จับตาค้าปลีกโลก สู่การปรับตัว ‘ค้าปลีกไทย’ โมเดิร์นเทรด-ค้าปลีกภูธร-โชห่วย รับศึกออนไลน์

  • 386
  •  
  •  
  •  
  •  

retail
Photo Credit : Sombat Muycheen / Shutterstock.com

อุตสาหกรรมค้าปลีก เป็นหนึ่งใน Key Driver เศรษฐกิจของหลายประเทศทั่วโลก และเกี่ยวพันกับวิถีชีวิตของคนในประเทศนั้นๆ ซึ่งในอดีต เมื่อพูดถึงค้าปลีก เรามักจะนึกถึง Physical Store หรือ Brick and mortal ที่มีร้านตั้งอยู่บนโลเกชั่นหนึ่งๆ แล้วมีลูกค้าเข้ามาจับจ่ายซื้อสินค้า

แต่เมื่อโลกเข้าสู่ยุคดิจิทัล “Retail Landscape” เปลี่ยนแปลง นั่นเพราะการเกิดขึ้นของ “อีคอมเมิร์ซ” หรือ “ค้าปลีกออนไลน์” ที่เข้ามามีบทบาทต่ออุตสาหกรรมค้าปลีกทั่วโลก ยิ่งในประเทศที่เทคโนโลยีพัฒนาไปไกล เช่น สหรัฐอเมริกา บางประเทศในยุโรป เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น พบว่า “อีคอมเมิร์ซ” มาแรงแซงหน้าค้าปลีกยุคเดิม ทำให้ที่ผ่านมาเราจะเห็นภาพการปิดฉากของค้าปลีกยุคเดิมในต่างประเทศ !!

ขณะที่ประเทศไทย โครงสร้างค้าปลีกมีความซับซ้อน โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก คือ โมเดิร์นเทรด (Modern Trade) / ค้าปลีกภูธร / ค้าปลีกขนาดเล็ก หรือโชห่วย ถึงแม้เวลานี้ “อีคอมเมิร์ซ” ในไทยยังมีสัดส่วนเพียง 2 – 3% ของมูลค่าค้าปลีกในประเทศโดยรวม ประมาณ 3 ล้านล้านบาท (อ้างอิงผู้ประกอบการที่จดทะเบียนกับกรมการค้า กระทรวงพาณิชย์) หรือถ้าวัดเฉพาะในกลุ่ม FMCG มูลค่า 3 แสนล้านบาท ขณะที่ค้าปลีกออฟไลน์ หรือ Physical Retail หรือ Brick and mortar มีสัดส่วนกว่า 97 – 98%

แต่คาดการณ์ว่าในอีก 15 ปีข้างหน้า สัดส่วนค้าปลีกออนไลน์ จะเพิ่มขึ้นเป็น 20%

นั่นหมายความว่า หากผู้ประกอบการค้าปลีก Physical Retail ไม่ปรับตัว ยังคงยึดฐานที่มั่นอยู่แต่ในแอเรียเดิมที่เคยอยู่มานาน ผลสุดท้ายแล้ว รายนั้นๆ อาจต้องปิดฉากลงก็เป็นไปได้ !!!

ดังที่ คุณวรวุฒิ อุ่นใจ นายกสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ฉายภาพสถานการณ์ว่า “ปัจจุบันสัดส่วนค้าปลีกในไทย ระหว่างออนไลน์ อยู่ที่ 2 – 3% ขณะที่ออฟไลน์ กว่า 90% แต่คาดว่าอนาคตอีก 3 – 5 ปีข้างหน้า สัดส่วนค้าปลีกออนไลน์ จะมากกว่า 10% และในอีก 15 ปีข้างหน้า สัดส่วนค้าปลีกออนไลน์ จะขยับเพิ่มขึ้นเป็น 20% เพราะฉะนั้นถ้าผู้ประกอบการค้าปลีกแบบเดิม (Physical Retail) ไม่ปรับตัว ไม่พัฒนาฝั่งธุรกิจออนไลน์เข้ามาเสริม จะลำบากอย่างแน่นอน”

Resize pic1

ส่องสถานการณ์ “ค้าปลีกโลก” – “ค้าปลีกอาเซียน”

“สมาคมผู้ค้าปลีกไทย” เผยภาพรวมรวมธุรกิจค้าปลีกโลกจากข้อมูลการศึกษา Global Power of Retailing 2018 Deloitte Touche Tohmatsu พบว่า มีรายได้ 19.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2016 และคาดว่าน่าจะมีรายได้ถึง 22.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปี 2018 เป็นการเติบโตเฉลี่ยราวร้อยละ 3.8 มูลค่าค้าปลีกคิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 31 ของมูลค่า GDP โลก และก่อให้เกิดการจ้างงานเป็นพันล้านคนทั่วโลก

ค้าปลีกรูปแบบ Hypermart และ Supermarket ยังครองสัดส่วนถึงร้อยละ 35 ของค้าปลีกโดยรวม โดยมีประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำในฝั่งทวีปอเมริกาและยุโรป และประเทศจีนเป็นผู้นำในฝั่งเอเชียแปซิฟิค

ค้าปลีกออนไลน์โดยรวมเติบโตเฉลี่ยถึงร้อยละ 23 ในช่วงปี 2012 ถึงปี 2019 โดยคาดว่า ในปี 2019 ค้าปลีกออนไลน์ น่าจะมีสัดส่วนถึงร้อยละ 12 ค้าปลีกโดยรวม

Resize Top 10 World Retails
Credit : สมาคมผู้ค้าปลีกไทย
Resize Walmart
Photo Credit : QualityHD / Shutterstock.com

จากตารางข้างต้น จะเห็นว่า Wal-Mart ยังคงแข็งแกร่งครองอันดับหนึ่งมาตลอดกว่า 20 ปี แต่เมื่อพิจารณาอันดับเปรียบเทียบปี 2001 กับ ปี 2016 จะพบว่า มีห้างค้าปลีกเพียง 4 ห้างที่ติดอันดับ Top 10 ในปี 2001 ยังคงรักษาสถานะ Top 10 ในปี 2016 ไว้ได้ Amazon ซึ่งเป็นค้าปลีกออนไลน์เจ้าเดียวที่ทะยานจากอันดับที่ 157 ในปี 2001 มาติดอยู่อันดับ 6 ในปี 2016 ขณะเดียวกับ ค้าปลีกรูปแบบใหม่ที่กำลังมาแรงอย่าง Hard Discountและ Drug Store ( Health+Beauty+Grocery) ก็ติดอันดับเข้ามาถึง 4 ห้างด้วยกัน

Resize Top 20 Retail Ranking
Credit : สมาคมผู้ค้าปลีกไทย

ตารางนี้เป็นตารางแสดง Top 20 ค้าปลีกโลกในปี 2016 ซึ่งก็น่าสังเกตว่า มีห้างจากประเทศญี่ปุ่นติดอันดับ Top 20 ด้วยถึง 2 ห้างคือ ห้าง Aoen อันดับที่ 12 และห้าง Seven & I อันดับที่ 2

ขณะที่มูลค่าค้าปลีกโลก จาก Global Power of Retailing 2018 โดย Deloitte Touche Tohmatsu คาดว่าน่าจะมีรายได้ ราว 22.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปี 2018 เมื่อมองมายัง “มูลค้าค้าปลีกอาเซียน 10 ประเทศรวมกัน ประมาณการณ์มีน่าจะมีรายได้ราว 1.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (: Economist Intelligence Unit, Figures for 2014 onwards are forecasts. Prior years are actuals or estimates.) 

Resize ASEAN Retail Market Value
หน่วย : Million US / Credit : สมาคมผู้ค้าปลีกไทย

เจาะลึกโครงสร้างอุตสาหกรรมค้าปลีกไทย “โมเดิร์นเทรด-ค้าปลีกภูธร-โชห่วย”

“สมาคมผู้ค้าปลีกไทย” เผยว่าปัจจุบันตลาดการบริโภคค้าปลีกในไทยมีมูลค่าราว 3.6 ล้านล้านบาทในปี 2017 หรือราว 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งสามารถแบ่งโครงสร้างค้าปลีกค้าส่งไทยในสถานการณ์ปัจจุบันได้เป็น 3 แถว ดังนี้

แถวหนึ่ง “Modern Chain Store” ซึ่งการรวมศูนย์การบริหารจัดการอยู่ในกรุงเทพเป็นหลัก ซึ่งมียอดขายเป็นสัดส่วนราว 30 – 32% ของมูลค่าการบริโภคค้าปลีกค้าส่ง

แต่ด้วยการเติบโตในช่วงหลายปีที่ผ่านมาค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่เติบโตเป็นสองหลัก ห้างค้าปลีกค้าส่งรายใหญ่ จึงได้กำหนดยุทธศาสตร์มุ่งเน้นการขยายสู่ประเทศเพื่อนบ้าน CMLV เป็นหลักขณะที่การขยายสาขาในประเทศคงไม่มุ่งเน้นเหมือนอย่างที่ผ่านๆ มา

อาทิ กลุ่มเซ็นทรัลที่มุ่งเน้นไปลงทุ่นในเวียดนาม, โฮมโปรก็ขยายสาขาถึง 6 สาขาในประเทศมาเลเซีย, Index Living Mall ก็ไปทั้งมาเลเซีย อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์, Big C ภายใต้การบริหารโดยกลุ่ม BJC ก็เตรียมเปิดในประเทศลาวและเวียดนาม, Makro ก็ขยายไปประเทศกัมพูชา เป็นต้น

“ปัจจุบันไทยมีเชนโมเดิร์นเทรดในไทย ค่อนข้างมาก และเริ่มอิ่มตัวแล้ว อย่างไรก็ตามแม้ผู้ประกอบการในกลุ่มนี้จะต้องเจอกับ “ค้าปลีกออนไลน์” เข้ามาคุกคามธุรกิจรีเทลของตนเอง แต่ด้วยความที่กลุ่มนี้มีเงินทุน มีเทคโนโลยี และมีความบุคลากร ดังนั้นจึงมีโอกาสเอาตัวรอดได้” คุณวรวุฒิ ขยายความเพิ่มเติม

Resize Modern Trade_02
Photo Credit : au_uhoo / Shutterstock.com

แถวสอง “ค้าปลีกค้าส่งที่กำลังพัฒนาในต่างจังหวัด” หรือคุ้นเคยกันว่า “ค้าปลีกค้าส่งภูธร” ส่วนใหญ่เป็นผู้นำค้าปลีกค้าส่งในจังหวัดตัวเองเป็นหลัก ที่มีการขยายสาขา และมียอดขายต่อบริษัทระหว่าง 1,000 – 5,000 ล้านบาทต่อปี

อาทิ ตั้งหงี่สุ่น อุดร, ยงสงวน อุบล, ธนพิริยะ เชียงราย, เซนโทซ่า ขอนแก่น, สล โฮลเซล สกลนคร, ร้อยเอ็ดไฮเปอร์มาร์ท, ซุปเปอร์ชีพ ภูเก็ต, สหไทย นครศรีธรรมราช, ห้างทวีกิจ บุรีรัมย์, ห้างมาร์เธ่อร์ ที่กระบี่, ห้าง Do Home ที่มีฐานที่อุบล เป็นต้น

ปัจจุบันในไทยมี “ค้าปลีกภูธร” ประมาณ 500 – 700 รายทั่วประเทศ หรือโดยเฉลี่ยจังหวะละ 8 -10 ราย มีน่าจะมียอดขาย หรือ Market Share คิดเป็นสัดส่วน 18-20% ของมูลค่าการบริโภคค้าปลีกค้าส่ง

สำหรับค้าปลีกค้าส่งในแถวสองนี้ ที่ผ่านสมรภูมิการปรับตัวต่อสู้กับแถวบนมาในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา เริ่มเรียนรู้และปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการสมัยใหม่ และพร้อมจะเติบโต ขยายสาขาออกนอกจังหวัดนอกอำเภอ และจะกลายเป็นผู้นำค้าปลีกค้าส่งในแต่ละท้องถิ่น

Resize Thanapiriya
Photo Credit : Facebook บมจ.ธนพิริยะ

แถวที่สาม “ค้าปลีกขนาดเล็ก” ซี่งมีสัดส่วนราว 53-55% ของมูลค่าการบริโภคค้าปลีกค้าส่ง ส่วนใหญ่เป็นร้านค้าอิสระขนาดเล็ก หรือถ้าจะมีสาขาก็ไม่เกิน 2-3 สาขา ที่เรียกกันว่า ร้านขายของชำ หรือ ร้านโชห่วย

ค้าปลีกขนาดเล็กกลุ่มนี้ ไม่ได้ล้มหายตายจากไปไหน ยังคงเป็นส่วนสำคัญของโครงสร้างค้าปลีกในไทย โดยประมาณการณ์จำนวนร้านค้าในแถวสามนี้น่าจะมีราว 250,000 – 300,000 ร้านค้า ที่มีหน้าร้านเป็นที่เป็นทาง และอีกราว 200,000 ร้านค้า เป็นลักษณะเพิงและมุมขายของ

“ไทยเป็นประเทศที่มีเชนโมเดิร์นเทรดเยอะ แต่กลุ่มค้าปลีกภูธร ยังสามารถอยู่รอด และเติบโตได้ ด้วยแนวทางทำธุรกิจที่สร้างสรรค์ และน่าสนใจ เพียงแต่ต้องเสริมการพัฒนาระบบบริหารจัดการ ซึ่งสมาคมผู้ค้าปลีกไทยต้องการสนับสนุนให้ค้าปลีกภูธร เติบโตอย่างแข็งแรง และพัฒนาขึ้นมาอยู่ในกลุ่มแถว 1

ขณะที่กลุ่มค้าปลีกขนาดเล็ก หรือโชห่วย สถานการณ์น่าเป็นห่วงยิ่งขึ้น เพราะมีจำนวนหลายแสน หลายล้านรายในไทย ซึ่งจำนวนร้านโชห่วยในไทยไม่ได้ลดลง มีแต่เพิ่มขึ้น แต่กลุ่มนี้ไม่เติบโต อยู่ไปเรื่อยๆ อย่างไรก็ตามในอนาคตถ้าออนไลน์มา ค้าปลีกกลุ่มนี้จะลำบาก และปรับตัวไม่ทัน”

ดังนั้น สมาคมผู้ค้าปลีกไทย อยากให้ผู้ประกอบการในต่างจังหวัด ทำ Networking ด้วยการเข้าร่วมสมาคมฯ เพื่อทำความรู้จักกัน ต่อไปจะได้ประสานการทำงานร่วมกัน เช่น ในการยื่นข้อเสนอทางภาครัฐ ทุกวันนี้ภาครัฐไม่ทราบปัญหาผู้ประกอบการค้าปลีกต้องประสบกับอะไร เพราะฉะนั้นการที่ค้าปลีกภูธร และค้าปลีกขนาดเล็ก รวมตัวกันกับสมาคมฯ เป็นทางหนึ่งที่ทำให้ภาครัฐทราบดีว่าจะไปช่วยเหลือได้ที่ไหน อย่างไร”

Resize Traditional Trade_01
Photo Credit : christianthiel.net / Shutterstock.com

ค้าปลีกจะอยู่รอดได้ ต้องปรับตัวสู่แพลตฟอร์ม “Omni-channel”

“สมาคมผู้ค้าปลีกไทย” ฉายภาพว่า เมื่อ 5 – 6 ปีก่อน ใครๆ ก็บอกว่าธุรกิจค้าปลีกที่มีหน้าร้าน Brick and Mortar กำลังจะกลายเป็นอดีต ส่วนธุรกิจอีคอมเมิร์ซ คือ อนาคต แต่มาถึงวันนี้ นักธุรกิจและนักเทคโนโลยีหลายคน เริ่มมองว่า อีคอมเมิร์ซเองก็กำลังจะกลายเป็นอดีตเช่นกัน ส่วนอนาคตที่กำลังจะมาถึงอย่างรวดเร็ว คือ โมเดลธุรกิจใหม่ที่เรียกกันว่า “Omni-channel” หรือ O2O

เป็นการเชื่อมห้างร้านในโลกออฟไลน์ เข้ากับเทคโนโลยีโลกออนไลน์อย่างลงตัว ด้านหนึ่งก็สามารถใช้ประโยชน์จากความสะดวกสบายในการจับจ่ายใช้สอยสินค้าและชำระเงินออนไลน์ รวมทั้งสามารถเก็บข้อมูลผู้บริโภคมหาศาล ส่วนอีกด้านหนึ่ง ก็สามารถใช้จุดแข็งของห้างร้านที่มีสินค้าจริงให้คนได้สัมผัสและทดลอง รวมทั้งยังเป็นพื้นที่สำหรับเดินเล่นหรือนัดพบสังสรรค์กับเพื่อนได้ด้วย

การขยายช่องทางจำหน่ายจากหน้าร้านหรือที่เรียกว่า Offline สู่ Online การค้าช้อปออนไลน์ จึงเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการค้าปลีกที่มีหน้าร้าน Offline ไม่สามารถอยู่นิ่งเฉยได้ การปฏิวัติการช้อปปิ้งสมัยใหม่ ที่เป็นการนำการค้าการขายแบบร้านดั้งเดิม หลอมรวมให้เป็นเนื้อเดียว กับการค้าการขายแบบออนไลน์ ในรูปแบบที่ไร้รอยต่อ Seamless โดยมุ่งเน้น เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า หรือที่ศัพท์สมัยใหม่เรียกว่า Omni Channel จึงได้เริ่มต้นขึ้น

ทิศทางการแข่งขันของธุรกิจค้าปลีก กำลังก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ จากเดิมที่เน้นการทำแบบ Mass Marketing หันมาโฟกัสเป็นเฉพาะกลุ่มลูกค้าตัวจริงของตัวเอง หรือเป็นการทำตลาดแบบ ตัวต่อตัว (one by one) ซึ่งทางแต่ละผู้ประกอบการจะต้องนำเสนอแคมเปญและโปรโมชั่นให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าเฉพาะคน

แต่ปัจจัยที่จะทำให้การตลาดรูปแบบนี้ประสบความสำเร็จ สิ่งสำคัญที่สุด คือ ระบบไอทีหลังบ้าน ที่จะต้องมีความแข็งแกร่ง ซึ่งจะต้องรองรับการเก็บข้อมูลมหาศาล และต้องนำออกมาใช้ประโยชน์ได้ง่าย การลงทุนระบบ “Big Data” และระบบ “Cloud Computing” ว่ากันว่าเป็นระดับหลักพันล้านบาทเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตามการลงทุนระบบ Big Data และ Cloud Computing แน่นอนว่าเชนค้าปลีกยักษ์ใหญ่มีความพร้อมที่จะทำ ขณะที่การปรับตัวของค้าปลีกภูธร และร้านค้าปลีกขนาดเล็ก ทางสมาคมผู้ค้าปลีกกำลังเร่งสร้างความตระหนักรู้และองค์ความรู้ให้กับผู้ประกอบการค้าปลีกขนาดกลาง และขนาดเล็กในการรับมือกับสถานการณ์ Omni-channel ที่จะถาโถมเข้าใส่

โดยคาดว่าจะเห็นผลการเปลี่ยนแปลงภายใน 3 ปีข้างหน้า โดยโครงการต่างๆ ในช่วงการบริหารของคณะกรรมการชุดนี้ จะมุ่งเป้าไปยังผู้ประกอบการค้าปลีกขนาดเล็ก และเล็ก โดยเริ่มต้นที่ผู้ประกอบการกลุ่มค้าปลีกภูธรก่อน ผ่านการถ่ายทอดองค์ความรู้ และเทคโนโลยีผ่านการเรียนรู้ Best Practice ของผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่ (แถว 1) ในการจัดการปฏิบัติร้านค้า และการบริหารศูนย์กระจายสินค้า และเชื่อมโยงเรียนรู้ Best Practice ของผู้ประกอบการ Omni-channel ในต่างประเทศ ที่สมาคมผู้ค้าปลีกไทยมีความสัมพันธ์ และเป็นเครือข่ายร่วมมือ

ส่วนผู้ประกอบการค้าปลีกขนาดเล็ก จะมุ่งเน้นจัดสัมมนา อบรมให้ความรู้ โดยร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐในการยกระดับผู้ประกอบการรายเล็ก เข้าสู่ระดับกลางอย่างมีประสิทธิภาพ


  • 386
  •  
  •  
  •  
  •  
WP
อยู่ในแวดวงนิตยสารธุรกิจการตลาดกว่าสิบปี สนุกและชอบติตตามเทรนด์ ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมในแพลตฟอร์มดิจิทัล มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การตลาดและดิจิทัลร่วมกันนะคะ
CLOSE
CLOSE