ผลวิจัยชี้ อีคอมเมิร์ซยังเป็นโอกาสทอง SME ไทย แต่ ‘ส่งออก’ ช่วยหนุนศักยภาพ โตได้ 2 เท่า

  • 9
  •  
  •  
  •  
  •  

SME

จากการเติบโตของอีคอมเมิร์ซ สะท้อนถึงโอกาสของภาคธุรกิจหลายฝ่าย แต่จากรายงานล่าสุดของ Amazon ระบุว่ามูลค่าการส่งออกประจำปีของอีคอมเมิร์ซแบบ B2C ของไทย ที่ได้รับอานิสงส์จากสถานการณ์อีคอมเมิร์ซจนทำให้มีการเติบโตแบบเลขสองหลัก ด้วยมูลค่า 110,200 ล้านบาทในปี 2564 และมีโอกาสเติบโตเป็น 485,800 ล้านบาทในปี 2569 ซึ่งสอดคล้องกับมุมมองของ SME ไทย ซึ่งกว่า 90% เชื่อว่าอีคอมเมิร์ซมีความสำคัญต่อการขยายตัวสู่ระดับโลกเพราะอาจสร้างยอดได้จากต่างประเทศได้มากกว่าในประเทศ

โดย Amazon Global Selling ได้เปิดเผยว่า ข้อมูลเหล่านี้เป็นเนื้อหาบางส่วนจากงานวิจัยในหัวข้อ ผู้ขายสินค้าจากประเทศไทย และผู้บริโภคทั่วโลก: โอกาสเติบโตของธุรกิจไทยไปสู่ตลาดโลกด้วยการค้าออนไลน์ระหว่างประเทศ (Local Sellers, Global Consumers: Capturing Thailand’s e-commerce export opportunity) จัดทำโดยบริษัทที่ปรึกษาชื่อว่า AlphaBeta โดยงานวิจัยดังกล่าวได้สำรวจวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) กว่า 300 รายทั่วประเทศไทย เพื่อวิเคราะห์ขนาดศักยภาพตลาดส่งออกอีคอมเมิร์ซของประเทศไทยเป็นครั้งแรก รวมถึงมุมมองของ MSMEs ในท้องถิ่น

รายงานระบุว่า หากเทรนด์การนำอีคอมเมิร์ซมาใช้ในธุรกิจยังคงดำเนินต่อไป มูลค่าการส่งออกอีคอมเมิร์ซแบบ B2C ประจำปีในประเทศไทยคาดว่าจะเติบโตที่ 15% ต่อปี เป็น 219,800 ล้านบาทในปี 2569 แต่หาก MSMEs เร่งใช้อีคอมเมิร์ซในการส่งออกสินค้า คาดว่ามูลค่าดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า และมีมูลค่าถึง 485,800 ล้านบาทภายในปี 2569 และหากอีคอมเมิร์ซกลุ่ม B2C จัดอยู่ในประเภทการส่งออก ก็จะทำให้กลายเป็นประเภทการส่งออกที่ใหญ่ที่สุด หรือเป็นอันดับ 6 ของประเทศไทย ภายในเวลา 5 ปี

MSMEs ในประเทศไทยได้รับการสำรวจและมีการคาดการณ์ว่า ยอดขายในตลาดต่างประเทศจะเพิ่มสูงขึ้น (39%) มากกว่าในประเทศ (17%) โดยผู้ตอบแบบสำรวจกว่า 90% เห็นด้วยว่าอีคอมเมิร์ซมีความสำคัญต่อศักยภาพโอกาสในการส่งออกของพวกเขา โดยมีแรงจูงใจอันดับต้น ๆ ประกอบไปด้วยความสามารถในการเข้าถึงลูกค้าต่างประเทศ การเข้าถึงเครื่องมือทางการขายและการตลาดที่มีอยู่ในแพลตฟอร์มตลาดขายของอีคอมเมิร์ซ และการสนับสนุนด้านโลจิสติกส์และระบบชำระเงินที่ได้รับจากตลาดขายของเหล่านี้ จากการสำรวจ 29% ของ MSMEs ในประเทศไทยระบุว่าการส่งออกผ่านทางอีคอมเมิร์ซปัจจุบันช่วยสร้างยอดขายอีคอมเมิร์ซประจำปีได้มากกว่าครึ่งหนึ่ง

แต่ท่ามกลางโอกาสในการเติบโตและการขยายตัวสู่ระดับโลกผ่านอีคอมเมิร์ซ จากผลสำรวจของ MSMEs ในประเทศไทยเปิดเผยว่า ความท้าทายที่สำคัญ คือ อุปสรรคในด้านต้นทุน กฎระเบียบ ข้อมูล และความสามารถ

ค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ถือเป็นความท้าทายหลักที่ MSMEs ในประเทศไทยต้องเผชิญ โดย 88% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่าเป็นอุปสรรคสำคัญ ซึ่งเปรียบเทียบกับ 42% ของ MSMEs ที่คิดว่าการสนับสนุนด้านนโยบายเพื่อแก้ไขอุปสรรคในเรื่องของต้นทุนถือเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพ

ขณะที่ 83% ของ MSMEs พบว่าต้นทุนที่สูงในการติดตั้งและการใช้ระบบชำระเงินออนไลน์ (Payment Gateway) ระหว่างประเทศเป็นอุปสรรคสำคัญ โดยจากผลสำรวจพบว่ามีเพียง 41% ของ MSMEs ที่บอกว่าโปรแกรม e-payment ถือเป็นสิ่งที่เอื้อประโยชน์ในปัจจุบัน และ 81% ของ MSMEs ระบุว่าการขาดข้อมูลเกี่ยวกับกฎระเบียบด้านการนำเข้าสินค้าในต่างประเทศ เป็นอุปสรรคสำคัญอีกประการหนึ่งของการขายในต่างประเทศ โดยมีเพียง 37% ที่รู้สึกว่านโยบายปัจจุบันเอื้ออำนวยต่อความพยายามในการส่งออกสินค้าผ่านอีคอมเมิร์ซในทุกวันนี้

อย่างไรก็ตาม มีการเสนอนโยบาย 3 ด้าน เพื่อสนับสนุน MSMEs ในประเทศไทยให้ส่งออกสินค้าผ่านอีคอมเมิร์ซ คือ ประเด็นการให้เงินสนับสนุนและการอุดหนุนจากภาครัฐในการส่งออกอีคอมเมิร์ซ, การสร้างพันธมิตรและสร้างแรงจูงใจในการนำกรอบการทำงานของระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่ทำงานร่วมกันได้ข้ามประเทศมาใช้งาน, การจัดฝึกอบรมอีคอมเมิร์ซระหว่างประเทศ รวมถึงคำแนะนำเกี่ยวกับกฎระเบียบการนำเข้าสินค้าในต่างประเทศ


  • 9
  •  
  •  
  •  
  •  
Ms.นกยูง
เมื่อโลกไม่เคยหยุดหมุน เราก็ไม่ควรหยุดเรียนรู้... ชวนคุณมาทำความรู้จักหลากหลายเรื่องราว ทั้งสาระและสีสันบนโลกดิจิทัลไปพร้อมกัน