สมรภูมิ QR Code กลยุทธ์ช่วงชิงลูกค้าแบงก์ ศึกเดือดจากปรับทัพ-เปิดแนวรบ-เร่งเสริมพันธมิตร สู้ถึงชำระเงินข้ามประเทศ

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

qr

QR Code เริ่มมียอดธุรกรรมมากขึ้นตามลำดับ หลังจากธนาคารพาณิชย์เกือบทุกแห่ง ต่างนำระบบการชำระเงินดังกล่าวมาใช้ในช่วงปลายปี 2560 ที่มีการนำกลยุทธ์เข้ามาสร้างฐานเพื่อชิงลูกค้า ทั้งการจับมือกับพันธมิตรในหลากหลายธุรกิจ ตั้งแต่โมเดิร์นเทรดรวมไปถึงร้านค้าทั่วไป

ธนาคารแห่งประเทศไทยหรือ ธปท. ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ เริ่มเปิดตัวระบบการชำระเงินด้วย QR Code มาตั้งแต่กลางปี 2560 และมาเริ่มใช้กันอย่างจริงจังในช่วงไตรมาส 4/2560 โดยไทยถือเป็นประเทศอันดับแรกๆ ที่ทำ QR Payment หรือชำระเงินด้วย QR Code แบบมาตรฐานเดียวมาใช้

อาจจะมีคำถามว่า แล้ว QR Code คืออะไร แล้วมีประโยชน์อย่างไร

QR Code ย่อมาจากคำว่า Quick Response Codeหรือมีความหมายว่า โค้ดที่มีการตอบสนองอย่างรวดเร็ว เป็นบาร์โค้ดสองมิติชนิดหนึ่ง ลักษณะเป็นสีเหลี่ยมประกอบด้วย “มอดูล” สีดำเรียงกัน มีพื้นหลังสีขาว

ที่สำคัญคือ QR Code สามารถเก็บข้อมูลได้หลากหลายรูปแบบ

ส่วนหลักการทำงานของ QR Code จะใช้กล้องจากโทรศัพท์มือถือ สแกนด้วย QR Code Reader ก็สามารถอ่านข้อมูลของโค้ดออกมาเป็นข้อมูลต้นฉบับ ชื่อเว็บไซต์ เบอร์โทรศัพท์ หรือข้อความ เป็นต้น ซึ่งสามารถแสดงผลบนโทรศัพท์มือถือได้โดยตรง

^C6EC193C9FA44F5FC700D71DA28BB7EFF79740D2C6D732B5B5^pimgpsh_fullsize_distr

ทางด้านประโยชน์ของ QR Code นอกจากจะช่วยเพิ่มช่องทางการชำระเงินให้สะดวกขึ้น ก็ยังสามารถลดต้นทุนให้กับประชาชน และร้านค้าต่างๆ ทำให้จัดการบัญชีดีขึ้น เพราะง่ายกว่าการทำธุรกรรมด้วยเงินสด

นอกจากนี้ ยังช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการชำระเงิน มีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น ไม่ต้องบอกเลขบัญชี ไม่ต้องใช้บัตรเครดิต/เดบิต ไม่ต้องบอกเบอร์มือถือ เพียงแค่ใช้ QR Code สแกนเท่านั้น

ขณะที่ประโยชน์ของร้านค้า โดยเฉพาะที่เป็นร้านค้า “ขนาดกลางและเล็ก” ข้อมูลการชำระเงินบนระบบนี้ สามารถนำไปขอสินเชื่อได้ด้วยการนำข้อมูลการชำระเงินบนระบบนี้เป็นข้อมูลอ้างอิง และไม่ต้องใช้ “สินทรัพย์” เป็น “หลักประกัน” เหมือนก่อนหน้านี้

หลักการทำงานของ QR Code นั้น หากเป็นการดำเนินการของธนาคารก่อนที่แบงก์ชาติจะให้มีการใช้เป็นทางการ ทางธนาคารแต่ละแห่งจะมี QR Code เป็นของตนเอง เช่น หากร้านค้าหรือพันธมิตรธุรกิจแห่งใด ต้องการให้บริการ QR Code ก็จะต้องเปิดบัญชีกับธนาคารนั้นๆ และผู้ใช้ก็จะต้องมีบัญชีของธนาคารนั้นๆ ด้วย

^ED1605BAE2BA9659963837672A50AFD914CA4C6CC8A6EB5629^pimgpsh_fullsize_distr

โดยหลักการทำงานของ QR Code จะคล้ายๆ กับการทำงานของการให้บริการโอนเงินในระบบพร้อมเพย์ ต่อมามีการกำหนด QR Code กลางขึ้น ทำให้การใช้ QR Code ที่ตนเองมีนั้น สามารถรับชำระเงินได้กับทุกธนาคาร

เช่น หากร้านค้า A เปิดบัญชีกับบริษัท B พร้อมกับเปิดให้บริการ QR Code ด้วย และเมื่อมีลูกค้ามาใช้บริการ โดยลูกค้านั้นอาจมีบัญชีกับธนาคาร C ซึ่งลูกค้าคนนั้นก็สามารถมาให้ QR Code กับร้านค้า A ได้ แม้ว่าจะต่างธนาคารกัน

ไทยพาณิชย์เปิดแนวรบทุกด้าน

หลังจากแบงก์ชาติเริ่มประกาศให้มีการใช้ระบบการชำระเงินด้วย QR Code และมีการรุกตลาดกันอย่างหนักตั้งแต่ไตรมาส 4/2560 ปรากฏว่า ธนาคารไทยพาณิชย์ ดูเหมือนว่าจะตื่นตัวกับระบบดังกล่าวอย่างมาก ด้วยการจัดแคมเปญ พร้อมกับการสร้างพันธมิตรคู่ค้าทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง

ในส่วนขอธนาคารไทยพาณิชย์ นั้นในปี 2561 หากดูจากแผนทางธุรกิจเดิมของธนาคาร ได้วางเป้าหมายจุดชำระเงินด้วย QR Code ไว้ที่ 7 แสนจุด ก่อนจะมาปรับเพิ่มเป็น 1 ล้านจุด โดยการใช้ QR Code ของไทยพาณิชย์ จะต้องใช้บริการผ่านแอฟ SCB easy

กลยุทธ์ของไทยพาณิชย์จะพยายามลงไปในพื้นที่ๆ มีการใช้เงินสดมากๆ เพื่อจะไปสร้างให้เกิด Cashless Society ในจุดนั้น โดยก่อนหน้านี้ เริ่มจากพื้นที่ เช่น  ตลาด และต่อมาขยายไปในระบบโลจิสติกต่างๆ ทั้งรถไฟฟ้า รวมทั้งศูนย์การค้า ร้านค้า โรงพยาบาล และร้านอาหารแบบเชน

SCB-Sansiri_5

ไทยพาณิชย์ เริ่มกำหนดจุดรับชำระเงิน QR Code เริ่มจากพื้นที่กรุงเทพฯ และหัวเมืองหลักๆ เพราะจากการสำรวจพบว่า เป็นพื้นที่ๆเกิดการใช้ QR Code ในการชำระเงินได้มาก เช่น ห้างแพลตตินั่ม ที่พบว่ามีการใช้ QR Code ถึง 60% ของจุดรับชำระที่ธนาคารเข้าไปวาง QR Code มาก่อนหน้านี้

ในปี 2560 ไทยพาณิชย์ ยังเปิดให้บริการใช้ QR Code กับวินมอเตอร์ไซค์ เริ่มจากวินมอเตอร์ไซค์ พหลโยธิน 34 และก็สร้างความฮือฮาอย่างมาก เพราะไม่คิดว่า เรื่องของ QR Code จะถูกนำมาใช้กับบริการดังกล่าวได้

การให้บริการดังกล่าว จะช่วยเพิ่มความสะดวกต่อการชำระเงิน โดยลูกค้าอาจไม่ได้พกเงินสดมา หรือจะต้องมีการทอนเงินกัน และไม่มีเหรียญที่จะทอนให้ ซึ่งระบบ QR Code จะเข้ามาช่วยกำจัดปัญหาดังกล่าวออกไป

แต่แน่นอนว่า การสร้างพันธมิตรในรูปแบบดังกล่าว ไทยพาณิชย์เองจะได้ฐานลูกค้าเข้ามาเปิดบัญชี ทั้งจากในส่วนของวินมอเตอร์ไซค์ที่มีอยู่นับร้อยคน รวมถึงคนที่จะเข้ามาใช้บริการ ทำให้เกิดการสร้างโอกาสเพื่อการต่อยอดไปยังธุรกรรมการเงินอื่นๆ ที่จะช่วยสร้างรายได้ให้กับธนาคาร

ในปี 2561 ไทยพาณิชย์ ได้มีแผนจะขยายออกไปในพื้นที่ต่างจังหวัดมากขึ้น และรุกเข้าไปในกลุ่มภาคธุรกิจ เช่น การร่วมกับบริษัท เดอะ มอลล์ กรุ๊ป จำกัด ที่ได้มีการจัดงานเปิดตัว The First Cashless Experience หรือการสร้างประสบการณ์ช้อปปิ้งแบบ “ไร้เงินสด” ครั้งแรกในไทย ในกูร์เมต์ มาร์เก็ต เทคโฮม และฟู้ด ฮอลล์ ที่เดอะมอลล์ ทุกสาขา ดิ เอ็มโพเรียม เอ็มควอเทียร์ พารากอน ดีพาร์ทเม้นท์สโตร์ และบลูพอร์ตหัวหิน

SCB-Sansiri_3

และล่าสุดไทยพาณิชย์ได้ร่วมมือกับ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) เปิดตัวบริการใหม่ “SCB EASY Pay  หรือการจอง และจ่ายซื้อบ้านแสนสิริแบบ “ไร้เงินสด” ครั้งแรกของไทย กับการพัฒนาระบบรองรับการชำระเงินค่าจองเพื่อซื้อบ้านหรือคอนโดมิเนียมในเครือแสนสิริ โดยสแกนคิวอาร์โค้ด ด้วยโมบายแบงก์กิ้ง SCB EASY บริการใหม่นี้สามารถรองรับการชำระเงินด้วยเครือข่ายบัตรเครดิตทั้งวีซ่า และมาสเตอร์การ์ด

ส่วนขั้นตอนการชำระเงินผ่านการสแกนคิวอาร์โค้ดด้วยโมบายแบงก์กิ้งและตัดยอดผ่านเวอร์ชวลเครดิตการ์ด เริ่มจาก 1.เปิดโมบายแบงก์กิ้ง SCB EASY เพื่อทำการสแกนคิวอาร์โค้ด 2.เลือกเวอร์ชวลเครดิตการ์ดของไทยพาณิชย์ที่ต้องการใช้ในการชำระเงิน 3.กดจำนวนเงินที่ต้องการชำระ 4.กดยืนยัน 5.รอการยืนยัน และ 6.ชำระเงินเรียบร้อยแล้ว

สำหรับคิวอาร์โค้ดที่ไทยพาณิชย์ได้พัฒนาขึ้นนี้เป็นแบบมาตรฐาน และรองรับธนาคารพาณิชย์อื่นๆ ที่ได้พัฒนาระบบโมบายแบงก์กิ้งของตน ให้ชำระค่าบริการผ่านบัตรเครดิตในรูปแบบเวอร์ชวลเครดิตการ์ดเมื่อสแกนคิวอาร์โค้ดได้ ก็นำมาสแกนเพื่อชำระค่าจองซื้อบ้านของแสนสิริได้เช่นกัน

และจากทุกความร่วมมือกับกลุ่มพันธมิตรต่างๆ ทำให้ผู้บริหารของไทยพาณิชย์มั่นใจว่า ความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยให้ยอดไปถึงเป้าหมายของบริการคิวอาร์เพย์เมนต์ที่ตัวเลข 2 ล้านรายภายในสิ้นปี 2561 นี้ จากปัจจุบัน (4 พ.ค.61) มียอดให้บริการแล้วกว่า 1 ล้านราย

ผู้บริหารไทยพาณิชย์ยังคงพยายามเพิ่มพันธมิตร หรือจุดการชำระเงินต่อไป และเข้าไปยังทุกๆ ธุรกิจ ทุกกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงล่าสุดการซื้อตั๋วหนังที่สามารถซื้อผ่านแอพและใช้ QR Code แล้วไปดูหนังได้เลย

ทั้งนี้ ในปี 2561 ไทยพาณิชย์ มีการตั้งเป้าหมายเพิ่มผู้ใช้งาน SCB easy เป็น 8 ล้านรายจากสิ้นปี 2560 มี 6 ล้านราย ซึ่งหลังจากปรับโฉมใหม่ไปเมื่อปลายปีก่อน พบว่ามีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปกติมียอดผู้ใช้เพิ่ม 3 – 4 พันรายต่อสัปดาห์ มาเป็นกว่า 1 หมื่นรายต่อสัปดาห์

หันมาดูในส่วนของธนาคารกสิกรไทย หรือ KBANK กันบ้าง

กสิกรไทยเร่งเสริมพันธมิตร

กสิกรไทย เป็นอีกธนาคารที่มีการปรับตัวเรื่องธุรกรรมการเงินออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ มานานมาก และล่าสุด คือ การพัฒนาในระบบชำระเงินด้วย QR Code ที่เริ่มทำตลาดมาก่อนหน้าที่แบงก์ชาติจะประกาศให้ใช้อย่างเป็นทางการ ก่อนที่กสิกรไทยจะมารุกตลาดอย่างหนักในช่วงไตรมาส 4/2560 เช่นเดียวกับไทยพาณิชย์

ที่ผ่านมา แบงก์รวงข้าวหรือกสิกรไทย ส่งข้อมูลเกี่ยวกับความร่วมมือกับพันธมิตรธุรกิจในการรับ QR Code โดย QR Code ของกสิกรไทย จะใช้ผ่านแอปพลิเคชั่นที่ชื่อว่า K PLUS

แอปฯ K PLUS ถือว่าได้รับความนิยมในการใช้งานมากที่สุด ปัจจุบันมียอดทำธุรกรรม 3 พันล้านรายการต่อปี มีปริมาณธุรกรรม 6.3 ล้านล้านบาท จากฐานลูกค้ามากถึง 7.5 ล้านราย และเป็นผู้เข้าใช้งานเป็นประจำ 80% ซึ่งกสิกรไทยตั้งเป้าหมายให้มีผู้ใช้งานแอปฯ K PLUS เพิ่มเป็น 10.8 ล้านราย ภายในสิ้นปี 2561

KBank-LAWSON108

ในด้านความร่วมมือกับคู่ค้าทางธุรกิจกับธรกรรม QR Code ล่าสุด กสิกรไทย ได้ร่วมมือกับ บริษัท สห ลอว์สัน จำกัด เปิดให้บริการรับชำระค่าสินค้าและบริการด้วย คิวอาร์ โค้ด ในร้านสะดวกซื้อ “ลอว์สัน108” หรือ LAWSON108 ที่มีอยู่จำนวน 100 สาขาทั่วประเทศ พร้อมยังทำแคมเปญพิเศษ สำหรับลูกค้าที่ “ปิ๊บ” จ่ายคิวอาร์ โค้ดผ่าน K PLUS ตั้งแต่ 100 บาทขึ้นไปต่อสลิป ได้รับสิทธิ์ลุ้น iPhone 8 จำนวน 2 เครื่อง ตั้งแต่ 15 พ.ค. – 31 ก.ค. 2561

ซึ่งก่อนหน้านี้ กสิกรไทยได้ร่วมมือกับ บมจ.เอพี (ไทยแลนด์) เปิดบริการคิวอาร์ โค้ด ให้ลูกค้าสามารถ “ปิ๊บ” ชำระค่าจองในการซื้อบ้านเอพี โดยการสแกนผ่านแอปพลิเคชัน K PLUS และโมบายแบงกิ้งทุกธนาคาร เริ่มต้นให้บริการในโครงการพลีโน่ ปิ่นเกล้า-จรัญ และบ้านกลางเมือง ราชพฤกษ์-รัตนาธิเบศร์ ก่อนขยายบริการให้คลอบคลุมทุกโครงการของเอพี

KBank QR Code-AP

30F1E043C1044758A8117C06765FE510

ส่วนความร่วมมือกับค่ายอื่น เช่น สายการบินไทยแอร์เอเชีย, การใช้ QR Code  “ปิ๊บ” จ่ายค่าบัตรเข้าชมงาน Bangkok International Motor Show 2018 ผ่านแอปพลิเคชัน K Plus, การใช้ QR Code กับท่าเรือข้ามฟากระหว่างท่าเรือสี่พระยา-ท่าเรือคลองสาน และท่าเรือดินแดง-ท่าเรือราชวงศ์ โดยมีช่องทางด่วนพิเศษสำหรับลูกค้า K PLUS ที่จ่ายด้วยคิวอาร์ โค้ด เพื่ออำนวยความสะดวกลูกค้าในยุคสังคมไร้เงินสด สามารถเดินทางด้วยเรือข้ามฟากได้ ไม่ต้องพกเงินสดและเศษเหรียญ โปรโมชั่น 1 บาท มีจำนวนจำกัด เริ่มตั้งแต่วันนี้ – 30 มิถุนายน 2561

ร่วมมือกับมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ช่วยบริจาคเงินผ่าน QR Code ด้วยการสแกนบนแอปพลิเคชัน K PLUS ของธนาคารกสิกรไทย และโมบายแบงกิ้งของทุกธนาคาร  รวมถึงการบริจาคผ่านบัตรเครดิตและบัตรเดบิตได้ด้วย, ร่วมมือบริษัท เมเจอร์ โบว์ล กรุ้ป จำกัด ด้วยการชำระเงินผ่าน QR Code  ซื้อตั๋วหนังที่เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป 24 สาขา และบลูโอ ซับซีโร่ ทุกสาขา

ส่วนดีลที่ใหญ่สุด คือ ความร่วมมือกับหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่ประเทศไทย โดยกสิกรไทย จะติดตั้งระบบรับชำระด้วย QR Code มาตรฐาน ให้แก่ร้านค้าสมาชิกหอการค้าไทย ที่เข้าร่วมโครงการป้ายของดีจังหวัด ทั่วประเทศ เพื่อให้สามารถรองรับการชำระด้วยการสแกนจาก โมบาย แบงกิ้ง ได้ทุกธนาคาร และรับชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ดของ Alipay และ WeChat Payได้ ทั้งนี้ จะมีการนำร่อง 4 ร้านค้า ใน 4 จังหวัด ก่อนขยายให้ครอบคลุมเครือข่ายร้านค้าในโครงการจำนวน 4,500 ร้านค้าทั่วประเทศ ภายในสิ้นปี 2561

กรุงไทย ชู Application “เป๋าตุง”

ธนาคารกรุงไทย เป็นธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่อีกแห่ง ที่เปิดแนวรบเรื่อง QR Code เช่นกัน

ยิ่งการเป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีภาครัฐถือหุ้นใหญ่ ขณะที่รัฐบาลเองต้องการนำประเทศไปสู่สังคมไร้เงินสด จึงยิ่งต้องขยายตลาดอย่างหนัก เพื่อรองรับกับนโยบายดังกล่าว

 

TC_Brochure_KTBเป๋าตุง_20Nov17

กรุงไทย ได้มีการพัฒนา Application “เป๋าตุง” เพื่ออำนวยความสะดวกให้ร้านค้ารับชำระเงินได้สะดวกยิ่งกว่าเดิม เป๋าตุง สื่อถึงกระเป๋าที่เต็มไปด้วยเงิน เป็นความหมายที่ดีสำหรับร้านค้า

ทั้งนี้ ร้านค้าสามารถแสดง QR Code ของร้านค้า เพื่อให้ลูกค้าที่มี Mobile Application สแกนจ่ายเงิน ซึ่งสามารถรับได้ทุกธนาคาร และมีความโดดเด่นอีกหลายอย่าง เช่น แจ้งเตือนเมื่อมีเงินเข้า ร้านค้าจะได้มั่นใจว่าได้รับเงินแล้ว หรือดูยอดขายได้ทุกวัน ช่วยร้านค้าบริหารจัดการยอดขายและสต็อกสินค้า รับเงินได้ทุกธนาคาร ผ่าน Mobile Banking Application ของธนาคารใดก็ได้ ร้านค้าได้รับเงินทันที ไม่ต้องเก็บเงินสด ไม่ต้องหาเงินทอน Log in เข้าระบบครั้งเดียวต่อ 1 Application และใช้ได้ทั้ง Smartphone และ tablet มากกว่า 1 เครื่อง และที่สำคัญ กรุงไทยระบุว่า “ใช้งานง่าย และไม่ยุ่งยาก”

เป๋าตุง กรุงไทย เริ่มขยายการให้บริการไปทั่วประเทศ และมีการโปรโมทในหลายจังหวัด เช่น กรุงเทพฯ, หาดใหญ่, เชียงใหม่, สุพรรณบุรี และอยุธยา ทั้งร้านค้าขนาดเล็ก ร้านค้าขนาดใหญ่ ร้านค้า Chain หรือองค์กรขนาดใหญ่ ร้านค้าออนไลน์ เพื่อให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมายที่จะมาเป็นผู้ซื้อ

นอกจากนี้ ในฐานะเป็นธนาคารที่เป็นหน่วยงานภาครัฐ จึงใช้จุดแข็งดังกล่าวไปให้บริการ เป๋าตุง กรุงไทย ในหน่วยงานภาครัฐและราชการแล้วกว่า 30 แห่ง รวมถึงงานครม. สัญจร ในจังหวัดต่างๆ โครงการ e-Donation ที่มีจุดประสงค์พัฒนาขึ้นเพื่อให้หน่วยรับบริจาคเงิน เช่น สถานศึกษา ศาสนสถาน ใช้บันทึกข้อมูลการรับบริจาค

กรุงไทย มีแผนที่จะเพิ่มจำนวนร้านค้าที่ให้บริการชำระเงินด้วย QR Code มากขึ้นในปี 2561 จากสิ้นปี 2560 ที่มีอยู่กว่าอยู่ 1 แสนราย พร้อมกับเดินหน้าติดตั้งเครื่องรับชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (EDC) ให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้นเช่นกัน

IMG_3572

แบงก์กรุงเทพ ปรับทัพสู้

ธนาคารกรุงเทพ หรือ BBL ปัจจุบันมีสินทรัพย์มากสุดเป็นอันดับ 1 ของระบบธนาคารด้วยสินทรัพย์กว่า 3.07 ล้านล้านบาท

ค่ายการเงินบัวหลวงแห่งนี้ พอร์ตลูกค้าส่วนใหญ่ แม้จะเป็นกลุ่มรายใหญ่เป็นหลัก และมีสัดส่วนลูกค้ารายย่อยไม่มากหากเทียบกับ 3 สถาบันการเงินอย่างกสิกรไทย ไทยพาณิชย์ และกรุงไทย แต่แบงก์กรุงเทพ ก็ได้มีการปรับตัว เพื่อต่อสู้บนสมรภูมิ QR Code ด้วย

QR code ของแบงก์กรุงเทพ จะให้ทำธุรกรรมผ่านแอปพลิเคชัน “บัวหลวง เอ็มแบงก์กิ้ง” ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาใหม่ หลังจากที่ธปท. ได้ให้ธนาคารกรุงเทพผ่านการทดสอบโครงการ QR Code Payment ซึ่งลูกค้าสามารถชำระเงินผ่านแอพพลิเคชั่นบัวหลวง เอ็มแบงก์กิ้ง สแกน QR Code มาตรฐานที่ร้านค้าเพื่อชำระเงินได้ทันที

ทั้งนี้ ธนาคารกรุงเทพ ได้เตรียมขยายการให้บริการไปยังกลุ่มร้านค้าเป้าหมายทั่วประเทศ ทั้งร้านค้าทั่วไป ร้านค้าในตลาดสด พันธมิตรในกลุ่มรถรับจ้างสาธารณะ ธุรกิจขายตรง บริษัทขนส่งสินค้า รวมถึงร้านค้าสวัสดิการของกลุ่มลูกค้าบัญชีเงินเดือน ซึ่งมีร้านค้าที่ลงทะเบียนพร้อมเพย์และเข้าร่วมให้บริการชำระเงินด้วย QR Code มากกว่า 17,000 ร้านค้า และคาดว่าปริมาณธุรกรรมพร้อมเพย์จะเติบโตเพิ่มขึ้นประมาณ 10-20%ในทุกๆ ปี

highlight-banner-500x280

สำหรับธนาคารพาณิชย์นอกเหนือจากนี้ก็ได้เข้าสู่สงคราม  QR Code ด้วยเช่นกันทั้งธนาคารทหารไทย หรือ ทีเอ็มบี ได้พัฒนาแอพพลิเคชัน “ทีเอ็มบี ทัช” หลังจากช่วงสิ้นปี 2560 มีผู้ใช้บริการกว่า 1 ล้านราย เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 40% และคาดว่าในกลางปี 2561 จำนวนผู้ใช้จะเพิ่มขึ้นเป็น 2 ล้านราย โดยบริการ QR Code ถือเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยขยายการใช้เพิ่มขึ้น

ในช่วงแรกของการเปิดใช้ QR Code นั้น ทีเอ็มบีได้เริ่มจากกลุ่มเอนเตอร์เทน เพราะถือว่าเหมาะกับไลฟ์สไตล์ลูกค้าธนาคารที่ชื่นชอบการดูหนังเป็นหลัก และหลังจากนั้นจะขยายไปในกลุ่มอื่นๆ ต่อไป

ธนาคารธนชาตหรือ TBANK ได้พัฒนาโมบายแอพพลิเคชัน เพื่อรองรับการทำธุรกรรม QR Code พร้อมกับการตั้งเป้าหมายว่า จะมีผู้ใช้ในช่วง 2-3 ปี(2561-2563) จำนวนกว่า 3 – 4 ล้านราย และที่ผ่านมาได้ร่วมมือกับพันธมิตร เช่น มาบุญครอง หรือ MBK (ผู้ถือหุ้นใหญ่ธนชาต) เพื่อให้ร้านค้าในมาบุญครองเปิดรับ QR Code ของธนชาตได้

นอกจากนั้น ยังมีความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยร่วมกับธนาคารการค้าต่างประเทศลาว หรือ BCEL (Banque Pour Le Commerce Exterieur Lao Public) สปป.ลาว ได้ร่วมมือกันในการนำมาตรฐาน QR code มาใช้ในการชำระเงินข้ามประเทศ ถือเป็นการพัฒนาต่อยอดการใช้มาตรฐาน QR code เพื่อช่วยสนับสนุนเกิดการเชื่อมโยงระบบการเงินระหว่างไทยกับ สปป.ลาว

มีการคาดการณ์ว่า การแข่งขันของการให้บริการ QR Code ยังจะเพิ่มขึ้นต่อไป จากฐานปัจจุบันที่มีคนเข้ามาใช้บริการยังไม่มากนัก โดยหากธนาคารหรือสถาบันการเงินไหน ชักชวนให้ลูกค้ามาใช้บริการ QR Code ได้มาก ก็จะเป็นช่องทางการสร้างรายได้ให้กับธนาคาร รวมถึงการเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่นๆ ให้กับลูกค้าได้ในอนาคตได้ง่ายด้วย

^300D9DE050F6A768C4BDFCF33340C251047E1510EAD0BAA8A3^pimgpsh_fullsize_distr


  •  
  •  
  •  
  •  
  •