คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ได้หารือกับ 5 ผู้ประกอบธุรกิจให้บริการดิจิทัลเเพลตฟอร์มรับและส่งอาหาร หรือ Food Delivery เพื่อพิจารณาแนวทางการปรับลดอัตรา GP สำหรับเป็นอีกหนึ่งแนวทางช่วยลดผลกระทบให้แก่บรรดาผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19
หลังจากได้รับข้อร้องเรียนจากผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารโดยเฉพาะ SMEs พบว่าผู้ให้บริการ Food Delivery มีการเรียกเก็บค่า GP (Gross Profit) ในอัตราสูงถึง 30-35% ทำให้ผู้ประกอบการร้านอาหารจำนวนมากที่ไม่สามารถเปิดให้บริการได้ตามปกติ เนื่องจากปฏิบัติตามมาตรการล็อกดาวน์ จำเป็นต้องหันพึ่งการขายผ่านฟู้ดเดลิเวอรี่ ได้รับผลกระทบจากการเรียกเก็บค่า GP ในอัตราที่สูง
กรณีดังกล่าว ทาง สมศักดิ์ เกียรติชัยลักษณ์ เลขาธิการ กขค. เปิดเผยว่า ได้เชิญผู้ให้บริการ Food Delivery จำนวน 5 ราย ได้แก่ Grab, Lineman, Gojek, Foodpanda และ Robinhood เข้าร่วมหารือผ่านทางออนไลน์ เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหารรายย่อย โดยให้การเรียกเก็บค่า GP และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ จากผู้ประกอบการร้านอาหารในอัตราที่เป็นธรรม และห้ามมีพฤติกรรมทางการค้าที่เข้าข่ายการกระทำความผิดตามกฎหมายการแข่งขันทางการค้า
ในปัจจุบันพบว่า มีผู้ประกอบธุรกิจ 4 ราย คือ Grab, Lineman, Gojek, Foodpanda ที่เรียกเก็บค่า GP สูงสุดในอัตราไม่เกิน 30% (ไม่รวม VAT) ขณะที่ Robinhood ไม่เก็บค่า GP ซึ่งประเด็นสำคัญในการหารือได้ขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบธุรกิจทุกรายพิจารณาแนวทางการปรับลดอัตราค่า GP รวมถึงมาตรการช่วยเหลืออื่น ๆ เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร
ทั้งนี้ กขค. ได้ขอผู้ให้บริการธุรกิจแพลตฟอร์มแต่ละรายนำขอเรียกร้องไปพิจารณาถึงความเป็นไปได้และความเหมาะสมในการช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารในช่วงสถานการณ์การการแพร่ระบาดครั้งนี้ และแจ้งผลให้ กขค. ภายในสัปดาห์นี้