เปิดศึกกันต่อ ‘CPN’ ยืนยันเปิด ‘เซ็นทรัล วิลเลจ’ ตามกำหนดเดิมวันที่ 31 ส.ค.นี้ แม้ศาลยังไม่มีคำสั่งคุ้มครอง

  • 105
  •  
  •  
  •  
  •  

ยังเป็นประเด็นต่อไป หลังศาลปกครองกลางยังไม่มีคำสั่งคดี ‘บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด(มหาชน)’ หรือ CPN ยื่นขอความคุ้มครองชั่วคราวกรณี ‘บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน)’ หรือ ทอท. ได้นำอุปกรณ์และตั้งเต็นท์ปิดทางเข้าออก ‘เซ็นทรัล วิลเลจ’ จนได้รับความเดือดร้อน

วันที่ 28 ส.ค.62 ศาลปกครองกลางได้มีการนัดไต่สวนกรณีดังกล่าวเกือบ 5 ชั่วโมง โดยศาลยังไม่มีคำสั่งใดออกมา เพราะองค์คณะผู้พิพากษาต้องนำข้อเท็จจริงกลับไปประชุมก่อน ขณะที่ CPN ยังยืนยันเปิด ‘เซ็นทรัล วิลเลจ’ ตามกำหนดเดิม คือ ในวันที่ 31 ส.ค.นี้

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ‘ปรีชา เอกคุณากูล’ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN ได้ชี้แจ้งประเด็นต่าง ๆ เกี่ยวกับเซ็นทรัล วิลเลจว่า ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา นับแต่เริ่มพัฒนาโครงการเซ็นทรัล วิลเลจ ทาง CPN ได้ทำงานด้วยความเป็นมืออาชีพ ยึดหลักธรรมาภิบาลในการทำงานถูกต้องทุกขั้นตอน มีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้มาโดยตลอด และขอยืนยันว่า โครงการเซ็นทรัล วิลเลจ ดำเนินการทุกอย่างถูกต้อง และได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมายจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและมีอำนาจรับผิดชอบโดยตรง

ส่วนกรณีข้อพิพาทเรื่องพื้นที่ อาจเกิดจากความเข้าใจไม่ตรงกันหรือตีความคลาดเคลื่อนของหน่วยงานรัฐ ซึ่งทาง CPN พร้อมเจรจากับทุกฝ่ายเพื่อยุติปัญหา และเชื่อว่า สามารถหาข้อยุติทางกฏหมายได้ แต่ไม่ใช่การตีความจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

 

ยังรอลุ้นคำสั่งศาล

สำหรับกรณีที่ได้ยื่นต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอความคุ้มครองชั่วคราวนั้น หากศาลมีคำวินิจฉัยไม่เป็นไปตามที่ CPN คาด ทาง ปรีชา กล่าวว่า ได้มีแผนสำรองเตรียมรับมือไว้แล้ว แต่ขอไม่เปิดเผยรายละเอียด

ขณะเดียวกัน หากศาลวินิจฉัยแล้วว่า CPN ทำทุกอย่างถูกต้อง​ ทางบริษัทฯ จะมีการฟ้องกลับหรือไม่ ปรีชาเผยว่า อยู่ระหว่างการพิจารณาดูผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการกระทำดังกล่าว ซึ่งยอมรับว่า ที่ผ่านมาทาง CPN ตลอดจนร้านค้าต่าง ๆ และผู้เกี่ยวข้องได้รับความเสียหายจากปัญหาที่เกิดขึ้น

“ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ผมขึ้นป้ายใหญ่โต แต่ไม่เห็นมีใครมาท้วงติงอะไร และเรื่อง Outlet Mall ที่อยู่ห่างสนามบิน 5 นาที 10 นาที ก็เป็นเรื่องปกติที่มีอยู่ในหลายประเทศ โดยเซ็นทรัล วิลเลจมีร้านค้ากว่า 150 ร้านค้า เกิดการจ้างงานพนักงานมากกว่า 1,000 คน และคาดว่า จะสร้างให้มีเม็ดเงินไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล้านบาท”

ชี้แจง 3 ประเด็นโครงการเซ็นทรัล วิลเลจ

นอกจากนี้ ทาง กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร CPN ยังได้ชี้แจงเกี่ยวกับ เซ็นทรัล วิลเลจ มี 3 ประเด็นได้แก่

ประเด็นที่ 1: พื้นที่โครงการมีการเชื่อมทางเข้าออกอย่างถูกต้อง ไม่มีการรุกล้ำที่ดินของภาครัฐ       (ที่ราชพัสดุ ลำรางสาธารณะ) และไม่ได้เป็นที่ดินตาบอด

  • ที่ดินโครงการเซ็นทรัล วิลเลจ ตั้งอยู่บนที่ดินที่ติดกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 ซึ่งไม่ได้อยู่ภายใต้การดูแลของ ทอท.
  • ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 เดิมเป็นที่ราชพัสดุ ต่อมากรมทางหลวงได้พัฒนาเป็นทางหลวงแผ่นดิน โดยได้ขึ้นทะเบียนเป็นทางหลวงแผ่นดินแล้ว จึงมีสถานภาพเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ทำให้ไม่มีสถานะเป็นที่ราชพัสดุตามมาตรา 7 (2) พ.ร.บ. ที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2562 และเป็นพื้นที่คนละบริเวณกันกับที่ภาครัฐเวนคืนมาเพื่อสร้างสนามบินที่ ทอท. ดูแล
  • โครงการได้รับอนุญาตเชื่อมทางอย่างถูกต้องจากกรมทางหลวง ซึ่งเป็นผู้ซึ่งมีอำนาจเต็มในการอนุมัติการเชื่อมทางแต่เพียงผู้เดียว
  • ทั้งนี้ พื้นที่ทางหลวงหมายเลข 370 หมายรวมถึง เขตทาง และไหล่ทาง ซึ่งติดกับที่ดินของเอกชน 2 ข้างถนน ซึ่งที่ดินของโครงการมีแนวเขตแนบสนิทต่อเนื่องกับเขตทางของ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 ดังนั้น ที่ดินของโครงการจึงไม่ใช่ที่ดินตาบอด

ดังนั้น รายละเอียดในส่วนของการโต้แย้งสิทธิในที่ดินหน้าโครงการ ระหว่างกรมทางหลวง ทอท. และกรมธนารักษ์ ขอชี้แจงเพิ่มเติม ดังนี้

โดยที่ดินนี้อยู่บนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 และมีป้ายเริ่มต้นและสิ้นสุดอย่างชัดเจน โดยทางหลวงแผ่นดิน 370 ซึ่งเคยเป็นที่ราชพัสดุ และมอบให้กรมทางหลวงสร้างและเป็นผู้ดูแล ซึ่งเป็นพื้นที่คนละส่วนกับพื้นที่ดินเวนคืนของสนามบินสุวรรณภูมิที่ ทอท ดูแล อีกทั้งทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 ถือเป็นทางหลวงสาธารณะ ที่ใช้เงินภาษีอากรของประชาชน ไม่ใช่ขององค์กรเอกชนใดที่จะมากล่าวอ้างเป็นเจ้าของได้

 

– โดยในปี 2511-2513 ภาครัฐได้จัดซื้อที่ดินเพื่อสร้างถนน

-ปี 2544 ครม. มีคำสั่งให้กรมทางหลวงสร้างทางเข้าออกด้านใต้ของสนามบิน ซึ่งคือทางหลวง         แผ่นดินหมายเลข 370

-ปี 2550 กรมขนส่งทางอากาศทำบันทึกมอบพื้นที่ให้กรมทางหลวงดูแลรักษาทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 370 ซึ่งประกาศใช้เป็นถนนสาธารณะและให้กรมทางหลวงรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว

-กรมทางหลวงจึงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองและมีสิทธิอนุญาตในการให้ใช้ประโยชน์จากทางหลวงแผ่นดิน 370 ได้มีการขึ้นทะเบียนเป็นทางหลวงแผ่นดินเมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2554 โดยมีป้ายแสดงจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดทาง ทำให้ชี้ได้ว่า สิทธินี้เป็นของกรมทางหลวง ซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้ประโยชน์เข้าออกได้ต่อเนื่องมาโดยตลอดแล้วจำนวน 88 ราย โดยแบ่งเป็น ผู้ที่ยื่นขออนุญาตเชื่อมทางกับกรมทางหลวงจำนวน 37 ราย

ทอท.เองก็ได้ขออนุญาตจากกรมทางหลวงในการใช้ประโยชน์ เช่น จากหลักฐานล่าสุดเมื่อ 14 พ.ค. 2562 ได้มีหนังสือจากกรมทางหลวงอนุญาตให้ ทอท. เดินท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดินและบ่อพัก ทั้งนี้ ไม่มีผู้ใช้ประโยชน์รายใด เคยยื่นขออนุญาตเชื่อมทางจาก ทอท. เลย

สำหรับพื้นที่อีกส่วนหนึ่งที่เกิดจากการจัดหาที่ดินตาม พ.ร.บ. เวนคืน เพื่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ

ในปี 2516 ได้มีประกาศ พ.ร.บ. เวนคืนที่ดินจำนวน 19,251 ไร่ เพื่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ โดยเป็นที่ดินคนละแปลงกับที่ดินทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 เพื่อชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่ ทอท. กล่าวอ้างสิทธิการดูแลและครอบครองที่ดินไหล่ทางหน้าโครงการ ไม่น่าจะเป็นกล่าวอ้างที่ถูกต้องนัก เพราะ

  • เป็นทางหลวงที่เปิดใช้เป็นเส้นทางสัญจรมาตั้งแต่ปี 2548 และกรมทางหลวงได้รับมอบจาก ทย. แล้วเมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2550 โดยได้ขึ้นทะเบียนเป็นทางหลวงแล้ว จึงมีสถานภาพเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน
  • อีกทั้งล่าสุดเมื่อ 14 พ.ค. 2562 ได้มีหนังสือจากกรมทางหลวงอนุญาตให้ ทอท. เดินท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดินและบ่อพัก

ประเด็นที่ 2: บริษัทฯ ได้ปฏิบัติตามกฎหมายผังเมืองอย่างเคร่งครัด

  • โครงการนี้ได้ปฏิบัติตามกฎหมายผังเมืองและได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องในการก่อสร้างในพื้นที่สีเขียว บริเวณ ก1-10 ไม่เกินร้อยละ 10 ของที่ดินพื้นที่สีเขียวบริเวณดังกล่าว โดยโครงการได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายผังเมือง
  • และไม่ได้มีการขอปรับผังเมืองแต่อย่างใด

ประเด็นที่ 3 : บริษัทฯ ได้ขออนุญาตก่อสร้างในบริเวณพื้นที่เขตปลอดภัยในการเดินอากาศ จากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยอย่างถูกต้อง

  • โครงการมีความปลอดภัยต่อการบิน ไม่ได้ละเมิดกฏใดๆ ทั้งด้านความสูง และไม่มีกิจกรรมใดๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานสนามบิน หรือรบกวนการบินแต่อย่างใด โดยแบบมีความสูงที่ถือว่าต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนด ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) จึงไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับการติดธงแดงตามที่มีการกล่าวอ้าง
  • และเราจะปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัดต่อไป

“เราหวังว่า จะได้รับความเป็นธรรม ซึ่งในช่วงแรกหากเซ็นทรัล วิลเลจเปิดดำเนินการ จะมีร้านค้าเปิดให้บริการราว 70% ก่อนจะเพิ่มเป็น 100 % ในอีก 1-2 เดือนจากนี้ และเราคาดการณ์จะมีผู้เข้ามาใช้บริการประมาณ 20,000 คนต่อวัน”

 


  • 105
  •  
  •  
  •  
  •