รู้จักเพจ echo ประกาศตัวเป็น ‘เสียงของคนรุ่นใหม่’ วิดีโอคอนเทนต์ ที่กล้าตั้งคำถามกับสังคม

  • 687
  •  
  •  
  •  
  •  

ในยุคที่อินเตอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียเฟื่องฟู ทำให้ใครก็เป็นเน็ตไอดอลได้ใครก็เป็นบล็อกเกอร์ได้ และใครก็เปิดเพจกันได้ง่ายดาย แต่แน่นอนว่าจะมีสักกี่เพจกี่เว็บที่ประสบความสำเร็จจริงหรือเป็นที่รู้จัก และสร้างคอนเทนต์ที่มีเอ็ฟเฟคต่อความรู้สึกของผู้คนจริงๆ

หนึ่งในเพจที่เรียกได้ว่า ทำวิดีโอคอนเทนต์หลายชิ้นออกมาได้ปัง ตั้งคำถามได้โดนใจคนในสังคมปัจจุบันอย่างมาก echo และหลายครั้งก็เหมือนจะตีแสกหน้าสิ่งที่สังคมกำลังหลบซ่อนอยู่เช่นกันนั่นจึงทำให้เป็นครีเอเตอร์ผู้สร้างวิดีโอคอนเทนต์หน้าใหม่ที่ในระยะเวลาแค่ 3 เดือนมียอดไลค์ 100,000 ไลค์แล้วในตอนนี้

เราได้โอกาสพูดคุยกับ 2 หนุ่มเบื้องหลังผลงานต่างๆ ของ echo ได้แก่ ต่อเติมพงศ์ วิเศษสมบัติ Co-Founder และรักษาการ GM ของบริษัทม็อกกิ้งเบิร์ด ผู้ทำวิดีโอสารคดี echo และ แชมป์-ฤทธิกร มหาคชาภรณ์ Co-Founder และ Content Director ซึ่งถือว่าทั้งสองคนเป็นมันสมองของทุกๆคอนเทนต์เลยก็ว่าได้

echo

เริ่มรวมตัวกันได้อย่างไร

คุณต่อ :  เรารวบรวมสมัครพรรคพวกน้องๆในวงการสื่อมวลชนมาได้จำนวนหนึ่งแล้วก็เริ่มทำ echo กันมาได้ 2- 3 เดือนแล้วในเร็วๆ นี้คงได้มีโอกาสแนะนำทีมงานโดยเฉพาะกลุ่ม Content Creator ของเราผ่านผลงานของพวกเขาเรื่อยๆ

พวกเรามาจากการรวมตัวกันของกลุ่มคนที่มาจากหลากหลายประสบการณ์ในด้านสื่อมวลชน รวมตัวกันเพื่อจุดประสงค์หลักในการ ‘เล่าเรื่อง’ ผ่านวิดีโอในรูปแบบสารคดีสั้นพวกเรามีประสบการณ์ที่หลากหลายเลย ตั้งแต่อดีตผู้สื่อข่าว โปรดิวเซอร์ รายการทีวี นักแคสวิดีโอเกม มาจากสายภาพยนตร์ สายโฆษณา สายอาร์ต ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มที่เราเรียกว่า Echo Boomer หรือ Millennials เหตุที่ทีมงานส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ก็เพราะเราอยากเล่าเรื่องที่คนกลุ่มนี้สนใจอยากฟังอยากแสดงความคิดเห็นออกมา

echo3
ต่อ-เติมพงศ์ วิเศษสมบัติ

คุณแชมป์ :  ผมกับพี่ต่อทำงานที่เดียวกันมาก่อน เป็นงานด้านข่าวออนไลน์ แต่เรารู้สึกว่า User ในอินเทอร์เน็ต เขามีรสนิยมในการรับสื่ออีกแบบนึง ที่ไม่ใช่การเอาข่าวจากทีวีมาโยนลงในออนไลน์ดื้อๆ หรือตัวแพล็ตฟอร์มที่เป็นโซเชียลมีเดียต่างๆ ที่เราเอาไว้กระจายข้อมูลข่าวสารเอง ก็มีวิธีการ ‘เล่น’ กับมันไม่เหมือนกัน เราเลยคิดกันว่าน่าจะทำสื่อที่เหมาะสมกับแพล็ตฟอร์มออนไลน์ให้มากที่สุด ก็เลยเกิดเป็น echo ขึ้นมา

คอนเซ็ปต์ของ echo คืออะไร

คุณต่อ :  เรามีสมมุติฐานว่าประเทศไทยยังขาดเนื้อหาออนไลน์ที่มีประโยชน์และประเด็นแวดล้อมอื่นๆ ที่ต้องการการช่วยกันคิดและถกเถียงเพื่อหาทางออกหรือนำไปสู่โอกาสใหม่ๆ อีกมาก ไม่ใช่แค่ประเด็นตรงหน้าที่สื่อทั้งสื่อดั้งเดิมและสื่อใหม่มุงแย่งกันเล่น ซึ่งทำให้แต่ละวันจริงๆ แล้วเหลือเพียงไม่กี่เรื่องที่มีให้เราเสพ กัน เช่น หวย BNK48 ทหาร รถชน การเมือง ฯลฯ

แม้แต่สถิติยังบอกว่าเลยว่าช่วงต้นปีที่ผ่านมาเฉพาะบน Facebook จริงๆ แล้วมันมีแค่ 4-5 เรื่องเท่านั้นบนออนไลน์ พวกเราก็เลยถอยห่างออกมาดูว่ามันน่าจะมีเรื่องอื่นอีกที่น่าสนใจ เช่น การใช้ยาผิดในชีวิตประจำวัน ซึ่งไม่ใช่เรื่องตามกระแส แต่ก็พบว่ากลับมีผู้คนจำนวนมากสนใจดู

ECHO เป็นเพื่อนของประชากรอินเทอร์เน็ต ที่บอกว่าเป็นเพื่อน เพราะเราไม่ได้บอกว่าตัวเองเป็นบริษัทห้างร้านที่จะมาขายอะไร เราละความคาดหวังแบบที่ทุกคนเชื่อว่าสื่อจะต้องมีภาพลักษณ์อย่างนี้บุคคลิกอย่างนี้เท่านั้น เราขอเป็นคนธรรมดาที่สนใจเรื่องราวต่างๆ ที่มีประโยชน์และต้องการเล่าและขอความคิดเห็นจากเพื่อนๆ ที่ติดตามเราอยู่ว่าคิดกับเรื่องที่เราเลือกมาเป็น ‘สารตั้งต้น’ ของบทสนทนาอย่างไร และที่สำคัญเนื่องจากเราเป็นเพื่อนกัน เราก็เอาบทสนทนาระหว่างกันนี่แหละทั้งระหว่างทีมงานกันเองไปจนถึงความสนใจของเพื่อนๆ อีกหลายแสนบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย มาตั้งเป็นประเด็นใหม่อีกที แล้วหาคำตอบหรือช่วยจุดพลุประเด็นใหม่ๆ พวกนั้นมาให้สังคมในวงกว้างได้ช่วยกันขบคิดด้วย

คุณแชมป์ :  เราตั้งใจที่จะทำตัวให้เป็นเหมือน ‘เพื่อน’ ของคนดู เพราะนั่นคือวิธีการที่เขาสื่อสารกันในโลกออนไลน์ แต่เพื่อนคนนี้แน่นอนว่ามันไม่ใช่เพื่อนที่สามารถติวหนังสือให้คุณได้ หรือให้คุณลอกการบ้านได้แน่ๆ แต่มันเป็นคนที่ชวนคุณโดดเรียนไปทำเรื่องบ้าๆ ด้วยกันได้ เช่น เล่นเกม ดูหนัง จีบสาว หรืออะไรที่อาจจะเลวกว่านั้น แต่ไอ้เพื่อนคนนี้พอเอาเข้าจริงมันสามารถคุยกับเราได้ทุกเรื่อง และมันมีสาระพอสมควรเลย คิดว่าทุกคนต้องมีเพื่อนแบบนี้อย่างน้อยหนึ่งคนแหละ และเราอยากให้คุณคิดถึง echo ในแบบเพื่อนคนนั้นดู

echo4
แชมป์-ฤทธิกร มหาคชาภรณ์

คอนเซ็ปต์ของแต่ละคอนเทนต์คืออะไรต้องการสื่อสารอะไร

คุณต่อ :  คอนเทนต์ของ echo คือเสียงของคนรุ่นใหม่ ไม่ได้จำกัดตัวเองขนาดนั้นว่าต้องมีเรื่องอะไรบ้าง เรื่องไหนต่อยอดสร้างบทสนทนาใหม่ๆ ได้และนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงหรือปลุกความคิดอะไรในสังคมได้เราก็จะเล็งไว้ก่อนเลย เราไม่อยากให้เรื่องที่เลือกมาเล่าถูกเล่าออกไปแล้วก็หายไปเราอยากให้มีการพูดกันต่อช่วยกัน echo ประเด็นเหล่านั้นออกไปเราเชื่อว่ามีประโยชน์ต่ออนาคตประเทศชาติ คือเมื่อเราหมั่นตั้งคำถามใหม่ๆ เราก็ควรจะได้คำตอบใหม่ๆ อยู่เสมอ

คุณแชมป์ :  คอนเทนต์ของเรามีเนื้อหาที่หลากหลาย แต่จริงๆ แล้วทั้งหมดจะถูกเล่าผ่านความเป็นอัตลักษณ์ใหม่ (New Identities) เราคิดว่านั่นคือสิ่งที่คนในยุคมิลเลนเนียลให้ความสำคัญ คือการมองไปข้างหน้า เพราะฉะนั้นไม่ว่าเราจะทำคอนเทนต์ในประเด็นอะไร หลากหลายแค่ไหนก็ตาม มันจะต้องออกมาในลักษณะที่สด ใหม่ และมีอายุยาวนานเสมอ ถ้าอีกหนึ่งหรือสองปีข้างหน้า เราย้อนกลับมาดูคอนเทนต์ตัวเดิม เราจะต้องรู้สึกว่ามันยังไม่เชย

แต่ละคอนเทนต์ มีวิธีคิดอย่างไร

คุณต่อ :  Content Creator มีหน้าที่เล่าหัวข้อที่น่าจะสร้างบทสนทนาใหม่ๆ ได้โดยเฉพาะเรื่องที่คน Millennials สนใจซึ่งอาจจะถูกคน Gen ก่อนหน้าเหมารวมไปว่าไม่ค่อยสนใจเรื่องที่มีสาระ เน้นบันเทิงเริงรมณ์ซึ่งมันไม่จริงเลย เพราะเราใช้ Big data จากหลังบ้านโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์ม ที่เราอยู่วิเคราะห์ความสนใจของกลุ่มเป้าหมายก็พบว่ากลุ่ม Millennials เขาสนใจเรื่องโอกาสที่จะทำให้ชีวิตเขาดีขึ้น เช่น การเงินส่วนบุคคล โอกาสอาชีพใหม่ๆ การพัฒนาทักษะใหม่ๆ ไปจนถึงเรื่องของส่วนรวมอย่างประเด็นสังคมการเมือง ที่พวกเขาต้องการให้ส่งเสริมการมีชีวิตและสังคมที่ดีขึ้น

เราเอาเนื้อหาเป็นที่ตั้งก่อนแล้วช่วยกันค้นคว้าหาข้อมูลพูดคุยกับผู้รู้หรือคนที่เกี่ยวข้อง แล้วก็วางพล็อตวิธีการเล่ามันออกมาในรูปแบบและวิธีการของเราเอง ที่สำคัญที่สุดคือเราต้องเล่าในบุคคลิกของเราเอง ซึ่งอารมณ์ความรู้สึกในการเล่าก็เป็นปกติสามัญชนทั่วๆ ไปเล่าในภาษาและท่วงทีที่เราเป็นในทุกวันกับเพื่อนๆเราเอง

คุณแชมป์ :  พวกเรามักจะสงสัยกับเรื่องอะไรง่ายๆ อย่างเรื่องรอบตัวก่อน แต่มันเป็นเรื่องรอบตัวที่เรามีคำถามกับมัน เช่นการมีเซ็กส์ รสนิยมทางเพศ หรือหาความสุขทางเพศกันแบบไหนบ้าง แล้วทำไมสังคมถึงไม่ยอมรับ หรือไปจำกัดความว่ามันแปลกประหลาด หรือผิดไปจากศีลธรรม หรือกระทั่งปัญหาในระบบหรือโครงสร้างทางสังคม เช่น เรื่องเศรษฐกิจ การเมือง หรือศาสนา

“เพราะฉะนั้น วิธีคิดของทีมเราจะเริ่มต้นขึ้นจากการ  ตั้งคำถาม ให้กับสิ่งรอบตัว สังคม หรือปรากฎการณ์ต่างๆก่อนเสมอ จากนั้นจึงพยายามหาคำตอบให้กับมันให้ได้มากที่สุด ส่วนจะเป็นคำตอบที่ถูกหรือไม่ เรายกให้คนดูเป็นผู้ตัดสิน เราไม่ได้บอกว่าสิ่งที่เรานำเสนอมันดี หรือไม่ดี เราบอกแค่ว่า มันมี ในรูปแบบการเล่าเรื่องที่เราถนัดที่สุด ก็คือวิดีโอคอนเทนต์”

ชิ้นที่สร้างชื่อทำให้เป็นที่รู้จัก หรือชิ้นไหนที่มีเอ็นเกจเมนต์สูงสุด

คุณต่อ :  มีงานอยู่ 2 ชิ้นที่คนดูเยอะมากๆ เกินหลัก 2 ล้านวิวไปแล้วคืองานเรื่อง การใช้ยาผิดประเภทของบ้านเราจากปากของบรรดาเภสัชกร” และ  ประสบการณ์ที่ไม่น่าจดจำในระบบการศึกษาบ้านเรา” ที่เราพูดคุยกับมิลเลนเนียลที่เพิ่งจบออกมาจากระบบการศึกษาเมื่อไม่นานมานี้สองเรื่องนี้ผู้ชมมีประสบการณ์ร่วมเยอะมากๆ มีการระดมคอมเมนท์กดแชร์และเมนชั่นเพื่อนๆ นั่นคือการเอ็นเกจกับคอนเทนต์และตัวตนของ echo

สังเกตว่าวิดีโอไม่ค่อยเซ็นเซอร์คำแรงๆ และมีการใช้คำที่หนักไม่อ้อมค้อมเลยเพราะอะไร

คุณต่อ :  คำเหล่านั้นล้วนเป็นคำที่เราใช้กันอยู่แล้วในชีวิตประจำวันและมันก็เป็นคำที่มาจากบทสนทนาระหว่าง echo กับบุคคลในเรื่องหรือบริบทในเรื่องแต่ละเรื่องอยู่แล้ว คือเราเข้าใจการทำงานของโซเชียลมีเดียครับ เบื้องหลังมันคือจิตวิทยาหมู่ในรูปแบบเพื่อนสื่อสารกับเพื่อนครั้นจะมาวางฟอร์มกันเยอะแยะปั้นภาษาให้เข้าใจยาก เพื่อให้ดูเป็นมืออาชีพนั้นเป้าหมายการคุยกับผู้ชมในลักษณะเพื่อนคุยกับเพื่อนมันก็จะไม่บรรลุผล แต่เราไม่คิดว่ามันแรงนะ แต่มันเป็นธรรมชาติมากกว่า

คุณแชมป์ :  อย่างที่บอกว่าเราวางตัวเป็นเพื่อนคุณ เราไม่ชอบที่จะทำตัวเหนือคนอื่นด้วยการไปเที่ยวสั่งสอนเขา แต่เราก็ไม่ใช่กลุ่มเด็กที่มีแต่ความไร้สาระมากจนเกินไป เราอยู่กึ่งกลางของตรงนั้น เหมือนเพื่อนบ้าๆ ของคุณคนนึง ที่คุณก็รู้ว่ามันบ้านะ แต่เวลาอยู่กับมันก็แฮปปี้ และแน่นอนว่าเวลาคุณคุยกับเพื่อนคนนึง ระดับภาษามันก็จะกึ่งทางการมากขึ้น เราไม่ได้หยาบคาย แค่เราพยายามจะทำให้เป็นธรรมชาติเหมือนเพื่อนคุยกันมากที่สุด

มองว่าเป็นเทรนด์ทำให้คนติดใจเพจเราง่ายขึ้นหรือไม่

คุณต่อ :  คงไม่ใช่เทรนด์ครับแต่เป็นเรื่องปกติแล้ว เป็นคำปกติที่ใช้กัน เราอาจจะมีภาพจำจากสื่อสารมวลชนในรูปแบบเดิมเช่น วิทยุ โทรทัศน์ หรือนิตยสาร ว่ามันจะมีระดับของภาษาที่อยู่ในแสตนดาร์ดของสื่อในแต่ละรูปแบบ แต่เวลาเราคุยกับเพื่อน ธรรมชาติจริงๆ มันเป็นแบบนั้นแหละ

คุณแชมป์ :  ถ้าตามทฤษฎีของผมที่ตอบไปก่อนหน้านี้ ก็ถือว่าใช่ เพราะทำให้คนดูไม่รู้สึกว่านี่ฉันกำลังดูเพจที่ฉลาดเว่อร์ๆ เข้าถึงยากอยู่ ดังนั้น ถ้าทำตัวเหมือนกับเพื่อนของเขาเวลาจะคุยอะไรกับมันก็ได้ จะคอมเมนท์อะไรก็ได้ แอดมินไม่ด่า เขาก็จะสบายใจที่จะคุยกับเรามากขึ้นครับ

มีวิธีในการรับลูกค้าอย่างไร ต้องตรงกับคอนเซ็ปต์ของเราเท่านั้นหรือไม่

คุณต่อ :  เราเลือกที่แมสเสจ ที่แบรนด์ลูกค้าต้องการสื่อสารจับคู่กับเมสเสจของประเด็นที่เราต้องการนำเสนอ เราให้ลูกค้าเป็นเจ้าภาพประเด็นนั้นๆ ในรูปแบบการสนับสนุนซีรี่ย์ของเรื่องๆ นั้นคือถ้าเห็นพ้องกันเรื่องเป้าหมายของการสื่อความ แต่ละประเด็นที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมเรายินดีร่วมงานด้วยเสมอครับ

คุณแชมป์ :  จริงๆ เราไม่เลือกหรอกครับ เพียงแต่พื้นฐานพวกเราเป็นคนสนุก เพราะฉะนั้นถ้าลูกค้ารีเควสต์ว่าขอแบบดราม่าเรียกน้ำตา พวกเราจะไปกันไม่เป็น ถ้าขอแบบเอาฮาจนน้ำตาเล็ด อันนี้ทำได้

ถือว่าเราเป็นสื่อสารมวลชนหรือไม่ หรือเป็นคนทำเพจ หรือคนทำคอนเทนต์

คุณต่อ :  เราสื่อสารให้มวลชนรับทราบและแสดงความคิดเห็นกันต่อ ก็น่าจะเข้าข่ายนะครับ จะเรียกว่าอะไรก็ได้ครับ นักวิดีโอ ผู้ผลิตเนื้อหา เพื่อนคุยยามเหงา เพื่อนคุยในวงสุรา เราก็เป็นได้

คุณแชมป์ :  เราไม่ได้เป็นนักสื่อสารมวลชน เราว่าคำนั้นมันยิ่งใหญ่เกินไปสำหรับเรา แต่เราก็คิดว่าเราเป็นสื่อ (Media) รูปแบบหนึ่งนะ เป็น Media ที่ไม่ได้มีจริยธรรมสูงส่งอะไร แค่อยากเล่าเรื่องอะไรตรงๆ ให้ฟังเท่านั้นเอง เรื่องพวกนี้มันมีในสังคมไง แต่ไม่เห็นมีใครเล่าซักที เพราะติดคำว่าจรรยาบรรณหรือจริยธรรมกัน

echo2

คำว่างาน ไวรัล ในความหมายของเราคืออะไร

คุณต่อ :  ไวรัล มันเป็นวิธีการส่งต่อข้อมูลแบบทวีคูณ มันเป็นปรัชญาเบื้องหลังแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอยู่แล้ว ถามว่าเราตั้งใจทำไวรัลไหม ผมคงตอบว่า ทุกคนที่อยู่บนแพลตฟอร์มแบบนี้ตั้งใจให้เกิดไวรัลในเนื้อหาทั้งนั้นแหละ

“บางคนมองว่าไวรัลคืองานลวกๆ เอาฮา เอามัน ไม่ได้มีอะไรให้จดจำ เพราะมันมีผู้ผลิตจำนวนมากทำแบบนั้นและใช้ประโยชน์จากปรัชญานี้แบบฉาบฉวย แต่  echo ใช้มันเป็นเครื่องมือที่ทำให้เนื้อหาเราไปถึงผู้คนให้มากที่สุด เพื่อสร้างบทสนทนา ให้นำไปสู่อะไรสักอย่างที่ดีขึ้นในที่สุด”

คุณแชมป์ :  สิ่งที่ไม่มีอยู่จริง แต่ลูกค้าโดนหลอกว่ามี ไวรัลเกิดขึ้นจากความบังเอิญ 90% อีก 10% เกิดจากการใช้เงินอัด

คิดว่าคอนเทนต์วิดีโอไทย ในปัจจุบันเป็นอย่างไร

คุณต่อ :  เข้าถึงคอนเทนต์ระดับสากลได้มากขึ้น ทำให้ผู้ชมยกระดับความต้องการขึ้นมากครับ ผู้ชมรู้ว่าอะไรดีหรือไม่ดี ทางเลือกมีมากขึ้น ผมมองว่าอันนี้เป็นโอกาสทำให้งานวิดีโอคอนเทนต์ในบ้านเราพัฒนาขึ้นมาก โดยเฉพาะงานที่ต้องอาศัยการรีเสิร์ชข้อมูลอย่างละเอียดและมีความถูกต้องที่สุด ใครทำงานลวกๆ ออกมา นี่โดนประณามยันลูกบวชแน่ๆ มันช่วยผลักดันให้วงการสื่อบ้านเรายกระดับตัวเองด้วย ผมว่าสื่อหลายเจ้าพัฒนาขึ้นอย่างก้าวกระโดดจาก 2-3 ปีที่แล้วมากๆเลยครับ ถ้าพูดถึงเฉพาะงานวิดีโองานที่ปราณีตงานดีๆ ผุดขึ้นมาเยอะมากมายในบ้านเรา เป็นกำไรต่อผู้ชมและอุตสาหกรรม

คุณแชมป์ คนไทยผลิตวิดีโอกันเก่งมากๆ นะ ผมว่าเจ๋ง ยิ่งน้องๆ อายุน้อยๆ เดี๋ยวนี้ทำงานกันโหดมากๆ

มองว่าเทรนด์ของคอนเทนต์วิดีโอในอนาคต จะไปในทิศทางไหน

คุณต่อ :  ทุกแพลตฟอร์มต้องการคอนเทนต์วิดีโอที่มีคุณภาพดีเยี่ยม เนื้อหาน่าติดตามและมีประโยชน์ จะเห็นว่าแพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิ่ง ใหญ่ๆของโลกกวาดต้อนผู้ผลิตชั้นยอดเข้าไปเป็นพาร์ทเนอร์กันเยอะขึ้นในช่วงไม่ถึงปีที่ผ่านมา เช่น Netflix หรือ Amazon Prime ถ้าติดตามให้ดีจะเห็นว่างานซีรี่ย์สารคดีดีๆ เป็นที่ต้องการไม่แพ้กับละครเลย

“แต่บ้านเราอาจจะยังไม่ชัด แต่มันเป็นกระแสโลกนะเราหลีกเลี่ยงไม่ได้ เอาแค่แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่ใช้วิดีโอเป็นมีเดียหลักอย่าง YouTube และ Facebook ที่นอกจากวิดีโอแมวซึ่งยังครองความนิยมอยู่ ผู้ผลิตวิดีโอที่มีคุณภาพสูง และเนื้อหาเยี่ยมๆ ก็เริ่มติดตลาดแล้ว แพลตฟอร์มเหล่านี้ต้องการคอนเทนต์วิดีโอที่ดีนะครับ เพราะดีมานด์มันมาแล้ว”

คุณแชมป์ :  ผมคิดว่าน่าจะโตขึ้นเรื่อยๆ ต่อไปอีกอย่างน้อย 5 ปี ผมคาดการณ์ว่าในช่วงเวลานั้นคือการแข่งขันกันทางไอเดีย มากกว่าเทคนิค เช่น คุณจะรีวิวอาหารกันยังไงให้เจ๋งกว่าเดิม จนตอนนี้วิดีโออาหารที่ถ่ายมุมท็อปแทบไม่มีคนทำกันแล้ว ส่วนหลังจาก 5 ปีนั้น ผมคิดว่าน่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในส่วนของแพล็ตฟอร์มอีกครั้งให้ได้ปรับตัวกันต่อไป

echo5

การทำเพจและวิดีโอไวรัล ปัจจุบันนี้ทำยากหรือง่ายขึ้น

คุณต่อ :  ถ้าเราใช้เครื่องมือ และ data ที่เป็นกระดูกสันหลังของโซเชียลมีเดียได้อย่างมีประสิทธิภาพ มันก็ไม่ยากเหมือนเมื่อก่อน แต่เหนือสิ่งอื่นใด การทำเนื้อหาที่ดีและน่าสนใจ มันไม่เคยง่ายอยู่แล้วไม่ว่าจะยุคไหนก็ตาม ตัวแปรสำคัญคือผู้ชมที่เปลี่ยนแปลง ถ้าเข้าใจผู้ชมมากขึ้น ความยากมันกลายเป็นความท้าทายในการทำงานที่สนุกครับ

คุณแชมป์ ผมมองว่ายากขึ้น และต้องอาศัยกระบวนการวางแผนที่ละเอียดถี่ถ้วนมากๆ เพราะแพล็ตฟอร์มเขาเริ่มเอาคืนนะ ไปยืมเขาใช้ฟรีมาตั้งนานแล้ว ตอนนี้ถ้าไม่จ่ายเงินบูสโพสต์ให้เขา ก็เลยยากที่จะปังได้

มีเคล็ดลับอะไรที่จะทำให้ประสบความสำเร็จอย่าง echo บ้าง

คุณต่อ :ยังไม่มีครับ

คุณแชมป์ :ไม่มีครับ จริงๆใครมาถามอะไรผมก็บอกหมดนะ อยู่ที่จะทำได้หรือไม่ได้

echo1

Copyright © MarketingOops.com


  • 687
  •  
  •  
  •  
  •  
pigabyte
การเรียนรู้ไม่มีวันจบสิ้น มาเรียนรู้และสนุกไปกับบทความ จาก MarketingOops! กันนะคะ แล้วเราจะได้ค้นพบว่าโลกของ Marketing นั้น So Sexy and Cool!