ในอดีต การสร้างแบรนด์ และสื่อสารการตลาดมาจากฝั่ง “เจ้าของแบรนด์” หรือ “นักการตลาด” หรือ “นักโฆษณา” เป็นคนคิด-คนสร้างแคมเปญเพียงฝ่ายเดียว และเมื่อมีแคมเปญ ก็สื่อสารผ่านสื่อต่างๆ ไปยังผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายได้รับรู้ เพื่อในที่สุดต้องการกระตุ้นให้เกิด Action นั่นคือ การตัดสินใจซื้อ ณ จุดขายที่ผู้บริโภคยังต้องเจอ In-store Media และพนักงานขายของแบรนด์นั้นๆ เท่ากับว่าตลอดเส้นทาง Customer Journey แบรนด์เป็นผู้ควบคุมแมสเสจเกือบทั้งหมด
แต่หลังจากโลกเข้าสู่ยุคดิจิทัล ทำให้ “Media Landscape” เปลี่ยนไป กลยุทธ์การตลาด และการสื่อสารด้วยวิธีแบบเดิมๆ จึงไม่สามารถมัดใจผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายได้อีกต่อไป เพราะผู้บริโภคมีพื้นที่ได้แสดงความเป็นตัวเอง และที่สำคัญเชื่อเพื่อน หรือคนรอบข้าง รวมถึง Influencer และ Micro-influencer มากกว่าเชื่อแบรนด์!!
ดังนั้น การสร้างแบรนด์ และสื่อสารการตลาดทุกวันนี้ ต้องเป็น “Brand Democracy” หรือ “แบรนด์ประชาธิปไตย” ที่เปิดให้ผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายได้เข้ามามี “ส่วนร่วม” กับแบรนด์ มากกว่าจะให้ผู้บริโภคเป็นเพียงผู้รับข้อมูลข่าวสารฝ่ายเดียว
5 ยุคพัฒนาการด้านแบรนด์ – การตลาด
ก่อนที่จะไปทำความรู้จักความหมาย และกรณีศึกษาของ “Brand Democracy” เรามาดูพัฒนาด้านแบรนด์ และการตลาดกันก่อนว่านับตั้งแต่อดีต ถึงปัจจุบัน โดยสามารถแบ่งเป็น 5 ยุคกว้างๆ ดังนี้
ยุคที่ 1 “ปฏิวัติอุตสาหกรรม” เป็นยุคเน้นการผลิตเป็นหลัก เพื่อทำให้เกิด Economy of Scale ดังนั้นใครผลิตมาก ย่อมได้เปรียบต้นทุนถูกลง
ยุคที่ 2 “การตลาด 4Ps” ประกอบด้วย Product / Price / Place / Promotion เกิดขึ้นเพราะเมื่อผลิตสินค้าจำนวนมาก ผู้ผลิตต้องกระตุ้นให้เกิดการซื้อ และสินค้าจะขายได้ ต้องอาศัยกลยุทธ์ 4Ps เข้ามาขับเคลื่อน ทำให้เกิดแทคติกด้านการตลาด และหน่วย Salesforce เจาะเข้าช่องทางขายประเภทต่างๆ ซึ่งยุคนี้เป็นยุค “Inside-out” นั่นคือ ทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสินค้า-กลยุทธ์-การสื่อสาร เกิดขึ้นจากฝั่งเจ้าของแบรนด์ หรือนักการตลาด – นักโฆษณาฝ่ายเดียว
ยุคที่ 3 “Branding & Strategy” เข้าสู่ยุคการสร้างแบรนด์ และกลยุทธ์การตลาดมากมาย เช่น CRM (Customer Relationship Management), IMC (Integrated Marketing Communication) โดยเปลี่ยนจาก “Product Centric” เป็น “Customer Centric” ทำให้เป็นยุคเริ่มต้นการเปลี่ยนผ่านจาก “Inside-out” ไปสู่ “Outside-in” ที่นำความต้องการ – ความเข้าใจผู้บริโภค สะท้อนกลับไปสู่การพัฒนาสินค้า กำหนดกลยุทธ์ด้านแบรนด์ดิ้ง และการตลาด
ยุคที่ 4 “Media Landscape & 4Es” เมื่อเข้าสู่โลกดิจิทัล สร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ให้กับ “Media Landscape” จากเดิมเส้นทางการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค เดินเป็น “เส้นตรง” เริ่มจากสื่อทีวี วิทยุ หรือสื่อสิ่งพิมพ์ สร้างการรับรู้ และดึงความสนใจให้เกิดความรู้สึกอยากซื้อ จากนั้นเมื่อไปข้างนอก เจอสื่อนอกบ้าน ทำให้เกิด Remind Brand อีกครั้ง และเมื่อถึงร้านค้า เจอสื่อในสโตร์กระตุ้นให้เกิดการตัดสินใจซื้อในที่สุด
แต่ทุกวันนี้ Media Landscape และ Customer Journey ซับซ้อน ไม่ได้เดินเป็นเส้นตรงเหมือนในอดีต บางคนรับรู้แบรนด์-สินค้าจากสื่ออินเทอร์เน็ต บางคนรับรู้ผ่านสื่อทีวี แล้วหาข้อมูลเพิ่มเติมจากสื่ออินเทอร์เน็ต ดูเพื่อน หรืออ่านรีวิวของ Influencer หรือคนที่มีประสบการณ์ใช้มาก่อน จากนั้นไปดูสินค้าจริงที่ร้าน แล้วตัดสินใจซื้อ หรือกลับบ้านมาซื้อผ่านออนไลน์
ขณะที่เดียวกันจากกลยุทธ์ “4Ps” พัฒนาเป็น “4Es” ประกอบด้วย “Experience” การตลาดยุคนี้ต้องสร้างประสบการณ์ให้กับลูกค้า / “Everyplace” สินค้าสามารถหาซื้อได้ทุกหนแห่ง ไม่ว่าจะเป็นร้านค้า หรือบนออนไลน์ เพื่อสร้างการเข้าถึงที่ง่ายและสะดวก / “Exchange” การสร้างคุณค่าร่วมระหว่างแบรนด์ กับลูกค้า / “Evangelism” คือการเปลี่ยนลูกค้าให้กลายเป็นผู้เผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร และสินค้าให้กับแบรนด์ ด้วยการบอกต่อ ไม่ว่าจะบอกต่อทางกายภาพ หรือบอกต่อด้วยการแชร์บน Social Network ก็ตาม
ยุคที่ 5 สร้างการมี “ส่วนร่วม” ระหว่างแบรนด์ กับผู้บริโภค (Co-creation) ในยุค Social Media มีอิทธิพล ทำให้เสียงของผู้บริโภคทวีความสำคัญมากขึ้น ทำให้การตลาด และการสื่อสารแบบเดิมๆ บางครั้งสร้างความน่ารำคาญให้กับผู้บริโภค หรือไม่สามารถดึงความสนใจจากผู้บริโภคมาได้ ซ้ำร้ายยังโดน “เมินเฉย”
เพราะฉะนั้นถ้าแบรนด์จะได้ใจมวลชนกลุ่มเป้าหมาย ต้องเป็น “Brand Democracy” หรือ “Brand Democratization” หมายถึงการเป็น “แบรนด์ประชาธิปไตย” ที่เปิดให้ผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายมีสิทธิ์-มีเสียงในการเข้ามามี “ส่วนร่วม” กับแบรนด์อย่างแท้จริง เพื่อทำความเข้าใจความต้องการ-เข้าถึงผู้บริโภค และในที่สุดแล้วจะทำให้แบรนด์นั้นๆ มี “ความหมาย” หรือ “มีความสำคัญ” กับผู้บริโภค และแบรนด์นั้นๆ จะกลายเป็นแบรนด์ที่ผู้บริโภครัก (Brand Love)
8 หลักการของการเป็น “แบรนด์ประชาธิปไตย” ได้ใจมหาชน
Graham Brown นักวิจัยด้านการตลาดและจิตวิทยา และเป็นผู้เขียนหนังสือ “Brand Democracy” เล่าแนวคิดของการสร้างแบรนด์ประชาธิปไตย ต้องเปิดให้เกิดบทสนทนาระหว่างลูกค้าด้วยกันเอง หรือเกิดปฏิสัมพันธ์ เช่น การพูดคุยใน Community ของแบรนด์นั้นๆ โดยแบรนด์จะสร้างแพลตฟอร์ม หรือเครื่องมือขึ้นมา เพื่อเป็นช่องทาง หรือเวทีที่ให้ผู้บริโภคได้แสดงไอเดีย ความคิดเห็น และเป็นพื้นที่แบ่งปันเรื่องราวของแต่ละคนที่เกี่ยวกับแบรนด์
โดย 7 หลักการของการเป็น “Brand Democracy” ประกอบด้วย
1. ผู้บริโภคไม่ได้ซื้อสินค้า เพียงเพราะเป็นสิ่งของที่ต้องกินต้องใช้เท่านั้น แต่ซื้อเพราะสิ่งของนั้นๆ มีความหมายสำหรับเขา แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคตัดสินใจซื้อแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่งด้วย “อารมณ์” ไม่น้อยไปกว่าการใช้เหตุผลพิจารณา
2. การดึงความสนใจของผู้บริโภค คือ ต้นทุนของแบรนด์ เพราะทุกเช้าที่ตื่นขึ้นมา ผู้บริโภคไม่ได้นึกถึงแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่ง ยิ่งปัจจุบันผู้บริโภคมีทางเลือกมากมายจากแบรนด์นับพัน นับหมื่น ดังนั้นการทำให้ผู้บริโภคหันมาสนใจแบรนด์หนึ่งๆ จึงเป็นต้นทุนไม่น้อยเช่นกัน
3. ลูกค้า คือ “ฮีโร่” หรือ “ตัวละครหลัก” ของเรื่องราวที่สร้างขึ้นจากประสบการณ์ของแต่ละบุคคลที่เกี่ยวข้องกับแบรนด์นั้นๆ โดยแบรนด์ไม่ควรเข้าไปควบคุมบทสนทนาที่เกิดขึ้นระหว่างผู้บริโภคด้วยกันเอง
4. ใน Brand Story ผู้บริโภคมองหาว่า “ตัวเขาอยู่ส่วนไหนของเรื่องราวนั้นๆ ?” ตอกย้ำให้เห็นว่าผู้บริโภคต้องการให้แบรนด์เห็นความสำคัญในตัวเขา และเป็นส่วนหนึ่งในเรื่องราว หรือการตลาดของแบรนด์
5. ผู้บริโภคไม่ได้ต้องการสนทนากับแบรนด์ แต่ต้องการสนทนาระหว่างผู้บริโภคด้วยกันเอง
6. ไม่วางตำแหน่งผู้บริโภค ในฐานะเป็นลูกค้า หรือผู้ซื้อสินค้า-บริการเท่านั้น แต่ควรมองผู้บริโภคในฐานะเป็น “Partner” หรือ “Co-creation” ร่วมสร้างสรรค์สินค้า หรือแคมเปญการตลาดด้วยเช่นกัน
7. ลูกค้า คือ แบรนด์ สิ่งที่ผู้คนพูดถึงเกี่ยวกับแบรนด์ มีอิทธิพลมากกว่าสิ่งที่แบรนด์สื่อสาร หรือโฆษณา
หลักอีกประการของการเป็น “Brand Democracy” ที่ทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงแบรนด์ได้มากขึ้น ไม่ได้หมายถึงการใช้ “กลยุทธ์ลดราคา” เพื่อดึงคนเข้าหาแบรนด์ เพราะถึงแม้ราคา สามารถเรียกความสนใจและขยายฐานผู้บริโภคได้ แต่ในอีกมุมหนึ่งกลายเป็นเครื่องมือ “ทำร้าย” แบรนด์ได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตามแม้แบรนด์จะเปิดให้ผู้บริโภคพูดคุยกันเองเกี่ยวกับแบรนด์ โดยเฉพาะบนแพลตฟอร์ม Social Network แต่สิ่งที่แบรนด์ต้องทำควบคู่กัน คือ การทำ Social Listening และ Social Monitoring เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ และใช้เป็นเข็มทิศสำหรับพัฒนาโปรดักต์ที่ตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภค และทำแคมเปญสื่อสารการตลาดครั้งหน้า รวมทั้งเพื่อบริหารความเสี่ยงในกรณีเกิดปฏิกิริยาเชิงลบ
กรณีศึกษา “Smirnoff” ขยายวัฒนธรรมวอดก้าในไทย-สร้างความเท่าเทียมด้านดนตรี
เพื่อให้เห็นภาพของ Brand Democracy หรือ Brand Democratization ชัดเจนขึ้น ขอยกกรณีศึกษาแบรนด์ “Smirnoff” ของดิอาจิโอที่สร้างวัฒนธรรมการดื่ม “วอดก้า” ในไทยเมื่อ 12 ปีที่แล้ว จากในอดีตสังคมการดื่มวอดก้า และบาร์เทนเดอร์กระจุกตัวอยู่เฉพาะแหล่งท่องเที่ยว ที่มีกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติเท่านั้น
แต่ “Smirnoff” (สเมอร์นอฟ) ต้องการขยายการ “เข้าถึง” วอดก้าในกลุ่มผู้บริโภคไทยให้มากขึ้น เพื่อผลักดันให้เป็นมากกว่าการเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติเท่านั้น ด้วยการจัดฝึกอบรม และจัดการแข่งขันบาร์เทนเดอร์ เพื่อยกระดับอาชีพบาร์เทนเดอร์ในเมืองไทยมีมาตรฐานดีขึ้น
ขณะเดียวกันเข้าไปสนับสนุนเจ้าของกิจการผับ-บาร์รายเล็ก ผสานกับการสื่อสารแบรนด์ และพัฒนา Product Innovation ที่เชื่อมโยงกับกลุ่ม Millennials ซึ่งเป็นผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายที่แบรนด์ต้องการเข้าถึง เช่น การแตกสองโปรดักต์ไลน์สำคัญคือ “Smirnoff Midnight Max” และ “Smirnoff Midnight 100” มาเสริมทัพ Smirnoff ดั้งเดิม เพื่อทำให้การดื่มวอดก้า และแบรนด์ Smirnoff ขยายในวงกว้างขึ้น ทำให้ปัจจุบัน “วอดก้า” กลายเป็นหนึ่งในทางเลือกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของคนไทย ที่อยากหลีกหนีความจำเจจากการดื่มวิสกี้ และเบียร์สาย Mainstream
“เบียร์ และวิสกี้ คือ Mainstream ในขณะที่วอดก้ายังคงเป็น Niche Market แต่ปัจจุบันพฤติกรรมการดื่มของคนไทยเปลี่ยนแปลงไปมาก มีความหลากหลายขึ้น เราเห็นว่าวันนี้คนไทยกล้าลองเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แปลกใหม่มากขึ้น ซึ่งการเกิดขึ้นของผับ-บาร์ใหม่ๆ ถูกขับเคลื่อนด้วยพฤติกรรมการดื่มของคนไทยที่เปลี่ยนแปลงไป
เพราะคนจะมีทั้งโมเมนต์ต้องการดื่มในสิ่งที่คุ้นเคย เช่น เบียร์ วิสกี้ และมีโมเมนต์อยากไปสถานที่ที่ไม่ได้ไปทุกวัน หรือไปสถานที่ใหม่ๆ เมื่อไปถึงแล้ว อยากลองดื่มอะไรใหม่ๆ เพื่อได้ประสบการณ์แบบใหม่ ทำให้วันนี้คนไทยเข้าใจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แต่ละชนิดแล้วว่าวอดก้าคืออะไร รัมคืออะไร จินคืออะไร เตกีลาคืออะไร” คุณพอล สิริสันต์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ (ประเทศไทย) จำกัด ฉายภาพพฤติกรรมการดื่มในสังคมไทยที่เปลี่ยนไป
ขณะเดียวกัน “Smirnoff” สร้างตลาดวอดก้า และเข้าถึงผู้บริโภค ด้วยการใช้ “Music Platform” สนับสนุนแนวดนตรี “Electronic Dance Music : EDM” เพื่อขยายขอบเขตแนวดนตรีในเมืองไทย ที่เดิมคนส่วนใหญ่รู้จักแนว Rock, Pop, Jazz, ลูกทุ่ง ฯลฯ ให้ได้รู้จักกับเพลงหลายสไตล์มากขึ้น
เหตุผลที่เลือกสนับสนุนแนวดนตรี EDM ตั้งแต่เมื่อ 12 ปีที่แล้ว แม้ขณะนั้นแนวดนตรี EDM ในไทยยังเป็น Niche Market ทั้งจำนวนดีเจ และคนฟัง เพราะ “Smirnoff” มองว่างานดนตรี Mainstream แบรนด์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายใหญ่ให้การสนับสนุนอยู่แล้ว จึงไม่ได้อยากไปเป็นแค่โลโก้แปะเพิ่มในฐานะผู้สนับสนุนงาน แต่ไม่ได้สร้าง “ความแตกต่าง” ด้านแบรนด์ อีกทั้งไม่สอดคล้องกับ “จุดยืน” ของแบรนด์ Smirnoff ที่ต้องการผลักดันให้เกิดความแตกต่างหลากหลายในสังคม เพื่อทำให้คนมีทางเลือกมากขึ้น และส่งเสริมให้เกิดพลังความคิดสร้างสรรค์
ดังนั้นจึงเลือกให้การสนับสนุนงานดนตรีแนว EDM จนถึงทุกวันนี้ โลกดนตรี EDM กลายเป็น Mainstream ไปแล้ว จากเดิมเป็นอีเว้นท์เล็กๆ มีคนแค่หลักร้อย แต่ปัจจุบันการจัดงานดนตรี ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดมีคนเข้าร่วมไม่ต่ำกว่า 20,000 – 30,000 คน
อย่างไรก็ตาม การจัดงานเทศกาลดนตรี ย่อมมี “ข้อจำกัด” ไม่ใช่ทุกคนจะสะดวกเข้าร่วมได้ เพราะติดเรื่องเวลา และการเดินทางไปยังสถานที่จัดงาน อยู่ไกลจากบ้าน หรืออยู่คนละจังหวัด แต่ปัจจุบัน “แพลตฟอร์มดิจิทัล” เป็นช่องทางที่ “เปิดกว้าง” ให้ใครๆ เข้าถึงได้
ด้วยเหตุนี้ “Smirnoff” จึงนำข้อดีของ Social Media Platform มาเป็นส่วนหนึ่งของการทำแคมเปญ “Smirnoff Non-Festival” ที่ยกดีเจมาจัดคอนเสิร์ตในรูปแบบ House Party ที่บ้านของผู้บริโภค โดยเปิดพื้นที่ให้ผู้บริโภคได้ “Co-create” ไอเดียความคิดสร้างสรรค์ถึงคอนเซ็ปต์การจัดงานปาร์ตี้ที่บ้าน มาให้กับทางแบรนด์ จากนั้นทีมงานคัดเลือกไอเดียที่ส่งเข้ามา และเอาดีเจชื่อดังไปจัดปาร์ตี้ถึงบ้าน โดยงานปาร์ตี้นั้นจะออกอากาศสดผ่าน “Facebook Live” เพื่อให้คนอีกหลายแสนได้ติดตามและร่วมสนุกกับ House Party ไปพร้อมๆ กัน
การทำ Co-creation ลักษณะนี้ เป็นการเปิดพื้นที่ให้ผู้บริโภคร่วมสร้างสรรค์ “คอนเทนต์” ที่จะเกิดการ “เชื่อมต่อ” ระหว่างแบรนด์ – ผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย และนำไปสู่การสร้าง “บทสนทนา” ระหว่างผู้บริโภคด้วยกันเองบนโลกออนไลน์ ที่ทำให้ผู้บริโภคกลายเป็น “Story Teller เล่าเรื่องราวของแบรนด์ ซึ่งจะยิ่งสร้าง Impact การสื่อสารแบรนด์ในวงกว้าง
นอกจากนี้ “Smirnoff” ยังมองว่าในยุคดิจิทัล ประชากรออนไลน์ต่างแสดงตัวตน ความสามารถ และเอกลักษณ์อย่าง ไร้พรมแดน ไม่มีความแตกต่างด้านเชื้อชาติ เพศ อายุ แต่ในความเป็นจริงปัญหาเรื่องการแบ่งแยกสีผิว เพศ และเชื้อชาติยังคงมีอยู่ให้เห็นผ่านสื่อต่างๆ โดยเฉพาะบนสื่อสังคมออนไลน์
แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นหัวใจและจุดศูนย์กลางการเชื่อมต่อ อย่างไร้พรมแดนคือ “ดนตรี” ที่ไม่ว่าจะอยู่ประเทศไหน เสพสื่ออะไร ฐานะเป็นอย่างไร ก็สามารถที่จะเข้าถึงและสัมผัสอรรถรสของดนตรีได้อย่างเท่าเทียมกัน จึงได้เปิดตัวแคมเปญ “We’re open” เพื่อผลักดันให้เกิดความแตกต่างหลากหลาย และสนับสนุนความเท่าเทียมในวงการดนตรี ทำให้อาชีพดีเจ ไม่ได้จำกัดเฉพาะต้องเป็นดีเจต่างประเทศ และดีเจผู้ชาย แต่ผู้หญิงก็สามารถก้าวไปเป็นแถวหน้าของอาชีพดีเจบนเวทีระดับโลกได้เช่นกัน โดยมี 3 ดีเจสาว เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในแคมเปญสุดยิ่งใหญ่นี้ ได้แก่ ดีเจนาคาเดีย (Nakadia) – สีไพร มุ่งพันธ์กลาง, ดีเจเมนดี้ (Mendy) – สาธิกา ราพิมพ์สำโรง และ ดีเจเอ็กซ์โอเอ้กโอไนน์ (X0809) – นท พนายางกูร
“วันนี้คนไม่ได้มี Brand Loyalty น้อยลง แต่อยู่ที่ว่าแบรนด์ไหนจะเลือกสร้าง Engagement ที่ดี หรือเป็นแบรนด์ที่มีความหมายสำหรับชีวิตผู้บริโภค เพราะคนเลือกจะ Connect กับแบรนด์มากขึ้น ซึ่งการเชื่อมต่อกับแบรนด์ในที่นี้ ไม่ได้หมายความว่ามีโฆษณาดี สร้าง Brand Awareness ได้ แล้วแบรนด์นั้นจะ Connect กับผู้บริโภค
แต่การสร้าง Brand Connection และ Brand Community ต้องมาจากทั้งการมี Product Innovation ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย และต้องทำให้เกิด Brand Talk หรือการพูดถึงแบรนด์ในกลุ่มผู้บริโภค ไม่ว่าจะพูดถึงในมุมสินค้า หรือพูดถึงแคมเปญที่นำเสนอสิ่งใหม่ๆ ซึ่ง Brand Talk สำคัญกว่ามีเดีย เนื่องจากเป็นสิ่งที่ทำให้แบรนด์มีความหมายในใจผู้บริโภค” คุณพอล สรุปทิ้งท้าย
“Democratization of Financial service” เปลี่ยนอุตสาหกรรมการเงินโลก
แนวคิด “Democracy” หรือ “Democratization” ไม่เพียงแต่เกิดขึ้นเฉพาะในแวดวงธุรกิจ-การตลาดเท่านั้น ในมุมระดับมหภาค ที่เป็นอุตสาหกรรมสำคัญระดับประเทศกำลังเป็นกระแสตื่นตัวเช่นกัน เห็นได้จาก “อุตสาหกรรมการเงิน” จากในอดีตถูก Dominate ด้วยธนาคาร ผู้ให้บริการทางการเงินครบวงจร แต่ทันทีที่โลกเข้าสู่ยุคดิจิทัล เกิด Technology Disruption ครั้งใหญ่ในธุรกิจการเงินการธนาคารทั่วโลก ด้วยเทคโนโลยีการเงิน (Financial Technology : FinTech) ที่คิดค้นขึ้นโดยคนกลุ่มเล็กๆ อย่าง “Startups” ผู้พัฒนาเทคโนโลยีทางการเงินที่ทันสมัย และทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างทั่วถึง
ทุกวันนี้ “FinTech” สามารถพัฒนาบริการธุรกรรมทางการเงินหลากหลาย เช่น e-Payment, Peer-to-Peer Lending (การกู้ยืมเงินบุคคลต่อบุคคล), Crowndfunding รวมไปถึงเทคโนโลยี Blockchain และการสร้างสกุลเงิน Bitcoin
แม้เทคโนโลยีการเงินของ “FinTech” ไม่สามารถเข้ามาแทนที่บริการทางการเงินของธนาคารได้ทั้งหมด เพราะยังมีข้อจำกัดในด้านกฎหมายควบคุม แต่วันนี้ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า “FinTech” เขย่าธุรกิจธนาคารไม่น้อย ถึงกับทำให้ธนาคารหลายแห่งต้องออกมาตั้งบริษัทย่อย เพื่อทำหน้าที่เป็นทั้งผู้พัฒนาเทคโนโลยีการเงินเอง และเข้าไปลงทุนในกลุ่ม FinTech Startups ที่มีศักยภาพ
คุณรพี สุจริตกุล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เคยกล่าวไว้ในงาน SEC FinTech Day 2017 : Crossing Boundaries Together ได้อย่างน่าสนใจว่า FinTech จะเปลี่ยนโฉมหน้าของ Financial Landscape เพราะจะทำให้เกิด “Democratization of Financial service” หมายถึง การทำให้ประชาชนทั่วไป สามารถเข้าถึงบริการทางการเงิน และตลาดทุนได้หลากหลาย และแพร่หลายยิ่งขึ้น โดยมีต้นทุนที่ต่ำลง ขณะเดียวกันบริการทางการเงิน จะได้รับการพัฒนาให้ Customize ได้อย่างเหมาะสมกับโจทย์ และความต้องการของแต่ละคน
Source : Brand Democracy