เหตุผลของการดำรงอยู่ขององค์กร หรือแบรนด์หนึ่งๆ ไม่ใช่แค่การสร้างรายได้และผลกำไร เพื่อตอบโจทย์ Stakeholder เท่านั้น แต่การมีอยู่ขององค์กร หรือแบรนด์นั้นๆ ต้องมาพร้อมกับเจตจำนง (Purpose) ในการมุ่งดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน (Sustainability) นั่นคือ ธุรกิจ – ผู้ถือหุ้น และนักลงทุน – คู่ค้า – พนักงาน – เศรษฐกิจ – สังคม และสิ่งแวดล้อมต้องเติบโตไปด้วยกัน
ที่สำคัญเจตจำนงด้านความยั่งยืน ถือเป็นคำมั่นสัญญาระยะยาวขององค์กรที่มีต่อคู่ค้า ลูกค้า พนักงาน และสังคม ทั้งในวันนี้ และอนาคต ดังนั้นองค์กรต้องมีการกำหนดนโยบายที่ชัดเจน วางยุทธศาสตร์เป้าหมาย และการวัดผลที่มีมาตรฐาน ซึ่งปัจจุบันมีดัชนีประเมินความยั่งยืนทางธุรกิจมากมาย แต่ดัชนีที่ได้รับการยอมรับในระดับโลกคือ “DJSI” (Dow Jones Sustainability Index) สำหรับบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และเข้าเป็นสมาชิกดัชนีความยั่งยืน DJSI
เพราะฉะนั้นองค์กรใดที่สามารถติดอันดับ DJSI ถือเป็นเครื่องยืนยันได้ถึงความมุ่งมั่นในเจตจำนงแห่งความยั่งยืนขององค์กรนั้นๆ ซึ่งล่าสุดนับเป็นความภาคภูมิใจของประเทศไทย และคนไทย เมื่อ “กลุ่มทรู” (True Corporation) ได้คะแนนการประเมินด้านความยั่งยืนสูงสุดเป็นอันดับ 1 ของโลก ทั้งในกลุ่มธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม และคะแนนรวมสูงสุดจากทั้งหมด 10,900 บริษัท ใน 61 อุตสาหกรรม
MarketingOops! มีโอกาสสัมภาษณ์ “ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ” ประธานคณะผู้บริหารยุทธศาสตร์ข้อมูลและการสื่อสาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านนวัตกรรมและความยั่งยืน บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น และ “คุณสมเกียรติ วิภูษณมังคละ” ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ทรู พรอพเพอร์ตีส์ จำกัด ถึงยุทธศาสตร์ และเป้าหมายนโยบายด้านความยั่งยืน รวมถึงปัจจัยแห่งความสำเร็จที่ได้อันดับ 1 ดัชนี DJSI
พร้อมทั้งถอดบทเรียนกรณีศึกษาโรงพยาบาลสนามซีพี – ดับบลิวเอชเอ – จุฬารัตน์ ที่มีมาตรฐานเทียบเท่าโรงพยาบาล สามารถรองรับผู้ป่วยอาการหนักระดับ ICU
ทำความรู้จัก “DJSI” ดัชนีวัดความยั่งยืนขององค์กรระดับโลก – “กลุ่มทรู” เข้าร่วมเป็นสมาชิก
Dow Jones Sustainability Index หรือ DJSI เป็นดัชนีที่ใช้ประเมินประสิทธิผลการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของบริษัท ซึ่งได้รับการยอมรับในระดับสากล พัฒนาขึ้นโดย S&P Global และ RobecoSAM บริษัทด้านการลงทุนด้านความยั่งยืน เปิดตัวในปี 1999 โดยมีบริษัทจากทั่วโลกที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เข้าร่วมเป็นสมาชิก และร่วมประเมินด้านความยั่งยืนทางธุรกิจ (Corporate Sustainability Assessment หรือ CSA) ภายใต้ 3 มิติคือ
– มิติด้านเศรษฐกิจ และธรรมาภิบาลทางธุรกิจ (Economic & Governance Dimension)
– มิติด้านสังคม (Social Dimension)
– มิติด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Dimension)
มีวัตถุประสงค์ต้องการให้องค์กรตระหนักถึงการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ซึ่งมีความสำคัญกับการสร้างมูลค่าธุรกิจ และ Brand Reputation ขององค์กรนั้นๆ ในระยะยาว อันมีผลต่อการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน
ขณะเดียวกันนักลงทุนก็สามารถใช้ดัชนี DJSI เป็นเกณฑ์มาตรฐานพิจารณาการลงทุนในกลุ่มหุ้นยั่งยืน เพราะบริษัทที่ได้รับการจัดอันดับ DJSI ถือเป็นองค์กรที่มีหลักประกันถึงศักยภาพการดำเนินธุรกิจ ที่มีความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้น-นักลงทุน คู่ค้า ลูกค้า พนักงาน สังคม และสิ่งแวดล้อม
ปัจจุบัน DJSI มีบริษัทขนาดใหญ่มากกว่า 10,900 บริษัทใน 61 กลุ่มอุตสาหกรรมจากทั่วโลก ได้รับการประเมินด้านความยั่งยืนธุรกิจ หนึ่งในนั้นคือ “กลุ่มทรู” ได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิก DJSI 5 ปีต่อเนื่อง (ปี 2017 – 2021) เนื่องด้วยเครือเจริญโภคภัณฑ์และกลุ่มทรูมีนโยบายด้านความยั่งยืน จึงมองว่าหากปราศจากการประเมินผล ก็ยากที่จะบรรลุเป้าหมาย จึงได้เข้าร่วมเป็นสมาชิก DJSI เพื่อมีดัชนีวัดความยั่งยืนของบริษัทในทุกปี และได้อัปเดตทิศทางความยั่งยืนทั่วโลกอีกด้วย
ตัวอย่างหนึ่งในคำถามแบบประเมินความยั่งยืนของกลุ่มอุตสาหกรรมโทรคมนาคม มีเรื่อง Data Security หรือความปลอดภัยทางข้อมูล หรือคำถามที่เพิ่มเติมขึ้นมา คือเรื่องการประเมินด้านความหลากหลายทางชีวภาพ เพราะการขยายโครงข่ายเข้าไปยังพื้นที่ต่างๆ บางพื้นที่อาจสร้างกระทบตามมา อย่างการขยายโครงข่ายเข้าไปยังพื้นที่ป่า ต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศ สิ่งมีชีวิตต่างๆ ในพื้นที่ดังกล่าวด้วย
“มีการศึกษาว่าองค์กรที่จะดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน ไม่ใช่แค่ทำกำไรในระยะสั้น แต่คือองค์กรที่สร้างประโยชน์ให้กับสังคม ประชาชน และสิ่งแวดล้อมด้วย ทำให้ไม่ว่าองค์กรนั้นต้องเจอสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ เศรษฐกิจ สังคม และแรงกดดันต่างๆ อย่างไร ก็ยังสามารถดำรงอยู่ได้ และยั่งยืนต่อไป
เพราะฉะนั้นองค์กรที่ยั่งยืน จะคำนึงถึง 3 มิติคือ เศรษฐกิจ-ธรรมาภิบาลทางธุรกิจ, สังคม และสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับวัฒนธรรมองค์กร และค่านิยมองค์กรของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ยึดหลักการ “3 ประโยชน์สู่ความยั่งยืน” คือ สร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติ, ประชาชน – สังคม และธุรกิจ
ดังนั้นเมื่อ “กลุ่มทรู” เข้าร่วมเป็นสมาชิก DJSI และประเมินผลด้านความยั่งยืน ทั้งมิติเศรษฐกิจ เช่น วัดความโปร่งใส หลักธรรมาภิบาล ต้องเปิดเผยข้อมูล การดูแลพนักงาน, มิติสังคม เช่น ดูแลคู่ค้า ลูกค้า และมิติสิ่งแวดล้อม เช่น ลดปริมาณการปล่อยคาร์บอน และการใช้พลังงาน
การประเมินทั้ง 3 มิติ ทำให้บริษัทสามารถเห็นตัวเราเอง ได้เรียนรู้ Best Practice ขององค์กรอื่น พร้อมทั้งแบ่งปันองค์ความรู้กับองค์กรอื่น ทำให้เราเห็นช่องว่างของตัวเองที่ต้องพัฒนาเพิ่มเติม และที่สำคัญความยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ ต้องสร้างการมีส่วนร่วมกับคนในองค์กร เช่น เปิดเวทีให้พนักงานเข้ามามีส่วนร่วม ประกอบกับนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีของบริษัทมาให้บริการแก่ประชาชน สังคม และช่วยด้านสิ่งแวดล้อม” ดร.ธีระพล ขยายความเพิ่มเติม
ยุทธศาสตร์ 3H’s สู่ความยั่งยืน
สำหรับผลการประเมินดัชนี DJSI ประจำปี 2021 “กลุ่มทรู” ได้คะแนนรวมสูงที่ 1 DJSI ของโลก จากทั้งหมด 10,900 บริษัทใน 61 อุตสาหกรรม และยังได้อันดับ 1 DJSI ของกลุ่มธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม ถือเป็นสถิติใหม่ครองแชมป์ยาวนานต่อเนื่อง 4 ปีซ้อน (ปี 2018 – 2021)
นอกจากนี้ “กลุ่มทรู” ยังได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิกดัชนีความยั่งยืนชั้นนำ “FTSE4Good” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 และในปี 2022 ได้คะแนนสูงสุดอันดับ 1 ในกลุ่มอุตสาหกรรมโทรคมนาคมระดับโลก ซึ่งดัชนี FTSE4Good ดำเนินการโดย FTSE Russell สถาบันจัดทำดัชนีหลักทรัพย์จากประเทศอังกฤษ ตามเป้าหมายด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ
เบื้องหลังความสำเร็จที่ทำให้ “กลุ่มทรู” ได้คะแนนสูงสุดอันดับ 1 ทั้งดัชนี DJSI และดัชนี FTSE4Good มาจากการวางรากฐานนโยบายด้านความยั่งยืน ที่เริ่มต้นจากภายในองค์กรก่อน โดยผู้นำองค์กร “คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานกรรมการ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น” มองเห็นความสำคัญของ Sustainability และสร้างการตระหนักรู้ให้กับบุคลากรทุกภาคส่วนขององค์กร
นำมาสู่การกำหนดเป้าหมาย และออกแบบยุทธศาสตร์ โดยใช้พลัง Synergy จุดแข็งของทั้งกลุ่มทรู ที่เป็นผู้ให้บริการสื่อสารโทรคมนาคม และเทคโนโลยีดิจิทัลครบวงจร ผนึกกำลังกับบริษัทในเครือซีพี และพันธมิตร ทั้งภาครัฐ – เอกชน เพื่อผลักดันให้เกิดโครงการต่างๆ ที่ตอบโจทย์ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
ภายใต้ยุทธศาสตร์ด้านความยั่งยืนของกลุ่มทรู ประกอบด้วย 3 แกน หรือเรียกว่า “3H’s” โดยแต่ละแกนมีทั้งโครงการเดิมที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง และโครงการใหม่ที่เพิ่มเข้ามา เพื่อให้ระบบนิเวศด้านความยั่งยืนของ
กลุ่มทรูสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
– Heart: ความยั่งยืนด้านเศรษฐกิจ และธรรมาภิบาลทางธุรกิจ
การกำกับดูแลกิจการที่ดี, ให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนและด้านแรงงาน, ดำเนินโครงการด้านการศึกษาและลดความเหลื่อมล้ำ, พัฒนาทรัพยากรบุคคล ทั้ง Reskill – Upskill และสร้างการมีส่วนร่วมด้านความยั่งยืนให้กับพนักงาน ตลอดจนการบริหารจัดการความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ และการดูแลรักษาข้อมูลส่วนบุคคลให้ได้ 100%
ตัวอย่างโครงการ Heart เช่น ส่งเสริมการศึกษาผ่าน “มูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี” ที่กลุ่มทรูร่วมเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิตั้งแต่ปี 2016 โดยสนับสนุน ICT Connectivity เชื่อมต่อระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้กว่า 1,294 โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล รวมทั้งติดตั้งอุปกรณ์และสื่อ ICT เพื่อการศึกษาครอบคลุม 39,839 ห้องเรียน ใน 3,351 โรงเรียน รวมแล้วสามารถทำให้เยาวชนไทยกว่า 5.7 ล้านคนสามารถเข้าถึงการศึกษา และข้อมูลข่าวสารต่างๆ
นอกจากนี้ได้สนับสนุนเครือข่าย 5G เพื่อส่งเสริมการศึกษาโรงเรียนป่าซางนาเงิน อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย เพื่อส่งเสริมเยาวชนในพื้นที่ห่างไกลเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และมุ่งมั่นขยายเครือข่ายอัจฉริยะ 5G ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เน้นพื้นที่ที่ไม่เคยมีสัญญาณค่ายใดมาก่อน โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล เช่น บนดอย เพื่อมอบประสบการณ์ดิจิทัล ร่วมพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไทย ทั้งการเรียน สาธารณสุข ท่องเที่ยว เศรษฐกิจชุมชน ให้เข้าถึงเทคโนโลยีสื่อสารอย่างเท่าเทียมกันทั่วประเทศ
– Health: ความยั่งยืนด้านสังคม
ส่งเสริมสุขภาพและสุขภาวะที่ดีให้กับประชาชน, สร้างคุณค่าทางสังคม ด้วยการสร้างงานและส่งเสริมรายได้แก่เกษตรกร ผู้ประกอบการรายย่อย และกลุ่มเปราะบางตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน, พัฒนานวัตกรรม ซึ่งปัจจุบันกลุ่มทรูได้จดทะเบียนสิทธิบัตรมากถึง 200 สิทธิบัตร, สร้างความผูกพันกับผู้มีส่วนได้เสีย และความพร้อมใช้งานของเครือข่าย จากการวัดดัชนีระยะเวลาหยุดชะงักของเครือข่ายน้อยกว่า 0.10 ชั่วโมงต่อคนต่อปี
ตัวอย่างโครงการ Health เช่น พัฒนาแอปพลิเคชันหมอดี (MorDee) แพลตฟอร์มดูแลสุขภาพอัจฉริยะที่เชื่อมโยงบริการทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการปรึกษาและรักษาโรคกับแพทย์ทางออนไลน์, รับยา และเคลมประกัน
ขณะเดียวกันได้สร้างสรรค์นวัตกรรมตอบโจทย์คนไทยยุค New Normal ด้วยแพลตฟอร์ม TRUE VWORLD เทคโนโลยี Cloud ครบวงจรทั้ง VWORK การทำงานที่บ้าน และ VLEARN สนับสนุนสถาบันการศึกษา นักเรียน และนักศึกษา สามารถทำการเรียนการสอนออนไลน์ได้ทุกที่ ทุกเวลา
อีกทั้งกว่า 10 ปีที่ผ่านมา กลุ่มทรูได้สนับสนุนมูลนิธิออทิสติกไทย ดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตบุคคลออทิสติกต่างๆ เช่น พัฒนานวัตกรรมแอปพลิเคชัน Autistic เพื่อเป็นเครื่องมือในการช่วยพัฒนาศักยภาพให้กับบุคคลออทิสติก และจัดทำเว็บไซต์ Thaispecialcare.com เพื่อเป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนความรู้ สำหรับผู้ปกครอง และผู้เชี่ยวชาญ
รวมถึงจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมเพื่อการทำงานบุคคลออทิสติก (CP-TRUE-Autistic Thai Vocational Training Center) เพื่อฝึกอาชีพสาหรับบุคคลออทิสติก และเป็นศูนย์ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและวิทยาการต่างๆ ในการพัฒนาศักยภาพบุคคลออทิสติกในระดับประเทศและภูมิภาคอาเซียน ให้สามารถมีอาชีพและสร้างรายได้เป็นของตัวเอง และอยู่ในสังคมได้อย่างเท่าเทียมพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
– Home: ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม
ปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ด้วยการใช้พลังงานหมุนเวียน และตั้งเป้าปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งทางตรงและทางอ้อมสุทธิเป็นศูนย์, นำระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ในกระบวนการธุรกิจ ทั้งลดปริมาณ E-Waste หรือขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่นำไปฝังกลบเป็นศูนย์ และใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำ หรือรีไซเคิลได้, ดูแลทรัพยากรน้ำ และการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างรับผิดชอบ
ตัวอย่างโครงการ Home เช่น โครงการผลิตและใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cell) ทดแทนการใช้ไฟฟ้าจากระบบสายส่ง เป็นโครงการในมิติด้านสิ่งแวดล้อมที่กลุ่มทรู สนับสนุนให้มีการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และเพิ่มสัดส่วนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกลุ่มทรู ติดตั้ง Solar Cells ตามสถานีฐานที่เกาะต่างๆ และที่พื้นที่ห่างไกลที่ระบบส่งไฟฟ้าเข้าไม่ถึง ปัจจุบันมีการติดตั้งพลังงาน Solar Cells ไปแล้วกว่า 3,481 แห่ง สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กว่า 12,570 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และเดินหน้าขยายการติดตั้งต่อเนื่อง
ขณะเดียวกันกลุ่มทรู ได้ทำโครงการเฝ้าระวังช้างป่าด้วยระบบเตือนภัยล่วงหน้า (True Smart Early Warning System) นำศักยภาพของเครือข่ายทรูมูฟเอช เชื่อมต่อกับระบบ IoT ผนวกกับขั้นตอนการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนของอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ในการเฝ้าเตือนภัยล่วงหน้า เพื่อช่วยลดความสูญเสียของทรัพย์สินและชีวิตของทั้งคนและช้างป่า ซึ่งที่ผ่านมา จำนวนช้างป่าที่ผ่านกล้อง ทำความเสียหายให้กับพื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้านเหลือเพียง 1%
นอกจากนี้ยังพัฒนาแอปพลิเคชัน Doonok เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญในการอนุรักษ์นกกระเรียนพันธุ์ไทย รวมทั้งนกน้ำชนิดอื่นๆ และเพื่อใช้รายงานการพบนกกระเรียนในพื้นที่รอบอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก จังหวัดบุรีรัมย์
“ปัจจัยที่ทำให้กลุ่มทรูได้คะแนนสูงสุดทั้ง DJSI และ FTSE4Good มาจาก 1. ผู้นำองค์กรต้องส่งสัญญาณอย่างชัดเจนถึงการให้ความสำคัญกับความยั่งยืน และสร้างความตระหนักรู้ให้กับคนทั้งองค์กร โดยคุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานกลุ่มทรู ให้ความสำคัญกับนโยบายและการปฏิบัติด้านความยั่งยืนอย่างมาก เป็นการส่งสัญญาณให้กับคนทั้งองค์กร และกำหนดเป้าหมาย สร้างการมีส่วนร่วมของคนในองค์กร
2. ต้องมีการประเมินผล เพื่อให้รู้ว่าวันนี้เราอยู่จุดไหน และเราต้องก้าวไปสู่จุดไหน อย่างการเป็นสมาชิกดัชนีความยั่งยืน DJSI แต่ละแกนทั้งเศรษฐกิจ หลักธรรมาภิบาล – สังคม – สิ่งแวดล้อมจะมีคำถามต่างๆ เพื่อประเมินเรา เช่น เรื่องสิทธิสตรี และความเท่าเทียมทางเพศ, การ Upskill – Reskillให้กับพนักงาน ซึ่งคำถามประเมินความยั่งยืนเหล่านี้ มีการพัฒนาปรุงปรุงเกณฑ์ตลอดเวลา จึงเป็นเหมือนการ Checklist ด้านความยั่งยืนในแต่ละมิติของบริษัทว่าเรื่องไหนเราทำแล้ว เรื่องไหนยังไม่ได้ทำ และทำให้เราได้เห็นเทรนด์โลก ความท้าทายใหม่ๆ ภายใต้บริบทโลก
3. การพัฒนานวัตกรรมใหม่ เนื่องจากกลุ่มทรูมีความมุ่งมั่นทรานส์ฟอร์มจากบริษัทโทรคมนาคม ไปสู่การเป็น “Technology Company” พร้อมทั้งส่งเสริมสตาร์ทอัพ ดังนั้นกลุ่มทรูจึงคิดค้นนวัตกรรมต่างๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง เช่น Autistic Application, IoT Camera เตือนภัยช้างป่าล่วงหน้าให้กับเกษตรกร, แอปพลิเคชันหมอดี, โครงการทรู ปลูกปัญญา ทำให้นักเรียนเข้าถึงการศึกษาได้ทุกที่ โครงการเหล่านี้เกิดจากการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาผสมผสาน กับความต้องการของลูกค้า และสังคม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และเพิ่มโอกาสการเข้าถึง” ดร.ธีระพล กล่าวเพิ่มเติมถึงความสำเร็จของกลุ่มทรูที่ได้อันดับ 1 ดัชนี DJSI และ FTSE4Good
สำหรับเป้าหมายด้านความยั่งยืน “กลุ่มทรู” กำหนด 2 เป้าหมายใหญ่ที่ต้องบรรลุภายในปี 2030 คือ
– ลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์ (Carbon Neutral)
– ลดปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่นำไปฝังกลบให้เป็นศูนย์ (Zero E-Waste to Landfill) ด้วยการนำระบบ Circular Economy เพื่อทำให้เกิดการรีไซเคิลให้ได้มากที่สุด และสามารถตรวจสอบได้ว่าขยะอิเล็กทรอนิกส์อยู่ที่ไหนบ้าง
“เป้าหมายต่อไป ไม่ใช่แค่คนในองค์กรเท่านั้น แต่เราจะอบรมซัพพลายเออร์ และแชร์เป้าหมายด้านความยั่งยืนดังกล่าวไปยังคู่ค้า และลูกค้าของเราผ่านช่องทางต่างๆ เพื่อสร้างการตระหนักรู้ที่กว้างขึ้น เพื่อให้ผู้คนให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคต”
กรณีศึกษา “กลุ่มทรู” ผนึกกำลังพันธมิตร เปิด “โรงพยาบาลสนาม” รับผู้ป่วยโควิดสีเหลือง-สีแดง
ในช่วงกว่า 2 ปีมานี้ ทั่วโลกต้องเผชิญกับสถานการณ์การ COVID-19 เป็นความท้าทายใหญ่ของภาคสาธารณสุขทั่วโลก ยิ่งประเทศไทยเผชิญวิกฤตการแพร่ระบาดหนักในช่วงปี 2021 จำนวนผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จนเกินอัตรากำลังของโรงพยาบาลต่างๆ ในการรับผู้ป่วย ทำให้มีผู้ป่วยจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงการรักษา โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยสีเหลือง และกลุ่มสีแดง ที่ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์
นี่จึงทำให้ “ทรู พรอพเพอร์ตีส์” บริษัทในเครือทรู ได้รับมอบหมายจาก “คุณศุภชัย เจียรวนนท์” ให้ดำเนินการสร้าง “โรงพยาบาลสนาม” สำหรับผู้ป่วยสีเหลือง และสีแดง โดยสามารถรองรับผู้ป่วย ICU ถือเป็นหนึ่งในนโยบานด้านความยั่งยืนของกลุ่มทรู และเป็น Learning Success ที่ทำให้กลุ่มทรูได้รับรางวัลด้านความยั่งยืนระดับโลก
แต่กว่าจะมาเป็น “โรงพยาบาลสนามซีพี – ดับบลิวเอชเอ – จุฬารัตน์” ที่มีมาตรฐานเช่นเดียวกับโรงพยาบาล ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องระดมสรรพกำลังทั้งบริษัทต่างๆ ในกลุ่มทรู และเครือซีพี พร้อมด้วยพันธมิตร “ดับบลิวเอชเอ” (WHA) และ “โรงพยาบาลจุฬารัตน์” เร่งก่อสร้างภายในระยะเวลาเพียง 30 วัน เพื่อเปิดดำเนินการให้เร็วที่สุด ท่ามกลางสภาวะวิกฤต COVID-19 ในเวลานั้น
คุณสมเกียรติ เล่าว่า หลังจากเครือซีพีได้สร้างโรงงานผลิตหน้ากากอนามัย เพื่อส่งมอบให้กับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และโรงพยาบาลอื่นๆ นับตั้งแต่เกิด COVID-19 ในปี 2020 ถึงวันนี้ยังมีการผลิตหน้ากากอนามัยให้แก่โรงพยาบาลต่างๆ อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งร่วมสนับสนุนโรงพยาบาลสนาม และศูนย์พักคอยต่างๆ เช่น โรงพยาบาลสนามของกรมการแพทย์ และโรงพยาบาลเลิศสิน, ศูนย์พักคอยที่ร่วมกับมหาวิทยาลัยรามคำแหง และโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี
ทว่าในระหว่างที่สถานการณ์ COVID-19 รุนแรงขึ้น “กลุ่มทรู” เห็น Pain Point ที่ภาคสาธารณสุขกำลังประสบอยู่ คือ หลายโรงพยาบาลขาดแคลนเตียงสำหรับผู้ป่วยระดับสีเหลือง และสีแดงที่ต้องรักษาในห้อง ICU จึงมองเห็นถึงความจำเป็นต้องดำเนินการก่อสร้าง “โรงพยาบาลสนาม” ที่มีเทคโนโลยี ระบบและเครื่องมือทางการแพทย์มาตรฐานเดียวกับโรงพยาบาล ใช้ในการตรวจรักษาผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง และสีแดงโดยเฉพาะ
โดยได้พันธมิตรภาคเอกชนคือ “ดับบลิวเอชเอ” ให้ใช้สถานที่คลังสินค้าที่มีระบบปรับอากาศที่อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งมีขนาดพื้นที่ 15,000 ตารางเมตร และ “โรงพยาลจุฬารัตน์” ให้การสนับสนุนด้านทีมแพทย์ และพยาบาลมาประจำการที่โรงพยาบาลสนามแห่งนี้ตลอด 24 ชั่วโมง
ในเฟสแรกที่เปิดให้บริการแก่ประชาชน มี 440 เตียง และกลุ่มทรูยังได้วางแผนล่วงหน้าเฟสสอง เพิ่มอีก 200 เตียง ทำให้อัตราการรับผู้ป่วยของ “โรงพยาบาลสนามซีพี – ดับบลิวเอชเอ – จุฬารัตน์”สามารถรองรับได้กว่า 600 เตียง
ขณะที่ออกแบบภายในโรงพยาบาลสนามแห่งนี้ เสมือนหนึ่งยกโรงพยาบาลมาไว้ที่นี่ เนื่องจากมีการวางระบบ ใช้เทคโนโลยี แบ่งโซนพื้นที่ การบริหารจัดการ และความปลอดภัยของทั้งบุคลากรทางการแพทย์ และผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็น
– แบ่งพื้นที่ชัดเจน ทั้งพื้นที่ส่วนผู้ป่วย และพื้นที่ส่วนบุคลากรทางการแพทย์
– จัดทำพื้นที่ห้อง Lab, ห้อง X-ray, ห้องจ่ายยา และมีห้องเก็บขยะพิษ
– ออกแบบระบบปรับอากาศ สำหรับพื้นที่ของบุคลากรทางการแพทย์ เป็นระบบอากาศแรงดันบวก เพื่อป้องกันเชื้อไม่ให้เล็ดลอดเข้าสู่พื้นที่นี้ได้ ขณะที่พื้นที่ส่วนผู้ป่วย ออกแบบเป็นระบบแรงดันลบ และทุกเตียงทั้ง 440 เตียมมีช่องดูดอากาศที่หัวเตียง เพื่อดูดอากาศออกไปผ่านทางหัวเตียง โดยอากาศที่ออกไปนั้น ถูกฆ่าเชื้อด้วยหลอดยูวี และฟิลเตอร์ก่อน
นอกจากนี้มีการบำรุงรักษาระบบปรับอากาศตลอดเวลา และวิเคราะห์อากาศที่ปล่อยออกไป เพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะไม่มีผลกระทบสู่ภายนอก
– จัดเตรียมเครื่องฟอกไต และระบบน้ำ RO เนื่องจากพบ Pain Point หนึ่งของโรงพยาบาลคือ ผู้ป่วยโรคไตที่ติด COVID-19 ซึ่งการฟอกไตต่อครั้งใช้เวลาค่อนข้างนาน ดังนั้นถ้าผู้ป่วยกลุ่มนี้ติด COVID-19 ด้วย จะไม่มีที่ฟอกไต ทางโรงพยาบาลจุฬารัตน์จึงได้ปรึกษากับกลุ่มทรู เพื่อให้ติดตั้งระบบน้ำ RO สำหรับใช้ในการฟอกไต รวมทั้งระบบสเตอริไลซ์เครื่องมือทางการแพทย์ ขณะที่ทางโรงพยาบาลจุฬารัตน์จัดเตรียมเครื่องฟอกไต
– ระบบสุขาภิบาล สร้างห้องน้ำแยกส่วนชัดเจนระหว่างผู้ป่วย กับเจ้าหน้าที่ พร้อมด้วยระบบฆ่าเชื้อ ทั้งน้ำทิ้งและปฏิกูลของผู้ป่วย
– ติดตั้งระบบไฟฟ้า และไฟสำรอง เพื่อป้องกันกรณีหากเกิดไฟดับ เนื่องจากอุปกรณ์บางอย่างต้องเปิดตลอดเวลา
– ติดตั้งระบบสื่อสารสำหรับผู้ป่วยกับเจ้าหน้าที่ และสัญญาณ WIFI ผ่านโครงข่าย 5G เพื่อการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ และเพื่อการผ่อนคลายให้กับผู้ป่วย เพราะผู้ป่วยที่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ แต่ยังต้องอยู่ในโรงพยาบาลสนาม การนอนบนเตียงนานๆ ยิ่งทำให้เกิดความเครียด ดังนั้นการติดตั้ง WIFI ผู้ป่วยจะได้ติดต่อสื่อสาร รับชมความบันเทิง และเล่นเกมต่างๆ ผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ตที่จัดเตรียมไว้ทั่วโรงพยาบาลสนาม
– มีหุ่นยนต์นำทาง ช่วยอำนวยความสะดวกผู้ป่วยในการไปจุดต่างๆ
โดยตลอดระยะเวลา 7 เดือนนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2021 – เมษายน 2022 ของการเปิดโรงพยาบาลสนามซีพี – ดับบลิวเอชเอ – จุฬารัตน์ ได้รับผู้ป่วยเข้ามาดูแลรักษากว่า 3,500 คน ในจำนวนนี้มี 600 – 700 คน ต้องรักษาในห้อง ICU ของที่นี่ ซึ่งมีขีดความสามารถเทียบเท่า ICU ของโรงพยาบาล
“ก่อนหน้านี้ไม่มีใครเชื่อว่ากลุ่มทรูจะสามารถเปิดโรงพยาบาลสนามที่มี 440 เตียง และรักษาได้ถึง ICU โดยใช้เวลาปรับปรุงพื้นที่เพียง 30 วัน แต่เรารวมพลังหน่วยงานภายในเครือมาช่วยกัน เพราะโจทย์ค่อนข้างยาก พื้นที่ใหญ่ ระยะเวลาการสร้างต้องเร็วที่สุด มีมาตรฐานเทียบเท่าโรงพยาบาล เพราะฉะนั้นต้องใช้องคาพยพของเครือ
เช่น เราได้รับการรับการสนับสนุนด้านการออกแบบจากทีมวิศวกรรมของเครือ, การวางระบบสื่อสาร WIFI และเทคโนโลยีจากทรู พร้อมด้วยพันธมิตรโรงพยาบาลจุฬารัตน์ และดับบลิวเอชเอ โดยมีทรู พรอพเพอร์ตีส์เป็นผู้ดูแลและบริหารจัดการ
นี่คือตัวอย่างของการผนึกกำลังระหว่างภาคเอกชน ด้วยการนำจุดแข็งของแต่ละฝ่ายมาช่วยกัน ทำให้เห็นว่าความยั่งยืนเกิดขึ้นได้ ถ้าเราร่วมมือร่วมใจกัน” คุณสมเกียรติ สรุปทิ้งท้ายถึงบทเรียนความสำเร็จของโรงพบาบาลสนาม