‘วัลยา จิราธิวัฒน์’ CEO หญิงคนแรก กับการพา ‘CPN’ หวนคืนสู่ ‘เซ็นทรัลพัฒนา’ และการเดินหน้าลงทุน 120,000 ล้านบาทใน 5 ปี

  • 446
  •  
  •  
  •  
  •  

เปิดวิสัยทัศน์แรก ‘วัลยา จิราธิวัฒน์’ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่หญิงคนแรกของบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด(มหาชน) หรือ CPN กับการพา CPN หวนคืนการสร้างแบรนด์ผ่านเซ็นทรัลพัฒนา ตอกย้ำความเป็น ‘นักพัฒนา’ ที่คิดและลงมือทำให้เกิดขึ้นจริง

เซ็นทรัลพัฒนา เป็นหนึ่งในธุรกิจของเครือเซ็นทรัลที่ถูกก่อตั้งขึ้นมาเมื่อปี 2523 เพื่อดำเนินธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และเริ่มใช้ CPN ซึ่งเป็นอักษรย่อของบริษัทมาเป็นแบรนด์ในปี 2528 หลังจากนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เนื่องจากสั้น มีความทันสมัยและจดจำได้ง่าย แต่ในปีนี้ปีที่จะก้าวสู่ปีที่ 42 จะกลับมาสร้างแบรนด์ด้วยชื่อเซ็นทรัลพัฒนาอีกครั้ง(แต่ชื่อในตลาดหลักทรัพย์ฯยังใช้ CPN เหมือนเดิม)

เหตุผลเพราะทางต้องการตอกย้ำภาพการเป็น ‘นักพัฒนา’ ที่อยู่เคียงข้างและช่วยพัฒนาประเทศชาติมาตลอด ในบทบาทของการเป็น ‘Place Maker’ เชื่อมโยง 2 สิ่งสำคัญ นั่นคือ ‘People’ คนและชุมชนที่เป็นพลังขับเคลื่อนสังคมและสร้างความเปลี่ยนแปลง และ ‘Planet’ สิ่งแวดล้อมและโลกใบนี้เข้ามาอยู่ใน Sustainable Ecosystem ที่เซ็นทรัลพัฒนาจะสร้างขึ้นมา

“ตลอดกว่า 40 ปีที่ผ่านมา ภาพจำของเรา คือ Center of Life ศูนย์กลางการใช้ชีวิตของผู้คน ไม่ใช่แค่ศูนย์การค้า หลายคนมองเป็นบ้านหลังที่ 2 หลังที่ 3 เป็นบ้านหลังใหญ่ และเราเป็นนักพัฒนา เป็นองค์กรนักคิด และลงมือทำให้เกิดขึ้นจริง เป็นสิ่งที่เราต้องการตอกย้ำ” วัลยากล่าวถึงสาเหตุของการกลับมาใช้เซ็นทรัลพัฒนาเพื่อสร้างแบรนด์องค์กรต่อจากนี้

นอกจากนี้ทางเซ็นทรัลพัฒนายังสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของแบรนด์ ด้วยการรีแบรนด์ตัดคำว่า ‘พลาซ่า’ และ ‘เฟสติวัล’ ที่เคยต่อท้ายชื่อของศูนย์การค้าออก เหลือแค่ ‘เซ็นทรัล’ แล้วตามด้วยสาขา พร้อมกับออกแบบโลโก้ของแต่ละสาขาให้มีความ Identity ใหม่สะท้อนเอกลักษณ์  ซึ่งวัลยา บอกว่า ไม่กลัวลูกค้าสับสน เพราะสุดท้ายคนยังจดจำได้ว่า เราคือเซ็นทรัล และอยู่ภายใต้เซ็นทรัล กรุ๊ป

จาก Retail Developer สู่  Mixed-use Development

ที่ผ่านมาเราคุ้นเคยว่า เซ็นทรัลพัฒนาจะโดดเด่นในเรื่องศูนย์การค้า ทว่าหลังจากประสบความสำเร็จในการสร้างโครงการมิกซ์ยูสที่เซ็นทรัล ลาดพร้าว ทำให้มีการ Refocus Business  จาก Retail Developer สู่  Mixed-use Development โดยให้ศูนย์การค้าเป็นแกนหลัก และเร่งขยายการเติบโตของธุรกิจอื่น ๆ ไปพร้อมกัน ภายใต้วิสัยทัศน์ Imagining better futures for all

ปัจจุบันธุรกิจของเซ็นทรัลพัฒนามีด้วยกัน 4 กลุ่มหลัก ประกอบด้วย ‘ธุรกิจศูนย์การค้า’  ที่ตอนนี้มีอยู่ 36 แห่ง ในไทย 35 แห่ง ในมาเลเซีย 1 แห่ง (เซ็นทรัล ไอซิตี้), ‘ธุรกิจที่พักอาศัย’ 23 แห่ง, ‘ออฟฟิส’ 10 แห่ง และโรงแรม 2 แห่ง ได้แก่ เซ็นทารา อุดรธานี และอีกแห่งเป็นโครงการที่ร่วมบริหารกับเครือฮิลตัน ที่พัทยา

ขณะที่การเดินหน้าตามวิสัยทัศน์ดังกล่าว ได้มีการวางงบลงทุนไว้ 120,000 ล้านบาทใน 5 ปี ตั้งแต่ปี 2565-2569 ดำเนินการผ่าน 3 กลยุทธ์ ได้แก่

1.Synergy for new solutions การผนึกกำลังธุรกิจจากทุกองค์ประกอบไม่ว่าจะเป็นทุกธุรกิจของเซ็นทรัลพัฒนา พาร์ทเนอร์ คู่ค้า และชุมชน ด้วยการมีธุรกิจศูนย์การค้าเป็นหัวใจ แล้วมองว่า จะสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจอื่นได้อย่างไร ซึ่งต่อจากนี้ทุกโครงการของเซ็นทรัลพัฒนาจะอยู่ในรูปแบบมิกซ์ยูสที่มีมากกว่า 1 ธุรกิจ

ตามแผน 5 ปีที่วางไว้ จะมีโครงการอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ อยู่ในมากกว่า 30 จังหวัด ทำให้จำนวนโครงการทั้งหมดรวมปัจจุบันและอนาคต จะประกอบด้วย ศูนย์การค้า 50 แห่ง ทั้งในและต่างประเทศ (ในต่างประเทศกำลังศึกษาในเวียดนาม 2-3 โครงการ รวมถึงมองกขยายการลงทุนในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) และคอมมูนิตี้มอลล์ 16 แห่ง (อยู่ระหว่างการศึกษาการขยาย), โครงการที่พักอาศัย 68 แห่ง, อาคารสำนักงาน 13 แห่ง และโรงแรม 37 แห่ง

2.Pioneer for better lives บุกเบิกสร้างมาตรฐานใหม่ของพื้นที่การใช้ชีวิตแห่งอนาคตด้วยแนวคิด Green & Well-Being ทุกโครงการใหม่ เน้น green สนับสนุนการใช้พลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ Well-Being

3.Opportunities  with purpose องค์กรแห่งการสร้างโอกาส เน้นพัฒนา ‘คน’ พัฒนาเมือง พัฒนาประเทศ และยกระดับอสังหาฯ และรีเทลของไทย โดยทางวัลยาบอกว่า อยากเชิญชวนคนรุ่นใหม่ที่มีความเป็นนักคิด นักพัฒนา และลงมือทำให้เกิดขึ้นจริง ซึ่งเป็น DNA ขององค์กรเข้ามาร่วมทีม

นอกจากนี้ ยังตั้งเป้าเป็นองค์กร Mixed-use Developer รายแรกสู่ Net Zero ภายในปี 2050 ด้วยแผนระยะยาวตั้งเป็น Net Zero Carbon Emission ให้ได้ผ่านการลดการใช้พลังงานให้ได้ 50% ลดการใช้ CFC และสารที่ทำลายชั้นบรรยากาศ และส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดหรือ Clean Energy ให้ได้อีก 50%

“เราไม่ได้มองการลงทุนระยะสั้น แต่มองระยะยาว 5 ปี 10 ปี 20 ปี ขณะเดียวกันก็มองสถานการณ์ปัจจุบัน มีการปรับตัวเป็นระยะ ๆ บ้าง แต่จากประสบการณ์ของตัวเองที่ทำงานที่เซ็นทรัลพัฒฯมา 10-20 ปี เรายังคงเดินหน้าตามแผนระยะยาวมาตลอด จากนี้ก็เช่นเดียวกันปัจจุบันเซ็นทรัลพัฒนามีส่วนช่วยสร้างเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจเทียบเท่าประมาณ 1% ของ GDP ของประเทศ และในอีก 5 ปีข้างหน้า จะยังคงเติบโตเช่นนี้ และทำให้เกิดการจ้างงานไม่ต่ำกว่า 150,000 ตำแหน่ง”

 


  • 446
  •  
  •  
  •  
  •  
CLOSE
CLOSE