ธุรกิจ ‘กงสี’ รับไม้ต่อไม่ง่ายอย่างที่คิด เปิดใจ 3 ทายาทรุ่นใหม่ กับความท้าทายในยุคดิจิทัล

  • 9.9K
  •  
  •  
  •  
  •  

“คาบช้อนเงินช้อนทองมาเกิด ยังไงก็สบาย” จริงหรือ?
ในสายตาคนภายนอกคงจะเป็นเช่นนั้น แต่เรื่องจริงแล้วอาจไม่ได้เป็นอย่างที่ใครๆ คิด

ทายาทนักธุรกิจหลายคนที่เมื่อได้ยินแล้วก็คงแอบรู้สึกเจ็บปวดลึกๆ ไม่ได้ หลายคนอาจจะมองว่าธุรกิจในครอบครัวเป็นโชคดีที่ฟ้าประทานมาให้โดยที่ไม่ต้องดิ้นรนอะไร แต่เมื่อเรามีโอกาสได้พูดคุยกับ 2 ธุรกิจสำคัญ ที่เรียกได้ว่าเป็นทายาทสืบทอดกิจการต่อจากรุ่นพ่อมาทำต่อด้วยตัวเอง กลับกลายเป็นเรื่องยากซับซ้อนกว่าที่ใครคิด แถมจะเป็นโจทย์ข้อใหญ่ที่ต้องแก้หนักกว่าการดำเนินธุรกิจเองตั้งแต่ต้นด้วยซ้ำ

scb sme1

สองธุรกิจที่ว่า ได้แก่ หนึ่งคือ 2 สาว คุณกิ๊ฟ-แคทลียา ท้วมประถม กรรมการผู้จัดการ ดิ ไอเดีย เอสเซนเชี่ยล จำกัด และคุณนดา-วิริยา ท้วมประถม Marketing Director ดิ ไอเดีย เอสเซนเชี่ยล จำกัด ทายาทธุรกิจของใช้ของชำร่วยในงานสำคัญตามประเพณีต่างๆ ของไทย ที่วันนี้พวกเธอสามารถสานต่อธุรกิจจนทำให้ไม่ได้หยุดแค่กิจการดั้งเดิมแต่พวกเธอยังต่อยอดไปสู่ธุรกิจอื่นๆ และในต่างประเทศได้อีกด้วย จนธุรกิจเติบโตมีรายได้เป็นหลักพันล้านทั้งที่จุดเริ่มต้นจากเพียงแค่แผงเล็กๆ ในย่านสำเพ็ง

สองคือ คุณกอล์ฟ-ธีรินทร์ ธัญญวัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทสุนทรธัญทรัพย์ ผู้สืบทอดกิจการข้าวบรรจุถุงตรา “ไก่แจ้” ต่อจากรุ่นพ่อทำให้ธุรกิจเติบโตจาก 10 ล้านเป็นพันล้าน แล้วยังสามารถส่งออกไปขายยังประเทศเพื่อนบ้านได้อีกด้วย แต่น่าแปลกใจที่ทางครอบครัวกลับไม่ต้องการให้เขามารับช่วงต่อในตอนแรก ทว่า ด้วยความมุมานะบวกกับความดื้อรั้นก็ทำให้ที่บ้านยอมรับเขาได้ในที่สุด

ทั้งสองเรื่องราวมีแง่มุมที่น่าสนใจคนละแบบ ในการต่อสู้ฟันฝ่าอุปสรรคมากมายกว่าจะพิสูจน์ตัวเองได้ ซึ่งจะเป็นบทเรียนให้เหล่าทายาทนักธุรกิจ SME ได้เห็นแนวทางในการสานต่อธุรกิจในแบบของคนรุ่นใหม่ที่ขึ้นมาพิสูจน์ตัวเองได้ และที่สำคัญคือ นำเอาไอเดียใหม่ๆ และโซเชียลมีเดีย เข้ามาใส่ในการทำธุรกิจอีกด้วยโดยที่สามารถผสมผสานต่อยอดกับคอร์บิสซิเนสดั้งเดิมเอาไว้ได้อย่างสวยงาม วันนี้เราจะเปิดทุกมุมมองและทุกกลยุทธ์ที่ทำอย่างไรให้พวกเขาก้าวขึ้นเป็นนักธุรกิจแถวหน้าได้สำเร็จ

scb sme2

เทคนิคที่ถ่ายทอดกันบนโต๊ะอาหาร และห้องนอน

คุณกิ๊ฟ แคทลียา เล่าถึงจุดกำเนิดกิจการของครอบครัวว่า เริ่มต้นมาจากแผงขายของเล็กๆ ของคุณย่า หน้าตึกแห่งหนึ่งย่านสำเพ็ง ซึ่งคุณย่ามีลูก 5 คน คุณพ่อของคุณกิ๊ฟเป็นคนโต แต่ทุกคนก็จะถูกปลูกฝังมาให้ต้องช่วยกันทำมาหากินเพราะครอบครัวเริ่มต้นจากศูนย์คือไม่มีอะไรเลย จนมาวันหนึ่งด้วยน้ำพักน้ำแรงของทุกคนก็สามารถทำให้คุณพ่อซื้อตึกที่คุณย่าเคยเช่าพื้นที่ขายได้สำเร็จ

“คุณพ่อเล่าแบบจำได้แม่นว่า วันที่คุณพ่อเชิญคุณย่าไปตัดริบบิ้นหน้าตึก ซึ่งเป็นตึกที่เราเคยเช่าเขาอยู่แล้วยังเคยเป็นที่หลบลูกระเบิดเมื่อสมัยสงครามโลก ครั้งที่ 2 อีกด้วย คุณย่ายืนร้องไห้อยู่ตรงนั้นเลยเพราะไม่น่าเชื่อว่าวันหนึ่งตึกๆ นี้จะได้เป็นของเรา”

คุณกิ๊ฟ ยังเล่าถึงเทคนิคการถ่ายทอดการทำธุรกิจในแบบของที่บ้านว่า บ้านเราคุณพ่อคุณแม่จะสอนทุกอย่างบนโต๊ะอาหาร ผ่านบทสนทนาง่ายๆ เช่น พ่อเคยบอกว่าที่นี่ (สำเพ็ง) เอาอะไรมาขายก็รวย เพราะต้องการสื่อว่า ถ้าหยิบจับอะไรแค่คิดพลิกมุมนิดหน่อยก็ค้าขายได้ นี่คือสิ่งที่เราโตมาพ่อสอนเรามาให้คิดอ่านเป็นธุรกิจ ซึ่งคนที่สำเพ็ง พาหุรัด ส่วนใหญ่ก็เติบโตมาจากการรับช่วงต่อกิจการทั้งนั้น มันคือเสน่ห์ของคนย่านนี้ มันมีความเป็นนักธุรกิจอยู่ในสายเลือดมองอะไรก็เห็นว่าน่าทำน่าขายไปหมด

คุณนดา วิริยา น้องสาวผู้ร่วมคิดร่วมสร้าง กล่าวเสริมว่า แต่บางครั้งคุณพ่อคุณแม่ก็สอนเราเป็นนิทานก่อนนอน อย่างเรื่องที่ว่าครั้งหนึ่งร้านโดนไฟไหม้หมดเหลือกันแต่ชุดนอน แล้วพ่อกับแม่สู้ชีวิตอย่างไรจนกลับมายืนขึ้นใหม่ได้ หรือวันเสาร์อาทิตย์ก็จะพาเราไปหาลูกค้า หาซัพพลายเออร์ เราก็จะเติบโตวิ่งเล่นหน้าร้านอยู่ตลอด สิ่งเหล่านี้ตอนเด็กๆ เราไม่เคยรู้หรอกว่ามันคือการสอนการหล่อหลอมพวกเราไปในตัว แต่มันก็ค่อยๆ ซึมๆ ค่อยเรียนรู้กันไป

unnamed

“บัวไม่ให้ช้ำน้ำไม่ให้ขุ่น” กับการเบลนด์สิ่งเก่าสู่สิ่งใหม่

หลายคนอาจจะมองเป็นเรื่องง่ายในการดำเนินธุรกิจในครอบครัว เพราะเหมือนทุกอย่างสร้างมาให้แล้วไม่ต้องเริ่มต้นใหม่ แต่นั่นล่ะคือโจทย์ยาก เมื่อสร้างมาให้ก็ไม่ต้องการให้มาเปลี่ยนแปลง ทว่า เมื่อกาลเวลาผ่านธุรกิจก็ย่อมต้องปรับตัวไปด้วย แต่จะก้าวผ่านอย่างไรในแบบ ‘บัวไม่ให้ช้ำน้ำไม่ให้ขุ่น’

คุณนดา บอกว่า ไม่ว่าจะกี่ปีในสายตาของเขาเราก็ยังคือเด็กน้อยคนเดิม ดังนั้น จะทำอย่างไรให้เขาเชื่อใจและยอมรับในตัวเราได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่คนเลือดใหม่ไฟแรงซึ่งเติบโตมากับเทคโนโลยี ทุกคนก็อยากจะดิ้นรนทำในแบบที่ชั้นต้องการ แต่ในขณะที่พ่อแม่มีประสบการณ์เขาก็ไม่ยินยอมที่อยู่ๆ จะพลิกโฉมจากหน้ามือเป็นหลังมือได้ เพราะฉะนั้นมันก็ต้องค่อยๆ เบลนด์อิน โดยทำอย่างไรก็แล้วแต่ให้เขารู้สึกว่า เขาเชื่อใจเราได้ ว่าเรามีความตั้งใจที่จะทำงานตรงนี้จริงๆ

นอกจากนี้ ปัญหาอีกอย่างที่สำคัญซึ่งเชื่อว่าทายาทนักธุรกิจต้องเจอ คือปัญหาความเชื่อถือของทีมงานรุ่นเก่าที่อาจจะยังไม่เชื่อในความสามารถของทายาทรุ่นสอง ดังนั้น ก็ต้องมีวิธีการในการเข้าหาที่นุ่มนวล ต้องพูดคุยอย่างให้เกียรติ ถามความเห็นทุกสิ่งกับเขาก่อน อย่างไรก็ตาม ในการทำงานเราก็อยากที่จะดึงคนรุ่นใหม่เข้ามาทำงานด้วย แต่จะมีวิธีการอย่างไรให้ทำงานร่วมกันได้อย่างมีความสุข ตนเองก็จะใช้วิธีที่ให้ priority แก่คนเก่าก่อน แต่อย่างน้อยเราก็ต้องสื่อสารให้คนรุ่นใหม่ได้เข้าใจว่าทำไมเราถึงต้องให้ priority คนกลุ่มนี้ก่อน เพื่อบาลานซ์ความสัมพันธ์ต่างๆ ให้ดีที่สุด

“แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ คนรุ่นเก่ามีความซื่อสัตย์และภักดีสูงมาก อย่างเรื่องเงินก็ต้องให้คนรุ่นเก่าๆ ช่วยดูแล แต่ยังไงเราก็ต้องทำให้เขาเอ็นดูเราให้เขาสอนงานเรา จากนั้นก็ค่อยๆ เบลนด์วิธีการทำงานจากเก่าไปสู่ใหม่อย่างที่เราต้องการ”

scb sme4

การสร้างธรรมนูญครอบครัวที่ดี

คุณกิ๊ฟ กล่าวถึงอีกทฤษฎีที่น่าสนใจคือการมี “ธรรมนูญครอบครัว” ที่ดี โดยมองว่า หากเราวางไว้ว่าธรรมนูญครอบครัวของเราคือ ความสุขและความสมัครสมานสามัคคีของคนในบ้าน โดยที่ผลกำไรของบริษัทคือเรื่องรอง ฉะนั้น บางครั้งเราก็อาจจะต้องยอมที่จะถอยบ้างเพื่อทำให้เกิดความสุข เงินทองจะหาเมื่อไหร่ก็ได้ แต่ความสุขของพ่อแม่คือสิ่งสำคัญที่สุดและยั่งยืนยาวนานกว่า ถ้าหากเราตั้งเป้าหมายไว้แบบนี้ ดังนั้น การให้ความเคารพผู้ใหญ่ การเชื่อฟังผู้ใหญ่ก็อาจจะสำคัญกว่าสิ่งที่เราคิดเอาไว้ก็ได้

“การทำธุรกิจร่วมกันในแบบกงสี การมีธรรมนูญที่ดีสามารถทำให้ธุรกิจจากรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นส่งต่อกันไปได้อย่างราบรื่นมากกว่า”

scb sme5

ต่อยอดความสำเร็จเดิม ด้วยการใส่แพสชั่นตัวเอง

เทคนิคในแง่การผสานความสัมพันธ์ภายในครอบครัวเราเห็นภาพมากขึ้นแล้ว แต่ในงานของการดำเนินธุรกิจให้สมูธต่อไปได้นั้น เราไปล้วงความลับมาจากคุณกิ๊ฟได้ว่า มันคือการนำเอาแพสชั่นของตัวเอง บวกกับเทรนด์ และนำมาผสมรวมกับคอร์บิสซิเนสหลักของกิจการที่บ้าน จนสามารถนำไปต่อยอดสู่ไลน์บิสซิเนสใหม่ได้

คุณกิ๊ฟ กล่าวว่า การที่อยู่ๆเราไปเปลี่ยนระบบใหม่โน่นนี่ขึ้นมา ค่อนข้างลำบากและยาก แล้วถ้าเกิดพลาดมาคุณจะไม่มีโอกาสซ้ำสอง และอีกอย่างการเปลี่ยนผู้ใหญ่อายุ 70-80 ปีมันไม่ใช่ เรื่องง่าย ดังนั้น เราจึงต้องเริ่มจากการ เอาพื้นฐานของที่บ้านมาบวกกับความชอบของเราเอง และเทรนด์ดิ้ง มาสร้างเป็นธุรกิจใหม่ของเราเอง เช่น การเอาการ์ดหงส์มังกรแดงแบบเดิมที่เคยใช้เมื่อ 20 ปีก่อน มาปรับปรุงแล้วก็อัพราคาให้มีวาลูขึ้นด้วยการใส่ดีไซน์เข้าไป ก็ทำให้โดนใจคนรุ่นใหม่ได้ไม่ยาก

ปิดฉากทำเลทอง สู่การหาน่านน้ำใหม่ผ่านดิจิทัล

แต่สิ่งสำคัญอีกอย่างที่คุณกิ๊ฟย้ำก็คือ การที่จะต้องมองหาน่านน้ำใหม่อยู่เสมอ เพราะวันนี้คำว่า ‘ทำเลทอง’ ไม่สามารถใช้ได้อีกต่อไปในยุคที่เพียงแค่คลิกก็มีสินค้ามาส่งถึงบ้านได้แล้ว

“เราควรจะมองหาน่านน้ำใหม่ๆ เป็นน่านน้ำที่ใสสว่างอยู่ เพราะอย่าลืมว่า สินค้าส่วนใหญ่คล้ายๆ กันหมด การที่เราจะเปิดอะไรที่คล้ายๆ กันอีกก็ไม่ได้ อย่างเมื่อก่อนที่เคยบอกว่าแค่ขายน้ำก็รวยหรือขายอะไรก็รวย แต่ยุคนี้มันเป็นยุคที่คำว่า “แหล่ง” ไม่มีประโยชน์อีกต่อไปแล้ว เพราะคนหาสินค้าที่ต้องการได้จาก Facebook,Instagram หรือ อินเตอร์เน็ต กันแล้ว เพราะฉะนั้นเราจะต้องทำอย่างไรที่ทำให้การเป็นแหล่งของเรา ยังเป็นข้อได้เปรียบอยู่ แล้วยังอยู่ในน่านน้ำเดิม แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีน่านน้ำใหม่ๆ ที่สามารถเอาธุรกิจของเรามาเติมได้”

ดังนั้น สิ่งสำคัญที่จะมาช่วยให้ผู้ประกอบการมองเห็นน่านน้ำใหม่ได้ คุณกิ๊ฟ ระบุว่า มันคือการที่ผู้นำจะต้องทำตัวเป็น ‘โหลน้ำที่ไม่เต็ม’ คือสามารถเทอะไรใส่ลงไปได้เสมอ ไม่ว่าจะ หิน น้ำ ทราย อะไรก็ได้ คือไม่ใช่การที่เราคิดว่าถ้าทำธุรกิจนี้แล้วจะต้องทำต่อไปเรื่อยๆ ไม่คิดที่จะหาสิ่งใหม่ๆ ทำนั้น ไม่ได้ อย่างธุรกิจการ์ดงานแต่งในบ้านเรา เมื่อมันเริ่มเต็มแล้ว ผู้คนเริ่มที่จะให้การเชิญผ่านดิจิทัลมากกว่า เราก็ต้องไปหาน่านน้ำอื่นแทน ไปหาตลาดอื่นที่ยังตั้ง S Curve ใหม่ได้อย่างกลุ่มเพื่อนบ้านเออีซี หรือหนีไปจับธุรกิจใหม่เลยสำหรับตลาดเมืองไทย

scb sme6

Secret of success เรียนรู้จากคนเก่งมากประสบการณ์

แต่การที่จะหาน่านน้ำใหม่ได้รวดเร็วก่อนใคร คุณกิ๊ฟ ระบุว่า มันต้องมาจากการที่ผู้นำต้องมีวิสัยทัศน์ คือต้องรู้เสมอว่ากระแสน้ำตรงนี้ จะต้องเป็นกระแสที่เร็วแรง หรือมันจะต้องมีกระแสใหม่มา ไม่ต้องไปพูดถึงคู่แข่งเพราะสิ่งเดียวที่คุณต้องแข่งคือ ‘แข่งกับโลก’ โลกคือคู่แข่งที่แท้จริงของคุณ แต่การที่ต้องรู้กระแสน้ำได้นั้น ก็จะต้องคลุกคลีกับคนเก่ง เรียนรู้จากผู้รู้ และผู้มีประสบการณ์โดยตรง

ดังนั้น คุณกิ๊ฟ จึงเห็นด้วยอย่างยิ่งที่ SCB จะมี Business Center ตั้งขึ้นที่สำเพ็ง เพราะการมีศูนย์ฯ ตรงนี้จะเป็นแหล่งรวมของคนเก่งๆ การได้พูดคุยแชร์ไอเดียร่วมกับกูรูด้านต่างๆ มันทำให้เราได้เรียนรู้อะไรเยอะแยะมากมาย แล้วการเรียนรู้ในวันนี้ คุณไม่จำเป็นต้องไปนั่งเรียนเข้าคอร์สในสถาบันไหนๆ เลย แต่เป็นการเรียนรู้จากคนจริงที่มีประสบการณ์จริง คือการได้มาเรียนรู้กับคนที่ผ่านมาแล้ว เวลาที่มีปัญหาอะไรเราสามารถเข้ามาถามเข้ามาคุยได้ง่ายๆ ภายใน 5 นาทีเราได้คำตอบตรงนั้นเลย

“เราจะไปเรียนรู้ลองผิดลองถูกทำไม ในเมื่อเรามี Mentor เรามีกลุ่มเพื่อนที่คุยกันได้ การรวมกลุ่มอยู่ด้วยกันคิดว่ามีแต่ข้อดีกับข้อดี ตรงนี้เป็นแหล่งความรู้ฟรีๆ ที่ให้เราเข้ามารับคำแนะนำ เข้ามาฟังสัมมนาดีๆ แล้วก็อาจจะได้รวมกลุ่มเป็นคอมมูนิตี้ของคนที่ทำธุรกิจแบบเดียวกัน ของคนที่อยากจะก้าวไปไกลๆ ด้วยกัน มันอาจจะช่วยให้คุณได้เจอสิ่งใหม่ๆ เจอแนวความคิดใหม่ๆ ที่ทำให้คุณเปลี่ยนหลักรายได้ จากแค่ 10 ล้านเป็น 100 ล้าน เป็น 1,000 ล้าน และที่สำคัญ มันจะช่วยให้ธุรกิจของคุณมั่นคงได้จริงๆ”

scb sme7

เกือบหมดไฟ เพราะตามใจผู้ใหญ่

คุณกอล์ฟ-ธีรินทร์ ธัญญวัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทสุนทรธัญทรัพย์ ผู้สืบทอดกิจการข้าวบรรจุถุงตรา “ไก่แจ้” ซึ่งตั้งแต่เด็กออกจะเป็นเด็กเกเรด้วยซ้ำ และไม่เคยมีความคิดที่จะรับช่วงต่อกิจการที่บ้านเลย แม้แต่ที่บ้านเองก็ไม่ได้คาดหวังให้มาสานต่อกิจการ แต่แล้วเมื่อถูกส่งไปเรียนเมืองนอก หลายสิ่งทำให้มุมความคิดเปลี่ยนไปเขาอยากกลับมาทำงานให้กับที่บ้านและขยายต่อให้ไปไกลกว่าเดิม แต่กลับไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มใจจากที่บ้านเลย

คุณกอล์ฟ เล่าว่า ตอนเรียนปี 3 ที่ต่างประเทศ ความคิดตัวเองก็เปลี่ยนไป เราเห็นเพื่อนมีเงินมีรายได้จากการทำงาน เราก็เริ่มรู้สึกว่าอยากจะรวยบ้าง ก็เริ่มอ่านหนังสือของคนที่ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจต่างๆ มากขึ้น โทรหาแม่แทบทุกวันแล้วเราก็บอกเลยว่าเรียนจบจะกลับมาช่วยที่บ้านนะ ทั้งป๊าทั้งแม่ก็ไม่เชื่อว่าเราจะทำได้ เขายังมองว่าเราจะเหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ และอีกอย่างคือความตั้งใจอยากให้เราเรียนสูงๆ จบเมืองนอกมาก็ไปทำงานบริษัทใหญ่ๆ โตๆ ไม่อยากให้มาเหนื่อยขายข้าว นี่คือความคิดของคนรุ่นนั้น

“ต้องเรียนก่อนว่าถึงที่บ้านจะส่งไปเรียนเมืองนอก แต่ไม่ได้ร่ำรวยอะไร พ่อแม่ประหยัดมัธยัสถ์มากเพื่อให้มีเงินส่งเราเรียน ยิ่งทำให้เราอยากจะมีเงินมากๆ จะได้ดูแลเขาได้ในอนาคต ผมจะทำให้ธุรกิจข้าวที่คนอื่นมองว่า เหนื่อย จับกัง ร้อน และทำให้คนที่บ้านรู้ให้ได้ว่าคนที่เรียนจบมาไม่จำเป็นต้องทำงานห้องแอร์ ความตั้งใจของผมอยากมาสานต่อกิจการ ผมอยากทำมาก จนวันที่เรียนจบกลับบ้านประโยคแรกที่ผมบอกกับป๊าม๊าก็คือ ผมจะทำให้สองคนได้ไปเที่ยวด้วยกันให้ได้”

แต่แม้จะมุ่งมั่นแค่ไหน ทั้งคุณพ่อคุณแม่ก็บังคับให้ไปทำงานบริษัทเอกชนจนได้ คุณกอล์ฟ เล่าว่าเป็นความจำใจไปทำงานตามใจผู้ใหญ่จริงๆ เพราะวันๆ เอาแต่นั่งนับเข็มนาฬิการอเวลาเลิกงาน เป็นการทำงานที่ไร้ความสุขโดยสิ้นเชิง จนทำมาได้ 6 เดือนตัดสินใจว่าทนไม่ไหวแล้วถ้าขืนเป็นอย่างนี้ต่อไปไฟในตัวต้องหมดอย่างแน่นอน ก็เลยยืนยันกับที่บ้านว่าจะลาออก เพราะได้ทำตามอย่างที่เขาขอไปแล้วและที่สำคัญใจเราก็รู้ตัวเองแล้วว่าเราต้องการอะไร

scb sme8

เริ่มต้นจาก 0 แต่ก้าวกระโดดเติบโตกว่า 300%

เมื่อผู้ใหญ่เข้าใจและยอมให้ลองมาทำงานที่บ้านได้ สิ่งที่คุณกอล์ฟทำอย่างแรกเลยคือการเรียนรู้งานทุกๆ อย่าง ตั้งแต่เข้าโรงงาน เช็คสต๊อก ขึ้นข้าว คุยกับลูกค้า แม้กระทั่งขับรถเก่าๆ ไปส่งข้าวกับลูกน้องสองคนก็ทำมาแล้ว เรียกว่าศึกษากระบวนการทั้งหมดตั้งแต่ต้นทางยันปลายทาง เพื่อพิสูจน์ตัวเองให้ได้ว่าตั้งใจและมุ่งมั่นจริงๆ จนในที่สุดเขาก็ค่อยๆ เริ่มยอมรับและรู้ว่าเอาแน่

และจากการที่ลงมือทำด้วยตัวเองก็ทำให้พบปัญหาใหญ่เข้าจังๆ คุณกอล์ฟ เล่าว่า ไปส่งของให้ลูกค้าโดนลูกค้าตำหนิกลับมาเลยว่าทำไมข้าวไก่แจ้หยิ่งจัง สั่งอะไรไปก็บอกว่าไม่มี ทำไม่ทัน นอกจากนี้ยังพบปัญหาของยอดที่หดลง ซึ่งผิดกับที่รับรู้มาตลอด ในขณะที่คู่แข่งหน้าใหม่เริ่มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เพราะเขามีสินค้าใหม่ๆ มาเสนอแล้วก็ส่งของได้ตามความต้องการ ซึ่งถ้าวันนั้นตนเองไม่ลงมาเชื่อว่าวันนี้เราคงเป็นศูนย์ตายไปแล้วแน่นอน

“ที่ผ่านมาเราทำงานเชิงรับมากไป เราเคยขาย 3 อำเภอมายี่สิบปียังไงก็ขายแค่นั้น ผลิตได้แค่ไหนก็แค่นั้น เราไม่เคยรู้เลยว่าสถานการณ์เปลี่ยนไปแล้ว เมื่อผมรู้ตรงนี้ผมรีบปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว เอาเครื่องจักรมาช่วยในการตวงข้าวมากขึ้น เพิ่มรถขนส่งและรอบในการส่งมากขึ้น พบปะรับฟังความต้องการลูกค้ามากขึ้น ทำให้ในปีแรกที่ผมเข้าไปยอดมันโตพุ่งไปถึง 200-300%”

scb sme9

แค่เปิดรับสมัครงาน ก็โดนต่อต้านแล้ว

หลังจากที่เริ่มเปิดใจยอมรับการทำงานของคุณกอล์ฟมากขึ้น เจ้าตัวก็เริ่มปฏิบัติการเปลี่ยนแปลงในแบบนุ่มนวล โดยคุณกอล์ฟระบุว่า มันคือการให้เริ่มแต่น้อยๆ ก่อนแต่เห็นการเปลี่ยนแปลงเยอะๆ ซึ่งสิ่งแรกที่เขาเข้ามาเปลี่ยนเลยคือการจ้างเสมียนมาทำงาน 2 คน และนำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้ แต่ทั้งสองอย่างก็ผ่านการไฟท์ และการถกเถียงกันพอสมควร แต่นั่นก็ทำให้สามารถไปหาลูกค้ามาเพิ่มขึ้นได้ เรียกว่าเป็นการเปิดเกมรุกมากขึ้นนั่นเอง

จากนั้นเมื่อเริ่มเห็นพัฒนาการที่ดีขึ้นของกิจการ คุณกอล์ฟเริ่มย่ามใจ ตัดสินใจเปิดรับสมัครเซลล์เพื่อหวังจะทำยอดขายให้มากขึ้น แต่นั่นก็ทำให้คุณกอล์ฟต้องปะทะกับคุณพ่ออีกครั้ง

“ผมปรินท์กระดาษเอ 4 ติดหน้าร้านเลย รับสมัครเซลล์ ปรากฏว่าคนแรกที่มาสมัครเราก็เรียกมานั่งคุยสัมภาษณ์งานตามปกติ พอป๋าเข้ามาเห็นเท่านั้นล่ะ ปิดประตูดังปังใส่ทันที! ผมนี่หน้าเสียเลย แต่หนักว่าคือคนที่มาสมัครงานหน้าซีดมาก ป๋าโวยวายใหญ่ไม่พอใจแล้วก็ไล่คนนั้นกลับไปเลย ก็ยอมรับว่าวันนั้นก็เถียงกันพอควร แต่จะยอมหรือไม่ยอมผมก็ยังเห็นว่าถ้าเราไม่เริ่มขยับขยายหาเซลล์มาขายเราไปได้ไม่ไกลแน่นอน แต่ที่แสบกว่านั้นคือเซลล์คนแรกของผมก็หอบข้าวหนีหายไปเลยเหมือนกัน แต่ผมก็ไม่ยอมแพ้นะ เอาใหม่ จ้างใหม่ทีนี้ตามจิกทุกชั่วโมงเลย”

scb sme10

ใช้โซเชียลมีเดียทุกรูปแบบ เป็นอาวุธบุกตลาดใหญ่

ความท้าทายกับการสืบทอดกิจการต่อจากที่บ้าน ยังไม่ใช่อุปสรรคเดียวที่คุณกอล์ฟพบ อีกสิ่งที่สำคัญและต้องตีโจทย์ให้แตกเลยคือ การที่พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป เมื่อข้าวไม่ใช่อาหารหลักของคนไทยอีกต่อไป และคนสามารถหาซื้อข้าวหาซื้ออาหารได้ง่ายตามร้านสะดวกซื้อหรือแม้แต่การสั่งซื้อออนไลน์ ดังนั้น การใช้โซเชียลมีเดียจึงกลายมาเป็นเครื่องมือสำคัญของข้าวไก่แจ้

คุณกอล์ฟ บอกว่า ในเรื่องการตลาดและการสร้างการรับรู้เราใช้ผ่านออนไลน์ เราจะย่ามใจมองว่าข้าวคือสิ่งที่คนต้องกิน มันไม่ใช่แล้ว วันนี้คนกินข้าวก็อาจจะไม่ใช่คนที่ซื้อข้าว ไม่ใช่คนที่ซื้อข้าวสาร คุณอาจจะกินข้าวในเซเว่น หรืออาจจะสั่งอาหารอย่างอื่นมากินก็ได้ ดังนั้น เราต้องไวที่สุด ต้องรู้ว่าลูกค้าคุณอยู่ที่ไหน และใครคือคนที่ซื้อข้าวที่แท้จริงจากคุณ

“ผมก็ปรับเรื่องฐานลูกค้า กลุ่มลูกค้า เช่น พวกร้านอาหาร โรงแรม ฯลฯ โดยใช้ช่องทางออนไลน์เพื่อเข้าหาลูกค้า ทั้ง Facebook, Instagram, Line@ ซึ่งเมื่อก่อนขายผ่านยี่ปั๋ว ซาปั๋ว ตอนนี้ก็ไม่ใช่แล้ว เราต้องเข้าหาผู้บริโภคมากขึ้น แต่ทางฝั่งออฟไลน์ก็ยังทิ้งไม่ได้ เราก็ยังใช้ในรูปแบบผสมผสานกันอยู่”

scb sme11

ไม่ต้องเสียเวลาลองผิดลองถูก ถ้าได้ที่ปรึกษาดี

แต่อย่างในยุคที่พฤติกรรมและความต้องการผู้บริโภคเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว บางครั้งก็เป็นเรื่องยากที่ผู้ประกอบการล่วงรู้และเท่าทันได้หมด คุณกอล์ฟ จึงมองว่า ถ้าการที่มีผู้ช่วยหรือมีผู้ให้คำปรึกษาคอยแนะนำแนวทางต่างๆ กับเราก็ถือเป็นเรื่องดีมากๆ เพราะการลองผิดลองถูกอย่างที่ตัวเองเคยประสบมาก็ทำให้ช่วงแรกลำบากอยู่เหมือนกัน

“ผมว่าก็การที่มีศูนย์การเรียนรู้ Business Center สำหรับผู้ประกอบการ SME โดยเฉพาะเป็นเรื่องที่ดี แต่คนที่จะมาให้คำปรึกษาจะต้องเป็นคนที่รู้จริง มีประสบการณ์จริง เพราะคนที่เข้ามาขอคำปรึกษาก็อยากจะรู้เทรนด์ รู้อนาคต รู้ว่าพฤติกรรมผู้บริโภคจะเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง ดังนั้น ผู้ประกอบการจะต้องเร็ว อย่าไปคิดว่าเทคโนโลยีอย่างเดียวที่เร็ว ผู้ประกอบการต้องมองให้เห็นและมองให้ทะลุ”

คำแนะนำสุดท้ายที่ คุณกอล์ฟ ได้ย้ำกับผู้ประกอบการ SME รุ่นใหม่คือ ต้องอ่านต้องศึกษาเยอะๆ และต้องพยายามเอาตัวเข้าไปอินกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ตลอด บางคนอาจจะมีสื่อออนไลน์ไว้เล่นอย่างเดียว แต่ถ้าได้เรียนรู้ฟีเจอร์ต่างๆ ของมันก็จะค้นพบว่าสามารถช่วยในการประกอบธุรกิจได้ ดังนั้น ผู้ประกอบการที่เพิ่งเริ่มต้นยิ่งต้องเรียนรู้กับสิ่งนี้ให้มาก ถ้าไม่มีเวลาก็ต้องศึกษาจากคนเก่งๆ ผู้มีประสบการณ์ก็จะทำให้ประหยัดเวลาไปได้มาก

บทสรุป

จากประสบการณ์จริงของนักธุรกิจหนุ่มสาวทั้ง 3 ท่าน ทำให้เห็นว่าการเป็นทายาทนักธุรกิจรับช่วงต่อกิจการ ไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่ใครๆ เข้าใจเลย แถมยังต้องฟันฝ่าอุปสรรคในแบบที่ธุรกิจอื่นอาจจะไม่ต้องประสบ ดังนั้น ผู้ประกอบการในยุคนี้ จึงต้องปรับตัวอย่างรวดเร็วและรู้เท่าทันทุกกระแสที่เกิดขึ้น ดังนั้น หากมีผู้ให้คำปรึกษาและแนะนำทางที่ดีได้ ก็มั่นใจได้ว่าอุปสรรคที่คุณจะฝ่าไปนั้นไม่ได้อยู่ลำพัง แถมทุกก้าวย่างที่เสี่ยงก็จะเต็มไปด้วยองค์ความรู้ที่สร้างความมั่นใจให้ธุรกิจเติบโตและยั่งยืนต่อไป.

Copyright © MarketingOops.com


  • 9.9K
  •  
  •  
  •  
  •