ม.หอการค้าไทย เผยคนไทยเปิดรับข่าว 2 ชม. ต่อวัน เน้นข่าวบันเทิงมากที่สุด

  • 170
  •  
  •  
  •  
  •  

Slide1-700

คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ทำการสำรวจ “พฤติกรรมการรับข่าวสารและความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อสื่อมวลชน” ด้วยวิธีเก็บแบบสอบถาม ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2559 ในเขตกรุงเทพและปริมณฑล จำนวน 800 คน ในจำนวนนี้ พบว่ามีผู้ตอบแบบสอบถามเป็นเพศชาย 44% เพศหญิง 56% มีระดับการศึกษาสูงสุดในระดับปริญญาตรี 52.8% รองลงมาคือระดับมัธยมศึกษา 22.8% ช่วงอายุของผู้ตอบแบบสอบถาม แบ่งเป็น 4 ช่วง ได้แก่ เจนเนอเรชั่น Y อายุระหว่าง 19-36 ปี 65.1%, เจเนอเรชั่น X อายุระหว่าง 37-51 ปี 21%, เบบี้บูมเมอร์ อายุระหว่าง 52-70 ปี 7.5% และเจเนอเรชั่น Z อายุระหว่าง 12-18 ปี 6.4%

คุณมานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลการสำรวจในด้านพฤติกรรมการรับข่าวสารของประชาชน ผลการสำรวจพบว่า

• ประชาชน 32.6% ใช้เวลาในการรับชมข่าวสารโดยเฉลี่ยต่อวัน 1-2 ชั่วโมง รองลงมา 24.1% ใช้เวลาในการรับชมข่าวสารโดยเฉลี่ยต่อวัน 2-3 ชั่วโมง
• ข่าวสารที่รับชมบ่อยที่สุดคือข่าวบันเทิง 54.4% รองลงมาคือข่าวเหตุการณ์สำคัญ 52.3% ข่าวกีฬา 37% ข่าวการเมือง 34.9% และข่าวอาชญากรรม 32.8%
• ในส่วนช่องทางในการรับข่าวสารนั้น ประชาชนรับข่าวสารจากสื่อสังคมออนไลน์บ่อยที่สุดคิดเป็นคะแนนเฉลี่ย 4.13 (จากคะแนนเต็ม 5 คะแนน) รองลงมาคือ โทรทัศน์ คิดเป็นคะแนนเฉลี่ย 3.81 และเว็บไซต์หรือแอพลิเคชั่นข่าว คิดเป็นคะแนนเฉลี่ย 3.15

พฤติกรรมการรับข่าวสารผ่านทางออนไลน์

• มือถือ คิดเป็นคะแนนเฉลี่ย 4.35 (จากคะแนนเต็ม 5 คะแนน) ซึ่งบ่อยกว่าอ่านจากคอมพิวเตอร์ ซึ่งคิดเป็นคะแนนเฉลี่ย 3.12
• ประชาชนเลือกอ่านข่าวที่แชร์มาจากคนใกล้ชิดบ่อยที่สุด คิดเป็นคะแนนเฉลี่ย 3.53 รองลงมาคือ อ่านข่าวจากสื่อที่เป็นสำนักข่าวอย่างเป็นทางการ คิดเป็นคะแนนเฉลี่ย 3.33 และสื่อที่เป็นสำนักข่าวอย่างไม่เป็นทางการ คิดเป็นคะแนนเฉลี่ย 3.28
• เมื่อเห็นข่าวแล้วจะคลิกไปอ่านยังแหล่งที่มาของข่าวมากที่สุด คิดเป็นคะแนนเฉลี่ย 3.33 รองลงมาคือ กด Like คิดเป็นคะแนนเฉลี่ย 3.03

พฤติกรรมการรับชมข่าวทางสถานีโทรทัศน์ ในระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา

• รายการข่าวช่วงเช้าที่มีผู้ชมมากที่สุดคือ เรื่องเล่าเช้านี้ ช่อง 3HD 48.9% รองลงมาคือเช้านี้ที่หมอชิต 26.4%
• รายการข่าวช่วงเที่ยง ได้แก่ รายการเที่ยงวันทันเหตุการณ์ ช่อง 3HD และรายการห้องข่าวภาคเที่ยง ช่อง 7 HD 23%
• รายการข่าวช่วงเย็น ได้แก่ รายการเรื่องเด่นเย็นนี้ ช่อง 3HD รายการ ข่าวภาคค่ำช่อง 7 HD 35.5%
• รายการข่าวภาคดึก ได้แก่ รายการข่าวสามมิติช่อง 3HD 46% รายการประเด็นเด็ด 7 สี ช่อง 7HD 31.5%
• ข่าวเสาร์อาทิตย์ ได้แก่ รายการเรื่องเล่าเสาร์อาทิตย์ช่อง 3HD 42.1% รายการข่าวภาคค่ำช่อง 7HD 27.9%

จะเห็นได้ว่าพฤติกรรมการในการรับข่าวสารของประชาชนนั้น ได้ให้ความสำคัญกับการรับข่าวสารผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ หรือโซเชี่ยวมีเดียมากที่สุด อีกทั้งยังมีพฤติกรรมในการรับข่าวสารที่ถูกบอกต่อ หรือแชร์มาจากคนใกล้ชิด บ่อยกว่าดูข่าวตรงจากสำนักข่าวที่เป็นทางการ และการรับข่าวสารจากสำนักข่าวที่ไม่เป็นทางการบ่อยพอๆกับสำนักข่าวที่เป็นทางการ จึงเป็นประเด็นที่สำนักข่าวออนไลน์ในฐานะสื่อมวลชนมืออาชีพ ควรจะนำมาพัฒนาวิธีการ รูปแบบ หรือเนื้อหา ของข่าวสาร ที่สร้างความแตกต่าง ความน่าสนใจ ที่โดดเด่นกว่าข้อมูลข่าวสารทั่วไปที่มีอยู่ในโลกออนไลน์ เพื่อจูงใจให้ประชาชนให้ความสนใจเสพรับข่าวสารจากสำนักข่าวที่เป็นทางการมากขึ้น

ด้านความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน

คุณกนกกาญจน์ บัญชาบุษบง อาจารย์ประจำสาขาวิชาการสื่อสารเชิงกลยุทธ์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้เปิดเผยผลการสำรวจ ในด้านความเชื่อมั่นที่มีต่อสื่อมวลชน โดยผลการสำรวจ พบว่า

ต้นตอข่าวออนไลน์ที่ประชาชนให้ความเชื่อถือมากที่สุด

• สำนักข่าวอย่างเป็นทางการคิดเป็นคะแนนเฉลี่ย 3.67
• รองลงมาคือข่าวที่แชร์มาจากคนใกล้ชิด คิดเป็นคะแนนเฉลี่ย 3.01
• สำนักข่าวอย่างไม่เป็นทางการ 2.97

ความเชื่อมั่นของประชาชนต่อสื่อมวลชนโดยภาพรวม

ประชาชนให้ความเชื่อถือกับการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนผ่านทางโทรทัศน์มากที่สุด คิดเป็นคะแนนเฉลี่ย 3.89 รองลงมาคือสื่อหนังสือพิมพ์ คะแนนเฉลี่ย 3.66, วิทยุ คะแนนเฉลี่ย 3.22, เว็บไซต์หรือแอพพลิเคชั่นข่าว คิดเป็นคะแนนเฉลี่ย 3.17 และเชื่อถือข่าวจากสื่อสังคมออนไลน์น้อยที่สุด คิดเป็นคะแนนเฉลี่ย 3.06

โดยประชาชนมีความคิดเห็นว่าการนำเสนอข่าวในด้านการเมืองและประเด็นสำคัญของสังคมนั้นสื่อประเภทโทรทัศน์มีการนำเสนอข้อมูลจากหลายด้านมากที่สุด 70.5% รองลงมาคือ เว็บไซต์หรือแอพพลิเคชั่นข่าว 56.9%, หนังสือพิมพ์ 55.8%, วิทยุ 55% และสื่อสังคมออนไลน์ 54.4% โดยองค์ประกอบของการนำเสนอข่าวที่ทำให้ประชาชนให้ความเชื่อถือมากที่สุดคือ เนื้อหาข่าว 48.8% รองลงมาคือ สังกัด 32.6% ผู้ประกาศข่าว 10.5% และ นักข่าว 8.9%

จากผลการสำรวจในส่วนของความเชื่อมั่นของประชาชนนั้นจะเห็นได้ว่า แม้พฤติกรรมในการรับข้อมูลข่าวสารของประชาชนจะเปลี่ยนแปลงไป โดยมีการใช้สื่อสังคมออนไลน์ หรือเว็บไซต์ข่าว แอพพลิเคชั่นข่าว ในการอ่านข่าวสารมากขึ้น แต่ในด้านความเชื่อมั่นนั้น ประชาชนยังให้ความเชื่อถือในสื่อกระแสหลัก โดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์ที่ประชาชนมีความเชื่อว่าจะนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่มีหลากหลายแง่มุมหลายด้านให้แก่ประชาชน

นอกจากนี้ คณะผู้วิจัยยังได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลจากการสำรวจ โดยแบ่งกลุ่มประชาชนตามช่วงอายุ ออกเป็น 4 กลุ่ม ตามเจเนอเรชั่น ได้แก่ เบบี้บูมเมอร์ เจเนอเรชั่น X เจนเนอเรชั่น Y และเจเนอเรชั่น Z เพื่อหาลักษณะสำคัญในการรับข้อมูลข่าวสารและความเชื่อมั่นที่มีต่อสื่อมวลชน ได้ผลดังนี้

กลุ่มเบเบี้บูมเมอร์ “ไม่เชื่อ = ไม่เสพ”

Slide19

กลุ่มเบเบี้บูมเมอร์ อายุระหว่าง 52-70 ปี มีพฤติกรรมในการรับข่าวสารคือ “ไม่เชื่อ = ไม่เสพ” รับข่าวสารจากแหล่งที่ตนเองให้ความเชื่อถือ “ชอบสื่อดั้งเดิม เพิ่มเติมคือสื่อใหม่” คือยังให้ความไว้วางในสื่อดั้งเดิมแต่มีการรับข่าวสารผ่านทางสื่อใหม่มากขึ้น พฤติกรรมทั่วไปในการรับข่าวสารของกลุ่มเบบี้บูมเมอร์ที่มีความน่าสนใจ มีดังนี้ กลุ่มเบบี้บูมเมอร์มีการรับข่าวสารทางโทรทัศน์บ่อยที่สุด รองลงมาคือหนังสือพิมพ์ สื่อสังคมออนไลน์ หรือโซเชี่ยวมีเดีย เว็บไซต์ แอพพลิเคชั่น และวิทยุ ตามลำดับ

ข่าวที่กลุ่มเบเบี้บูมเมอร์รับชมมากที่สุด 65% คือ ข่าวการเมือง รองลงมาคือข่าวเหตุการณ์สำคัญ 60% และข่าวอาชญากรรม 50% ช่วงเวลาที่รับชมรายการข่าวทางโทรทัศน์มากที่สุดคือ 10.30 น. – 15.30 น. โดยรายการข่าวที่รับชมได้แก่ รายการเที่ยงวันทันเหตุการณ์ช่อง 3HD 30% รายการข่าวเที่ยงช่อง 7 ช่อง 7HD 21.7% รายการชัดข่าวเที่ยง ช่องไทยรัฐทีวี และรายการตู้ ปณ.ข่าว 3 ช่อง 3SD 15% เท่ากัน 70% ของเบบี้บูมเมอร์ เชื่อว่าสื่อโทรทัศน์เป็นสื่อที่นำเสนอข่าวด้านการเมืองและประเด็นสังคมในหลายด้าน และหากรับข่าวสารทางสื่อออนไลน์จะเลือกรับข่าวสารจากแหล่งต้นตอข่าวที่ให้ความเชื่อถือ คือสำนักข่าวที่เป็นทางการ

เจเนอเรชั่น X กลัวตกข่าว

Slide21

เจเนอเรชั่น X อายุระหว่าง 37-51 ปี มีพฤติกรรมในการรับข่าวสารคือ FOMO (Fear of Missing Out) คนกลุ่มนี้กลัวตกข่าว จึงรับข่าวสารทางออนไลน์ผ่านสำนักข่าวที่เป็นทางการและคนใกล้ชิดมากขึ้น ติดตามข่าว ทางสื่อใหม่เพื่อให้ทันกระแสสังคม แต่ไม่ได้ให้ความเชื่อถือ โดยเฉพาะข่าวทางสื่อสังคมออนไลน์หรือโซเชี่ยวเน็ตเวิร์ค ที่เจเนอเรชั่น X ให้ความเชื่อถือในระดับน้อย แต่ให้ความเชื่อถือในสื่อที่เป็นประเภทสื่อดั้งเดิมในระดับมาก

เจเนอเรชั่น X เป็นกลุ่มคนที่รับข่าวสารผ่านทางสื่อโทรทัศน์มากกว่าสื่ออื่น โดย 71% ของคนกลุ่มนี้ เชื่อว่าการนำเสนอข่าวด้านการเมืองและประเด็นสำคัญของสังคมจากสื่อโทรทัศน์เป็นการนำเสนอข้อมูลในหลายด้าน ช่วงเวลาที่รับชมข่าวทางโทรทัศน์มากที่สุดคือช่วงเวลา 10.30 น.-15.30 น. โดยรายการข่าวที่รับชม ได้แก่ รายการเที่ยงวันทันเหตุการณ์ ช่อง 3HD 43.5% รายการข่าวเที่ยวช่อง 7 ช่อง 7HD 28% และรายการตู้ ปณ.ข่าว 3 ช่อง 3SD 14.9%

เจนเนอเรชั่น Y ใช้สื่อใหม่ ไว้ใจสื่อดั้งเดิม

Slide23

กลุ่มต่อมาคือ เจนเนอเรชั่น Y อายุระหว่าง 19-36 ปี “ใช้สื่อใหม่ ไว้ใจสื่อดั้งเดิม” กลุ่มนี้รับข่าวสารผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์หรือโซเชี่ยวมีเดียบ่อยที่สุด รองลงมาคือสื่อโทรทัศน์ เว็บไซต์หรือแอพพลิเคชั่นข่าว หนังสือพิมพ์ และวิทยุ ตามลำดับ แม้จะรับข่าวสารทางสื่อใหม่มากแต่คนนี้ให้ความเชื่อถือในสื่อโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ มากกว่าข่าวสารจากสื่อใหม่ แต่มีแนวโน้มที่จะเชื่อถือในสื่อใหม่มากขึ้น

โดยต้นตอข่าวทางออนไลน์ที่เจนเนอเรชั่น Y รับข่าวสารบ่อย คือ สำนักข่าวที่ไม่เป็นทางการและรับข้อมูลข่าวสารจากคนใกล้ชิด บ่อยครั้งกว่าสำนักข่าวที่เป็นทางการ และ 53.7% คิดว่าข่าวสารที่รับจากในสื่อใหม่นั้นมีการนำเสนอข่าวการเมืองและประเด็นสำคัญทางสังคมหลายด้าน ประเภทข่าวที่เจนเนอเรชั่น Y รับชมได้แก่ ข่าวบันเทิง 57.2% ข่าวเหตุการณ์สำคัญ 51.6% และข่าวกีฬา 37.2%

เจเนอเรชั่น Z ติดสื่อใหม่ ไว้ใจสื่อดั้งเดิม

Slide24

กลุ่มสุดท้าย เจเนอเรชั่น Z อายุระหว่าง 12-18 ปี “ติดสื่อใหม่ ไว้ใจสื่อดั้งเดิม” เป็นกลุ่มที่มีพฤติกรรมในการรับข่าวสารทางสื่อสังคมออนไลน์หรือโซเชี่ยวเน็ตเวิร์คบ่อยที่สุด มากกว่าเจนเนอเรชั่นอื่นๆ รองลงมาคือสื่อโทรทัศน์ สื่อเว็บไซต์หรือแอพพลิเคชั่นข่าว หนังสือพิมพ์ และวิทยุ เจเนอเรชั่น Z ยังคงให้ความเชื่อถือในสื่อโทรทัศน์มาก ต่างกับสื่ออื่นทั้งหมดที่เชื่อถือแค่ในระดับปานกลาง

การรับข่าวสารทางสื่อใหม่ของคนกลุ่มนี้ รับข่าวสารจากสำนักข่าวออนไลน์ที่ไม่เป็นทางการและรับข่าวที่แชร์มาจากคนใกล้ชิด บ่อยกว่าการรับข่าวสารจากสำนักข่าวออนไลน์ที่เป็นทางการ แต่ให้ความเชื่อถือในสำนักข่าวที่เป็นทางการมากกว่าต้นตอข่าวออนไลน์อื่นๆ แนวโน้มในการรับสารของคนกลุ่มนี้มีโอกาสที่จะมีความเชื่อถือในข่าวสารจากสื่อใหม่มากขึ้น โดยจะเห็นได้ว่า เจเนอเรชั่น Z ในสัดส่วนถึง 70.6% ซึ่งสูงกว่าเจเนอเรชั่นอื่นมาก มีความคิดเห็นว่าสื่อสังคมออนไลน์หรือโซเชี่ยวมีเดียจะนำเสนอข่าวด้านการเมืองและประเด็นสำคัญทางสังคมหลายด้าน รองลงมา 66.7% คือเว็บไซต์ แอพพลิเคชั่นข่าว และโทรทัศน์

จากผลการสำรวจและการวิเคราะห์ข้อมูลตามเจเนอเรชั่น สะท้อนให้เห็นภาพแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงในการรับข่าวสารและความเชื่อถือที่ประชาชนมีต่อสื่อและประเภทของแหล่งต้นตอข่าวออนไลน์ โดยเจเนอเรชั่นที่อายุน้อยยิ่งมีความเชื่อถือและรับข่าวสารผ่านสื่อใหม่มากขึ้น ประเด็นหนึ่งที่มีความสำคัญและน่าสนใจก็คือ ถึงแม้ผู้บริโภคข่าวสารยุคใหม่จะให้ความสำคัญกับสื่อใหม่ แต่ก็ยังคงให้ความไว้วางใจ ในสื่อดั้งเดิม โดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์ว่าเป็นแหล่งต้นตอข่าวสารที่น่าเชื่อถือ รูปแบบการเปลี่ยนแปลงนี้ อาจกล่าวได้ว่าเป็นพฤติกรรมการรับข่าวสารของผู้บริโภค ในยุคที่มีเทคโนโลยีการสื่อสารสูงขึ้น เป็นยุคใหม่แห่งการบริโภคข่าวสาร หรือ The Modern News Consumer ที่สื่อจะต้องปรับตัวให้สอดรับการเปลี่ยนแปลงนี้ โดยผสมผสานการใช้สื่อดั้งเดิมที่ผู้บริโภคให้ความไว้วางใจ เข้ากับสื่อใหม่ที่มีความสอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคมากขึ้น


  • 170
  •  
  •  
  •  
  •