10 กลุ่มสินค้าลดเป้าธุรกิจ สัญญาน Recession เมืองไทย

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

รัฐบาลและนักวิเคราะห์บางคน เชื่อว่าเศรษฐกิจไทย มีภูมิต้านทานที่เข้มแข็งจากเซรุ่มต้มยำกุ้งในห้วงปี 40 ที่ผ่านมา ถ้าอย่างนั้น อาการแผ่วปลายของสินค้าอุปโภคบริโภคในประเทศที่กำลังเกิดขึ้นหมายความว่าอะไร ?

จากสภาวะการณ์เศรษฐกิจโลก ไม่ว่าจะเป็นความผันผวนของราคาน้ำมัน หุ้น ซัพไพรม์ เลย์แมนในสหรัฐอเมริกา  ส่งผลพวงมายังประเทศไทย ประกอบกับปัจจัยการเมืองในประเทศรุมเร้า ทำให้เกิดแรงเสียดทานทางด้านเศรษฐกิจอย่างหนัก  สะท้อนให้เกิดกำลังซื้อแน่นิ่ง สินค้าอุปโภคบริโภคไทยไม่สามารถผลักดันยอดขายให้เป็นไปตามเป้าที่วางไว้  จึงต้องปรับเป้ารายได้ลงในปีนี้
 
Businessthai พบว่า กลุ่มสินค้าและบริการที่ปรับเป้ารายได้ลง แบ่งออกเป็น 10 กลุ่ม ได้แก่ 1.เครื่องใช้ไฟฟ้า -อิเล็คทรอนิคส์ 2.อัญมณีและเครื่องประดับ 3.สินค้าแบรนด์เนม 4.กลุ่มเครื่องเขียน 5.อาหารและเครื่องดื่ม 6.ธุรกิจโรงภาพยนตร์ และบันเทิง 7.ธุรกิจโฆษณา-เอเยนซี  8.ธุรกิจอีเวนต์ ออกาไนเซอร์ 9.ธุรกิจรับชำระค่าบริการ 10.ธุรกิจโรงพยาบาล

เครื่องใช้ไฟฟ้าทรุด

ธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้านั้นเริ่มออกอาการมาตั้งแต่ ไตรมาส 3 แล้ว จากปัจจัยลบข้างต้น ทำให้หลายค่ายต้องปรับเป้ารายได้ลดลง อาทิ ค่ายชาร์ป จากเดิมปรับเป้ารายได้เดิมที่ตั้งเป้าเติบโตที่ 10 % ลดลงประมาณ 2-3 %  , มิตซูชิต้า ปรับเป้ารายได้ลงจากปีที่ผ่านมาบริษัทมีรายได้ 300 ล้าน เหลือ 250 ล้านบาท พร้อมกับปรับลดกำลังการผลิตสินค้าเกือบทุกรายการ โดยลดลงเกือบ 50%
 
ไม่เว้นกระทั่ง ร้านค้าปลีกเครื่องใช้ไฟฟ้า “เพาเวอร์บาย”  ที่ต้องปรับเป้ารายได้ลงเช่นกัน เนื่องจากเมื่อช่วง 3 เดือนแรกของปี ร้านเพาเวอร์บาย ต้องเจอกับภาวะยอดขายที่ไม่เป็นไปตามเป้า  สาเหตุมาจากกลุ่มสินค้ามือถือที่เกิดปัญหาลูกค้าซื้อแล้วชิ่งหนีทำให้สถาบันการเงินตรวจสอบการปล่อยสินเชื่อที่เข้มข้นและยุ่งยากมากขึ้น
 
นายสมหวัง  อัสราษี ประธานบริษัท สแกนเนอร์ อิเลคทริค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าของคนไทยแบรนด์ “มิตซูชิต้า”  บริษัทฯต้องปรับแผนการทำตลาดใหม่ โดยได้ปรับลดสัดส่วนการส่งออกลงอีก 20% จากแต่เดิมที่การส่งออกจะอยู่ที่ 70% และขายในประเทศ 30% มาเป็น 50:50
 
ส่วนนายวีรเทพ ฉัตรศิริวัฒน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงไทยการไฟฟ้า จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้า ชาร์ป กล่าวว่า ไตรมาสสุดท้ายปีนี้คงจะไปเน้นที่สินค้าขายดีในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นเล็ก ได้แก่ หม้อหุงข้าว เครื่องปั่นน้ำผลไม้ และเครื่องทำน้ำอุ่น 

อุปโภคบริโภคเร่งไม่ขึ้น

ในขณะที่ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ส่วนบุคคล ไม่ว่าจะเป็นค่ายยูนิลีเวอร์ และพีแอนด์จีแม้ไม่ยอมลดเป้ารายได้  แต่สหพัฒน์กลับปรับเป้ารายได้ลง เพราะต้านพลังจากปัจจัยลบไม่ไหว  นายบุญชัย โชควัฒนา กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ยอมรับว่า บริษัทได้ปรับเป้าอัตราการเจริญเติบโตช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ลงเหลือ 6% จากเดิมที่ได้ตั้งเป้ารายได้เติบโตช่วงสิ้นปีไว้ที่ 12%
 
ด้านตลาดเครื่องเขียน นายวรวุฒิ อุ่นใจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ออฟฟิศเมท  ผู้จำหน่ายเครื่องเขียน อุปกรณ์สำนักงาน คอมพิวเตอร์ และออฟฟิศเฟอร์นิเจอร์ ผ่านระบบแค็ตตาล็อก อินเทอร์เน็ต กล่าวว่า บริษัทได้ปรับเป้าเติบโตลงจากเดิม ที่ตั้งไว้เมื่อต้นปีลง 10% จากเดิม ที่ตั้งเป้าเติบโตไว้ที่ 30% เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจและค่าครองชีพ ที่เพิ่มสูงขึ้น โดยยอดขายในช่วง 6  เดือนแรก มีอัตราการเติบโตเพียง 20%
 
ปีนี้ยอดการใช้จ่ายของผู้บริโภคลดลงเหลือประมาณ 3,400 บาท ต่อบิล จากปีที่แล้วที่ลดลงแล้วเหลือ 3,800 บาทต่อบิล เมื่อเทียบกับช่วงปกติ หรือก่อนปี 2550 จะมียอด ใช้จ่ายต่อบิลเฉลี่ย 4,200 บาท ทำให้ปีนี้บริษัทคาดว่าจะมีรายได้ทั้งปี 1,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่มีรายได้ 850 ล้านบาท
 
ส่วนธุรกิจอัญมณี และเครื่องประดับ ต้องปรับเป้าลดเพราะยอดส่งออกร่วงลง ซึ่งเป็นผลมาจากวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์โดยตรง   ซึ่งนางประพีร์ สรไกรกิติกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แพรนด้า จิวเวลรี่ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับปัญหาซับไพร์มของสหรัฐอเมริกา มีผลต่อกำลังซื้อของลูกค้าในสหรัฐฯที่ลดลงและกำลังลามถึงตลาดยุโรป
 
โดยตลาดในประเทศไทยซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 15 % ของยอดขายของบริษัทถูกผลกระทบจากราคาน้ำมันและเงินเฟ้อ ทำให้กำลังซื้อลดลง ส่งผลให้ในปีนี้ยอดการเติบโตของบริษัท 10-12% ไม่น่าจะถึงเป้า

อาหาร-เครื่องดื่มร่วง

เครื่องดื่มและอาหารก็กระทบหนักเช่นกัน ต้องหั่นเป้ารายได้ที่ตั้งไว้ โดยนายฉัตรชัย วิรัตน์โยสินทร์ ผู้อำนวยการสายการตลาด บริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น ผู้ผลิตและทำตลาดเบียร์ภายใต้แบรนด์ “สิงห์” เปิดเผยว่า ในปี 2551 บริษัทอาจต้องมีการปรับเป้าอัตราการเติบโตของรายได้จากสินค้าเบียร์ โดยหากเติบโตในระดับ 3-4% ก็น่าพอใจแล้ว จากเป้าเดิมที่วางไว้ว่าจะเติบโต 5% ปัจจุบันบริษัทมีส่วนแบ่งโดยรวมในตลาดเบียร์กว่า 52%
 
นางสาวสุวรรณา โชคดีอนันต์  ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มาลีสามพราน ผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำผลไม้ แบรนด์มาลี เปิดเผย ว่า บริษัทได้ปรับเป้าเติบโตลดลงเหลือ 30% จากเดิมที่ตั้งเป้าเติบโตของปีนี้ไว้ที่ 35–40% จากปี 2550 หลังจากพบว่า ภาพรวมตลาดน้ำผลไม้ในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา เติบโตลดลงเหลือ 10% เมื่อเทียบกับการเติบโตในช่วงไตรมาสแรก ที่มีอัตราการเติบโตถึง 16%
 
อย่างไรก็ตาม บริษัทจะยังคงใช้งบการตลาดเท่าเดิมที่วางไว้ตั้งแต่ต้นปี 300 ล้านบาท เพื่อกระตุ้นตลาดต่อไป แต่จะลดขนาดของแคมเปญลง โดยล่าสุดได้ออกแคมเปญช็อปเซอร์ไพรส์ บุฟเฟต์ทอง 1 ล้านบาท และแคมเปญเปิดตัวน้ำส้มมาลี 3 รสชาติใหม่ ด้วยงบ 50 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นแคมเปญใหญ่สุดท้ายของปีนี้
 
ส่วนอาหารแช่แข็ง นายทวี ปิยะพัฒนา กรรมการผู้จัดการ บริษัท พี.เอฟ.พี.เทรดดิ้ง จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายอาหารแปรรูปจากเนื้อปลาทะเลแช่แข็งพีเอฟพี เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดอาหารแช่แข็งมูลค่า 4,000-5,000 ล้านบาท ในปีนี้คาดว่าจะไม่มีอัตราการเติบโต เนื่องจากผลพวงจากภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ดี กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง อีกทั้งที่ผ่านมาเนื่องจากต้นทุนการผลิตสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการอาหารแช่แข็งต้องปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 50%

บันเทิง-โฆษณา -อีเวนต์ กระทบ

นายเสริมคุณ คุณาวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีเอ็ม ออร์กาไนเซอร์ จำกัด (มหาชน) ดำเนินธุรกิจออร์กาไนเซอร์และรับจัดงานต่างๆ  กล่าวว่า แม้ภาพรวมธุรกิจรับจัดงานมูลค่ากว่า 14,000 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา ที่มีอัตราการเติบโตกว่า 20% นั้น แต่ปัจจัยลบที่เกิดขึ้นจะทำให้ธุรกิจอีเวนท์ในปีนี้ น่าจะมีแนวโน้มทรงตัวหรือมีมูลค่าใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาเท่านั้น
 
ส่วนเป้าหมายการเติบโตที่วางไว้ประมาณ 5% จากรายได้ 780 ล้านบาทของปีที่ผ่านมานั้น ค่อนข้างจะเป็นไปได้ยาก ดังนั้นทางบริษัทฯกำลังพิจารณาที่จะปรับเป้ารายได้ของปีนี้ลดลงเหลือเพียง 780 ล้านบาท เท่ากับปีที่ผ่านมาด้วย  และเชื่อว่าภาพรวมของธุรกิจรับจัดงานกำลังมีอัตราการเติบโตที่ลดลงไปแล้วกว่า 5-10% เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา
 
นายวิชา พูลวรลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมเจอร์  ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป (MAJOR) เปิดเผยว่า บริษัทได้ปรับลดเป้าหมายการเติบโตของรายได้ในปี 2551 เหลือ 10-15% จากเดิมที่คาดว่ารายได้จะโต 20-30% เนื่องจากการฉายหนังไตรมาส 3 ออกมาไม่ดี คาดว่ารายได้จะโตขึ้น 5-10% จากไตรมาส 3 ปีก่อน และมีหนังฟอร์มยักษ์หลายเรื่องได้เลื่อนกำหนดไปไตรมาส 4 หรืออาจเป็นปีหน้าแทน
          
ตอนนี้ต้องไปลุ้นรายได้หนังไตรมาส 4 แทน เพราะยังมีหนังดี ที่รอฉายอยู่ 4 เรื่องคือ ปืนใหญ่โจรสลัด หลวงพี่เท่ง ภาค 2 องค์บาก ภาค 2 เจมส์บอนด์ ขณะที่ธุรกิจโบว์ลิงในส่วนของสาขาเดิม พบว่ายังสามารถเติบโตได้ ซึ่งในช่วงเดือน ส.ค. เติบโตถึง 18% เมื่อ เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
          
ด้านนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท กล่าวว่า ได้ลดเป้าหมายรายได้ของธุรกิจวิทยุ จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวด้วยเลขสองหลัก จากปีก่อนที่มีรายได้ราว 840 ล้านบาท เหลือเพียงขยายตัวด้วยเลขหลักเดียว เนื่องจากผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีแรกไม่เป็นไปตามเป้าหมาย โดยมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 4-5% เท่านั้น         
 
เช่นเดียวกับธุรกิจโทรทัศน์ที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมากในไตรมาส 3 ที่จะมาช่วยผลักดันรายได้ในไตรมาสสุดท้าย อาทิ กิจกรรมพิเศษ เช่น การจัดประกวดนางสาวไทย คอนเสิร์ต คาราบาว เป็นต้น

Source: Business Thai


  •  
  •  
  •  
  •  
  •