อินไซต์ 3 ความเสี่ยง “ลุ้นหวย-ลงทุนคริปโต-ซื้อกล่องสุ่ม” คนไทยชอบมากสุด และกลยุทธ์แบรนด์พิชิตใจคนชอบเสี่ยง

  • 485
  •  
  •  
  •  
  •  

CMMU-Marketing to Risk lover

ความเชื่อเรื่องโชคลาง การพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และชอบลุ้นชอบเสี่ยง เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับคนไทย และสังคมไทยมาช้านาน ยิ่งถ้าสภาวะสังคม และเศรษฐกิจผันผวน ยิ่งเป็นแรงผลักให้คนหันพึ่งสิ่งเหล่านี้มากขึ้น

วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล หรือ ซีเอ็มเอ็มยู” (CMMU) จึงได้สำรวจกลุ่มตัวอย่าง และวิเคราะห์ข้อมูลงานวิจัย ถอดรหัสความคิดพิชิตใจคนชอบเสี่ยง Marketing to Risk lover” เพื่อให้ทราบถึงปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อพฤติกรรมที่ชอบเสี่ยง และนำมาสู่การตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค ซึ่งจะมีประโยชน์ต่อกลุ่มผู้ประกอบการหรือนักการตลาดที่ให้ความสําคัญต่อการทำการตลาดแบบเสี่ยงโชค เพื่อปรับกลยุทธ์ให้เข้ากับพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบัน รวมทั้งกลุ่มนักลงทุนหรือบริษัทด้านการลงทุน สร้างโอกาสให้ธุรกิจดีขึ้นกว่าเดิมและอยู่รอดต่อไป

สำรวจกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,000 คน และสัมภาษณ์เชิงลึก 40 คน แบ่งสัดส่วน เพศหญิง 71.5% (จำนวน 716 คน) เพศชาย 23.6% (จำนวน 236 คน) LGBT+ 5% (จำนวน 50 คน) และแบ่งตามเจนเนอเรชัน ดังนี้ Gen Y 54.6% (จำนวน 547 คน) Gen Z 24.8% (จำนวน 248 คน) Gen X 12% (จำนวน 120 คน) และ Baby Boomer 8.7% (จำนวน 87 คน)

CMMU-Marketing of Risk Lover CMMU-Marketing of Risk Lover

 

นิยามความเสี่ยงคนไทยชอบเสี่ยงจริงหรือไม่ ?

ความเสี่ยง คือความน่าจะเป็นที่จะเกิดเหตุการณ์บางอย่างซึ่งมีผลกระทบทำให้การดำเนินงานไม่บรรลุวัตถุประสงค์หรือเบี่ยงเบนจากที่กำหนดไว้ ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจเป็นไปได้ทั้งทางบวกและทางลบ หากความเสี่ยงที่เกิดขึ้นมีความไม่แน่นอน ก็ย่อมทำให้ต้องแบกรับความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น ทุกวันนี้เราทุกคนต้องเคยเจอความเสี่ยงและต้องเลือกที่จะยอมรับกับความเสี่ยงเพื่อทำให้สามารถดำรงชีวิตอยู่

เนื่องจากสังคมไทยมีความเชื่อเรื่องโชคลาง การพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นหลัก สาเหตุมาจากความไม่แน่นอนของสภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ ค่าครองชีพที่มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นในขณะที่รายได้ลดลง ทั้งยังสภาวะโรคระบาด ทำให้ประชาชนหันมาพึ่งสิ่งเหล่านี้เพื่อเป็นแรงผลักดันและเป็นแรงจูงใจ

โดยปัจจัยด้านความเชื่อเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมผู้บริโภค เนื่องจากความเชื่อจะเป็นตัวกำหนดความตั้งใจและพฤติกรรม เพราะฉะนั้นความเชื่อเรื่องโชคลาง ชอบเสี่ยงโชค ลุ้นโชค จึงเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคนำมาใช้จัดการกับความไม่แน่นอนที่กำลังเผชิญอยู่และเป็นกำลังใจที่ทำให้ผู้บริโภคคลายความกังวลกับสภาวะความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น

CMMU-Marketing of Risk Lover

 

Top 3 ความเสี่ยงที่คนไทยชอบมากสุด

ขณะที่ 3 อันดับที่คนไทยชอบเสี่ยงมากที่สุดจากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง พบว่า

1. เสี่ยงที่จะลุ้น 46.2%

ถ้าเทียบเป็นจำนวนประชากร สูงถึง 30 ล้านคน เช่น การลุ้นหวย การลุ้นรางวัลใหญ่จากการชิงโชค ยกตัวอย่าง โออิชิ ทำกิจกรรมส่งเลขใต้ฝา หรือน้ำดื่มสิงห์ กิจกรรมโชคใต้ฝา กรอกรับพ้อยท์ลุ้นแลกรางวัลใหญ่

เสี่ยงที่จะลุ้นแบ่งเป็นลุ้นลอตเตอรี่และลุ้นชิงโชค/ชิงรางวัล

เสี่ยงที่จะลุ้นลอตเตอรี่

ถ้ามองให้ลึกลงไป การซื้อลอตเตอรี่เป็นเหมือนกับการลงทุนประเภทหนึ่งที่เข้าถึงง่าย หาซื้อได้ง่าย มีวิธีการเล่นที่ไม่ซับซ้อน ทำให้ความเสี่ยงในประเภทนี้สามารถเข้าถึงได้ทุกระดับรายได้ ทุกเพศ และทุกๆ สาขาอาชีพ อย่างน้อยก็เป็นกิจกรรมที่หลายคนเสี่ยงที่จะลุ้นกันเดือนละ 2 ครั้ง และเนื่องจากสภาพสังคมและสภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยที่มีความไม่แน่นอน ผู้คนทุกระดับใช้ชีวิตกันแบบ ตื่นเช้าไปทำงาน เย็นกลับบ้าน ทำให้เกิดความรู้สึกเบื่อหน่าย จึงต้องหาอะไรมาทำให้มีความสนุกสนานตื่นเต้น เพราะฉะนั้นการเล่นหวย ก็ถือว่าเป็นการทำให้ตัวเองได้ลุ้น เป็นความสนุกอีกรูปแบบหนึ่ง

ข้อมูลวิจัยจากศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจของ TMB พบว่า

  • 1 ใน 4 ของคนไทย ซื้อลอตเตอรรี่รวมกันปีละ 2.5 ล้านบาท ถึงแม้ว่าอัตราการถูกรางวัลจะมีเพียงแค่ 1.4% เท่านั้น และค่าครองชีพเราก็สูงขึ้นเรื่อยๆ
  • 59.2% ของผู้ตอบแบบสอบถามก็จะยังคงซื้อต่อไปแม้จะไม่ถูกรางวัลแม้ราคาหวยจะสวนทางกับค่าครองชีพ แต่ความนิยมเรื่องการเสี่ยงโชค ยังเป็นอันดับ 1 เสมอ” #เสี่ยงซื้อลอตเตอรี่

CMMU-Marketing of Risk Lover

โดย 3 สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้คนไทยชอบเล่นหวย มีดังนี้

1. ต้องการความตื่นเต้น เพราะว่าในปัจจุบันคนไทยส่วนใหญ่ตกอยู่ในสภาวะเครียดจากสภาพแวดล้อมรอบๆ ด้าน การซื้อหวยจึงเป็นอีกหนึ่งกิจกรรม เพื่อให้ความรู้สึกตื่นเต้น จะได้มีความสนุกสนาน ได้ลุ้นเลขที่ออกจากลอตเตอรี่ที่ซื้อ

2. เป็นเรื่องที่ไว้พูดคุยเข้าสังคม นอกจากเรื่องเมาท์ซุบซิบดาราแล้ว เรื่องหวยที่ออกงวดล่าสุด หรือเรื่องสถานที่ในการหาเลขเด็ด ก็กลายเป็นเรื่องพูดคุยเพื่อเข้าสังคมในกลุ่มคนไทยเป็นอย่างมาก ถ้านึกถึงภาพสมัยก่อน ตามร้านค้าต่างๆ มักจะเปิดทีวีดูถ่ายทอดสดสลากกินแบ่งรัฐบาล แล้วมีผู้คนมารวมตัวเพื่อมุงดูกันที่หน้าทีวี ทำให้เกิดการพบปะพูดคุยระหว่างนักเสี่ยงโชค

3. คาดหวังว่าจะรวยขึ้น ส่วนใหญ่คนที่ซื้อหวยมีความคาดหวังว่าจะถูกรางวัลใหญ่ ร่ำรวยกันในชั่วข้ามคืน โดยเฉพาะกับกลุ่มคนทำงานและกลุ่มคนใช้แรงงาน ที่มองว่าการทำงานไปวันๆ อยู่แบบนี้ คงไม่มีทางรวยขึ้นมาได้ จึงต้องลองเสี่ยงซื้อหวย เผื่อฟลุคถูกรางวัลที่ 1 ได้เป็นเศรษฐีคนใหม่ง่ายๆ ดังที่เห็นตามข่าวว่าจะมีคนถูกรางวัลที่ 1 กันทุกงวด

CMMU-Marketing of Risk Lover

จากผลสำรวจพฤติกรรมคนไทย พบว่า

  • 85.3% ของกลุ่มตัวอย่างบอกว่าเคยซื้อลอตเตอรี่ แสดงให้เห็นว่าการซื้อลอตเตอรี่เข้าถึงในทุกๆ เพศ ทุกวัย และทุกระดับรายได้
  • กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ซื้อลอตเตอรี่งวดละ 1 ใบ อยู่ที่ 51.9% และซื้องวดละ 2-4 ใบ อยู่ที่ 37.1%
  • กลุ่มผู้ใหญ่วัย Gen X และ Baby Boomer จะซื้อลอตเตอรี่งวดละ 2-4 ใบ มากกว่ากลุ่มคนวัยทำงานและวัยรุ่น อย่าง Gen Y และ Gen Z ที่จะซื้อเพียงงวดละ 1 ใบเท่านั้น

อาจจะเป็นเพราะว่าวัยอย่าง Gen Y และ Gen Z ให้ความสนใจในเรื่องของการลงทุนมากกว่า เพราะว่าการซื้อหวยเป็นการลุ้น ใช้ความน่าจะเป็น ต่างจากการลงทุนที่มีโอกาสได้ผลตอบแทนมากกว่าการพึ่งเรื่องโชค เรื่องดวง

CMMU-Marketing of Risk Lover CMMU-Marketing of Risk Lover

  • พฤติกรรมคนไทย  60.1% มองว่า ลอตเตอรี่เป็นการลงทุนต่ำ แต่ได้รับผลตอบแทนสูง ที่แม้งวดนี้จะไม่ถูกแต่ยังมีงวดหน้าเสมอ
  • 63.3% มีการไปไหว้พระขอพร ซึ่งส่วนใหญ่ขอให้ถูกหวย ขอให้ร่ำรวยขึ้น โดยสถานที่ที่นิยมไปขอ เช่น ท้าวเวสสุวรรณ หรืออย่างถ้ำนาคา วัดป่าคำชะโนด ศาลแม่นาคพระโขนงและศาลงูจงอาง

CMMU-Marketing of Risk Lover

CMMU-Marketing of Risk Lover

เสี่ยงที่จะลุ้นโชค ชิงโชค

สี่ยงชิงโชค เป็นกิจกรรมที่อยู่คู่ชาวไทยมาช้านานอย่างที่เราคุ้นกันดี ก็จะมีโออิชิ ส่งเลขใต้ฝา น้ำดื่มสิงห์ก็เป็นโชคใต้ฝาเหมือนกันที่กรอกรับพ้อยลุ้นแลกรางวัลในไลน์ หรือจะเป็น m150 ก็มีกิจกรรมลุ้นรางวัลในลักษณะแบบเดียวกันเหมือนกันด้วย โดยพบว่า

  • 75.3% ของผู้ตอบแบบสอบถามจะเข้าร่วมต่อเมื่อมีรางวัลใหญ่มาดึงดูด ซึ่งก็บ่งชี้ว่ากิจกรรมที่กล่าวมามีปัจจัยดึงดูดอย่างครบถ้วน

แสดงให้เห็นว่า คนส่วนใหญ่ที่เล่นกิจกรรมชิงโชค มีความคาดหวังอยากได้รางวัลใหญ่ทั้งนั้น ซึ่งของรางวัลส่วนใหญ่ที่ผู้บริโภคอยากได้รับ ส่วนมากจะเป็นของที่มีมูลค่า เช่น เงินสด ทองคำ หรือของรางวัลเฉพาะบางกลุ่ม เช่น สมาร์ทโฟน ตั๋วเครื่องบินพร้อมที่พัก ตั๋วคอนเสิร์ต เป็นต้น

CMMU-Marketing of Risk Lover

  • นอกจากนี้การทำการตลาดชิงโชค โปรโมชั่นชิงโชค ยังเป็นเครื่องมือโปรโมทแบรนด์ที่มีประสิทธิภาพและกระตุ้นยอดขายมาตลอดปัจจุบัน ทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักการบอกต่อ การทำโฆษณา การสร้างแรงจูงใจให้ลูกค้าด้วยการแจกของรางวัล อีกทั้งยังทำให้ได้ลูกค้าใหม่ที่อาจจะมีการสลับแบรนด์ได้หันมาทดลองใช้สินค้าของเราได้ง่ายด้วยแคมเปญชิงโชค

อย่างไรก็ตามพบข้อมูลอินไซต์ใหม่ว่า การทำการตลาดชิงโชครูปแบบ Traditional ไม่หวือหวาเช่นเดิม เพราะผู้บริโภคมองว่า การต้องกรอกข้อมูลตนเองเพื่อให้ได้สิทธิ์นั้นเสียเวลา ประกอบกับสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ต้องรัดกุมค่าใช้จ่าย และไม่สามารถร่วมกิจกรรมเหมือนที่หลายแบรนด์ทำแคมเปญที่ผ่านมา

CMMU-Marketing of Risk Lover

  • กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่หันมาให้ความสำคัญกับการกิจกรรม Like&Share บนโซเชียลมีเดียแทนมากถึง 40.9% เพราะกิจกรรมมีขั้นตอนไม่ยุ่งยาก ทำได้ง่ายทุกที่ ทุกเวลา

แม้ว่าผลตอบแทนจากการ Like&Share ตามเพจต่างๆ จะไม่ได้เป็นรางวัลใหญ่ที่มีมูลค่าสูงเหมือนอย่างการชิงโชค แต่การได้รับผลตอบแทนเล็กน้อยกลับมา ก็ทำให้ผู้บริโภครู้สึกได้ลุ้นและถูกรางวัลได้เหมือนกัน

CMMU-Marketing of Risk Lover

 

 

2. เสี่ยงที่จะลงทุน 42.7%

เทียบเป็นจำนวนประชากร ได้ประมาณ 28 ล้านคน เช่น หุ้น กองทุน ทองคำ รวมถึงคริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) ที่กำลังมาในปัจจุบัน ซึ่งบริษัทภาคเอกชนและภาครัฐบาลหลายประเทศก็เริ่มออกมายอมรับการใช้คริปโตเคอร์เรนซีมากขึ้น

ยกตัวอย่าง ญี่ปุ่น (Japan) ประกาศให้สามารถใช้บิตคอยน์ชำระค่าสินค้าและบริการในประเทศได้อย่างถูกต้องตามกฏหมาย และล่าสุด เอลซัลวาดอร์ (El Salvador) กำลังผลักดันกฎหมายรองรับบิตคอยน์ให้เกิดขึ้นจริงในประเทศ

จากการเสี่ยงที่จะลงทุนดังกล่าว พบว่าคนไทยให้ความสนใจลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลมากขึ้น

สินทรัพย์ดิจิทัล” (Digital Asset) คือ สิ่งที่มีมูลค่าและเราสามารถเป็นเจ้าของได้ แต่ไม่สามารถจับต้องได้ สิ่งเหล่านั้นถูกสร้างขึ้นในระบบ Blockchain เช่น

  • คริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) เช่น BITCOIN, ETHEREUM, Binance, SAND ในระบบของ The Sandbox เกมในโลก metaverse, DOGECoin
  • โทเคนดิจิทัล (Digital Token) มีทั้งโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (Investment Token) และโทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ (Utility Token)
  • NFT (Non Fungible Tokens) คือ โทเคนดิจิทัล (Digital Token) ที่สร้างขึ้นใน Blockchain และเปลี่ยนให้เป็นผลงานศิลปะ รูปภาพ เพลง วิดีโอ กลายเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่มีอะไรมาทดแทนได้ มีชิ้นเดียวในโลก

จากผลสำรวจจากกลุ่มตัวอย่าง พบว่า

  • กลุ่มตัวอย่างเคยลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล คิดเป็น 32.9%
  • 83.9% ของกลุ่มตัวอย่างใช้เงินออมในการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งจะใช้เงินลงทุนต่อ transaction อยู่ที่ 5,000 – 20,000 บาทต่อครั้ง

CMMU-Marketing of Risk Lover

CMMU-Marketing of Risk Lover

  • ขนาดของพอร์ตสินทรัพย์ดิจิทัลที่กลุ่มตัวอย่างถือครองอยู่ในปัจจุบัน จะอยู่ที่ 50,000 บาท คิดเป็น 53.9% ซึ่งมีสัดส่วนน้อยกว่า 10% เมื่อเทียบกับการลงทุนทั้งหมด
  • เหรียญที่คนนิยมลงทุนกันมากที่สุด อันดับ 1 คือ Bitcoin 53%, อันดับ 2 Ethereum 25.3%, อันดับ 3 คือ Dogecoin 4.5%

CMMU-Marketing of Risk Lover

  • ถ้าเปรียบเทียบระหว่างการลงทุนในคริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) กับ NFT พบว่า 91.5% ให้ความสนใจการลงทุนในรูปแบบคริปโตฯ มากกว่าการลงทุนในรูปแบบของ NFT
  • เหตุผลหลักที่คนลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล คือ ความคาดหวังกำไรจากการลงทุน ผลสำรวจสูงถึง 77.3%

 

CMMU-Marketing of Risk Lover

  • อิทธิพลที่ส่งผลในการซื้อขายหรือลงทุน มี 3 อันดับมากที่สุด คือ ตนเอง 70%, ศึกษาหรือซื้อขายตามผู้เชี่ยวชาญ (นักวิเคราะห์และบทวิเคราะห์) 46.7% และ ซื้อขายตามเพื่อน 42.7%

CMMU-Marketing of Risk Lover

  • คนกลุ่ม Gen Z เป็นเจนที่สนใจในการลงทุนคริปโตมากที่สุด โดยให้เหตุผลว่าอยากจะรวยเร็วๆ
  • กลุ่มตัวอย่าง 88.8% ทราบดีอยู่แล้วว่าการลงทุนประเภทนี้มีความผันผวนสูงกว่าการลงทุนประเภทอื่นๆ แต่ก็ยังตัดสินใจลงทุน เพราะมีความเชื่อว่า ความเสี่ยงสูงมักจะนำมาซึ่งการตอบแทนที่สูงเช่นกัน และยอมรับว่ามีความกังวลมากที่สุดต่อการเคยมีข่าวเรียกเก็บภาษีจากการลงทุนประเภทนี้ ตามด้วยจะสามารถใช้งานหรือใช้ประโยชน์ได้จากสินทรัพย์ดิจิทัลได้อย่างเต็มประสิทธิภาพหรือไม่

CMMU-Marketing of Risk Lover

CMMU-Marketing of Risk Lover

 

3. เสี่ยงที่จะเซอร์ไพรส์ 11.1%

เทียบเป็นจำนวนประชากรประมาณ 7 ล้านคน เช่น การซื้อกล่องสุ่ม และการรับประทานอาหารแนว Chef’s Table หรือการรับประทานอาหารแบบส่วนตัว ซึ่งจะมีเชฟคอยรังสรรค์เมนูต่างๆ ตามใจเชฟ ที่มีความพิเศษทั้งวัตถุดิบและเรื่องราวต่างๆ เรียกว่าเป็นศิลปะในการรับประทานอาหารรูปแบบหนึ่ง โดยที่ลูกค้าไม่ต้องเปิดเมนูเลือกอาหารเองและลุ้นว่าจะได้รับประทานอาหารเมนูอะไรและรับประสบการณ์ในการทานที่พิเศษมากน้อยแค่ไหน

เสี่ยงที่จะเซอร์ไพรส์กล่องสุ่ม

แรงจูงใจในการซื้อกล่องสุ่ม ประกอบด้วย 1. อยากรู้สึกตื่นเต้น ชอบลุ้น ชอบความเซอร์ไพรส์  และ 2. มีการคาดหวังว่าสินค้าที่ได้รับจะมีความคุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไป

จากการสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างที่เคยซื้อกล่องสุ่ม ส่วนมากจะมีความรู้สึกไม่ประทับใจกับกล่องสุ่มที่ได้รับ เพราะว่าสินค้าที่ได้รับบางตัวใกล้หมดอายุ ไม่ใช่เป็นของที่อยากได้ เป็นของที่ไม่ได้ใช้ เลยรู้สึกไม่คุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไป แต่ก็สามารถยอมรับได้ เพราะว่ากล่องสุ่มก็เป็นเหมือนการพนันในรูปแบบหนึ่งที่ผู้ซื้อต้องยอมรับความเสี่ยงให้ได้ และอย่าคาดหวังว่าสินค้าที่ได้รับจะเหมือนกับการรีวิวในเพจต่างๆ

CMMU-Marketing of Risk Lover

CMMU-Marketing of Risk Lover

มุมมองของกลุ่มตัวอย่างที่เคยซื้อกล่องสุ่ม แบ่งเป็น

  • มุมมองของผู้บริโภคที่ซื้อกล่องสุ่ม ผู้ที่ซื้อกล่องสุ่มมีความคาดหวังว่าสินค้าที่ได้รับจะมีมูลค่าสูงกว่าเงินที่จ่ายไป และก็คาดหวังว่าอยากได้ทดลองใช้สินค้าใหม่ๆ ในกล่องอีกด้วย ยิ่งถ้าได้ของรางวัลแจ็คพอต ก็จะยิ่งเพิ่มความรู้สึกประทับใจมากยิ่งขึ้น
  • ขณะที่มุมมองของร้านค้า การที่แต่ละร้านมีการใส่สินค้าใหม่ๆ เพื่อให้ลูกค้าได้ทดลองใช้ อาจจะทำให้เกิดยอดขายหรือเกิด real user เกิดขึ้นได้ในอนาคต

ดังนั้น แนะนำร้านค้าต้องใส่ใจกับสินค้าที่ใส่ลงในกล่องด้วยว่าต้องมีคุณภาพ ไม่ใกล้หมดอายุ สามารถใช้งานได้จริง เพื่อไม่ให้เกิดการรีวิวในเชิงลบ เพราะจะกระทบกับภาพลักษณ์ของร้านค้าได้

CCMMU-Marketing of Risk Lover

จากการสำรวจครั้งนี้ พบว่า

  • กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เคยซื้อกล่องสุ่มอยู่ที่ 24.9%
  • สินค้ากล่องสุ่มที่นิยมซื้อกันมากที่สุด 3 อันดับแรกคือ ขนมทานเล่น 26.8%, เครื่องสำอาง 25.3% และเสื้อผ้า 23% ตามลำดับ ซึ่งระดับราคากล่องสุ่มที่กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ยอมจ่าย จะแตกต่างกันไปตามแต่ละเจเนอเรชั่น

CMMU-Marketing of Risk Lover

  • Gen Z ซึ่งเป็นกลุ่มวัยรุ่นเป็นส่วนใหญ่ มีแนวโน้มซื้อกล่องสุ่มมากกว่าเจนอื่นๆ สูงถึง 49% เนื่องจากเป็นวัยที่อยากรู้ อยากลอง และเติบโตมากับสมาร์ทโฟน สื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ ทำให้มีพฤติกรรมต้องตามกระแสสังคม กลัวการตกเทรนด์ โดยจะซื้อสินค้ากล่องสุ่มที่ราคาไม่เกิน 1,000 บาท

CMMU-Marketing of Risk Lover

  • ส่วน Gen Y ที่มีกำลังซื้อมากกว่า Gen Z ตัดสินใจซื้อกล่องสุ่มที่ระดับราคาไม่เกิน 2,500 บาท

เพราะฉะนั้นในการทำกล่องสุ่มจะต้องพิจารณาด้วยว่า กลุ่มเป้าหมายของเราอยู่ในช่วงอายุเท่าไหร่ถึงจะทำให้เกิดการตัดสินใจซื้อ โดยแรงจูงใจในการซื้อกล่องสุ่มส่วนใหญ่เพราะอยากรู้สึกตื่นเต้น ชอบลุ้น ชอบความเซอร์ไพรส์ และมีการคาดหวังว่าสินค้าที่ได้รับจะมีความคุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไป

  • การรีวิวกล่องสุ่มจาก Blogger อินฟลูเอนเซอร์ ที่มีการทำคอนเทนต์แกะกล่องสุ่มแต่ละร้าน ก็มีผลสร้างความน่าเชื่อถือให้ผู้บริโภคเลือกซื้อกล่องสุ่มตามเช่นกัน

CMMU-Marketing of Risk Lover

เสี่ยงที่จะเซอร์ไพรส์การรับประทานอาหารรูปแบบ Chef’s Table

Chef’s Table หรือ อาหารเสิร์ฟตามใจเชฟ แม้ว่าราคาต่อมื้อจะแรงขนาดไหน แต่ก็มีคนยอมจ่ายให้กับการทานอาหารรูปแบบนี้เพิ่มมากขึ้น และทำให้ธุรกิจดังกล่าวมีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เพราะการทานอาหารแนว Chef’s Table เป็นการเล่นกับคำว่าไม่รู้เป็นความรู้สึกเซอร์ไพรส์ได้เช่นกัน

ขณะเดียวกันเชฟจะบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ผ่านอาหารที่นำมาเสิร์ฟ โดยแต่ละเมนูจะมีความพิเศษทั้งวัตถุดิบและมีเรื่องราวต่างๆ ถือเป็นศิลปะในการรับประทานอาหารอย่างหนึ่ง

CMMU-Marketing of Risk Lover

จากการสำรวจครั้งนี้ พบว่า

  • กลุ่มตัวอย่างเคยไปใช้บริการ Chef’s Table อยู่ที่ 28.4% เป็นตัวเลขที่ไม่ค่อยสูงมากเท่ากับความเสี่ยงในด้านอื่นๆ เนื่องจาก Chef’s Table เป็นรสนิยมการทานอาหารเฉพาะกลุ่ม

CMMU-Marketing of Risk Lover

  • สาเหตุหลักที่คนส่วนใหญ่เลือกไปใช้บริการนี้ ได้แก่ 1. เพื่อต้องการสร้างประสบการณ์ที่น่าจดจำในมื้อพิเศษ 27.1% และ 2. เป็นการได้ลุ้นว่าเชฟจะรังสรค์เมนูอะไรมาให้รับประทาน 25.3%

CMMU-Marketing of Risk Lover

  • ระดับราคาที่กลุ่มตัวอย่างยอมจ่ายจะอยู่ที่ 2,000-4,000 บาท คิดเป็น 58.9% ถือว่าเป็นราคาที่สมเหตุสมผลที่คนส่วนใหญ่ยอมจ่ายเพื่ออาหารมื้อพิเศษ
  • Gen Y ยังเป็นเจนที่ยอมจ่ายมื้ออาหาร Chef’s Table ที่ระดับราคาสูงถึง 6,000 บาท ถ้าร้านนั้นมีรสชาติที่ดี ชื่อเสียงของร้าน รวมไปถึงการถ่ายทอดเรื่องราวของเชฟเป็นที่น่าประทับใจ

CMMU-Marketing of Risk Lover

  • เมนูอาหารสุดฮิตที่คนนิยมรับประทาน คือ อาหารญี่ปุ่นมาเป็นอันดับ 1 อยู่ที่ 55.8% ซึ่งที่จักกันดีคือ โอมากาเสะ รองลงมาคืออาหารตะวันตก อยู่ที่ 24.2%

อย่างไรก็ตาม พบว่าปัจจุบันมีร้าน Chef’s Table มีมากขึ้น จึงทำให้กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ค้นหาร้านอาหารใหม่ๆ อยู่เสมอ แต่ก็มีการกลับไปใช้บริการซ้ำ ถ้าร้านเดิมมีการเปลี่ยนเมนู และติดใจฝีมือเชฟ

แต่กรณีถ้าไปเจอร้านอาหารไม่ถูกใจ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่จะไม่วิจารณ์ในโซเชียลมีเดีย แต่จะไม่กลับไปใช้บริการอีกแน่นอน

จะเห็นได้กว่า การทำร้านอาหารแนว Chef’s Table ต้องมีมาตรฐานทั้งระดับราคา รสชาติ และเรื่องราวของเชฟที่มาครบถ้วน เพราะร้านรูปแบบนี้เล่นกับความรู้สึกเซอร์ไพรส์ของลูกค้า ถ้าไม่มีความแตกต่างก็ไม่สามารถสร้างจุดขายได้

CMMU-Marketing of Risk Lover

 

กลยุทธ์การตลาด “4R” พิชิตใจคนชอบเสี่ยง

ทีมวิจัย ซีเอ็มเอ็มยู จากได้คิดค้นกลยุทธ์ทางการตลาด อย่างกลยุทธ์พิชิตใจคนชอบเสี่ยง “4R” ประกอบด้วย

  • R: RANDOM เสี่ยงลุ้น แบรนด์อาจจะต้องมีรางวัลที่น่าสนใจหรือรางวัลใหญ่ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ผู้บริโภคมีความสนใจ และรู้สึกตื่นเต้น รวมทั้งยังเป็นการสร้างยอดขาย หรือเข้าร่วมแคมเปญนั้นๆ
  • R: RELIABLE เสี่ยงเซอร์ไพรส์ แบรนด์ต้องทำให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่นและไว้ใจ ในการทำการตลาดประเภทนี้ ว่า สิ่งของที่ผู้บริโภคได้รับมีคุณภาพ เหมาะสมกับราคา
  • R: RICHNESS เสี่ยงลงทุน แบรนด์ต้องทำให้ผู้ลงทุนมีความมั่งคั่งทางการเงิน โดยให้ข้อมูลที่ถูกต้อง และช่วงเวลาที่เหมาะสมในการลงทุน และมีการสื่อสารออกไปให้ผู้ลงทุนรับรู้ ทั้งช่องทางออฟไลน์และออนไลน์
  • R: RISK ความเสี่ยงของผู้ชอบเสี่ยง แบรนด์ต้องให้ข้อมูลความเสี่ยงที่จะเปิดเผยได้ว่า บางอย่างนั้นมีความเสี่ยงสูง หรือความเสี่ยงต่ำ เพื่อแสดงถึงความเชื่อมั่นและจริงใจในการทำการการตลาดเพื่อกลุ่มคนชอบเสี่ยง

CMMU-Marketing of Risk Lover


  • 485
  •  
  •  
  •  
  •  
WP
อยู่ในแวดวงนิตยสารธุรกิจการตลาดกว่าสิบปี สนุกและชอบติตตามเทรนด์ ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมในแพลตฟอร์มดิจิทัล มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การตลาดและดิจิทัลร่วมกันนะคะ