กรณีศึกษา “ฮะจิบัง ราเมน” (Hachiban Ramen) กับ 5 กลยุทธ์ครองใจคนไทยมา 30 ปี

  • 450
  •  
  •  
  •  
  •  

Hachiban Ramen
Photo Credit: ฮะจิบัง ราเมน ประเทศไทย

“วัฒนธรรมอาหารญี่ปุ่น” กลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย จากในอดีตเมื่อกว่า 30 – 40 ปีที่แล้วยังเป็น Niche Market และอยู่ในโซนใจกลางเมือง เช่น ย่านสุขุมวิท, ย่านสีลม ซึ่งเป็นย่านที่มีคนญี่ปุ่นอยู่จำนวนมาก ทั้งกลุ่ม Expat ที่มาพร้อมครอบครัว และนักท่องเที่ยว ขณะที่ปัจจุบันได้พัฒนาเป็นตลาด Mainstream ไปแล้ว และขยายไปทั่วประเทศ ทั้งในรูปแบบเชน และร้านสาขาเดียว

หนึ่งในเซ็กเมนต์ใหญ่ของตลาดร้านอาหารญี่ปุ่น คือ “ราเมน” (Ramen) หรือออกเสียงว่า “ราเมง” ก็ได้ เมนูเส้นที่คนไทยคุ้นเคยเป็นอย่างดี และเราอยากชวนผู้อ่านย้อนกลับไปในความทรงจำวันวาน “ราเมนชามแรกในชีวิต รับประทานที่ร้านไหน ?”   

เชื่อว่าใครหลายคนเอ่ยออกมาเป็นเสียงเดียวกันว่า “ฮะจิบัง ราเมน” (Hachiban Ramen) หรือ “ร้านราเมนหมายเลข 8 จากประเทศญี่ปุ่นที่เข้ามาเปิดสาขาแรกในไทยเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ทำให้คนไทยรู้จักและคุ้นเคยอาหารเมนูเส้นสไตล์ญี่ปุ่นมากขึ้น

Marketing Oops! พาไปฉายภาพการเติบโตของตลาดร้านราเมงในไทย พร้อมชวนวิเคราะห์กลยุทธ์ตลอดระยะเวลากว่า 3 ทศวรรษที่นำพา “ฮะจิบัง ราเมน” เป็นผู้นำตลาดราเมนในไทยที่ปัจจุบันมี 150 สาขาทั่วประเทศ (ข้อมูล ณ ธันวาคม 2022) และครองใจผู้บริโภคไทยได้สำเร็จ!

Hachiban Ramen
Photo Credit: Facebook Hachiban Ramen Thailand

 

“ร้านราเมง” ติด Top 3 ร้านอาหารญี่ปุ่นที่ขยายตัวมากสุดในไทย

ก่อนที่จะเจาะลึกกลยุทธ์ความสำเร็จของฮะจิบัง ราเมน” เราอยากพาไปสำรวจตลาดร้านอาหารญี่ปุ่นไทย โดย “องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น” (เจโทร กรุงเทพฯ) รายงานว่าในปี 2022 ร้านอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทยมีจำนวน 5,325 ร้าน เพิ่มขึ้นจาก 4,370 ร้านในปี 2564 โดยจำนวนร้านอาหารญี่ปุ่น เพิ่มขึ้น 955 ร้าน คิดเป็น 21.9 % เป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2007 ที่เริ่มทำการสำรวจ

การเพิ่มขึ้นของจำนวนร้านอาหารญี่ปุ่นในไทย ทั้งในกรุงเทพฯ – ปริมณฑล และต่างจังหวัด โดยเฉพาะในปริมณฑล 5 จังหวัด คือ นครปฐม, นนทบุรี, ปทุมธานี, สมุทรปราการ, สมุทรสาคร มีจำนวนร้านอาหารญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 25.2% ขณะที่ต่างจังหวัด เพิ่มขึ้น 28.5%

ขณะที่ประเภทร้านอาหารญี่ปุ่นเปิดใหม่มากสุดในปี 2022 คือ

– ร้านซูชิ เพิ่มขึ้น 448 ร้าน คิดเป็นอัตรา 19.6% จากปี 2021 ทำให้โดยรวม 1,431 ร้าน

– ภัตตาคารอาหารญี่ปุ่น เพิ่มขึ้น 263 ร้าน คิดเป็นอัตรา 18.9% จากปี 2021 โดยรวมมี 1,273 ร้าน

– ร้านราเมง เพิ่มขึ้น 185 ร้าน คิดเป็นอัตรา 33.1% จากปี 2021 ทำให้โดยรวมมี 611 ร้าน

Marketing Oops! มองว่าเหตุผลที่ “ร้านราเมง” ได้รับความนิยมในผู้บริโภคไทย จนติด 1 ใน 3 ร้านอาหารญี่ปุ่นที่มีอัตราการขยายตัวมากสุดในไทย เนื่องจาก

1. ราเมง เป็นอาหารจานเดียว ตอบโจทย์การรับประทานที่ง่าย สะดวก และรวดเร็ว จึงนิยมทั้งในช่วงมื้อกลางวัน และมื้อเย็น

2. ทุกวันนี้มีร้านราเมงมากมาย เปิดในพื้นที่ต่างๆ ทั้งในรูปแบบ Stand Alone ขยายตามชุมชน, เปิดในศูนย์การค้า, ไฮเปอร์มาร์เก็ต, คอมมูนิตี้มอลล์, ศูนย์อาหาร ฯลฯ และมีหลายช่วงราคา ตั้งแต่ Mass ไปจนถึง Premium

3. เกิด Online Community บนแพลตฟอร์ม Social Media เป็นพื้นที่รวมตัวของคนรักราเมง, อุด้ง รวมไปถึงเมนูเส้นต่างๆ สไตล์ญี่ปุ่น โดยในชุมชนออนไลน์เหล่านี้จะแชร์ร้าน แชร์เมนู และเกร็ดความรู้เกี่ยวกับราเมง, อุด้ง และเมนูเส้นต่างๆ ยิ่งทำให้วัฒนธรรมราเมงในไทยขยายตัวขึ้น

Ramen

 

ย้อนรอยเส้นทาง “ฮะจิบัง ราเมน” ร้านราเมนหมายเลข 8 จากญี่ปุ่น สู่ตลาดไทย

เส้นทาง “ฮะจิบัง ราเมน” เริ่มต้นในปี 1967 โดย มร. โจจิ โกโต้ เปิดร้านฮะจิบังเล็กๆ รูปแบบเคาน์เตอร์ สาขาแรกบนถนนหลวงสาย 8 ในเมืองคางะ (Kaga) จังหวัดอิชิกาว่า (Ishikawa) ซึ่งที่มาของชื่อแบรนด์ และโลโก้เลข 8 มาจากที่ตั้งร้านอยู่บนถนนหลวงเลข 8

นอกจากนี้เลข 8 ยังถือเป็นเลขมงคลสำหรับชาวญี่ปุ่น เพราะเมื่อตั้งตรงดูคล้ายกับ “ตุ๊กตาล้มลุก” หมายถึงความมั่นคง และเสถียรภาพ ขณะเดียวกันหากวางเป็นแนวนอน เลข 8 เหมือนกับเครื่องหมาย Infinity หรือไม่สิ้นสุด เปรียบได้กับความมั่นคงในคุณภาพสินค้า-บริการ และการพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่องของกิจการฮะจิบัง เพื่อส่งมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า

แม้สาขาแรกเป็นร้านเล็กๆ และขายเพียงไม่กี่เมนู โดยมีราเมงผัก (Vegetable Remen) เป็นเมนูหลักของร้าน แต่ลูกค้าให้การตอบรับเป็นอย่างดี  และฮะจิบังเคยทำสถิติยอดขายสูงสุดอยู่ที่ 1,300 ชามต่อวัน!

Hachiban Ramen-1967
ฮะจิบัง ราเมนสาขาแรกที่จังหวัดอิชิกาว่า, ญี่ปุ่น เริ่มต้นในปี 1967 (Photo Credit: ฮะจิบัง ราเมน ประเทศไทย)

ต่อมาธุรกิจเติบโตขึ้นเป็น “ฮะจิบัง กรุ๊ป” (Hachiban Group) ครอบคลุมตั้งแต่ธุรกิจต้นน้ำ – ปลายน้ำ ไม่ว่าจะเป็นโรงงานผลิต, ธุรกิจร้านอาหาร, ธุรกิจแฟรนไชส์ และธุรกิจนำเข้า-ส่งออกอาหารและเครื่องปรุง

ปัจจุบัน ฮะจิบัง มีสาขาทั้งหมด 288 สาขา แบ่งเป็นญี่ปุ่น 133 สาขา และต่างประเทศ 3 ประเทศคือ ไทย, ฮ่องกง และเวียดนาม รวม 155 สาขา ซึ่ง “ประเทศไทย” ถือเป็นตลาดใหญ่ด้วยจำนวน 150 สาขา 

“ฮะจิบัง ราเมน” เข้าสู่ตลาดไทย โดยการร่วมลงทุนระหว่าง “ตระกูลเหลืองภัทรเมธี” กับฮะจิบัง ประเทศญี่ปุ่น ร่วมกันตั้ง “บริษัท ไทยฮะจิบัง จำกัด” ในปี 1991 และเปิดร้านฮะจิบังสาขาแรกในไทยเมื่อปี 1992 ที่ศูนย์การค้าสีลมคอมเพล็กซ์  ซึ่งเป็นย่านธุรกิจใจกลางเมืองที่มีทั้งคนไทย และชาวต่างชาติ

Hachiban Ramen-Thailand 1992
ฮะจิบัง ราเมนสาขาแรกในไทยที่สีลมคอมเพล็กซ์ (Photo Credit: ฮะจิบัง ราเมน ประเทศไทย)

ต่อมาปี 2000 เริ่มขยายออกสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เดอะมอลล์ โคราช และภาคตะวันออกที่แปซิฟิค พาร์ค ศรีราชา จากนั้นเมื่อจำนวนสาขามากขึ้น จึงได้สร้าง “ครัวกลาง” ในปี 2006 ที่นิยมอุตสาหกรรมนวนคร เพื่อผลิตและจัดส่งวัตถุดิบให้กับร้านฮะจิบังทั่วประเทศ

ในปี 2012 ถือเป็นหลักไมล์สำคัญของฮะจิบัง ราเมนในไทยได้เปิดร้านที่ 88 ในไทยที่เซ็นทรัล อุดรธานี และปี 2014 ได้เปิดสาขาในไทยครบ 100 สาขาทั่วประเทศ อีกหนึ่งก้าวสำคัญของเชนร้านราเมนหมายเลข 8

ถึงวันนี้ “ฮะจิบัง” มีจำนวนร้านในไทย 150 สาขา นับว่ามี network สาขามากกว่าในญี่ปุ่น และมากสุดในตลาดต่างประเทศ ตอกย้ำให้เห็นว่าไทยเป็นตลาดยุทธศาสตร์สำคัญ

Hachiban Ramen-Central Kitchen 2006
ครัวกลางฮะจิบัง ราเมนในไทย (Photo Credit: ฮะจิบัง ราเมน ประเทศไทย)

โดยผลประกอบการของ “บริษัท ไทยฮะจิบัง จำกัด” (ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์)

– ปี 2017 รายได้รวม 1.7 พันล้านบาท / กำไรสุทธิ 260 ล้านบาท

– ปี 2018 รายได้รวม 1.9 พันล้านบาท / กำไรสุทธิ 259 ล้านบาท

– ปี 2019 รายได้รวม 2 พันล้านบาท / กำไรสุทธิ 279 ล้านบาท

– ปี 2020 รายได้รวม 1.6 พันล้านบาท / กำไรสุทธิ 142 ล้านบาท

– ปี 2021 รายได้รวม 1.5 พันล้านบาท / กำไรสุทธิ 89 ล้านบาท

คาดว่าผลประกอบการของ ฮะจิบัง ในประเทศไทยที่ลดลงอย่างชัดเจนในช่วงปี 2020 – 2021 สาเหตุหลักมาจากสถานการณ์ COVID-19 ที่แพร่ระบาดอย่างหนัก และมีมาตรการล็อกดาวน์ ส่งผลกระทบต่อธุรกิจร้านอาหาร โดยเฉพาะร้านที่อยู่ในศูนย์การค้า และไฮเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ ซึ่งสาขาส่วนใหญ่ของ ฮะจิบัง ปิดในศูนย์การค้า และไฮเปอร์มาร์เก็ต ประกอบกับเมนูราเมน ผู้บริโภคนิยมรับประทานที่ร้านมากกว่า เพราะได้การปรุงสดใหม่

Hachiban Ramen
Photo Credit: Facebook Hachiban Ramen Thailand

 

ค้นคำตอบเบื้องหลังกลยุทธ์ “ฮะจิบัง ราเมน” ทำอย่างไรให้ครองใจคนไทย

เมื่อวิเคราะห์ถึงความสำเร็จของเชนฮะจิบัง ได้การตอบรับจากผู้บริโภคไทยเป็นอย่างดีมาตลอด 3 ทศวรรษ และเดินหน้าขยายสาขาต่อเนื่อง

หัวใจสำคัญคือ การทำให้ “ฮะจิบัง” เป็นเชนร้านอาหารสำหรับคนไทยทุกคน ทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเด็ก วัยรุ่น คนทำงาน วัยผู้ใหญ่ กลุ่มครอบครัว เพื่อปักธงการเป็น Top of mind brand เชนร้านราเมงในไทย ที่เมื่อไรนึกถึงราเมง ให้นึกถึงฮะจิบัง ตอบโจทย์ทั้งราคาเข้าถึงง่าย เมนู Signature ที่คุ้นเคย คุณภาพมาตรฐาน และสาขาครอบคลุมทั่วประเทศ

เพราะฉะนั้น 30 ปีที่ผ่านมา และนับจากนี้ไป “ฮะจิบัง” ยังคงให้ความสำคัญกับ 5 กลยุทธ์หลักคือ

1. ขยายสาขาครอบคลุม

สาขาเป็น Network สำคัญในการเข้าถึงผู้บริโภคทุกกลุ่มได้ทั่วถึง ดังนั้นยิ่งมีสาขามาก ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสเข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น

ในอดีตร้านราเมงกระจุกตัวอยู่เฉพาะในย่านที่มีชาวญี่ปุ่นอาศัยอยู่เยอะ และกลุ่มลูกค้าหลักเป็นคนญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม Expat และนักท่องเที่ยว

แต่สำหรับกลยุทธ์ของ “ฮะจิบัง” หลังจากเปิดสาขาแรกที่สีลมคอมเพล็กซ์​ ในเวลาต่อมาได้ขยายสาขาเข้าไปตามศูนย์การค้า ไฮเปอร์มาร์เก็ต และคอมมูนิตี้มอลล์ต่างๆ ทั้งของเชนค้าปลีกรายใหญ่ เช่น ศูนย์การค้าเซ็นทรัล, โรบินสัน, เดอะมอลล์, ซีคอนสแควร์, ฟิวเจอร์พาร์ค, แฟชั่นไอส์แลนด์ รวมถึงเปิดกับค้าปลีกขนาดกลาง และค้าปลีกท้องถิ่น

เหตุผลที่ “ฮะจิบัง” ในไทย เน้นขยายสาขาไปกับศูนย์การค้า ไฮเปอร์มาร์เก็ต และคอมมูนิตี้มอลล์ มากกว่าเปิดรูปแบบ Stand Alone เหมือนเช่นในญี่ปุ่นที่จะสังเกตเห็นว่าร้านราเมงที่นั่น จะเปิดร้านตามชุมชน ย่าน ถนน หรือตรอกซอกซอยต่างๆ ขณะที่ประเทศไทย ด้วยพฤติกรรมของผู้บริโภคไทยชอบช้อปปิ้ง และพักผ่อนตามศูนย์การค้า ไฮเปอร์มาร์เก็ต และคอมมูนิตี้มอลล์ ไม่ว่าจะวันธรรมดา หรือวันทำงาน เพราะตอบโจทย์ความครบวงจร (One Stop Shopping) ทั้งสินค้าและบริการในชีวิตประจำวัน และในวันหยุด

นี่จึงทำให้ “ฮะจิบัง” เป็นหนึ่งในร้านแม่เหล็กที่อยู่คู่กับศูนย์การค้า ไฮเปอร์มาร์เก็ต และคอมมูนิตี้มอลล์ต่างๆ มาตลอดระยะเวลา 30 ปี

Hachiban Ramen
Photo Credit: Facebook Hachiban Ramen Thailand

2. ราคาเข้าถึงง่าย ไม่ถึงร้อยบาทก็อิ่มอร่อยได้!

อีกหนึ่งกลยุทธ์หลักของ “ฮะจิบัง” คือ การทำราคาให้เข้าถึงง่าย หรือ Affordable Price เมื่อเทียบกับร้านราเมง และอาหารญี่ปุ่นอื่น โดยราคากลุ่มเมนูอาหารจานหลักของฮะจิบัง เริ่มต้นไม่ถึง 100 บาท ไปจนถึงกว่า 120 บาท ขณะที่เมนูอาหารทานเล่น เริ่มต้นที่กว่า 50 บาท ถึง 170 กว่าบาท

ด้วยราคาเฉลี่ยไม่ถึงหลักร้อยบาท จนถึงร้อยต้นๆ ทำให้ฮะจิบัง สามารถเข้าถึงผู้บริโภคทุกกลุ่ม ทุกวัยได้ในวงกว้าง ประกอบกับกลยุทธ์การเปิดสาขาทั่วประเทศ ยิ่งผลักดันให้ตลาดราเมงในไทย ไม่ใช่เป็น Niche Market อีกต่อไปแล้ว แต่ได้ขยายเป็น Mass Market และทำให้แบรนด์ฮะจิบังครองใจผู้บริโภคไทยได้สำเร็จ จนเข้าไปอยู่ในโอกาสการบริโภคในมื้อหลักๆ ทั้งมื้อกลางวัน และมื้อเย็น

Hachiban Ramen
Photo Credit: Facebook Hachiban Ramen Thailand

3. เมนู Signature ยอดนิยมตลอดกาล และคุณภาพมาตรฐาน

ถ้าพูดถึง “ฮะจิบัง” สิ่งที่อยู่คู่กันมาตลอดคือ เมนู Signature ที่ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปกี่ปี เมนูเหล่านี้ยังคงได้รับความนิยมเสมอมา ไม่ว่าจะเป็น “เมนูจานหลัก” เช่น ฮะจังเมน, ชาชูเมน, ไพตัน ราเมน, ไพตัน ชาชูเมน, ซารุ ราเมน, ยากิโซบะ, คาราเมน, ชาฮั่ง หรือข้าวผัดหมูชาชู ฯลฯ และ “เมนูของว่าง” เช่น เกี๊ยวซ่า, คาราอะเกะ, เอบิโรล หรือปอเปี๊ยะกุ้ง, คาโมะนิ หรือเป็ดตุ๋นเห็ดหอม รวมทั้งเอกลักษณ์คู่ฮะจิบังอย่างฮะจิคามะ หรือลูกชิ้นปลาหมายเลข 8

หัวใจหลักของการทำธุรกิจร้านอาหาร โดยเฉพาะเชนที่มีหลายสาขา คือ การรักษาคุณภาพมาตรฐาน ทั้งผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่วัตถุดิบ และรสชาติต้องเหมือนกันทุกชาม ทุกสาขา และการให้บริการ ซึ่ง “ฮะจิบัง” ได้สร้างครัวกลางในปี 2006 เพื่อผลิตและจัดส่งวัตถุดิบแบบวันต่อวันไปยังทุกสาขาทั่วประเทศ รวมทั้งกระบวนการปรุงอาหารที่ร้าน ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน เพื่อให้ทุกชาม – ทุกสาขาได้คุณภาพและมาตรฐานเดียวกัน

Hachiban Ramen
Photo Credit: Facebook Hachiban Ramen Thailand

4. Localization พัฒนาเมนู – การสื่อสารและโปรโมชั่น

นอกจากฮะจิบัง มีเมนู Signature อันเป็นเอกลักษณ์ประจำร้านแล้ว ยังมีการทำ Localization ทั้งพัฒนาเมนูสำหรับตลาดไทยโดยเฉพาะ นั่นคือ “ต้มยำกุ้ง ราเมน” และ “ต้มยำกุ้ง ชาชูเมน” รสชาติจัดจ้านเข้ากับความชอบของคนไทย และด้านการสื่อสาร พร้อมทำโปรโมชั่นสำหรับตลาดไทยโดยเฉพาะ เช่น สื่อสารผ่านช่องทาง Social Media เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคได้ทั่วถึง, หนังโฆษณา และกิจกรรมการตลาด เพื่อสร้าง engagement ระหว่างแบรนด์กับลูกค้า

อย่างล่าสุดในโอกาสครบรอบ 30 ปีในไทย ฮะจิบังได้ทำหนังโฆษณาออนไลน์ซีรีส์ 8 คลิปวิดีโอ “ชามทรงจำแสนอร่อย” พาไปย้อนความทรงจำถึงตำนานและเรื่องราวต่างๆ ของฮะจิบัง ตั้งแต่ร้านสาขาแรกในญี่ปุ่น จนมาถึงการเปิดสาขาแรกในไทย, เบื้องหลังวัตถุดิบน้ำซุป – เส้น, เมนูคลาสสิกยอดนิยม และได้ทำกิจกรรมแจกทองคำรูปฮะจิคามะ ฉลองครบรอบ 30 ปี

Hachiban Ramen
Photo Credit: Facebook Hachiban Ramen Thailand

5. ปรับตัวรับสถานการณ์เปลี่ยนแปลง

ในช่วง COVID-19 ร้านอาหารต่างต้องปรับตัว เพื่อก้าวข้ามความท้าทายครั้งใหญ่ “ฮะจิบัง” ก็เช่นกัน จากเดิมทีลูกค้าส่วนใหญ่ใช้บริการรับประทานที่ร้านเป็นหลัก แต่เมื่อเกิดการแพร่ระบาด COVID-19 และมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้ไม่สามารถให้บริการส่วน Dine-in ได้ “ฮะจิบัง” จึงปรับกลยุทธ์หันมาโฟกัสช่องทาง “Food Delivery” มากขึ้น ผ่านแพลตฟอร์ม Food Aggregator

ขณะเดียวกันด้วยความที่ผู้บริโภคใช้ชีวิตอยู่กับบ้านมากขึ้น ฮะจิบังได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ “เกี๊ยวซ่าหมูแช่แข็ง” ตอบโจทย์การบริโภค In-home Consumption สำหรับผู้บริโภคซื้อติดตู้เย็นไว้ และทำได้ด้วยตัวเองในวิธีที่ง่าย สะดวก และรสชาติเหมือนกับเสิร์ฟในร้าน

การปรับตัวทำให้ “ฮะจิบัง” สามารถผ่านช่วงวิกฤต COVID-19 มาได้ กระทั่งทุกวันนี้ร้านสาขาต่างๆ กลับมาเปิดให้บริการตามปกติแล้ว

Hachiban Ramen Frozen Gyoza
Photo Credit: Facebook Hachiban Ramen Thailand

ทั้งสาขาที่หาง่าย สะดวก แบรนด์อยู่กับคนไทยมานาน จนเป็นที่คุ้นเคย อาหารรสชาติถูกปากคนไทย ในราคาเข้าถึงได้ และทุกสาขามีมาตรฐานเดียวกัน ทำให้ฮะจิบัง เป็นหนึ่งในร้านอาหารญี่ปุ่นที่ผู้บริโภคให้ความไว้วางใจ และปักธงเป็น Top of Mind Brand ร้านราเมงในไทยได้สำเร็จ   

 

Source: Hachiban Ramen Thailand, Hachiban Ramen Japan


  • 450
  •  
  •  
  •  
  •  
WP
อยู่ในแวดวงนิตยสารธุรกิจการตลาดกว่าสิบปี สนุกและชอบติตตามเทรนด์ ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมในแพลตฟอร์มดิจิทัล มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การตลาดและดิจิทัลร่วมกันนะคะ