Podcast – EP.12 ความหมายที่แท้จริง และเบื้องหลังเชิงจิตวิทยาของ Engagement

  • 695
  •  
  •  
  •  
  •  

ความหมายที่แท้จริง และเบื้องหลังเชิงจิตวิทยาของ Engagement

เชื่อว่าทุกคนที่ทำงานในวงการ Digital Marketing ไม่ว่าจะเป็นเอเจนซี่ แบรนด์ หรือว่าสายคอนเทนต์ จะต้องได้ยินคำว่า Engagement อย่างแน่นอน แต่เชื่อว่าก็ยังมีอีกหลายคนที่จะยังไม่รู้ว่าแท้จริงๆ แล้ว คำว่า Engagement มันใช่อย่างที่เรารู้จักจริงๆ หรือเปล่า และมันสามารถแยกย่อยได้อย่างละเอียดอะไรได้อีกบ้าง รวมทั้งการวัดผลเพื่อนำมาใช้ในงานการตลาดได้อย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพอย่างแท้จริง

ดังนั้น MarketingOops! Influencer Marketing EP.12 จึงชวนมาฟัง เจาะลึก metric ที่ชื่อว่า Engagement ซึ่งเป็นศัพท์ที่วงการ Digital Marketing พูดกันบ่อยเหลือเกิน และค่อนข้างจะเป็นประเด็นที่คลาสสิค แต่จริงๆ แล้วมันจำเป็นหรือไม่จำเป็นกันแน่ มันมีผลต่อเนื่องอย่างไรบ้าง ซึ่งวันนี้อยากจะมาพูดว่า Engagement มีความหมายยังไง และตีความได้อย่างไรใน Influencer Marketing

 

Engagement เหมือนหรือแตกต่างกับคำว่า Interaction หรือไม่

Engagement จะขอไม่แปลไทยแล้วกันเพราะว่าแปลไทยลำบาก บางคนอาจจะมองว่าการมีปฏิสัมพันธ์ได้หรือเปล่า ซึ่งถามว่ามันผิดไหม ได้หรือเปล่า มันก็ไม่ได้ผิด แต่การมีปฏิสัมพันธ์มันมีอีกศัพท์คือคำว่า Interaction ซึ่งคำว่า Interaction ในมุมของผมนั้นมันค่อนข่างแตกต่างจาก Engagement พอสมควร เวลาเราพูดถึง Interaction ก็คือ การมีปฏิสัมพันธ์กัน คือสามารถวัดได้ทุกอย่างเลย ไม่ว่า audience จะทำอะไรกับเราสักอย่างหนึ่ง จะกดไลก์ จะกดปุ่ม see more เพื่อดูคอนเทนต์เพิ่มเติม จะกดดูรูปภาพ ขยายรูปภาพ จะกดเซฟไว้ดูทีหลัง หรือจะ retweet จะ inbox จริงๆ มันมีเยอะแยะมากมายที่เป็น Interaction แต่คำถามคือ Interaction เหล่านี้มีอะไรบ้างที่เรา สามารถพูดได้ว่ามันคือ Engagement ดังนั้นเราก็เลยต้องมาพูดว่า Engagement คืออะไรก่อน

ถ้าเราพูดว่า Brand Engagement จะหมายถึง การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างแบรนด์และผู้บริโภค คีย์เวิร์ดมันอยู่ตรงนี้ การสร้างความสัมพันธ์ ซึ่งมันมีความหมายลึกซึ้งมากกว่าคำว่า Interaction เฉยๆ ถ้าจะเปรียบเทียบกับงานเลี้ยง การ Interaction ก็คือการจับมือทักทายผู้ร่วมงานแล้วก็จบกันไป แต่ Engagement มันอาจจะต้องมีบางคนที่เราไปคุยแล้ว อยากสร้างความสัมพันธ์ต่อ เช่น คุยกันถูกคอ ขอคอนแท็กไว้ อันนั้นคือความหมายของ Engagement ที่แตกต่างจาก Interaction

ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับทรัพยากรบุคคล เรื่องของ Engagement ก็จะใช้กันในคำศัพท์ที่เรียกว่า Employee Engagement Survey คือการวัดค่าความรู้สึกผูกพันของคนทำงานในองค์กร มีความภาคภูมิใจต่อองค์กรมากน้อยแค่ไหน เห็นคุณค่าในการทำงานมากน้อยแค่ไหน ทุ่มเทให้กับการทำงานมากน้อยแค่ไหน อันนี้คือสิ่งที่เราเรียกว่า Engagement ที่ตัวบุคลากรมีกับตัวองค์กร จะเห็นว่าคำว่า Engagement เราจะต้องเลือกว่า metric ไหน เราจะให้ค่ามันเป็น Engagement หรือ metric ไหนเราจะให้ค่ามันเป็น Interaction เฉยๆ ผมแนะนำให้ทำอย่างนี้

 

วิธีแยก สิ่งไหนคือ Engagement กับ Interaction

ให้เอา metric ที่เราเก็บได้มาแยกเป็น 2 กอง แล้วเราก็วิเคราะห์ออกมาว่ากองไหนเป็น Interaction กองไหนเป็น Engagement แล้วพอเราได้ก็มาเรียงลำดับตามความสัมพันธ์ พอทำแบบนี้แล้วเราก็มาดูว่าอะไรที่เราต้องให้ค่า

จุดสำคัญอยู่ตรงนี้ จุดสำคัญอยู่ที่ว่า Engagement ที่เราใช้วัดบนคอนเทนต์ Marketing บางทีสมมุติว่า Brand สร้างคอนเทนต์บน ช่องทางของ Brand เอง เราก็จะเหมารวมไปว่า Engagement ที่เกิดขึ้นบนคอนเทนต์ คือ Engagement ที่เกิดขึ้นกับ Brand พูดง่ายว่า ก็คือว่าเรามองว่า Content Engagement ก็คือ Brand Engagement ถามว่าถูกไหม ก็ไม่ถูกซะทีเดียว เพราะว่าบางคนเขา Engagement เขา Engageที่ตัวคอนเทนต์ ไม่ได้ Engage ที่ตัว Brand อันนี้ผมพูดถึงว่าเวลา Brand สร้างคอนเทนต์ที่ไม่ค่อยเกี่ยวข้องกันกับสินค้า หรือตัวเองตรงๆ ดังนั้น เราเลยต้องแยกแยะว่า Engagement นั้นเป็น Content Engagement หรือเป็น Brand Engagement หรือเวลาเราพูดถึง Influencer Marketing คอนเทนต์นั้นเป็น Influencer Engagement ด้วยรึเปล่า

สรุปก็คือมี 3 อันเลย Content Engagement, Influencer Engagement, Brand Engagement คือเราจะต้องแยกแยะเข้าไปอีก ซึ่งมันจะซับซ้อนมาก เพราะเวลาแบรนด์ทำคอนเทนต์กับ Influencer เชิง tie-in แล้วมียอด Like ขึ้นมา 1 ชุด เราจะรู้ได้อย่างไร ว่ายอด Like เป็นเพราะว่าเขาอยาก Like เพราะ Influence หรือเขาอยาก Like เพราะคอนเทนต์ หรือเขาอยาก Like เพราะแบรนด์มาร่วมงานกับ Influencer มันก็ต้องแยก แต่ในความเป็นจริงมันแยกได้หรือไม่ มันก็คงแยกไม่ได้ทั้งหมดนอกจากว่า แพล็ตฟอร์มเขาสามารถรู้ได้ว่าอะไรคืออะไร แต่อย่างน้อยเรารู้แล้วว่าการ Engagement แบ่งเป็นกี่แบบ มีอะไรบ้าง

 

จิตวิทยาเบื้องหลัง Engagement

ทีนี้เรามาเจาะเบื้องหลังจิตวิทยาของ metric Engagement กันต่อ ซึ่งได้เลือก metric ที่ทุกๆ แพล็ตฟอร์มใช้กัน ก็คือ Like Comment และ Share เราจะมาดูว่าภายใต้การกด Like  ภายใต้การ Comment ภายใต้การ Share มันมีนัยยะสำคัญต่อการตลาดของเราอย่างไรบ้าง

เรื่องแรก การกด Like ของเราแต่ละครั้ง หมายถึงอะไร จริงๆ แต่ละคนเวลากดไลก์ มันมีเหตุผล แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ยิ่งเหตุผลเกี่ยวข้องกับ Influencer ด้วยแล้วการกดไลก์ อย่างที่บอกคือแบ่งน้ำหนักไปให้กับตัวคอนเทนต์ หรือแบ่งไปให้กับตัว Influencer ทีนี้มันมีความยากตรงที่ว่าสมมุติเรามีจำนวน การกดไลก์ขึ้นมา 1 ชุด มันจะแบ่งเป็นเหตุผลอะไรได้บ้าง ซึ่งได้แบ่งกันออกมาเป็น 5 เหตุผลของการกดไลก์

  • กลุ่มที่ 1 เรากด Like มาจากการที่เราชอบตัว Content นั้นจริงๆ

เป็นการกดไลก์จากการที่เราได้อ่านคอนเทนต์ ดูคอนเทนต์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ไม่ว่าจะเป็นทั้งหมดหรือบางส่วน อย่างน้อยเขาได้เห็นคอนเทนต์ เข้าใจเนื้อหาหลักเรียบร้อยแล้ว ถ้าคอนเทนต์นั้นถูกออกแบบมาจากโจทย์การตลาด Like แบบนี้ถือว่าดีที่สุด เป็น Engagement ที่ถือว่าสมบูรณ์แบบ บรรลุเป้าหมายที่แบรนด์ต้องการ เพราะว่าไลก์นั้น ไลก์บนตัว Content มีความชอบตัว Content

  • กลุ่มที่ 2 การเกิด Like เกิดจากตัว Influencer

อันนี้เราอาจจะเห็นกันอยู่บ่อยๆ เพราะว่า เราอาจจะกดไลก์เพราะว่าเราชอบตัว Influencer จริงๆ เราอาจจะคอยกดไลก์ตั้งแต่ Influencer โพสต์แล้วด้วยซ้ำไป ถ้าถามว่าเราได้เปิดดูหรือยัง เราอาจจะยังไม่ได้เปิดดูก็ได้ แต่เราอยากกดไลก์เพราะว่าเราอยากเป็น Supporter ที่ดี เป็นผู้สนับสนุน Influencer ท่านนั้นที่ดี บางคนอาจจะกดไลก์แล้วค่อยดูคอนเทนต์ บางคนกดไลก์แล้วไม่ได้ดูคอนเทนต์นั้นด้วยซ้ำไป ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้นจริง นัยยะสำคัญทางการตลาดมันเห็นได้น้อย ถ้าเทียบกับแบบแรกที่ตัวการชื่นชอบคือคอนเทนต์จริงๆ มันอาจจะไม่ดีกับแบรนด์เสียเท่าไหร่

  • กลุ่มที่ 3 เรา Like เพราะว่าเราใช้มันเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงออก

อันนี้เป็นผลต่อเนื่องมาจากสองข้อแรก เราอาจจะไม่ได้ไลก์เพราะว่าชื่นชอบตัวคอนเทนต์หรือว่าตัว Influencer แต่เราไลก์เพราะว่าเราอยาก Express อะไรบางอย่างออกมา เช่นเรากดไลก์แทนปุ่ม Emotion ถึงแม้ว่าเราจะมีปุ่ม Emotion ต่างๆ มากมาย คนส่วนใหญ่ก็ยังชอบกดไลก์มากกว่าอยู่ดี บางคนใช้การกดไลก์แทนปุ่มโกรธ ปุ่มเกลียด หรืออะไรก็แล้วแต่ หรืออีกทางหนึ่งเป็นการกดไลก์เพื่อบอกคนโพสต์ว่า acknowledge ว่ามีคอนเทนต์ รู้แล้วนะว่ามีคอนเทนต์นี้เกิดขึ้น เป็นการ Express บางอย่างเรารู้ว่ามีคอนเทนต์นี้เกิดขึ้น เรากดไลก์ไปเรื่อยๆ เพราะไม่อยากตกกระแสที่คนสนใจ ถามว่าเขาได้ดูคอนเทนต์นี้หรือไม่ก็อาจจะไม่ได้ดูก็ได้ แค่เป็นเอฟเฟ็กต์ที่อาจจะเกิดจากสภาวะที่เรียกว่า FOMO หรือย่อมาจาก Fear of Missing Out

  • กลุ่มที่ 4 เป็นการกดไลก์แบบ Auto-pilot

เราอาจจะเคยเห็นคนไถฟีดไปเรื่อยๆ แล้ว กดไลก์ไปเรื่อยๆ ทุกอัน โดยไม่สนด้วยว่าคอนเทนต์นั้นคืออะไร ซึ่งเราจะเห็นว่ามีคนที่ทำแบบนี้จริงๆ คือกดไลก์ทุกอัน เบื้องหลังเขาอาจจะอยากบอกคนอื่นให้รู้ว่าเราก็อยากจะมีตัวตนบนโลกโซเชียลฯ จริงๆ เหตุผลอาจจะมีอยู่แค่นี้ก็ได้

  • กลุ่มที่ 5 เรากดไลก์เพราะมีเจตนาแอบแฝง ไม่ได้เกี่ยวกับคอนเทนต์อะไรเลย

แต่เป็นการสร้างแรงจูงใจเทียมขึ้นมา อาจจะส่งผลต่อแบรนด์หรือไม่ส่งผลก็ได้ หรืออาจจะส่งผลในแง่ลบเลยก็ได้ เช่น แคมเปญการตลาด การกดไลก์ เป็นส่วนหนึ่งของการได้รางวัลต้องไปเชิญเพื่อนมากดไลก์ แต่มันสร้างความอับอาย ก็อาจจะกลายเป็นเนกาทีฟด้วยซ้ำไป หรือสิ่งที่เราเรียกว่า Like Farming ก็คือการสร้าง Like ปลอมขึ้นมา เกิดจากระบบ bot ไปเอา Like มาให้ หรือเกิดจากการรับจ้าง Like ก็ได้ เพื่อให้ตัวเลขมันออกมาดูดี กลุ่มนี้นอกจากจะไม่มีประโยชน์ต่อแบรนด์แล้ว อาจจะเป็นเนกาทีฟด้วยซ้ำไป

ดังนั้น สิ่งที่เราต้องรู้เลยก็คือว่า Like หนึ่งชุด ที่เราได้มาจากกิจกรรมทางการตลาดทั้งหมด มันน่าจะเป็น Like จากกอะไรได้บ้าง เช่นเดียวกัน ถามว่าเรารู้หรือไม่ว่า Like อะไรเป็นแบบไหน คำตอบก็คือ ไม่น่าจะทำได้ซะทีเดียว แค่ให้รู้ว่าจำนวน Like ที่เกิดขึ้นอาจจะมีแค่บางส่วนเท่านั้นที่มีผลต่อแบรนด์ แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่อยากให้ลืมก็คือว่า แล้วถ้าคนไม่กด Like แปลว่าเขาไม่สนใจเราหรือเปล่า ซึ่งจริงๆ ก็ไม่ใช่อีกเช่นกัน

ทั้งนี้ บางทีคนคอมเมนต์ Negative กับแบรนด์ ชอบ Negative แต่ไม่ชอบ Positive กับแบรนด์ แต่ว่าคนอาจจะเห็นคอนเทนต์ สนใจชื่นชมแต่ไม่กด Like มันก็มีเขาอาจจะไม่ได้ Engagement ก็ได้ แต่แค่ว่าเราไม่สามารถที่จะหาหลักฐานออกมาเป็น data point ได้หรือเป็น footprint ให้เราเก็บข้อมูลได้ ดังนั้น สิ่งที่อยากจะบอกคือการที่คนไม่ Engage อย่าเพิ่งตีความว่าคนไม่ได้สนใจ คนไม่ได้ชื่นชอบ

 

เอ็นเกจเมนต์ที่เรียกว่า Comment สำคัญต้องดูเชิงคุณภาพด้วย

เรื่องต่อมาคือ metric ที่ชื่อว่า Comment ซึ่งถ้าเป็นข้อสอบมันก็คือข้อสอบที่เปิดกว้าง มันไม่ได้เป็นข้อให้ติ๊กถูกหรือผิด เป็นพื้นที่อิสระให้แสดงออก แล้วการแสดงออกของคนเรามันก็มีหลายแบบ เช่น เราคอมเมนต์เพราะว่าเราอยากทักทาย Influencer เราคอมเมนต์เพราะว่าเราอยากจะโต้ตอบในหัวข้อที่เขากำลังจะพูดถึง หรือเราคอมเมนต์เพราะว่าอยากให้ความเห็นต่อยอด หรือเราคอมเมนต์เพราะว่าเราอยากเป็นฝ่ายสนับสนุนแนวคิด หรือแม้กระทั่งการวิจารณ์ ทั้งหมดนี้เป็นแนวทางของคอมเมนต์ได้หมดเลย หรือแม้กระทั่งเราใช้คอมเมนต์ในการโจมตีหรือใส่ร้ายผู้อื่น ก็สามารถอยู่ตรงนี้ได้

ดังนั้น ในมุมของนักการตลาดการเห็นคอมเมนต์เพียงอย่างเดียวอาจจะไม่ได้ตอบโจทย์เราต้องเข้าไปดูว่า ในเชิงคุณภาพของคอมเมนต์นั้นมันมีสัญญาณทางการตลาดอะไรได้บ้างหรือเปล่า ซึ่งข้อมูลคอมเมนต์นี้มันเห็นชัดกว่าการดูยอดกด Like เพราะเราจะดูได้ว่าการเขียนคืออะไร

คำแนะนำก็คือ เราควรจะคัดแยกคอมเมนต์ออกเป็นกลุ่มๆ ตามแกนที่เราต้องการ มันอาจจะเป็นคอมเมนต์ที่เกี่ยวกับสินค้า คอมเมนต์ที่เกี่ยวกับ Influencer คอมเมนต์ที่ไม่เกี่ยวกับอะไรเลย ถ้าเราแยกเป็นกลุ่มๆ เราจะรู้ว่าควอลิตี้ของคอมเมนต์ที่ได้มานั้นคืออะไร ซึ่งถ้าเป็นแบรนด์ใหญ่เขาจะใช้สิ่งที่เรียกว่า Social Listening ก็จะคอยแยกประเภทอันนี้ให้ แล้วก็อาจจะตีค่าออกมาเป็นบวกหรือลบ หรือออกมาเป็นคะแนนอย่างที่เรารู้จักกันว่า Sentiment เป็นอย่างไร

 

จิตวิทยาเบื้องหลังการ Share ที่แท้จริง

Metric สุดท้ายที่อยกจะมาคุยกันก็คือเรื่องของ Share ซึ่งถ้างานได้รับการ Share ในเชิงบวก อันนี้ถือว่าดี ดีที่สุดในการพูดถึง แล้วคนเรา Share เพราะอะไร Share เพราะว่าอยากแบ่งปันหรือเปล่า หรือเพราะว่าอะไร จิตวิทยาจริงๆ ของการ Share ก็คือ Share เพื่อตัวเอง เพราะฉะนั้นถ้าเรารู้ตรงนี้สักเล็กน้อยก็น่าจะต่อยอดอะไรได้

จากบทความอันหนึ่งที่ชื่อว่า Psychology of Sharing ซึ่งจัดทำโดย The New York Time เป็น Customer Insight ทำวิจัยว่าทำไมคนถึงชอบแชร์คอนเทนต์ บทความนี้บอกว่าคนที่ชอบแชร์คอนเทนต์จริงๆ แล้ว ไม่ได้แชร์เพราะว่าอยากแบ่งปันจริงๆ หรอก แต่แชร์เพราะว่าต้องการสร้างสถานะสเตตัสให้กับตัวเอง เป็นส่วนหนึ่งของสังคม ทำให้ตัวเองมีสเตตัสรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง

  • ประเภทที่ 1 คนเหล่านี้แชร์เพื่อให้ตัวเองรู้สึกดี รู้สึกฟีลกู้ด เวลาแชร์คอนเทนต์ให้กับคนรอบข้าง อันนี้ย้ำว่าโฟกัสที่ฉันฟีลกู้ดเมื่อได้ Share นั่นก็คือทำเพื่อตัวเอง
  • ประเภทที่ 2 เขา Share เพื่อให้คนรอบข้างรู้จักตัวตนเรามากขึ้น เราสนใจเรื่องอะไร เราแคร์เรื่องอะไร พูดง่ายๆ ก็คือเราแชร์เพื่อให้เขาทราบอัตลักษณ์ของตัวเรา
  • ประเภทที่ 3 เขา Share เพราะว่าอยากสานสัมพันธ์กับคนรอบข้าง เพราะว่าชีวิตจริงอาจจะไม่ได้เจอกันบ่อย ก็อยากจะ Share เพื่อสเตย์คอนเน็กกับเพื่อนๆ
  • ประเภทที่ 4 เป็นการ Shareพื่อที่จะเติมเต็มอะไรบางอย่าง เพื่อตอบสนองความต้องการจากส่วนลึกจากจิตใจ เพื่อให้ตัวเองรู้สึกสมบูรณ์แบบ
  • ประเภทที่ 5 เป็นการ Share เพื่อบอกให้โลกรู้ว่าเราแคร์หรือสนับสนุนอะไรอยู่ ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์หรือประเด็นทางสังคมอะไรก็แล้วแต่ พยายามจะชวนคนให้มาสนับสนุนกับเรา

 

แบ่งการ Share ในรูปแบบของ Persona

นอกจากนี้ ยังแบ่งการ Share ในรูปแบบของ Persona ซึ่งก็คล้ายๆ กับบุคลิกภาพ คือภาพรวมของคนๆ หนึ่ง ตัวตนเป็นอย่างไร ทัศนคติ วิถีชีวิตเป็นอย่างไร มี 6 ประเภท ได้แก่

  1. เป็นกลุ่มคนที่มีน้ำใจ ใส่ใจถึงคนอื่น ชอบช่วยเหลือคนรอบข้าง มีจิตใจดีงาม
  2. เป็นกลุ่มที่ชอบ Share เรื่องงาน หรืออะไรที่ทำให้ตัวเองดูโปร ดูเก่ง
  3. เป็น Hipster เป็นกลุ่มที่ได้ลองอะไรคูลๆ แล้วอยากบอกต่อ เป็นศิลปินสูง และจะไม่ Share อะไรที่เป็น mass
  4. เป็น Boomerang กลุ่มนี้ Share เพราะอยากเป็นที่สนใจ อะไรที่มันอยู่ในกระแส แม้ส่วนตัวจะไม่ได้ชอบกับคอนเทนต์นั้นก็ตาม แต่ก็จะ Share เพราะว่าทำให้เขารู้สึกว่าอยู่ในกระแส
  5. เป็น Connecter คนกลุ่มนี้ในชีวิตจริงก็จะมีคนเหล่านี้อยู่ เป็นที่รู้จักของคนในกลุ่ม สามารถคอนเนกกับทุกคนได้ เวลาคนกลุ่มนี้เจออะไรก็อยากจะ Share ไม่อยากจะพลาดในการแชร์ต่อเพื่อส่งเข้ากลุ่ม
  6. เป็น Selective กลุ่มนี้จะคิดก่อน Share คือกลั่นกรองแล้วว่าดี ไม่ได้ส่งให้ทุกๆ คนแต่จะแชร์ให้กับคนๆ นี้ เพราะว่ามันมีประโยชน์กับเขาจริงๆ

 

บทสรุป

จากที่เล่ามาทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเบื้องหลังจิตวิทยาการ Like จิตวิทยาเบื้องหลังการ Share สิ่งที่อยากจะบอกก็คือมันมี Story อยู่เบื้องหลังของตัวเลขต่างๆ ที่อยู่บนรีพอร์ตหรือบนบันทึกต่างๆ เราควรจะเข้าใจความหมายของมันมากกว่าแค่เห็นยอดตัวเลขเฉยๆ ซึ่งการที่เรามองตัวเลขเพียงอย่างเดียวมันจะไม่เห็นความจริงที่ซ่อนอยู่ในตัวเลขเหล่านั้นด้วย และของบางอย่างมันก็ไม่สามารถทำออกมาเป็นตัวเลขได้โดยตรง ดังนั้น สิ่งที่อยากบอกคืออยากให้ลองเข้าไป experience กับมันดู เช่น ควรเข้าไปอ่านคอมเมนต์ดูตรงๆ ว่าเขาพูดถึงเราอย่างไรบ้าง หรือไปดูว่าเวลาคน Share เขาพูดอะไรเมื่อเวลา Share ออกไปบ้าง สิ่งเหล่านี้มันไม่สามารถทำออกมาเป็นรีพอร์ทได้ตรงๆ และมันจะเสียเวลาระดับหนึ่งในการที่จะเข้าไปดู แต่ถามว่ามันมีประโยชน์ไหม มันมีประโยชน์มากๆ เพราะว่าของบางอย่างไม่สามารถวัดเป็นตัวเลขได้ และทั้งหมดนี้สามารถนำไปต่อยอดใช้ได้ทั้งนั้น มากไปกว่า Influencer Marketing ซึ่งมันก็เป็นพื้นฐานเดียวกับเครื่องมือ Digital Marketing อื่นๆ เช่นกัน.

 

สามารถติดตามรับฟัง Marketing Oops! Podcast
ผ่านทางช่องทางต่างๆ ได้ที่

Google Podcasts


  • 695
  •  
  •  
  •  
  •  
Kittipat Mahapunt
ทำงานด้านกลยุทธ์การสื่อสารทางด้านดิจิตอลให้กับเอเจนซี่โฆษณา ปัจจุบันมีประสบการณ์ตรงในด้านการวางกลยุทธ์ดิจิตอลมามากกว่า 7 ปี เห็นความเคลื่อนไหวในวงการมาโดยตลอด ชื่นชอบในงานโฆษณาที่ยกระดับวงการ และมีความสุขเมื่อเห็นงานจากไทยมีคุณภาพยกระดับทัดเทียมเมืองนอก
CLOSE
CLOSE