ลันเจีย ลอดจ์ ธุรกิจที่ไม่ได้หวังผลกำไรเป็นหลัก

  • 298
  •  
  •  
  •  
  •  

[บทความนี้เป็น Advertorial]

LL_8

ครั้งก่อนเราตามแม่ๆ ที่จังหวัดน่าน ไปดูวิสาหกิจชุมชนการทอผ้าพื้นเมืองที่สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนและอยู่ได้ด้วยตนเองแล้ว คราวนี้เพื่อให้แผนพัฒนาการท่องเที่ยวขององค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) ขยายขีดความสามารถชุมชนสู่การเป็น “กิจการเพื่อสังคม” (Social Enterprise) เราจึงมาดูการทำกิจการเพื่อสังคมอีกรูปแบบหนึ่งซึ่งใช้ความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ มาขับเคลื่อนธุรกิจและแบ่งผลกำไรกลับคืนสู่ชุมชนกับ ลันเจีย ลอดจ์ จังหวัดเชียงราย

พอมีคำว่าลอดจ์ลงท้ายแล้ว คุณอาจนึกว่าเรากำลังจะรีวิวที่พัก แต่เปล่าเลยค่ะ ที่พักกลางป่ากลางเขาที่เรากำลังพูดถึงอยู่นี้ ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อแสวงหากำไรเข้าบริษัทเป็นหลัก แต่เป็นการทำงานร่วมกันหลายฝ่ายตั้งแต่ ลันเจีย ลอดจ์ ภายใต้การดำเนินงานของบริษัทเอเชี่ยน โอเอซิส ทราเวล จำกัด สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน องค์กรพัฒนาชุมชนชาวเขา องค์การบริหารส่วนตำบล ประชาคมหมู่บ้านและมูลนิธิหิมพานต์ เพื่อนำกำไรบางส่วนจากธุรกิจไปทำประโยชน์ต่อให้กับสังคมทั้งการพัฒนาชุมชนในพื้นที่และการกระจายความช่วยเหลือไปยังพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศไทย

LL_1

ย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2534 พื้นที่บริเวณนี้ยังกันดารมาก ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีถนน ไม่มีการคุมกำเนิด แต่ยังโชคดีที่มีหน่วยงานรัฐบาลและองค์กรไม่แสวงหากำไรเข้ามาพัฒนาพื้นที่อยู่เป็นระยะ จนกระทั่งปี พ.ศ. 2550 จึงหันมาให้ความสำคัญในเรื่องการสร้างอาชีพให้กับชาวบ้าน ประชาคมหมู่บ้านในตอนนั้นเห็นพ้องต้องกันว่ามีความสนใจเรื่องการท่องเที่ยว แต่ชาวบ้านเองก็ไม่แน่ใจว่านักท่องเที่ยวที่ไหนจะอยากมาเที่ยวบ้านชาวเขาแบบนี้ ไกลก็ไกล ไม่เห็นจะมีอะไรเลย ! โดยที่พวกเขาลืมไปว่าจริงๆ แล้วพวกเขามีสิ่งที่นักท่องเที่ยวต้องหัวใจพองโตเมื่อได้สัมผัสแน่นอน นั่นคือวิถีชีวิตความเป็นอยู่และประเพณีอันดีงามของชุมชนซึ่งเป็นมรดกตกทอดมาอย่างยาวนานนั่นเอง

LL_3

ในปี พ.ศ. 2551 บริษัท เอเชี่ยน โอเอซิส ทราเวล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนด้านการท่องเที่ยวที่มีแนวคิดในเรื่องการทำธุรกิจเพื่อสังคมเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ได้เข้ามาทำการท่องเที่ยวในชุมชนโดยใช้การท่องเที่ยวชุมชนอย่างมีส่วนร่วม มีการวางแผนการตลาด จัดกิจกรรมและแพ็กเกจทัวร์ร่วมกับชุมชนโดยให้ชาวบ้านสามารถตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง จนเกิดเป็นที่พักรูปแบบโฮมสเตย์ ก่อสร้างด้วยวัสดุธรรมชาติทั้งหมดและตั้งอยู่ห่างไกลจากสิ่งที่จะมาทำลายธรรมชาติ พร้อมนำเสนอวิถีชีวิตและภูมิปัญญาของชุมชนผ่านการทำกิจกรรมท่องเที่ยวร่วมกับชาวบ้าน เช่น การทำผ้าบาติกและผ้าทอพื้นเมือง ซึ่งมีความสวยงามโดดเด่นและเป็นสิ่งที่แม่บ้านชาวม้งทำเพื่อใช้เองตามครัวเรือนอยู่แล้ว จึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะสาทิตให้นักท่องเที่ยวดูหรือทำเพิ่มเพื่อสร้างรายได้ด้วยการนำมาขายผ่านช่องทางการตลาดที่ลันเจีย ลอดจ์มีอยู่ ให้นักท่องเที่ยวซื้อติดไม้ติดมือไปฝากคนที่บ้าน นอกจากนี้ยังมีการหยอดเสน่ห์ความประทับใจให้กับผู้มาเยือนด้วยเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่ได้ผลอันยิ่งใหญ่ เช่น การกำหนดให้นักท่องเที่ยวทุกคนที่เข้ามาที่นี่จะต้องปลูกต้นไม้คนละหนึ่งต้น คิดดูว่าหากนักท่องเที่ยวเข้ามาสักปีละห้าพันคน นั่นหมายถึงทุกปีจะมีต้นไม้ขึ้นในป่าแห่งนี้ถึงห้าพันต้น!

LL_F LL_4

ความพิเศษอีกอย่างหนึ่งของลันเจีย ลอดจ์คือ การกระจายรายได้ให้ทั่วถึงทั้งหมู่บ้าน พนักงานทุกคนที่นี่เป็นชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งมีสองกลุ่มคือ ชาวม้งและชาวละหู่  มีผู้ประสานงานทำหน้าที่จัดหางานและตำแหน่งงานว่างให้กับชาวบ้านและประสานงานกับองค์กรต่างๆ ที่เข้ามาในพื้นที่ ทุกสิ้นเดือนชาวบ้านจะได้รับเงินค่าแรงตามจำนวนชั่วโมงและวันทำงานของแต่ละคน และที่สำคัญคือรายได้จากนักท่องเที่ยวทุกคนที่เข้ามาเที่ยวในหมู่บ้านจะถูกหักคนละ30 บาท (ทั้งประเภทที่เข้าพักและไม่เข้าพัก) เพื่อสมทบเข้ากองทุนพัฒนาหมู่บ้านให้กรรมการหมู่บ้านได้นำไปใช้พัฒนาชุมชนต่อไป รูปแบบการดำเนินธุรกิจนี้ช่วยทำให้ชาวบ้านมีงานทำ ไม่ต้องกระเสือกกระสนออกไปหางานต่างถิ่น ลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่ไม่จำเป็น มีงบประมาณกลางเก็บสะสมของหมู่บ้านเพื่อนำไปทำประโยชน์ส่วนรวมและเผื่อแผ่ไปยังพื้นที่รอบนอกอีกด้วย

LL_9

ทั้งหมดนี้คืออีกรูปแบบของกิจการเพื่อสังคมรุ่นใหญ่ ซึ่งเชื่อว่าน่าจะเป็นโมเดลให้หลายๆ ชุมชนได้หยิบยกไปศึกษาและปรับใช้ให้เข้ากับวิถีชุมชนได้ โดยเฉพาะพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนทั่วประเทศ ซึ่งมีอพท. เป็นพี่เลี้ยง ที่พร้อมต่อยอดการท่องเที่ยวให้เป็นมากกว่าความเพลิดเพลินของผู้เที่ยว แต่เพื่อความอยู่ดีมีสุขของผู้อยู่อาศัยด้วยเช่นกัน

[บทความนี้เป็น Advertorial]


  • 298
  •  
  •  
  •  
  •