ขยะมีมูลค่า! ญี่ปุ่นผลิตเหรียญรางวัลโอลิมปิก – พาราลิมปิก “Tokyo 2020” จากขยะอิเล็กทรอนิกส์

  • 219
  •  
  •  
  •  
  •  

tokyo2020

ขึ้นชื่อว่า “ขยะ” อาจถูกมองว่าเป็นของไร้ค่า เป็นสิ่งที่ใครๆ ก็ไม่ต้องการ แต่ในความเป็นจริงแล้ว “ขยะ” สามารถนำกลับมาสร้างมูลค่าได้อีกมหาศาล เหมือนอย่างงานมหกรรมกีฬา “โอลิมปิก” (Olympic) และ “พาราลิมปิก” (Paralympic) ครั้งที่ 32 ที่จะจัดขึ้นที่กรุงโตเกียว ในชื่อ “Tokyo 2020” ทางคณะกรรมการผู้จัดการ จะนำ “ขยะอิเล็กทรอนิกส์” ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ กล้องดิจิทัล แล็ปท็อปเก่า รวมถึงเกมพกพา มาผลิตเป็น “เหรียญรางวัลนักกีฬา” ทั้งเหรียญทอง เหรียญเงิน เหรียญทองแดง

คณะผู้จัดงานมหกรรม Tokyo 2020 รวมกับหน่วยงานรัฐท้องถิ่นโตเกียว เริ่มต้นรวบรวมขยะอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อนำมารีไซเคิลผลิตเป็นเหรียญรางวัล ตั้งแต่ปี 2017 โดยรวบรวมทั้งจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกทิ้งแล้วก่อนหน้านี้ บวกกับประชาชนญี่ปุ่นได้นำโทรศัพท์มือถือ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ที่ใช้แล้ว มามอบให้ ทำให้เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2018 สามารถรวบรวมได้แล้ว 47,488 ตัน

โดยตั้งเป้าหมายวัตถุดิบสำหรับผลิตเหรียญทอง 30.3 กิโลกรัม, เหรียญเงิน 4,100 กิโลกรัม, เหรียญทองแดง 2,700 กิโลกรัม ซึ่งเวลานี้วัตถุดิบสำหรับรีไซเคิล ผลิตเหรียญทองแดง รวบรวมได้ครบตามเป้าหมายแล้วตั้งแต่เดือนมิถุนายนปีที่แล้ว ขณะที่เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา รวบรวมวัตถุดิบใช้ผลิตเหรียญทอง ได้แล้ว 90% และเหรียญเงิน 85% โดยผู้จัดงานตั้งเป้าโครงการรวบรวมวัตถุดิบขยะอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตเหรียญรางวัล จะเสร็จสิ้นในเดือนมีนาคมนี้

httpv://www.youtube.com/watch?v=Suzi_McCdPE

ทั้งนี้ แนวคิดนำขยะอิเล็กทรอนิกส์ มาผลิตเป็นเหรียญรางวัลนักกีฬา เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อครั้งมหกรรมกีฬา Olympic และ Paralympic “Rio 2016” ในครั้งนั้น วัตถุดิบ 30% ที่นำมาผลิตเหรียญเงิน และทองแดง มาจากขยะอิเล็กทรอนิกส์

ปัจจุบันในขณะที่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ได้รับการออกแบบและพัฒนาให้มีเทคโนโลยีสุดล้ำ และออกรุ่นใหม่เร็วขึ้น เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคเปลี่ยนเครื่องถี่ขึ้น กลับพบว่าปริมาณ “ขยะอิเล็กทรอนิกส์” เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งขยะเหล่านี้กำจัดยาก ทั้งยังมีการกำจัดผิดวิธี ทำให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต

United Nations University (UNU), International Telecommunication Union (ITU) และ International Solid Waste Association (ISWA) รายงานว่าขณะที่โลกกำลังเข้าสู่ยุค Digital Economy ทำให้สังคม และผู้คนได้รับประโยชน์ด้านต่างๆ เช่น ด้านสุขภาพ ด้านการศึกษา ที่ช่วยสร้างโอกาสให้กับทั้งระดับประชากร และสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ

แต่ในเวลาเดียวกันปริมาณของอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลายกลับเพิ่มสูงขึ้น สิ่งเหล่านี้เมื่อหมดอายุการใช้งาน หรือเมื่อเปลี่ยนรุ่นแล้ว กลับกลายเป็น “ขยะอิเล็กทรอนิกส์” โดยในปี 2016 ปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ ทั่วโลกอยู่ที่ 44.7 ล้านตัน และนำจำนวนนี้ มีเพียง 20% เท่านั้นที่ถูกนำไปรีไซเคิล และคาดการณ์ว่าในปี 2021 จะเพิ่มขึ้นเป็น 52.2 ล้านตัน สะท้อนได้ว่า “ขยะอิเล็กทรอนิกส์” ไม่ใช่ปัญหาของประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เป็นปัญหาระดับโลกที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันแก้ไข

 

Source : BBC , The Guardian

 


  • 219
  •  
  •  
  •  
  •  
WP
อยู่ในแวดวงนิตยสารธุรกิจการตลาดกว่าสิบปี สนุกและชอบติตตามเทรนด์ ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมในแพลตฟอร์มดิจิทัล มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การตลาดและดิจิทัลร่วมกันนะคะ