนเซอร์ด้วย จากที่เคยทำเพื่อสร้างแบรนด์ดิ้ง เน้นความครีเอทีฟ เน้นสร้าง Strategy โดยใช้ Mechanics แต่ปัจจุบันแบรนด์ต้องการให้อินฟลูเอนเซอร์เข้ามาเป็น Business Arm ทำงานร่วมกันโดยสร้างโจทย์ที่แตกต่าง
อดีต Paid Content แต่วันนี้อินฟลูเอนเซอร์เปลี่ยนสู่ Paid Media
ในอดีตอินฟลูเอนเซอร์ถือเป็น Paid Content แต่ปัจจุบันกลายเป็น Paid Media อย่างเต็มตัว ทำให้เราได้เห็นแบรนด์ใช้งบประมาณแบบกระจายมากกว่าทุ่มไปที่เหล่าคนดังมากขึ้น เช่น เลือกใช้งบ 1 แสนบาท กับอินฟลูเอนเซอร์จำนวน 1,000 คน เป็นต้น เพื่อส่งสารไปยังนักช้อปทั้งหลายที่มีพฤติกรรมเสพคอนเทนต์รีวิวอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะแบรนด์เท่านั้น แต่อินฟลูเอนเซอร์ก็ต้องเปลี่ยนวิถีเช่นกัน คือ บอกข้อมูลด้วยความจริงใจ เพราะเรื่องนี้เป็นสิ่งที่คนในโลกออนไลน์ต้องการที่สุด แม้จะเป็นการพูดเพื่อโฆษณาหรือขายแต่ผู้บริโภคก็เข้าใจและพร้อมจะเชื่อหากรับรู้ได้ถึงความจริงใจในการสื่อสาร
คอนเทนต์แนวนี้…กำลังฮิต!
ทั้งนี้ ยังมีเทรนด์คอนเทนต์น่าสนใจที่แบรนด์และอินฟลูเอนเซอร์ควรรู้ไว้ เช่น…
Reaction: เพราะผู้คนยุคนี้อยากรู้ว่า…เมื่อคนอื่นเห็นสิ่งเหล่านั้นแล้วจะรู้สึกอย่างไร
Study with Me: แม้จะเป็นคลิปที่ไม่ต้องชวนคุยอย่างการนั่งเงียบ ๆ หรือเปิดเพลงคลอเบา ๆ เพื่อทำการบ้านไปด้วยกัน ตอนนี้ก็เป็นเทรนด์ที่มีคนดูมากขึ้น! ยกตัวอย่างอินฟลูเอนเซอร์ในต่างประเทศซึ่งมีผู้ติดตามราว 400,000 คน แต่สามารถสร้างยอดวิวจากวิดีโอประเภทดังกล่าวได้ถึง 250,000 วิว และมีเรทการชมจนจบถึง 75% ซึ่งเทรนด์ดังกล่าวก็เริ่มเข้ามาในประเทศแล้ว
Y Content: คอนเทนต์ที่คนไทยชื่นชอบและกำลังเป็นกระแส
Green: ไม่ใช่แค่เรื่องธรรมชาติ แต่ยังรวมถึงเทรนด์สีเขียว การลดใช้พลาสติก ลดพลังงาน เป็นต้น
Documentary: การบอกเล่าเรื่องราวที่น่าสนใจ ทั้งสารคดีหรือประวัติศาสตร์ ทำให้ถูกมองว่าเป็นหนึ่งในคอร์สออนไลน์ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบัน
Silver: อาจเป็นคอนเทนต์ที่มีผู้สูงวัยเป็นอินฟลูเอนเซอร์ หรือเป็นการทำคอนเทนต์ร่วมกับหลาน ๆ เป็นต้น
Urban MeMe: เกี่ยวกับคนเมือง การกิน หรือฟังเสียงแบบ ASMR รวมถึงคอนเทนต์แนวท้าทาย เช่น หากวันนี้กลายเป็นขอทานจะเกิดอะไรขึ้น เป็นต้น