สรุปแนวทางเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการทางการเงิน ผลักดัน Financial Inclusion จาก Sea (Group) ธปท. ตลาดหลักทรัพย์ และสมาพันธ์ SME ไทย

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

[ข่าวประชาสัมพันธ์]

 

Sea (Group) ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตแพลตฟอร์มชั้นนำ อาทิ การีนา (Garena) ช้อปปี้ (Shopee) และซีมันนี่ (SeaMoney) จัดเสวนา Sea Insights 2022 “THE BIG MOVE to FINANCIAL INCLUSION” ก้าวต่อไปของโลกการเงินที่เข้าถึงทุกคน โดยมี ดร.สันติธาร เสถียรไทย Group Chief Economist จาก Sea (Group) ร่วมฉายเทรนด์การเงินดิจิทัลของคนยุคดิจิทัลในช่วงหลังโควิด-19 พร้อมเจาะลึกถึงช่องว่างของการเข้าถึงบริการทางการเงินในไทย และความต้องการของผู้บริโภคและผู้ประกอบการไทยเกี่ยวกับบริการทางการเงิน ผ่านผลสำรวจจากรายงาน Thai Digital Generation 2022 “การเข้าถึงการเงินในยุคดิจิทัล” พร้อมทั้งเชิญผู้บริหารจากธนาคารแห่งประเทศไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เพื่อเสวนาเจาะลึกถึงโอกาสและความท้าทายในการผลักดัน Financial Inclusion ในประเทศไทย

 

 

ดร. สันติธาร เสถียรไทย Group Chief Economist จาก Sea (Group) เผยผลสำรวจจากรายงาน Thai Digital Generation 2022 ที่ Sea (Group) จัดทำร่วมกับ World Economic Forum ว่า “คนไทยมีการใช้แอปฯ การเงินดิจิทัล (อีแบงค์กิ้งและอีวอลเลท) เป็นอันดับ 1 ในอาเซียน แซงหน้าโซเชียลมีเดีย ราว 94% ของผู้ตอบแบบสอบถามต้องการที่จะใช้บริการทางการเงินผ่านช่องทางดิจิทัลเพิ่มขึ้นไปอีกในอนาคต ทั้งด้านการจับจ่ายใช้สอย การเข้าถึงแหล่งเงินทุน   รวมไปถึงด้านการออมและการลงทุน แม้แต่ในหมู่คนที่เข้าถึงบริการการเงินได้ดีและสามารถเข้าถึงประโยชน์จากสินเชื่อ การลงทุน และบริการประกันภัยได้อยู่แล้ว ก็ยังต้องการใช้บริการทางการเงินผ่านช่องทางดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งปัจจัยหลักๆ มาจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมาใช้บริการดิจิทัลเยอะขึ้น สถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้ผู้คนเลี่ยงการใช้เงินสด และ   การผลักดันให้ประชาชนใช้ Digital Wallet และ Digital Payment ของธนาคารแห่งประเทศไทยและภาครัฐ”

 

ดร. สันติธาร เสถียรไทย Group Chief Economist จาก Sea (Group)

 

การสำรวจครั้งนี้ ไม่ได้ทำเพียงแค่ในประเทศไทย แต่ครอบคลุม 6 ประเทศในอาเซียน ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ และมีผู้ตอบแบบสอบถามมากกว่า 90,000 คน โดยกลุ่มเป้าหมายของการสำรวจเป็น ‘คนยุคดิจิทัล’ (Digital Generation) ซึ่งหมายถึงผู้ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลหลากหลายวัย ในช่วงอายุ 16 – 60 ปี

สำหรับประเทศไทยมีผู้ร่วมตอบแบบสอบถามจำนวนกว่า 8,000 คน โดย 51% ของผู้ตอบแบบสอบถามมีอายุต่ำกว่า 35 ปี 53% เป็นเพศหญิง และราว 17% เป็นผู้ประกอบการ MSME

ทั้ง 6 ประเทศมีความคล้ายคลึงกัน แต่เรื่องที่ประเทศไทยมีความโดดเด่น คือ คนไทยเชื่อว่าการเข้าถึงบริการทางการเงินมีบทบาทสําคัญในการเป็นตาข่ายรองรับทางสังคม (Social Safety Net) เป็นที่พึ่งพิงยามยากและช่วยรับความเสี่ยงต่าง ๆ เช่น รายได้ที่ลดลง รายจ่ายที่เพิ่มขึ้น มีค่าใช้จ่ายที่ไม่คาดคิด ขาดสภาพคล่องในการทำธุรกิจ ส่วนประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน มองว่าบทบาทที่สําคัญของบริการทางการเงิน คือ การออมเพื่ออนาคตหรือชีวิตหลังเกษียณ 

เมื่อต้องเลือกผู้ให้บริการทางการเงิน ทุกประเทศในอาเซียนให้ความสำคัญกับความปลอดภัยเป็นอันดับแรก แต่สิ่งที่สำคัญเป็นอันดับที่ 2 ของประเทศไทย ต่างจากประเทศอื่น ๆ โดยคนไทยให้ความสำคัญกับความสามารถในการตอบโจทย์ความต้องการทางการเงินเป็นหลัก ส่วนประเทศอื่น ๆ มักให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลจากภาครัฐ นอกจากนี้ พบว่าคนไทยไม่ได้เลือกสถาบันการเงินตามการแนะนำจากญาติ พี่น้อง หรือเพื่อน มากนัก

เมื่อเห็นพฤติกรรมและทัศนคติที่คนไทยมีต่อภาคการเงินไปแล้ว ดร.สันติธาร ยังได้อธิบายเพิ่มเติมถึงการส่งเสริม Financial Inclusion ว่า “หากเปรียบระบบการเงินปัจจุบันให้เป็นอาคารสูง ชั้นล่างมีผลิตภัณฑ์การเงินขั้นพื้นฐาน เช่น บัญชีออมทรัพย์ และการทำธุรกรรมชำระเงิน ในขณะที่ชั้นสูงขึ้นไปมีผลิตภัณฑ์ขั้นแอดวานซ์ เช่น เครดิต การลงทุน     การทำประกัน เราพบว่าผู้คนส่วนมากยังอยู่ที่ชั้นล่าง โดย 90% ของผู้ตอบแบบสอบถามมีบัญชีออมทรัพย์และเข้าถึง   การชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ได้ แต่คนหลายกลุ่มยังคงเข้าไม่ถึงบริการทางการเงินขั้นแอดวานซ์ที่สำคัญ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ MSME ผู้หญิง คนรุ่นใหม่ และคนในพื้นที่ชนบท โดยมีคนยุคดิจิทัลในประเทศไทยเพียง 28% เท่านั้นที่เข้าถึงทั้งสินเชื่อ การลงทุน และประกัน ในด้านสินเชื่อพบว่า มี MSME ที่ต้องการสินเชื่อไม่ถึงครึ่งที่สามารถเข้าถึงสินเชื่อธนาคารได้ ในขณะที่ด้านการลงทุน กลุ่มคนส่วนใหญ่กว่า 60% ใช้บริการออมเงินไว้ในบัญชีเท่านั้น 

ดังนั้น การนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ ก็เปรียบเสมือนการสร้าง ‘บันได’ ที่ช่วยให้ผู้คนเข้าถึงและรับประโยชน์จากบริการทางการเงินในชั้นที่สูงขึ้นไปได้ เนื่องจากสามารถเพิ่มการเข้าถึงทางการเงินได้จากระยะไกล ในทุกพื้นที่ และด้วยต้นทุนที่ต่ำลง ทั้งยังสามารถช่วยลดกระบวนการที่ใช้เวลานาน และขยายกลุ่มเป้าหมายให้กลุ่มอื่นเข้าถึงผลิตภัณฑ์การเงินได้อย่างง่ายขึ้นเป็นวงกว้าง นอกจากนี้ ยังช่วยพัฒนาข้อเสนอบริการที่มีอยู่แล้วในชั้นที่สูงขึ้นไป โดยช่วยให้ผู้ให้บริการทางการเงินสามารถปรับและนำเสนอบริการทางการเงินให้ตอบความต้องการเฉพาะบุคคลได้มากขึ้นโดยใช้ Data  ซึ่งช่วยให้ผู้ให้บริการที่เป็น Fintech หรือ Digital Bank รวมทั้งสถาบันการเงินดั้งเดิมที่มีการทรานส์ฟอร์มสู่โลกดิจิทัล สามารถออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับแต่ละบุคคลคืออะไร ตามระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้”

“อีกปัจจัยที่ช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงินได้คือความรู้ความเข้าใจ โดยรายงานพบว่าความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ทางการเงินมีความแตกต่างกันตามพื้นที่อยู่อาศัยอย่างชัดเจน ในชนบทยังมีช่องว่างทางความรู้อยู่มาก ในด้านการจัดการทางการเงินและความเข้าใจเกี่ยวกับบริการทางการเงินขั้นแอดวานซ์ที่มีความซับซ้อน ดังนั้น แม้เทคโนโลยีจะเป็นส่วนหนึ่งของคำตอบในการสร้างการเข้าถึงบริการทางการเงินที่ทั่วถึง แต่ไม่สามารถละเลยการให้ความรู้ด้านการเงินได้ โดยความรู้ความเข้าใจด้านการเงิน จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการใช้บริการทางการเงินในรูปแบบต่าง ๆ มากขึ้น โดยเฉพาะด้านการลงทุนและบริหารการเงินส่วนตัว นอกจากนี้ยังพบว่าผลิตภัณฑ์การเงินที่คนขาดความรู้ที่สุดคือสินเชื่อ นอกจากนี้ การมีความรู้ด้านดิจิทัลก็จำเป็นไม่แพ้กัน เพื่อลดความเสี่ยงด้านความปลอดภัยของเงินและข้อมูล อันเป็นความกังวลอันดับต้น ๆ ของคนยุคดิจิทัล

 

สรุป 3 สิ่งที่ต้องเร่งทำเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงินที่ครอบคลุม

  1. นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยเหลือกันมากขึ้น – ทำให้ผู้คนเข้าถึงบริการทางการเงินได้ง่าย แม้จะอยู่ห่างไกลด้วยต้นทุนที่ต่ำลง ทั้งยังช่วยลดกระบวนการต่างๆ ที่ทำให้เสียเวลา ที่สำคัญคือสามารถทำ Product & Service Customization เพื่อนำเสนอบริการที่เหมาะสมที่สุดแก่กลุ่มลูกค้าแต่ละกลุ่มได้
  2. การรักษาความปลอดภัย – หน่วยงานรัฐและสถาบันการเงินทำงานร่วมกันเพื่อเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัย รวมถึงการแบ่งปันข้อมูล
  3. ให้ความรู้ด้านการเงินและดิจิทัลแก่ผู้คน – เมื่อผู้คนมองเห็นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับตัวเองได้และรู้ว่าการเงินไม่ใช่เรื่องไกลตัว ก็สามารถนำไปสู่การใช้บริการทางการเงินที่มากขึ้นได้ ทั้งยังป้องกันความเสี่ยงด้านการเงิน และข้อมูลที่อาจเกิดขึ้นได้ด้วย

การที่มีคนเข้าถึงบริการการเงินมากขึ้นเป็นผลดีกับระบบการเงินและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพราะเมื่อคนจํานวนมากขึ้นสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินบน “ชั้นที่สูงขึ้น” ได้ ผู้ให้บริการทางการเงินทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นธนาคารหรือ Fintech ก็จะมีฐานลูกค้าที่ใหญ่ขึ้นด้วยด้านผู้บริโภคและผู้ประกอบการก็จะมีทางเลือกที่อยู่ในระบบการเงินมากขึ้น” ดร.สันติธาร กล่าวปิดท้าย

 

ธปท. ตลาดหลักทรัพย์ และสมาพันธ์ SME ไทย ร่วมพูดคุยถึงแนวทางเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการทางการเงิน

นอกจากการเผยผลสำรวจฯ แล้ว ยังมีช่วงเสวนาที่เชิญผู้บริหารจากหน่วยงานที่เปรียบเสมือนฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนโลกการเงินไทย มาร่วมพูดคุยกัน เพื่อมองภาพใหญ่ของโลกการเงินไทยว่าเราก้าวมาถึงจุดไหนในปัจจุบันและมีโอกาสและความท้าทายอย่างไร ในการผลักดัน Financial Inclusion โดยสรุปประเด็นสำคัญจากแต่ละท่าน ดังนี้

ดร.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า“ประเทศไทยมีการสร้างพื้นฐานที่เป็นบันไดขั้นแรกอย่างจริงจังและทำให้เข้าถึงได้อย่างแพร่หลาย ส่งผลให้คนไทยเข้าถึงบริการทางการเงินแบบดิจิทัลได้เป็นอันดับ 1 ในอาเซียน เราสามารถช้อปปิ้ง สั่งอาหารออนไลน์ และชำระเงินได้อย่างสะดวกสบาย โดยแบงก์ชาติ กระทรวงการคลัง ภาครัฐ และสถาบันการเงินต่าง ๆ ได้ร่วมกันผลักดันระบบ National E-payment หรือ พร้อมเพย์ เพื่อลดลดต้นทุนในการโอนเงิน นอกจากนี้ยังต่อยอดให้ชำระเงินผ่าน QR Payment พร้อมเพย์ได้ เพิ่มความสะดวกในการจ่ายและรับเงิน ในแง่การสนับสนุนการท่องเที่ยว ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถรับเงินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ผ่าน QR Payment โดย 5 ประเทศที่เชื่อมต่อเรียบร้อยแล้ว ได้แก่ มาเลเซีย, ญี่ปุ่น, เวียดนาม, อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ ในปัจจุบันมีจำนวนบัญชีพร้อมเพย์ 72.3 ล้านบัญชี ธุรกรรม 46.7 ล้านรายการต่อวัน”

 

ดร.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย

 

สำหรับการส่งเสริมการเข้าถึงสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยนั้น ทาง ธปท. มีการออกนโยบายOpen Competition ทำให้มีผู้ประกอบการเปิดให้บริการ Digital Lending แล้วมากถึง 9 ราย ซึ่งเข้ามาเป็นทางเลือกให้กับผู้ประกอบการไทย นอกเหนือจากสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ นอกจากนี้ ในปัจจุบัน ธปท. ยังเอื้อให้ธนาคารพาณิชย์สามารถที่จะปรับตัวและให้บริการผ่านแพลตฟอร์มได้มากขึ้น ลดต้นทุนสาขา หรือมี Virtual Bank ได้ ทั้งยังมี PromptBiz สนับสนุนการทำธุรกรรมการค้าให้เป็นดิจิทัลแบบครบวงจร เป็นนโยบาย Open Data ที่ผลักดันควบคู่กันไปกับกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล นี่เป็นความพยายามของ ธปท. ในฐานะ Regulator ที่ต้องการเพิ่มทางเลือกและโอกาสการเข้าถึงบริการทางการเงินให้กับคนไทย

ดร.ศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร และหัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงโลกการลงทุนในปัจจุบันว่า “ปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนการลงทุนในปัจจุบัน ได้แก่ Digitization หรือ การเข้ามาของเทคโนโลยีที่ส่งผลต่อพฤติกรรมของนักลงทุนในปัจจุบัน โดยช่วงที่ผ่านมาคนเปิดบัญชีซื้อขาย ราว 1.6 ล้านบัญชี เติบโตราว 30% ในระยะเวลาเพียง 2 ปี โดยเกินครึ่งเป็นกลุ่ม Gen-Y ที่เน้นการลงทุนที่สะท้อนความเป็นตัวตนและการลงทุนในโลกดิจิทัลมากขึ้น ส่วนในด้าน Digital Asset ปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์เริ่มมีผลิตภัณฑ์ที่เป็น Hybrid มากขึ้น เช่น บริการ DRx ช่วยให้การลงทุนหุ้นในตลาด Nasdaq ง่ายขึ้น ซึ่งปัจจุบันนักลงทุนกลุ่ม Gen-Y และ Gen-Z นิยมลงทุนหน่วยเล็ก ๆ ที่ไม่จำเป็นต้องซื้อเต็มจำนวนหุ้น แต่สามารถซื้อเป็นจำนวนบาทตามกำลังของตัวเอง บริการ Thailand Digital Exchange (TDX) ที่จะเน้นด้าน Investment Tokens และ Utility Tokens และพัฒนา ESG Data Platform ที่เป็นตัวกลางที่เชื่อมระหว่างบริษัทที่ทำ ESG กับนักลงทุนที่เห็นคุณค่าและอยากลงทุนในธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับ ESG”

 

ดร.ศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร และหัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

 

ในปัจจุบัน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยพยายามให้ความรู้กับนักลงทุนผ่าน บทเรียน E-learning ของตลาดหลักทรัพย์ ที่มีผู้เข้ามาเรียนรู้แล้วกว่า 2 ล้านครั้ง เพื่อสร้างความพร้อมให้คนไทยหันมาลงทุนมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็ต่อโอกาสในการเข้าถึงตลาดทุนให้กับผู้ประกอบการไทย ผ่านโครงการ LiVE Platform ที่มีคอร์สให้ผู้ประกอบการสามารถเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องการเงินเพื่อธุรกิจ และการบริหารจัดการระบบหลังบ้านต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การทำบัญชี การบริหารทรัพยากรบุคคล กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อในท้ายที่สุดจะสามารถขยายธุรกิจและเข้าระดมทุนได้

นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ให้มุมมองในฝั่งผู้ประกอบการรายย่อย ว่า “ผู้ประกอบการรายย่อยมักจะเป็นบุคคลธรรมดาและมักขาดหลักทรัพย์ค้ำประกัน ทำให้ยังเข้าถึงสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ได้ยาก โดยจากวงเงินสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ประมาณ 17.2ล้านล้านบาท เป็นสินเชื่อผู้ประกอบการรายย่อยเพียง 3.5 ล้านล้านบาทเท่านั้น ดังนั้น สิ่งที่ต้องการจะผลักดันคือ Credit Scoring ที่ไม่ต้องอ้างอิงหลักประกันแบบเดิม ๆ เพื่อช่วยยกระดับความน่าเชื่อถือของผู้ประกอบการรายย่อย รวมทั้ง Digital Entrepreneur เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนอื่น ๆ นอกเหนือจากธนาคารพาณิชย์ และสร้างความเข้าใจในประโยชน์ของดิจิทัล เพื่อทำให้มีต้นทุนทางการเงินที่ต่ำลง เช่น Crowdfunding สำหรับกลุ่ม Startup, การระดมทุนจากบุคคล หรือผู้ลงทุนในวงจำกัด หรือ Private Placement (PP), SME-Board สำหรับผู้ประกอบการที่ไม่ต้องการเข้า mai เป็นต้น”

 

นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย

ดร.ศรุต วานิชพันธุ์ ผู้อำนวยการอาวุโส Sea (ประเทศไทย) กล่าวเสริมในมุมของหนึ่งในผู้ให้บริการ Digital Finance ในประเทศไทย ว่า “Digital Trend มีผลต่อการเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างชัดเจนในช่วงที่ผ่านมา โดยการใช้งาน Digital Payment รูปแบบ E-wallet ถูกคาดการณ์ว่าจะเติบโตจาก 18.6 ล้านบัญชี ในปี 2563 ไปสู่ 41.9 ล้านบัญชี ในปี 2568  ในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ShopeePay ซึ่งเป็น Mobile Wallet มีการเติบโตของการใช้งานจากปีก่อนหน้ากว่า 50% ในกลุ่มพื้นที่นอกหัวเมืองใหญ่ สะท้อนถึงการเข้าถึงบริการ Digital Payment ที่ทั่วถึงยิ่งขึ้น นอกจาก ShopeePay แล้ว เรายังให้ความสำคัญกับการขยายบริการ Digital Finance ด้านอื่นๆ โดยเราได้รับใบอนุญาตผู้ให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลจากธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นรายแรก ในปัจจุบัน ซีมันนี่มีบริการสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล เช่น SEasyCash เป็นบริการ Digital Personal Loan สินเชื่อเงินสดสำหรับบุคคลทั่วไป ซึ่งสามารถนำเงินไปใช้จ่ายได้อย่างอเนกประสงค์, SEasyCash for Sellers ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องให้พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ และ SPayLater เป็นบริการที่เป็นโซลูชั่นทางการเงินเพื่อมุ่งเสริมสภาพคล่องในการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าที่ต้องการบนช้อปปี้ ทำให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงสินค้าที่ต้องการได้ด้วยข้อจำกัดที่น้อยลง”

 

ดร.ศรุต วานิชพันธุ์ ผู้อำนวยการอาวุโส Sea (ประเทศไทย)

 

อย่างไรก็ตาม การเข้าถึงบริการทางการเงินจะเป็นประโยชน์ ต้องมาพร้อมกับความรู้ความเข้าใจ (Literacy) เพื่อเป็นเกราะคุ้มภัย ลดความเสี่ยง ให้คนไทยมีสุขภาพทางการเงินที่แข็งแรงขึ้นในระยะยาว

ดร.ชญาวดี กล่าวเสริมว่าการเรียนรู้ทางการเงิน ไม่ใช่แค่การออมเงิน หรือการบริหารหนี้ แต่คือการมีพฤติกรรมทางการเงินที่ ‘เป็นห่วงตนเอง’ โดย ธปท. ได้พยายามส่งเสริมให้คนไทยบริหารเงินของตัวเองเพื่ออนาคตในระยะยาวผ่านโครงการมากมาย เช่น โครงการ Fin. ดี We Can Do ในกลุ่มโรงเรียนอาชีวะ, โครงการ Fin. ดี Happy Life !!! ในกลุ่ม First Jobber เป็นต้น

สำหรับตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งเป็นศูนย์รวมของนักลงทุน ดร. ศรพล ให้มุมมองว่าการลงทุนต้องตระหนักถึงความเสี่ยง ต้องมีความเข้าใจในการลงทุนในผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่ทยอยออกมาเรื่อย ๆ นอกจากนี้ ยังต้องลงมือทำด้วย หรือ Learning by Doing ทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจึงได้ร่วมมือกับหลากหลายพันธมิตร เช่น กรมอาชีวะ, กองทุน กยศ, กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อกระจายความรู้ทางการเงินและการลงทุนให้กับคนทุกกลุ่ม

ด้านนายแสงชัย ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย มองว่าสิ่งที่ผู้ประกอบการยุคปัจจุบันต้องมีคือ Digital Entrepreneurship ใช้เทคโนโลยีต่อยอดธุรกิจได้ และเข้าใจว่าจะต้องใช้นวัตกรรมทางการเงินประเภทใดในการระดมทุนและเสริมศักยภาพให้ตนเอง

ส่วน ดร. ศรุต จาก Sea (ประเทศไทย) กล่าวเสริมในทิศทางเดียวกัน โดยชี้ว่าการเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงินเป็นสิ่งจำเป็น แต่ต้องทำไปพร้อมกับการสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการเงิน (Financial Literacy) และทักษะดิจิทัล (Digital Literacy) เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันและลดความเสี่ยง ล่าสุดมีการให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้บริการ Digital Finance อย่างปลอดภัยบน Sea Academy สำหรับผู้ประกอบการนั้น Sea (ประเทศไทย) และ Shopee มีความตั้งใจที่จะพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการไทยอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น นอกจากการพัฒนาทักษะการทำธุรกิจแล้ว เมื่อปีที่ผ่านมาได้จับมือกับโครงการ LiVE Platform ของตลาดหลักทรัพย์ฯ สร้างเสริมความรู้ด้านการเงินให้แก่ผู้ประกอบการบนช้อปปี้ เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีความรู้รอบด้านและปรับตัวได้ดีขึ้นในยุคแห่งความเปลี่ยนแปลง

[ข่าวประชาสัมพันธ์]


  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
CLOSE
CLOSE