พร้อมหรือยัง! กับ 7 เทรนด์โลกธุรกิจในปี 2023 ฝ่ากระแสความท้าทายสู่ความสำเร็จ

  • 595
  •  
  •  
  •  
  •  

โลกกำลังจะเดินทางเข้าสู่ปี 2023 อย่างเป็นทางการด้วยการผ่านความท้าทายใหญ่หลวงในช่วงหลายปีที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นการแพร่ระบาดของโควิด-19, สงครามรัสเซียรุกรานยูเครน, ปัญหาเศรษฐกิจและการพัฒนาเทคโนโลยีที่รวดเร็วมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา และแน่นอนว่าในปีถัดไปหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่โลกธุรกิจจะต้องเจอกับคลื่นแห่งความท้าทายที่จะถาโถมเข้ามาอีกอย่างต่อเนื่อง และนั่นจะส่งผลกระทบกับเทรนด์การดำเนินธุรกิจที่จะต้องเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย

สำหรับเทรนด์ในการดำเนินธุรกิจในปี 2023 นั้น Marketing Oops! ได้สรุปรวบรวมเรื่องสำคัญที่ธุรกิจจะต้องเตรียมพร้อมเอาไว้ 7 เรื่อง ท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในเวลานี้

1. การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลที่เร็วขึ้น

ในปี 2023 เราเห็นความต่อเนื่องของนวัตกรรมและการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นดิจิทัลที่จะรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ปัญญาประดิษฐ์ (AI), อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (IoT), เทคโนโลยีเสมือนจริงและความเป็นจริงเสมือน อย่าง Virtual Reality (VR) และ Augmented Reality (AR) , เทคโนโลยีคลาวด์บนคอมพิวเตอร์, บล็อกเชน และเครือข่ายความเร็วสูง เช่น 5G เป็นต้น

ที่น่าสนใจไปกว่านั้น เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ไม่ได้แยกออกจากกัน แต่จะผสานเข้าหากันมากยิ่งขึ้น โซลูชันใหม่สําหรับการทํางานแบบไฮบริดและการทำงานระยะไกล (Remote working) จะมีเพิ่มขึ้น ขณะที่ในแง่ของการทำงาน การทำงานงานในบบรูทีน และความคิดสร้างสรรค์จะมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และนำไปสู่จุดที่จะสามารถสร้าง “องค์กรอัจฉริยะ” (Intelligent Enterprises) ซึ่งเป็นองค์กรที่มีระบบและกระบวนการทำงานผสานรวมเข้าด้วยกัน สามารถทำงานธรรมดาๆที่ไม่ต้องใช้ทักษะสูงต่างๆให้สําเร็จลุล่วงด้วยวิธีที่มีประสิทธิภาพสูงสุด

และเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับเรื่องนี้ ธุรกิจจะต้องวางรากฐานเทคโนโลยีอย่างเหมาะสมไปตลอดทั้งกระบวนการการทำงาน และจะต้องไม่มีข้อแก้ตัวอีกแล้วว่า วันนี้ยังไม่เข้าใจเรื่อง AI หรือเทคโนโลยีอื่นๆที่ได้กล่าวไปแล้ว เพราะทั้งหมดมันส่งผลระทบกับธุรกิจและอุตสาหกรรม เพราะมันจะสร้างประสิทธิภาพในการขาย การทำการตลาด และบริการแก่ลูกค้าได้มากขึ้นตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าในปัจจุบันมากขึ้น 

นอกเหนือจากเทคโนโลยีที่กล่าวถึงไปด้านบนแล้ว อีกเทรนด์ที่เกี่ยวข้องกับ Digital Tranformation เช่นกันก็คือ Virtual Influencer (VI) ซึ่งเป็นสิ่งที่เติบโตมาพร้อมกับเทรนด์ Influencer หรือ KOL Marketing พร้อมๆ กับการเข้ามาของเทคโนโลยีโลกเสมือน ซึ่งเราเห็นการเติบโตอย่างชัดเจนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันที่เราได้ยินชื่อดังๆ อาทิ Ai Ailynn, Katii, IMMA, Wunni ฯลฯ ซึ่งนอกเหนือจากชื่อที่เราคุ้นๆ แล้วก็เชื่อว่ามีหน้าจะมีเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน 

2. เงินเฟ้อยังสูง ธุรกิจต้องพึ่งพาตัวเองเพื่อลดต้นทุน

เรื่องของภาวะเงินเฟ้อยังคงเป็นที่พูดถึงอย่างต่อเนื่อง แม้จะก้าวผ่านข้ามไปสู่ปี 2023 แล้วก็ตาม นั่นเป็นเพราะหลายปัญหาล้วนแล้วแต่ประดังกันเข้ามาและถาโถมแบบไม่หยุดหย่อน จนเกิดเป็นปัญหาลูกโซ่ แม้จะแก้ปัญหาหนึ่งได้ แต่ก็ส่งผลต่ออีกปัญหาให้เกิดและรุนแรงมากขึ้นตามไปด้วย โดยในปี 2022 ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ก่อให้เกิดภาวะเงินเฟ้ออย่างชัดเจน

มีการคาดกันว่าแนวโน้มของภาวะเงินเฟ้อจะยังคงดำเนินต่อไป แม้ว่าธนาคารกลางทั่วโลกจะหันมาใช้มาตรการปรับอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ทว่าปัจจัยที่ส่งผลกระทบเงินเฟ้อไม่ได้เกิดจากความต้องการ (Demand) ที่เพิ่มสูงขึ้นเพียงอย่างเดียว หากแต่ปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศก็ส่งผลกระทบได้ โดยเฉพาะเมื่อรัสเซียเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกรายใหญ่ รวมไปถึงการที่กลุ่ม OPEC เดินหน้าตามแผนลดกำลังการผลิตน้ำมัน ล้วนแต่เป็นผลให้ต้นทุนสูงขึ้น

อย่างที่บอกไปแล้วว่า ธนาคารกลางทั่วโลกหันไปใช้มาตรการปรับอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น นอกจากจะยังแก้ปัญหาไม่ได้ กลับยังเพิ่มภาระผู้ประกอบการและกลายเป็นต้นทุนที่สำคัญ นอกจากนี้การที่ก่อนหน้าที่ทั่วโลกหันไปเพิ่งพา Supply Chain จากประเทศจีนเป็นหลักด้วยต้นทุนที่ถูกมาก แต่เมื่อเกิดวิกฤตโรคระบาดจนจีนต้องปิดประเทศแบบยังไม่มีวี่แววว่าจะกลับมาเปิดอีกครั้ง

ส่งผลให้เกิดภาวะ Supply ขาดแคลนตั้งแต่ต้นน้ำ ทำให้หลายธุรกิจเลือกแก้ปัญหาด้วยการหา Supply Chain จากแหล่งอื่นที่มีต้นทุนสูงกว่า ส่งผลให้ราคาสินค้าขยับปรับตัวตามไปด้วย

ซึ่งเทรนด์ธุรกิจที่จะเกิดขึ้นในปี 2023 จะได้เห็นความพยายามลดต้นทุนและพยายามจะปรับราคาสินค้าแบบไม่ให้ขึ้นพรวดพราด หนึ่งในนั้นคือ การมองหา Supply Chain ที่ธุรกิจสามารถควบคุมได้ เพื่อแก้ปัญหา Supply ขาดแคลน ไม่ว่าจะเป็นการมองหา Supplier รายอื่นๆ ที่มีราคาใกล้เคียงกับรายเดิม หรือหันมาพึ่งพาตัวเองมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้สามารถควบคุมต้นทุนได้

และยังบ่งบอกอีกว่า ปี 2023 น่าจะเป็นอีกปีที่ต้องรัดเข็มขัดให้แน่นๆ มากกว่าเดิม เพราะหากมาตรการต่างๆ ที่ออกมาเพื่อหยุดภาวะเงินเฟ้อยังไม่ประสบความสำเร็จ โอกาสที่จะได้เห็นภาวะเศรษฐกิจถดถอยคงเริ่มชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยที่จะยับยั้งชะลอการลงทุน และจะทำให้เศรษฐกิจหดตัวลง ขณะที่ผู้บริโภคอาจจะต้องประสบปัญหาหนี้สินครัวเรือนที่เพิ่มมากขึ้นตามมาด้วย

และอาจต้องถึงเวลากลับมาทบทวนทฤษฎี “เศรษฐกิจพอเพียง” และศึกษากันอย่างถ่องแท้ว่า พึ่งพาตัวเองอย่างไรให้สามารถอยู่รอดได้ในอนาคต

3. ความยั่งยืนสู่การพัฒนาธุรกิจให้เติบโต

“ความยั่งยืน” กลายเป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่ธุรกิจให้ความสำคัญเพิ่มมากขึ้น ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าเกิดจากสินค้าจีนแพร่กระจายไปทั่วโลก และสินค้าจีนส่วนใหญ่มีต้นทุนที่ถูกกว่า ส่งผลให้กระบวนการผลิตส่วนใหญ่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมหลายประเทศจึงเริ่มใช้มาตรการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ผู้ผลิตหันมาใส่ใจกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น และจะช่วยให้ต้นทุนการผลิตกลับมาอยู่ในระดับที่เท่าเทียมกันทั่วโลก

ในปี 2023 จึงอาจจะได้เห็นการนำกฎหมายใหม่มาใช้ ซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม และกฎหมายใหม่เหล่านี้จะมีผลกระทบต่อธุรกิจโดยตรง โดยเฉพาะธุรกิจที่ส่งออกไปขายในต่างประเทศ นั่นจึงทำให้ธุรกิจของไทยเริ่มปรับตัวหันมาใช้กลยุทธ์ที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น อย่างเช่น กลยุทธ์ ESG ที่จะพูดถึง 3 ด้านเป็นหลักประกอบไปด้วย สิ่งแวดล้อม (Environment), สังคม (Social) และ กฎหมายนโยบาย (Governance)

ซึ่งกลยุทธ์ ESG นอกจากจะช่วยให้ธุรกิจสามารถดูแลอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ยังมีส่วนช่วยเพิ่มอัตราการเติบโตของธุรกิจ ในยุคที่ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อสินค้าที่มีส่วนช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และยังสามารถตอบสนองต่อนโยบายของภาครัฐและให้ความร่วมมือกับกฎหมายใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะกลุ่มผู้ถือหุ้น (Investor) ในยุคนี้ที่ไม่ได้สนใจเพียงแค่รายได้ที่กลับมา แต่ยังสนใจถึงความช่วยเหลือด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม

เห็นได้จากหลายธุรกิจขนาดใหญ่ในประเทศไทยเริ่มหันมาใช้กลยุทธ์ ESG มากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม SCG หรือ ธนาคารกสิกรไทย (Kbank) เป็นต้น โดยมีเป้าหมายไปที่การมุ่งสู่ Net Zero หรือการทำให้ทุกกิจกรรมของธุรกิจไม่มีการปลดปล่อยมลพิษออกสู่สิ่งแวดล้อม ทั้งการหันมาใช้พลังงานทางเลือกอย่าง Solar Cell หรือการเปลี่ยนรถยนต์ภายในองค์กรให้กลายเป็น EV รวมไปถึงการสนับสนุนกิจกรรมที่ช่วยลดการปล่อยมลพิษ เพื่อนำมาหักลบกับกิจกรรมที่ไม่สามารถลดการปล่อยมลพิษขององค์กรได้ในรูปแบบของ Carbon Credit

ขณะที่ธุรกิจขนาดเล็กอาจมีการรวมกลุ่มเพื่อสร้างกลยุทธ์แบบ CSV (Creating Shared Value) ที่นอกจากจะช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและดูแลสังคมแล้ว ยังก่อให้เกิดการพัฒนาธุรกิจในรูปแบบของ ecosystem และจะก่อให้เกิด Circular Economy ดังนั้นในปี 2023 นี้ธุรกิจที่ยังไม่สนใจเรื่องของสิ่งแวดล้อม อาจจะกลายเป็นปีที่หนักหนาสาหัสของธุรกิจเหล่านั้นก็เป็นได้

4. ยกระดับประสบการณ์ลูกค้าด้วย Metaverse

ในปี 2023 นี้บรรดาผู้บริโภคจะให้ความสำคัญกับ Customer Experience มากยิ่งขึ้น พูดง่ายๆก็คือ ลูกค้าจะให้ความสำคัญกับ “ประสบการณ์ที่ดี” ในการได้พบ ได้เห็น ได้ยิน และทุกๆอย่างที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับแบรนด์ตลอดกระบวนการตั้งแต่การได้รู้จักแบรนด์ การเลือกซื้อ การซื้อ การใช้สินค้าและบริการ รวมถึงการรับบริการหลังการขาย เป็นต้น

จาก Customer Experience แบบเดิมซึ่งหมายถึงการปรับปรุงกระบวนการและขจัดความยุ่งยากต่างๆให้กับลูกค้าตลอด Journey ที่มีต่อแบรนด์ เช่นระบบแนะนำสินค้าที่ช่วยให้ลูกค้าเลือกสินค้าได้ดีขึ้น รวมไปถึง บริการหลังการขายที่ช่วยแก้ปัญหาให้กับลูกค้าผ่านทางระบบออนไลน์ เรื่องเหล่านี้จะยังคงเป็นสิ่งสำคัญต่อไปในปี 2023 แต่เทรนด์ที่จะพัฒนาไปต่อก็คือการยกระดับประสบการณ์ของลูกค้าเหล่านี้ให้ดำดิ่งและมีส่วนร่วมกับแบรนด์มากยิ่งขึ้นไปสู่สิ่งที่เรียกว่า Immersive Customer Experience

และเวทีสำหรับประสบการณ์ที่ว่านี้ก็คือ Metaverse ที่ถูกมองว่าเป็นยุคต่อไปของโลกอินเตอร์เน็ตที่ผู้บริโภคสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับแบรนด์และผู้บริโภคคนอื่นๆแบบ Immersive ละ Interactive โดยมีเทคโนโลยี 3D เทคโนโลยี  VR หรือ AR เข้ามาช่วย ยกตัวอย่างเช่น บริการร้านค้าออนไลน์ที่ลูกค้าสามารถเลือก “ลอง” สินค้า เช่นเสื่อผ้าหรือเครื่องประดับผ่านห้องลองเสื้อผ้าเสมือนผ่าน Avatars ของเราเอง หรืออย่างที่ห้าง Wallmart ใช้เทคโนโลยี AR มาช่วยให้ลูกค้าได้เห็นว่าจะเป็นอย่างไรเมื่อเสื้อผ้ามาอยู่บนร่างกายของเราจริงๆเป็นต้น

หากมองมาที่แบรนด์ไทยเราก็จะเห็นหลายๆแบรนด์ที่เริ่มต้นในเรื่องนี้กันไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็น AIS ที่เปิดห้างเสมือนจริงอย่าง V-Avenue สร้างประสบการณ์ใหม่ๆให้กับลูกค้า ด้าน SCBX เองก็เปิดตัวสำนักงานใหญ่ บนโลกเสมือนใน The Sandbox โลกดิจิทัลไร้พรมแดนจะต่อยอดไปสู่บริการสำหรับลูกค้าในอนาคต เช่นเดียวกับ bitkub ที่เตรียมที่จะเปิด Bitkub Mataverse ให้ลูกค้าสามารถเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์ได้ในโลกเสมือนอย่างอิสระโดยมีหลากหลายฟีเจอร์ให้เลือกเล่น นอกจากนี้ยังมีแบรนด์อย่าง modernform, ANANDA, true รวมถึง นันยาง ที่ก็ก้าวเข้าสู่โลก Multiverse เพื่อสร้างประสบการณ์ Immersive Customer Experience กันแล้ว

เทรนด์ในการให้ความสำคัญกับประสบการณ์ของลูกค้านั้นมีแนวโน้มที่ชัดเจนอย่างยิ่ง สะท้อนจากแบรนด์ยักษ์ใหญ่อย่าง Adebe รวมไปถึง Adweek ที่มีการแต่งตั้งผู้บริหารในตำแหน่ง Chief Experience Officer (CXO) ที่จะเข้ามาวางรางฐานกลยุทธ์ทางธุรกิจเพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับลูกค้าตลอดทั้ง Journey และไม่เฉพาะเรื่องประสบการณ์ของลูกค้าเท่านั้นที่จะต้องให้ความสำคัญ แต่อีกสิ่งที่ต้องคำนึงถึงในปี 2023 นี้ด้วยก็คือ ประสบการณ์ของบรรดาลูกจ้างเนื่องจากการแข่งขันในตลาดแรงงานที่มีความสามารถและทักษะสูงนั้นกำลังร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ

5. ความท้าทายของตลาดงานแรงกดดันทั้งนายจ้างและลูกจ้าง

“ตลาดงาน” ในปี 2022 มีความเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ ทั้งจากการเกิดปรากฏการณ์ The Great Resignation หรือการลาออกระลอกใหญ่ และ Quiet Quittingการทำงานเฉพาะในส่วนความรับผิดชอบของตัวเองเท่านั้น เพื่อบาลานซ์ระหว่างงาน กับชีวิต

ผลวิจัย “PwC” เคยทำผลสำรวจแรงงาน จำนวน 52,195 คน ในจำนวนนี้อยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก 17,992 คน ระบุว่า ปรากฏการณ์ “การลาออกครั้งใหญ่’ จะยังดำเนินต่อไป โดยในอีก 12 เดือนข้างหน้า มีแผนจะเปลี่ยนงาน – ขอขึ้นเงินเดือน – เลื่อนตำแหน่ง โดย 1 ใน 5 ของลูกจ้างมีแผนที่จะเปลี่ยนงานใหม่ในอีก 12 เดือนข้างหน้า, 1 ใน 3 ต้องการขอขึ้นเงินเดือน และ 1 ใน 3 ต้องการขอเลื่อนตำแหน่ง

สิ่งที่ตามมาคือ แรงกดดันที่เกิดขึ้นกับนายจ้าง หรือองค์กรในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็น การรักษาพนักงานที่มีความสามารถ (Talent) จะยิ่งยากขึ้น ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนแรงงานทักษะสูง ความต้องการในการทำงานของผู้คนเปลี่ยนไป เพราะคนจะพิจารณาหลายองค์ประกอบร่วมกัน ตั้งแต่ค่าจ้าง ความยืดหยุ่นในการทำงาน สภาพแวดล้อมในที่ทำงาน ความก้าวหน้าในงาน การได้เรียนรู้ วัฒนธรรมองค์กร รวมไปถึงงานนั้นๆ ช่วยเติมเต็มความหมาย หรือสร้างคุณค่าให้กับตัวเขาเองด้วยหรือไม่

ยิ่งในยุคเทคโนโลยี และ Data คือ หัวใจสำคัญของการดำเนินธุรกิจ พบว่าปัจจุบันหลายองค์กรเจอปัญหา “ช่องว่างทางทักษะ” (Skills Gap) นั่นคือ แรงงานมีทักษะไม่เพียงพอต่อความคาดหวังของนายจ้าง หรือมีคุณสมบัติไม่ตรงความต้องการของตลาดงาน อย่างทุกวันนี้สาขา Data Science, AI และสาขาเทคโนโลยีอื่นๆ เป็นที่ต้องการของตลาดงาน แต่พบว่าคนในสายงานนี้มีจำกัด

ขณะเดียวกันนับตั้งแต่เกิด COVID-19 เป็นตัวเร่งให้ทรานส์ฟอร์มสู่ดิจิทัลเร็วขึ้น องค์กรต่างๆ นำเทคโนโลยี และระบบอัตโนมัติ เข้ามาใช้ในกระบวนการทำงานมากขึ้น ทำให้ต่อไปมนุษย์จะทำงานร่วมกับเครื่องจักรและหุ่นยนต์อัจฉริยะมากขึ้น โดยที่งานบางอย่างที่มนุษย์เคยทำ จะโอนไปให้หุ่นยนต์ หรือระบบอัตโนมัติทำมากขึ้น

เพื่อก้าวข้ามความท้าทายของตลาดงานในปี 2023 ทั้งในฝั่งองค์กร หรือนายจ้าง และฝั่งลูกจ้าง จำเป็นต้องเร่งปรับตัว! ไม่ว่าจะเป็นการสร้างโอกาสการเติบโตในสายงานให้กับพนักงาน, สร้างการเรียนรู้ใหม่ ทั้ง Reskill – Upskill เติมความรู้ใหม่ และพัฒนาทักษะความรู้เดิม, มีความยืดหยุ่นในการทำงาน, ส่งเสริมความแตกต่างหลากหลาย และเป็นสถานที่ทำงานที่เน้นด้านคุณค่า (Value-oriented) รวมถึงสรรหาบุคลากรใหม่ที่มีทักษะจำเป็นสำหรับอนาคต

ขณะที่ฝั่งคนทำงาน ทุกวันนี้เป็นยุคต้องเรียนรู้ตลอดเวลา ดังนั้นต้องมีทั้ง Hard Skills และด้าน Soft Skills โดยรายงานจาก “JobsDB” ฉายภาพทักษะคนทำงานในยุคดิจิทัลต้องมี ประกอบด้วย

  1. ทักษะการเรียนรู้ – ใส่ใจนวัตกรรม – มีความคิดสร้างสรรค์ – แก้ปัญหาเป็น
  2. ทักษะด้านดิจิทัล และเทคโนโลยี – รอบรู้เรื่องสื่อดิจิทัล – อัปเดตข้อมูลข่าวสาร – ประยุกต์ และฉลาดสื่อสาร
  3. ทักษะชีวิตสังคมและอาชีพ – ปรับตัว – มีความเป็นผู้นำ – มี Growth Mindset

นอกจากนี้อีกหนึ่งทักษะสำคัญคือ “Empathy Skill” ทักษะในการรับรู้และเข้าใจอารมณ์ของผู้คน มีความเห็นอกเห็นใจ และรับฟังผู้อื่น เพื่อทำให้การทำงานเป็นทีมดีขึ้น  

6. Heath and Wellness จะเติบโตต่อเนื่อง

อุตสาหกรรมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี หรือ Health and Wellness จะเป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่จะเติบโตต่อเนื่องในปี 2023 โดยคำว่า ‘สุขภาพ’ และ ‘ความเป็นอยู่ที่ดี’ ครอบคลุม 8 มิติ คือ กาย (Physical), จิต (Spiritual), สังคม (Social), อารมณ์ (Emotional), สติปัญญา (Intellectual), อาชีพการงาน (Occupational), สภาพการเงิน (Financial) และสภาพแวดล้อม (Environmental) นั่นเอง

ปฎิเสธไม่ได้ว่าการว่าแนวโน้มการเติบโตของ Health and Wellness’ เกี่ยวข้องอย่างมีนัยะสำคัญกับการแพร่ระบาดโควิด-19 ในแง่ของการทำธุรกิจ ซึ่งหากสามารถมองเห็นเทรนด์ที่จะเกิดขึ้นก็จะสามารถจับมาสร้างเป็นโอกาสใหม่ในการธุรกิจให้สอดคล้องความต้องการของผู้บริโภค ในการแก้ปัญหาด้านสุขภาพ ร่างกาย และจิตใจไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเสริมสุขภาพจิต ธุรกิจเทคโนโลยี นวัตกรรมดูแลป้องกันรักษาสุขภาพ ธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ธุรกิจการให้บริการ ดูแลสุขภาพที่บ้าน ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ ธุรกิจสปาและความงาม รวมไปถึงยา อาหารและผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆ

จากข้อมูลของสถาบันโกลบอลเวลเนส (Global Wellness Institute : GWI) ได้มีการทำวิจัยเศรษฐกิจด้านสุขภาพทั่วโลก (Global Wellness Economy) เมื่อปี 2020 พบว่าตลาดมีมูลค่าสูงถึง 4.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสาขาที่มีมูลค่าธุรกิจใหญ่สุดได้แก่ 1.การดูแลตัวเอง ความสวยงาม การชะลอวัย (Personal Care & Beauty) 2. การทานอาหารเพื่อสุขภาพ หรือทานอาหารเป็นยา อาหารลดน้ำหนัก (Healthy Eating, Nutrition, Weight Loss) 3. สาขาการออกกำลังกายและกายภาพ (Physical Activity)

และ 4. สาขาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) ซึ่งจะเป็นสาขาที่ได้รับการคาดการณ์ว่าจะเติบโตเป็น 2 เท่าในปี 2030 คาดว่าจะเป็น 1.59 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ จากปี 2020 ที่มีมูลค่าราว 4.36 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ หากผู้ประกอบการไทยสามารถดึงนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้เข้ามาได้มาก จะเป็นการช่วยเหลือประเทศในเชิงคุณภาพได้เพราะใช้จ่ายต่อหัวสูง

สำหรับประเทศไทย Wellness Tourism ถือเป็นตลาดที่มีมูลค่าสูงและเติบโตต่อเนื่อง โดยข้อมูลในปี 2017 จาก GWI พบว่า มีจำนวนนักท่องเที่ยวในตลาดนี้สูงถึง 12.5 ล้านคน สร้างรายได้กว่า 4 แสนล้านบาท และเกิดการจ้างงานสูงถึง 530,000 คน ดังนั้นในปี 2023 เทรนด์ของ Healthcare and Wellness จึงยังเป็นเทรนด์ธุรกิจที่ต้องเตรียมพร้อมเอาไว้เช่นกัน

7. Tourism Industry ฟื้นตัว พร้อมรับนักท่องเที่ยวปีหน้า!

ภาคการท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าจะเติบโตอย่างมากในปี 2023 นี้อย่างแน่นอน โดยเฉพาะในประเทศไทยที่การท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนประเทศมาโดยตลอด จนกระทั่ง COVID-19 ระบาดกว่าสองปีและส่งผลกระทบต่อธุรกิจสำคัญภายใต้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยเฉพาะด้านอาหารการกิน  การโรงแรม การบิน รวมไปถึงอุตสาหกรรม MICE ต้องซบเซาลงไป

ในปีนี้สถานการณ์คลี่คลายลงไปมาก จนหลายประเทศเริ่มกลับมาเปิดรับนักท่องเที่ยวเพื่อเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ และทันทีที่ไทยเปิดประเทศไม่เพียงแต่นักท่องเที่ยวต่างชาติทยอยเดินทางเข้ามาอย่างล้นหลาม จนทำให้ธุรกิจที่ได้กล่าวไปด้านบนกลับมาคึกคักอีกครั้ง ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นแนวโน้มการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั้งในไทยและในระดับโลก

ดังนั้นในปี 2023 ก็อาจเห็นความคึกคักมากยิ่งขึ้นของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในไทย ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงไปสู่ การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ กิจการโรงแรมหรือที่เกี่ยวข้องควรให้ความสำคัญกับ green space ให้มากเข้าไว้ หรือด้านอาหารการกินคงไม่พ้นเรื่องวัถุดิบที่ธรรมชาติ สะอาด ปลอดสารพิษ มากยิ่งขึ้น 

ในส่วนของอุตสาหกรรมการบินนั้น เชื่อว่าความอัดอั้นคงจะทำให้มีการเดินทางทั้งในและต่างประเทศกันมากขึ้น และสุดท้ายในด้านการจัดประชุมสัมมนาที่จะกลับมาจัดได้เต็มรูปแบบอีกครั้งก็จะทำให้ อุตสาหกรรม MICE กลับมาคึกคักอีกครั้งด้วยเช่นกัน 

ทั้งหมดนี้คือ 7 เทรนด์ธุรกิจที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนในปี 2023 ดังนั้นเจ้าของธุรกิจ แบรนด์ รวมถึงนักการตลาดก็ต้องเตรียมพร้อมและนึกถึงทั้ง 7 เทรนด์เหล่านี้เอาไว้ เพื่อก้าวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงและพร้อมรับมือกับความท้าทายใหม่ๆที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต


  • 595
  •  
  •  
  •  
  •