เมื่อวันที่ 10 มกราคม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ฉลองครบรอบ 80 ปีแห่งการสถาปนามหาวิทยาลัย ด้วยการเป็นเจ้าภาพจัดงาน เทคโนโลยีในอนาคตสังคมซอฟต์แวร์ (The Future Technology of Social Software) ที่โรงแรมดุสิตธานี โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ Mr. Christopher Cox, the Vice President of Products ของบริษัท Facebook Inc. มาเป็นผู้บรรยาย มีผู้สนใจเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก
Christopher เริ่มการบรรยายด้วยการชี้ให้เห็นความมหัศจรรย์ของเครื่องมือทางเทคโนโลยีที่สามารถเสกความสะดวกสบายและเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคจากหน้ามือเป็นหลังมือในโลกปัจจุบัน โดยเมื่อเทียบกับปี 1985 ซึ่งถอยหลังไปเป็นเวลา 2 ทศวรรษ การจะบรรยายว่าโซเชียลเนคเวิร์กอย่าง Facebook เป็นอย่างไร หรือการอธิบายระบบทัชสกรีนบนสมาร์ทโฟนเป็นอย่างไร ถือเป็นเรื่องยากลำบากมากเพราะเทคโนโลยีเหล่านี้ไม่เคยปรากฏตัวมาก่อนในหน้าประวัติศาสตร์
การมาถึงของโซเชียลมีเดีย จึงเปลี่ยนพฤติกรรมการรับสารของผู้บริโภคไปอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้นทุนในการสื่อสาร (Cost of communication) ได้แก่ เวลา ความพยายาม และเงิน ที่ลดน้อยลงอย่างมาก นอกจากนี้ ระบบการสื่อสารในปัจจุบันที่แตกต่างจากอดีตอย่างเห็นได้ชัดคือ การสื่อสารที่ไม่มีค่าใช่จ่าย (free) และทรงประสิทธิภาพ (High quality) ที่ทำให้ทุกคนสามารถเชื่อมต่อกันอย่างมีเงื่อนไขน้อยลง อย่างไรก็ตาม แม้ Facebook จะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ผลักดันกลไกของสังคมหลายสังคม ในมิติการเมือง สังคม วัฒนธรรม และธุรกิจ แต่ Facebook ยังคงมองตัวเองว่าเป็นเพียง Medium (สื่อกลาง) ชิ้นหนึ่งที่มีหน้าที่ดังต่อไปนี้
- Social graph หมายถึงการเชื่อมโยงสังคมเข้าด้วยกัน ซึ่งเป็นคอนเซปต์ที่เพิ่งเกิดขึ้นในปี 2005 โดยผู้คน keep in touch กับเครือข่ายของตัวเอง และรู้จักกับคนใหม่ๆ ผ่านทาง Facebook และในอนาคต Facebook ยังมองเรื่องการ “เชื่อมต่อกับอดีต” หรือการค้นหาเอกสารหรือบุคคลที่มีความสำคัญก่อนการเกิดขึ้นของ Facebook เพิ่มเติม
- Publisher Facebook สนใจเรื่องการเดินทางของความคิด หรือ การส่งผ่านความคิดจาก influencer ไปสู่ followers ดังนั้น Facebook ได้กระจายอำนาจให้ผู้ใช้ทุกคนสามารถเป็น publisher ได้ด้วยตนเอง ดังนั้น การตัดสินว่าใครจะเป็น opinion leader จะเปลี่ยนไป จากคนไหนเสียงดังที่สุด กลายเป็นใครมีคอนเทนต์ที่ดีที่สุด
- Platform เมื่อได้คอนเซปต์สองข้อด้านบนแล้ว Facebook จะหาทางส่งความคิดทั้งสองแบบข้างต้นนี้ไปยัง platform ที่หลากหลายมากที่สุด เพื่อให้เกิด traffic ที่หลากหลายและมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยไม่ลดทอนคุณภาพของสารดังกล่าว
ปิดท้ายด้วยการตอบคำถามผู้เข้าร่วมสัมมนา Christopher แสดงความเห็นต่อกรณีที่มีผู้ถามว่าทำไม Facebook ถึงไม่เริ่มเปลี่ยนตัวเองเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ต่างๆ เช่นเดียวกับที่ Google ทำ (เช่น Google Maps, Google News และอื่นๆ ) Christopher ตอบว่า โซเชียลเนคเวิร์กแต่ละแบรนด์ต่างก็ทำหน้าที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่หลากหลายกันออกไป Facebook ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางที่จะเชื่อมผู้คนให้เข้าหากัน ดังนั้น แนวทางของ Facebook ส่วนใหญ่จะอยู่ที่การพัฒนาระบบและเครือข่ายให้เป็นมิตรกับผู้บริโภคมากขึ้น ส่วนบทบาทการเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์อาจยังไม่มีความชัดเจนเท่าไหร่นัก
ด้านอนาคตของวงการดิจิตอล Christopher ให้ความเห็นว่า อนาคตของวงการดิจิตอลคือ Networking หรือเครือข่าย โดยเทคโนโลยีในอนาคตจะต้องแสดงบทบาทเป็นผู้เชื่อมโยงผู้คนเข้าหากัน (เช่น PS ที่เริ่มมีการเชื่อมต่อผู้คนเข้าหากันผ่านระบบออนไลน์ระหว่างเล่นเกม) แนวทางนี้จะทำให้โซเชียลมีเดียมีความหลากหลายขึ้นและจะทำหน้าที่เฉพาะอย่างหนึ่งอย่างใดเป็นพิเศษ เช่น Twitter ก็อาจเป็นแหล่ง Gossip หรือ Facebook ก็เป็นเหมือนห้องที่ให้ผู้คนมาพบปะสังสรรค์กัน ดังนั้น โซเชียลเนคเวิร์กหลายแบรนด์จะพยายามคงและพัฒนาจุดยืนของตัวเองให้ดีขึ้น