ทำความรู้จัก “Lazy Economy” เมื่อความขี้เกียจของมนุษย์ สร้างเศรษฐกิจใหม่ – โอกาสธุรกิจมหาศาล

  • 3.4K
  •  
  •  
  •  
  •  

lazy consumer lazy-economy

วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล หรือ CMMU ชี้ ตลาดคนขี้เกียจหรือ “Lazy consumer”  กำลังเป็นที่จับตามองและเป็นโอกาสในการทำธุรกิจใหม่ เนื่องจากคนทั่วไปมีพฤติกรรมรักความสบายและหันมาพึ่งเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น

เมื่อความขี้เกียจสร้างเศรษฐกิจใหม่ และธุรกิจสายพันธ์ุใหม่ 

ปัจจุบันผู้คนจำนวนมากหันมาพึ่งพาเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น เนื่องจากสามารถตอบโจทย์การใช้ชีวิตทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเฉพาะในเรื่องของการประหยัดแรงงานและเวลา จนมีแนวโน้มที่จะนำไปสู่สังคมของความเคยชิน หรือที่เรียกว่า “ความขี้เกียจ” และ เศรษฐกิจขี้เกียจ” (Lazy Economy) 

Lazy Consumer_Lazy Economy

“Lazy Economy” ถือได้ว่าเป็นเศรษฐกิจใหม่ที่ถูกขับเคลื่อนความต้องการของคนในยุคใหม่ ที่ต้องการความสะดวกสบาย เพื่อช่วยลดภาระการทำงานเล็กๆ น้อยๆ จะได้มีเวลาทำงานที่สำคัญมากขึ้น โดยที่ผู้บริโภค “ยินดีที่จะจ่ายเงิน”​ หากสินค้าหรือบริการนั้นๆ ช่วยทำให้รู้สึกว่าได้รับความสะดวกสบายมากกว่าเดิม  

และจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีความต้องการความสะดวกสบายขั้นสุด ยังทำให้เกิดธุรกิจที่ตอบโจทย์ความต้องการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง และได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง 

เช่น ธุรกิจขนส่ง ธุรกิจจองคิว บริการจำหน่ายสินค้าออนไลน์ สินค้าประเภทอาหารพร้อมรับประทาน ธุรกิจรับทำความสะอาดบ้าน เป็นต้น 

Lazy Consumer_Lazy Economy

“การตลาดขี้เกียจ” หรือ “เศรษฐกิจขี้เกียจ” เป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก และสร้าง Demand ที่ขับเคลื่อนโดนความต้องการของคนยุคดิจิทัล ที่ใช้อุปกรณ์ต่างๆ ลดภาระการทำงาน การใช้ชีวิตประจำวันให้สะดวกสบาย และรวดเร็วขึ้น 

ดังนั้น ธุรกิจต้องปรับตัว และวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน ทั้งมิติของ Pain Point หรือปัญหาของผู้บริโภค และ Consumer Insights ซึ่งขณะนี้เริ่มมีทั้งบริษัทขนาดใหญ่ และกลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยที่เน้นทำการตลาดไปที่กลุ่มเป้าหมายนี้

นอกจากนี้ยังพบว่าในจำนวนสตาร์ทอัพ 100 รายจากทั่วโลก มีถึง 34% ที่ทำสตาร์ทอัพสนับสนุนคนขี้เกียจอย่างแท้จริง 

– IBM พัฒนาโดรนสำหรับส่งกาแฟ เมื่อตรวจพบว่าคุณกำลังรู้สึกเหนื่อย

– Walmart มีบริการส่งอาหารถึงตู้เย็น ด้วยการสั่งซื้อสินค้าผ่านแอปพลิเคชัน

– GoJEK ร่วมกับบริษัทน้ำมันรายใหญ่ พัฒนาบริการเติมน้ำมันถึงที่ โดยรถยนต์ไม่ต้องขับไปที่สถานีบริการน้ำมัน ตอบโจทย์​ Pain Point คนอินโดนีเซียที่ประสบปัญหาการจราจรติดขัด และคนขี้เกียจต่อคิวรอ

Lazy Consumer_Lazy Economy

– Stitch Fix สไตลิสต์ทำการคัดเลือกสินค้า จัดลงกล่องส่งถึงบ้านลูกค้าให้เลือก สำหรับผู้บริโภคที่ขี้เกียจเลือกชุดไปงานต่างๆ เพราะไม่รู้จะใส่อะไร และที่มีอยู่เต็มตู้ ก็ยังไม่ใช่ จากนั้นเมื่อกล่องส่งถึงบ้าน ถ้าผู้บริโภคชอบ ก็จ่ายเงิน ไม่ชอบ ก็จัดส่งคืนโดยไม่เสียค่าส่ง

– Blue Apron บริการส่งวัตถุดิบ และเครื่องปรุงทำอาหารโดยเชฟมืออาชีพ บรรจุใส่กล่อง พร้อมคำแนะนำสูตรอาหาร และขั้นตอนการปรุง ส่งถึงบ้านลูกค้า ตอบโจทย์ผู้บริโภคที่อยากทำอาหาร แต่ไม่มีเวลาไปเดินเลือกซื้อวัตถุดิบ

– เครื่องพับผ้าอัตโนมัติ เพียงแค่นำเสื้อผ้าแต่ละชิ้นไปวางที่บริเวณไม้แขวนของตัวเครื่อง จากนั้นเครื่องจะทำการพับผ้าโดยอัตโนมัติ ใช้เวลา 2 – 4 นาที พับเสื้อได้ 20 – 40 ชิ้นต่อครั้ง

ขณะที่ตัวอย่างของธุรกิจตอบโจทย์ “คนขี้เกียจ” ในประเทศไทย ที่เห็นชัดเจน และกำลังมาแรง คือ “ธุรกิจประเภทรับสั่งอาหาร” (Food Delivery) เนื่องจากผู้บริโภคยังคงต้องการอาหารที่มีคุณภาพและรสชาติดีแต่ไม่ต้องการเสียเวลาไปรอคิวหรือเดินทางไปซื้อเอง 

Lazy Consumer_Lazy Economy

 

ล้วงลึก 10 อันดับกิจกรรมที่คนไทยขี้เกียจมากที่สุด !! 

การวิเคราะห์พฤติกรรมความขี้เกียจเพื่อนำมาต่อยอดธุรกิจหรือบริการในประเทศไทยนั้น ทางวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดลได้ทำการวิจัยกับกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,200 คน ใน 4 กลุ่มอายุ แบ่งเป็น Gen Z, Gen Y, Gen X และ Baby Boomers พบว่า 10 อันดับกิจกรรมที่ในไทยขี้เกียจมากที่สุด ได้แก่  

1.ออกกำลังกาย 84% 

2.รอคิวซื้อของ 81% 

3.ทำความสะอาดบ้าน 77% 

4.อ่านหนังสือ 70% 

5.ทำอาหาร 69 % 

6.พูดคุยหรือเจอคนเยอะๆ 68% 

7.ดูแลผิวพรรณตัวเอง 68% 

8.เรียน/ทำงาน 65% 

9.ออกไปช้อปปิ้ง 64%  และ 

10.เดินทางไปไหนมาไหน 60%

Lazy Consumer_Lazy Economy Lazy Consumer_Lazy Economy

และถ้าแบ่งตามเพศ เพื่อศึกษาว่าแต่ละเพศมีความแตกต่างกันอย่างไร พบว่า 

“เพศชาย” มีความขี้เกียจรอคิวซื้อของมากที่สุด (80%) ตามมาด้วยออกำลังกาย (76%), ทำความสะอาดบ้าน/งานบ้านต่างๆ (75%), ดูแลผิวพรรณตัวเอง (73%) และออกไปช้อปปิ้ง (71%)

“เพศหญิง” ขี้เกียจออกกำลังกายมากที่สุด (87%) ตามมาด้วยรอคิวซื้อของ (81%), ทำความสะอาดบ้าน/งานบ้านต่างๆ (78%), อ่านหนังสือ (72%) และทำอาหาร (70%)

Lazy Consumer_Lazy Economy

 

เจาะลึกพฤติกรรมมนุษย์ขี้เกียจอยากดูดี แต่ไม่ชอบออกกำลังกายชอบช้อป แต่ไม่ชอบรอบ้านรก สกปรกค่อยทำ!!

เมื่อทำการวิเคราะห์เชิงลึก 5 อันดับแรกของพฤติกรรมที่คนทั่วไปขี้เกียจที่สุด คือ 

1. กลุ่มมนุษย์อยากดูดี แต่ไม่มีแรง หรือการขี้เกียจออกกำลังกาย 

คนไทยมีพฤติกรรมดังกล่าวมากถึง 84% หรือประมาณ 55 ล้านคนจากจำนวนประชากร 66.41 ล้านคน 

เหตุผลคือ 1. ไม่มีแรงจูงใจในการออกกำลังกาย (39%) / 2. ไม่มีเวลา (35%) / 3. เหนื่อย (18%) 

นอกจากนี้ยังพบข้อมูลว่า คนไทยมีการใช้แอปพลิเคชันเกี่ยวกับการออกกำลังกาย ประมาณ 32% จากคนที่อยากดูดี 84% ถือว่ายังมียอดการใช้งานแอปฯ เพื่อสุขภาพน้อย เมื่อเทียบกับ Demand ของคนที่อยากดูดี 

Lazy Consumer_Lazy Economy Lazy Consumer_Lazy Economy Lazy Consumer_Lazy Economy

 

2. มนุษย์ชอบช็อป แต่ไม่ชอบรอ หรือขี้เกียจรอคิวซื้อของ  

พบว่าคนไทยมีพฤติกรรมดังกล่าวมากถึง  81% หรือประมาณ 53 ล้านคนจากจำนวนประชากร 66.41 ล้านคน 

เหตุผลคือ 1. เสียเวลา (79%) และ 2. เหนื่อย (21%) 

สอดคล้องกับการเติบโตของการทำธุรกรรมทางการเงินบนสมาร์ทโฟนในประเทศไทย พบว่าปัจจุบันคนไทยใช้งาน Mobile Banking สูงที่สุดในโลก ด้วยจำนวน 49 ล้านคน

นอกจากนี้ยังเกิดธุรกิจ Business Model ใหม่ และอาชีพใหม่ที่เป็นผลมาจากพฤติกรรมการไม่ชอบรอคิว คือ ธุรกิจจัดส่งของ, แอปพลิเคชันจองคิว, อาชีพรับจ้างต่อคิว ซึ่งเป็นอาชีพที่ใช้เวลาเป็นต้นทุน เพื่อแลกกับเงิน 

Lazy Consumer_Lazy Economy Lazy Consumer_Lazy Economy Lazy Consumer_Lazy Economy

 

3. มนุษย์บ้านรก สกปรกค่อยทำ 

พบว่าคนไทยมีพฤติกรรมดังกล่าวมากถึง  77% หรือประมาณ 50 ล้านคนจากจำนวนประชากร 66.41 ล้านคน                  

เหตุผลคือ 1. รู้สึกเหนื่อย (44%) / 2. ไม่มีเวลา (29%) / 3. ไม่มีแรงจูงใจ (14%) / 4. ทำไม่เป็น (13%)

จาก Pain Point ดังกล่าว ทำให้เกิดแอปพลิเคชันทำความสะอาดบ้าน แต่สำหรับตลาดประเทศไทยแล้ว ปรากฏว่าถึงแม้จะมีคนไทยขี้เกียจทำความสะอาดบ้านมากก็ตาม แต่พบว่าคนไทยกลับเรียกใช้แอปพลิเคชันดังกล่าวน้อย อยู่ที่ 7% เท่านั้นที่มีการใช้งาน เพราะกังวลเรื่องความปลอดภัย และกลัวการถูกขโมยของ ในขณะที่ 93% ไม่มีการใช้งาน 

เพราะฉะนั้นผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน หรือบริการรับทำงานบ้าน ควรประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างความมั่นใจในเรื่องความปลอดภัย และทำให้ผู้บริโภครับรู้ถึงบริการดังกล่าว 

Lazy Consumer_Lazy Economy Lazy Consumer_Lazy Economy Lazy Consumer_Lazy Economy

 

4. ส่วนมนุษย์ไม่ชอบอ่านแค่ผ่านๆก็พอหรือขี้เกียจอ่านหนังสือ 

พบว่าคนไทยมีพฤติกรรมดังกล่าวมากถึง  70% หรือประมาณ 46 ล้านคนจากจำนวนประชากร 66.41 ล้านคน  

เหตุผลคือ 1. ขาดแรงจูงใจในการอ่านหนังสือ (54%) / 2. ไม่มีเวลา (33%) / 3. ความเหนื่อย (13%)

Lazy Consumer_Lazy Economy Lazy Consumer_Lazy Economy

 

5. มนุษย์ชอบกิน แต่ไม่อินทำอาหาร หรือขี้เกียจทำอาหาร 

พบว่าคนไทยมีพฤติกรรมดังกล่าวมากถึง 69% หรือประมาณ 45 ล้านคนจากจำนวนประชากร 66.41 ล้านคน 

เหตุผลคือ 1. ไม่รู้วิธีทำอาหาร (33%) / 2. เสียเวลา (30%) / 3. เหนื่อย (19%) / 4. ไม่มีแรงจูงใจ (13%)

ทางออกของผู้บริโภคกลุ่มนี้คือ “Food Delivery” ที่ปัจจุบันมูลค่าตลาดของตลาด Food Delivery ในประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 35,000 ล้านบาท มีผู้ให้บริการหลักๆ ได้แก่ Food Panda, LINE MAN, Grab, GET! 

Lazy Consumer_Lazy Economy Lazy Consumer_Lazy Economy Lazy Consumer_Lazy Economy

 

5 เคล็ดลับทำการรคลาดชนะใจมนุษย์ขี้เกียจ 

เคล็ดลับการทำการตลาดในยุคที่คนขี้เกียจครองเมืองนั้น เจ้าของสินค้าและบริการจะต้องมีการใช้กลยุทธ์ที่เรียกว่า “SLOTH” เพื่อครองใจผู้บริโภคกลุ่มดังกล่าว โดยกลยุทธ์ “SLOTH” ประกอบด้วย 

Speed คือต้องมีความรวดเร็ว และต้องไม่ทำให้ผู้บริโภครู้สึกเสียเวลา 

Lean กระชับ ตัดท่อนขั้นตอนที่ยุ่งยากออก เพื่อให้ง่ายต่อการใช้งาน 

– EnjOy ต้องทำให้ผู้บริโภครู้สึกสนุก และเกิดแรงจูงใจในการใช้สินค้าและบริการ 

– ConvenienT สินค้าหรือบริการต้องมีความสะดวก ช่วยให้ชีวิตนั้นง่ายมากขึ้น

Happy ความสุข จากความต้องการที่ถูกเติมเต็มและปัญหาได้ถูกแก้ไขด้วยวิธีที่ง่ายที่สุด 

ในฐานะนักการตลาด และผู้ประกอบการ ไม่ว่าลูกค้าจะมีพฤติกรรมอย่างไร แม้เป็นมนุษย์ขี้เกียจก็ตาม เมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นลูกค้าแล้ว การสร้างความสุข ความพึงพอใจ ก็เป็นหน้าที่ของเรานั้นเอง เพราะเมื่อไหร่ที่ผู้บริโภคมีความสุข ผู้ประกอบการก็จะมีความสุขตามไปด้วย โดยเฉพาะการส่งผลที่ดีให้กับยอดขายและสร้างความจงรักภักดีให้กับแบรนด์สินค้าอย่างแน่นอน

Lazy Consumer_Lazy Economy

 

5 ธุรกิจมาแรง เอาใจคนขี้เกียจ 

จากการวิจัยยังพบว่า 5 ธุรกิจและบริการที่กำลังมาแรงที่สุดในไทย และคาดว่าในอนาคตจะสามารถครองใจตลาดคนขี้เกียจได้ดี คือ 

1. ธุรกิจที่ทำแทนได้ อาทิ ทำบริการความสะอาดบ้าน  บริหารสั่งอาหาร  บริการซื้อของแทน  

2. ธุรกิจที่ไม่ต้องขยับ ไม่ต้องจับ ไม่ต้องถือ อาทิ สินค้าประเภท Automation และ Hand Free 

3. ธุรกิจที่พร้อมใช้งานทันที เช่น สินค้าประเภทพร้อมกิน พร้อมดื่ม 

4. ธุรกิจร่วมมือ ร่วมใจ เช่น community ต่างๆ ที่เกิดขึ้นอยู่ในรูปแบบออนไลน์ 

5. ธุรกิจที่เน้นการฟัง เช่น Podcast Content, VDO content, Short Content

Lazy Consumer_Lazy Economy

อย่างไรก็ตามธุรกิจและบริการเหล่านี้ในอนาคตคาดว่าจะได้รับความนิยมและตอบสนองความต้องการตลาดกลุ่มคนขี้เกียจได้เป็นอย่างดี 

ดังนั้นหากสตาร์ทอัพที่กำลังมองหาแนวทางทำธุรกิจอาจจะหันมาศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมตลาดคนขี้เกียจและนำไปต่อยอดได้ในอนาคต 


  • 3.4K
  •  
  •  
  •  
  •  
WP
อยู่ในแวดวงนิตยสารธุรกิจการตลาดกว่าสิบปี สนุกและชอบติตตามเทรนด์ ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมในแพลตฟอร์มดิจิทัล มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การตลาดและดิจิทัลร่วมกันนะคะ