องค์กรจะทำอย่างไร เมื่อ The Great Resignation การลาออกระลอกใหญ่ของมนุษย์เงินเดือน กำลังกลายเป็นกระแส

  • 310
  •  
  •  
  •  
  •  

‘คน’ เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ชี้วัดความความสำเร็จขององค์กร โดยเฉพาะพนักงานที่มากความสามารถ ดังนั้นการรักษาคนกลุ่มนี้ไว้ให้อยู่กับองค์กรจึงเป็นสิ่งสำคัญ แต่ตอนนี้กำลังเกิดกระแส The Great Resignation หรือการลาออกจำนวนมากของพนักงานในช่วงการระบาดของโควิด-19 ซึ่งเป็นสิ่งที่บรรดาองค์กรต่าง ๆ ต้องจับตามองและเตรียมการรับมือให้ทันท่วงที หากไม่อยากสูญเสียพนักงานมากความสามารถออกจากองค์กร

The Great Resignation มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นหลังจากการระบาดซาและเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว โดยสาเหตุมาจากผลกระทบที่พนักงานได้รับจากการทำงานในระหว่างการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้คนทำงานได้กลับมาทบทวนตัวเองอีกครั้งว่า ‘จริงๆ ชีวิตการทำงานในรูปแบบที่ต้องการเป็นอย่างไร ทำให้สิ่งที่คนทำงานคาดหวังต่อจากนี้เปลี่ยนไปและมีความคาดหวังที่จะได้รับในสิ่งที่ดีขึ้นกว่าเดิมจากองค์กร’ ได้แก่

1.โควิด-19 ทำให้พนักงานต้องการ work from anywhere

การ work from home เป็นเวลานาน ทำให้คนทำงานได้เรียนรู้ว่า เราสามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้และยังช่วยเพิ่มสมดุลการใช้ชีวิตจากการทำงานที่ยืดหยุ่น แต่เมื่อโควิด-19 ซาลง องค์กรจำนวนไม่น้อยกลับคาดหวังให้พนักงานกลับมาทำงานที่ออฟฟิศ ซึ่งขัดแย้งกับความคิดของพนักงาน ทำให้พนักงานส่วนใหญ่แสวงหาชีวิตการทำงานที่ยืดหยุ่น โดยจากผลสำรวจ Resetting Normal ของ Adecco ที่สำรวจในพนักงานกว่าหนึ่งหมื่นคนทั่วโลกพบว่า พนักงานมากถึง 41% พร้อมที่จะเปลี่ยนงานหากองค์กรใหม่สามารถมอบชีวิตการทำงานที่ยืดหยุ่นให้กับพวกเขาได้

2.โควิด-19 ทำให้พนักงานต้องการ well-being

 

ช่วงโควิดที่ผ่านมาพนักงานจำนวนมากมองว่า องค์กรไม่ค่อยได้ช่วยเหลือพนักงานในการป้องกันพนักงานจากการติดเชื้อโควิดได้ดีเท่าที่ควร โดยเฉพาะพนักงานภาคบริการที่ต้องยังต้องเดินทางมาทำงานที่ออฟฟิศและต้องทำงานพบปะผู้คน สิ่งนี้ทำให้พนักงานรู้สึกเสี่ยง บวกกับภาระค่าใช้จ่ายในการป้องกันโควิดในการทำงานที่พนักงานต้องรับผิดชอบเอง เช่น ค่าหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ ค่าตรวจโควิด การวิ่งเต้นหาวัคซีน หรือการไม่ให้ค่าจ้างในช่วงที่พนักงานไม่มาทำงานเพราะป่วยเป็นโควิดหรือต้องกักตัว รวมถึงเรื่องความมั่นคงทางการเงินที่สูญเสียไป เพราะถูกลดค่าจ้างหรือถูกเพิ่มชั่วโมงการทำงานแต่ได้รับเงินเท่าเดิม

สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้คุณภาพชีวิตของพนักงานแย่ลง ดังนั้นการที่องค์กรไม่มาช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของพนักงานในจุดนี้หรือทำได้ต่ำกว่าที่คาดหวังก็เป็นสาเหตุที่ทำให้พนักงานเอาใจออกห่างและอยากลาออกจากองค์กร

3.โควิด-19 ทำให้พนักงานหมดไฟ

ช่วงล็อคดาวน์ที่พนักงานออฟฟิศต้องปรับมาทำงานที่บ้านแบบเต็มรูปแบบ มีองค์กรจำนวนไม่น้อยที่ออกมาตรการให้พนักงานหาวิธียืนยันตัวตนในเวลาทำงานอยู่บ่อยๆ รวมถึงใช้การบริหารแบบ micro management เพื่อให้แน่ใจว่า ‘พนักงานจะอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ตลอดเวลา’ สิ่งนี้อาจสร้างความอึดอัดใจให้พนักงานเป็นอย่างมาก รวมถึงตั้งแต่มีการ Work From Home พนักงานต้องเจอกับภาระงานที่หนักขึ้นกว่าตอนทำงานที่ออฟฟิศและขาดสมดุลในการใช้ชีวิต ทำให้พนักงานจึงรู้สึกเบื่อหน่ายและหมดไฟที่จะทำงาน โดยจากผลสำรวจของ Adecco พบว่า พนักงาน 63% ที่ต้องทำงานล่วงเวลาในช่วงที่ผ่านมา และมีพนักงานถึง 4 ใน 10 ที่เข้าสู่ภาวะหมดไฟ

4.โควิด-19 ทำให้พนักงานกังวลเรื่องความมั่นคงในอาชีพ

ความไม่แน่นอนในช่วงโควิดส่งผลให้พนักงานมีความกังวลเรื่องความมั่นคงในอาชีพมากขึ้น พนักงานจึงกลับมาประเมินองค์กรของตนอีกครั้งว่า ได้มอบโอกาสในการพัฒนาความรู้และทักษะหรือไม่ มีโอกาสที่จะเติบโตในที่ทำงานเดิมหรือไม่ รวมถึงเรื่องความมั่นคงทางการเงินขององค์กรและอนาคตในอุตสาหกรรม หากองค์กรไม่มีความชัดเจนตรงนี้ พนักงานก็จะไม่มั่นใจในอนาคตและมองหาลู่ทางในการย้ายงานเช่นเดียวกัน

สำหรับกระแส The Great Resignation เป็นปรากฏการณ์ลาออกครั้งใหญ่ที่เริ่มเกิดขึ้นแล้วในประเทศฝั่งตะวันตกที่สามารถควบคุมโรคระบาดได้และมีสถานการณ์เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวขึ้น ซึ่งกระแสนี้เหมือนเป็นสัญญาณเตือนให้องค์กรต่างๆ หันมาดูแลพนักงานให้ดียิ่งขึ้น เพื่อป้องกันการลาออกครั้งใหญ่ของพนักงานจำนวนมากในองค์กร โดยเฉพาะพนักงานมากความสามารถที่มีโอกาสเปิดกว้างรอพวกเขาเสมอ

การปรับปรุงนโยบายด้าน employee engagement และการนำ empathy หรือ ความสามารถในการเข้าอกเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของผู้อื่นเสมือนว่าเราเป็นคนคนนั้น จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่องค์กรต้องเร่งทำ เพราะเป็นสิ่งที่จะช่วยทำให้พนักงานรู้สึกว่า องค์กรยังใส่ใจและยังฝากอนาคตไว้ได้ในช่วงเวลาที่ไม่แน่นอนนี้

 

ที่มา : Adecco Thailand


  • 310
  •  
  •  
  •  
  •