เจาะรายตัว แบงก์ครึ่งปี 61 โกยกำไรแสนล้าน สวนกระแสนักวิเคราะห์ สะท้อนอะไร?

  • 500
  •  
  •  
  •  
  •  

Image_4cd2814

หุ้น “ธนาคารพาณิชย์” จำนวน 11 แห่ง ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ต่างแจ้งผลประกอบการงวดไตรมาส 2/2561 กันออกมาครบแล้ว

ทั้งหมดมีกำไรสุทธิรวมกันกว่า 53,541 ล้านบาท

ตัวเลขนี้หากเทียบกับไตรมาส 2/2560 จะพบว่า

ธนาคารทั้งหมดนี้มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 17.15% โดยในไตรมาส 2/2560 ธนาคาร 11 แห่งดังกล่าว มีกำไรรวมกัน 45,702 ล้านบาท

ประเด็นที่น่าสนใจเพิ่มเติม คือ กำไรในไตรมาส 2 ที่ออกมาล่าสุด เมื่อนำมารวมกับไตรมาส 1/2561 หรือในช่วงของ 6 เดือนแรกของปี 2561 พบว่า

ทั้งหมดมีกำไรสุทธิรวมกัน  106,074 ล้านบาท

หากเทียบกับครึ่งปีแรกของปี 2560 ตัวเลขกำไรเพิ่มขึ้น 8.57%

Basic RGB

ผลกำไรที่ออกมาทั้งหมดนี้ ถือว่าดีกว่าที่นักวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ต่างๆ ได้คาดการณ์กันไว้

สะท้อนให้เห็นว่า ผลประกอบการของหุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ เริ่มกลับมาฟื้นตัวได้

Top 5 กำไรมากสุด

แล้วธนาคารพาณิชย์ที่มีอัตรากำไรมากสุด คือธนาคารใด

คำตอบคือ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB

ไทยพาณิชย์ มีอัตรากำไรสุทธิในไตรมาส 2/2561 จำนวน 11,111 ล้านบาท

แต่หากเทียบกับไตรมาส 2/2560 ก็ถือว่ามีกำไรปรับลง 6.70%

ส่งผลให้ในช่วงครึ่งปีแรก ไทยพาณิชย์มีกำไรแล้ว  22,476 ล้านบาท ลดลงจากครึ่งปีแรกของปี 2560 คิดเป็น -5.65%

แม้กำไรของไทยพาณิชย์จะปรับลดลงบ้างเล็กน้อย แต่หากเทียบกับธนาคารพาณิชย์แห่งอื่นๆ

ไทยพาณิชย์ ยังคงสามารถรักษาผู้นำของธนาคารที่มีอัตรากำไรมากสุด เมื่อเทียบกับหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ทั้งหมดไว้ได้ หลังจากก่อนหน้านี้ ก็มีกำไรมากสุด 5 – 6 ปีติดต่อกัน ในปี 2560

ไทยพาณิชย์ มีกำไรสุทธิ 43,151 ล้านบาท และแนวโน้มในปี 2561 นักวิเคราะห์ต่างประมาณการกันไว้ว่า กำไรจะเพิ่มขึ้นถึง 5 หมื่นล้านบาท

ไทยพาณิชย์ เคยมีกำไรมากสุดในปี 2557 จำนวน 53,334 ล้านบาท ก่อนที่จะค่อยๆ ปรับลงมาเหลือระหว่าง 43,000 – 47,000 หมื่นบ้านบาท

ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2561 ธนาคารไทยพาณิชย์ มีสินทรัพย์ทั้งหมด 2.79 ล้านล้านบาท เป็นอันดับ 2 รองจากธนาคารกรุงเทพ (BBL) ที่มีสินทรัพย์ 3.07 ล้านล้านบาท และอันดับ 3 คือ ธนาคารกรุงไทย หรือ KTB มีสินทรัพย์ 2.73 ล้านล้านบาท ส่วนธนาคารกสิกรไทย มีสินทรัพย์มากสุดเป็นอันดับ 4 จำนวน 2.54 ล้านล้านบาท

Basic RGB

สำหรับธนาคารพาณิชย์ที่มีกำไรมากสุดเป็นอันดับ 2 คือ กสิกรไทย

กสิกรไทย มีกำไรสุทธิรวมในไตรมาส 2/2561 จำนวน 10,917 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2/2560 เพิ่มขึ้น 21.48% และในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2561 มีกำไรสุทธิแล้ว 21,682 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.18%

กสิกรไทย เป็นธนาคารพาณิชย์อีกแห่ง ที่รายงานผลประกอบการออกมาดีกว่าที่นักวิเคราะห์ได้คาดการณ์กันไว้

ในปี 2557 กสิกรไทย มีกำไรสุทธิ 46,153 ล้านบาท, ปี 2558 มีกำไรสุทธิ 39,473 ล้นบาท, ปี 2559 มีกำไรสุทธิ 40,174 ล้านบาท และปี 2560 มีกำไรสุทธิ 34,338 ล้านบาท

แนวโน้มในปี 2561 นักวิเคราะห์ มองว่า กสิกรไทยมีโอกาสที่กำไรจะกลับขึ้นมาที่ระดับ 4 หมื่นล้านบาทอีกครั้ง

ธนาคารพาณิชย์ที่มีผลกำไรสุทธิมากเป็นอันดับ 3 คือ ธนาคารกรุงเทพ ของกลุ่มโสภณพนิช

แบงก์กรุงเทพ มีกำไรมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดกันไว้เช่นกัน

โดยรายงานตัวเลขออกมาอยู่ที่ 9,194 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2/2560 คิดเป็น 14.25% และกำไรช่วง 6 เดือนแรกขึ้นมาอยู่ที่ 18,199 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.29%

แบงก์กรุงเทพ เป็นธนาคารที่ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อสร้างกำไรให้มากสุด

นั่นเพราะจะให้ความสำคัญกับการการสำรองหนี้ฯ ให้มีความเข้มแข็งไว้ก่อน สังเกตได้จาก อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ หรือ Coverage ratio เท่ากับ 176.3%

หรือสูงเป็นอันดับ 2 ของหุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ (รองจากทิสโก้ 182%)

ปัจจุบันสัดส่วนลูกค้าของแบงก์กรุงเทพ โดยเฉพาะด้านสินเชื่อ จะเน้นไปที่กลุ่ม Corporate รองลงมาเป็นกลุ่มเอสเอ็มอี และลูกค้ารายย่อย

กำไรของแบงก์กรุงเทพที่เพิ่มขึ้น มีปัจจัยหนุนจากการมีรายได้ค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากการขายประกัน และกองทุน

โดยเมื่อช่วงปลายปี 2560 แบงก์กรุงเทพ เพิ่งจะมีการจับมือกับ “เอไอเอ” ประกันชีวิตยักษ์ใหญ่ของประเทศไทย เพื่อขายผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตให้กับเอไอเอ

แบงก์กรุงเทพจะมีรายได้จากที่เป็นค่าฟีจากเอไอเอส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งมาจากค่าคอมมิชชั่น เมื่อขายผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตแต่ละกรมธรรม์ได้

และมีการประเมินกันว่า รายได้จากค่าฟีจากการขายประกันของแบงก์กรุงเทพในปี 2561 และปีถัดๆ ไป จะเพิ่มขึ้นอย่างมีนนัยสำคัญ

เพราะทั้งแบงก์กรุงเทพ และเอไอเอ ต่างเป็น “ แบรนด์” สถาบันการเงินที่มีความแข็งแกร่ง และคนทั่วไปมีความเชื่อมั่นค่อนข้างสูงมาก ทำให้ขายสินค้าหรือผลิตภัณฑ์การเงินได้ง่าย

มาถึงธนาคารที่มีสัดส่วนกำไรมากสุดเป็นอันดับ 4 คือ ธนาคารกรุงไทย หรือ KTB

กรุงไทย ได้รายงานกำไรออกมาจำนวน  7,712 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 139.55% และช่วง 6 เดือนแรก มีกำไรสุทธิ 14,498 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.28%

กำไรที่เพิ่มขึ้นอย่างมากของกรุงไทย เป็นผลมาจากในช่วงไตรมาส 2/2560 ทางกรุงไทยได้มีการตั้งสำรองหนี้ฯ ของลูกค้ารายหนึ่ง ที่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL ทำให้กำไรในไตรมาสดังกล่าว ลงมาเหลือเพียง 3,222 ล้านบาท

และเมื่อไตรมาส 2 ที่ผ่านมาล่าสุด ไม่มีการตั้งสำรองหนี้ฯ พิเศษ ทำให้กำไรกลับมาเป็นปกติได้

กรุงไทย นั้น ถือหุ้นใหญ่โดยกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน กว่า 55.07% แต่อำนาจในการบริหารงานนั้น จะอยู่ที่กระทรวงการคลัง

มาถึงธนาคารพาณิชย์ที่มีกำไรมากเป็นอันดับ 5 คือ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด(มหาชน)

กรุงศรีฯ แจ้งผลกำไรสุทธิไตรมาส 2/2561 ออกมาจำนวน  6,273 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.84% และมีกำไรในช่วง 6 เดือนแรก จำนวน 12.488  ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.44%

กรุงศรีฯ ถือหุ้นใหญ่โดยกลุ่ม MUFG จากประเทศญี่ปุ่น สัดส่วน 76.88%

กรุงศรี สามารถสร้างกำไรได้ค่อนข้างมาก จากสัดส่วนของสินเชื่อรายย่อย ผ่านบริษัทในเครือต่างๆ

เช่น บมจ. อยุธยา แคปปิตอล ออโต้ ลีส

บจก.เจเนอรัล คาร์ด ซอร์วิสเซส ให้บริการบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล

บจก.อยุธยา แคปปิตอล เซอร์วิสเซส ให้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล

บจก.เงินติดล้อ ให้บริการสินเชื่อโดยใช้ทะเบียน รถเป็นหลักประกัน ในรูปแบบของ สัญญาเช่าซื้อ และสัญญาเงินกู้ แบบมีหลักประกันแก่เจ้าของรถทุกประเภท รวมทั้งให้บริการนายหน้าประกันวินาศภัย

บจก.บัตรกรุงศรีอยุธยา ให้บริการบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล เช่น กรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ และยังมีอีกหลายบริษัทในเครือ

ส่วนกำไรธนาคารพาณิชย์อันดับ 6 -10 นั้น คือ แบงก์ทีเอ็มบี, ทุนธนชาต, ทิสโก้, เกียรตินาคิน, แบงก์แลนด์แอนด์เฮ้าส์ และ ซีไอเอ็มบีไทย

Basic RGB

กำไรกลุ่มแบงก์สะท้อนอะไร

กำไรของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ที่ปรับดีขึ้น และคุณภาพของสินทรัพย์ หรือสินเชื่อที่กระเตื้องขึ้นมาเช่นกัน

สะท้อนให้เห็นว่า ผลประกอบการของบริษัทที่เป็นลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์ต่างๆ มีทิศทางที่สดใส

และยังสังเกตได้จากการปิดของตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันศุกร์ที่ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมา ดัชนีขึ้นมาปิดบวก 24.17 จุด ปิดที่ 1,671.06 จุด ท่ามกลางมูลค่าการซื้อขายกว่า 67,269 ล้านบาท

ทั้งนี้ หุ้นกลุ่มแบงก์บ่งบอกได้ถึงสภาพเศรษฐกิจ รวมทั้งผลประกอบการได้หลายๆ กลุ่ม กำไรหุ้นแบงก์ก็สะท้อนถึงสภาพเศรษฐกิจ ช่วยพยุงตลาดให้เป็นบวก มีผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน 

นี่คือสถานการณ์ของตลาดหุ้น ที่ดีดตัวขึ้นมาค่อนข้างแรงในรอบกว่าหลายเดือน ที่เป็นผลมาจากความเชื่อมั่นของนักลงทุนเริ่มกลับมามีมากขึ้นแล้ว  


  • 500
  •  
  •  
  •  
  •