สรุป 3 เทรนด์ ‘ธนาคาร’ ผู้ผลักดัน ‘Green Finance’ การเงินเพื่อ ‘ธุรกิจสีเขียว’ ให้เป็นจริง

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

 

Cover-Green-Finance-02_0
‘ถ้าโลกร้อนอีกแค่ 3.2 องศา จะกระทบ 18% ของ GDP โลก และ 44% ของ GDP ไทย’

 

‘ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม’ จึงนับว่าเป็นหนึ่งในมูฟเมนต์ใหญ่ของแวดวงธุรกิจมาระยะหนึ่งแล้ว รวมถึงปีนี้ด้วย โดยหลายธุรกิจก็เริ่มเดินหน้าออกนโยบายต่างๆ เพื่อให้สอดรับกับเทรนด์นี้

 

แต่เมื่อพูดถึงธุรกิจสถาบันการเงินอย่าง ‘ธนาคาร’ หลายคนอาจจะยังนึกภาพไม่ออกว่าจะสามารถตอบรับกับมูฟเมนต์นี้อย่างไรดี เพราะหากนึกภาพกันเร็วๆ ธนาคารนั้นไม่ใช่ธุรกิจที่จะสร้างมลพิษ หรือทำลายสิ่งแวดล้อมอะไรนัก แต่เป็นธุรกิจอื่นๆ ที่เป็น ‘ลูกค้า’ ของธนาคารต่างหาก ทำให้บทบาทของธนาคารเรียกได้ว่าสำคัญมากในการผลักดัน และสนับสนุนให้ธุรกิจสามารถประสบความสำเร็จตามเป้าหมายในมูฟเมนต์นี้ได้ ซึ่งจะส่งผลโดยตรงสู่การเติบโตของเศรษฐกิจในระดับประเทศด้วย

 

 

ในหัวข้อ ‘Green Finance บทบาทธนาคารบนเส้นทางสู่ความยั่งยืน’ จากงาน ‘THAIRATH Money 1st Anniversary Unlocking Thailand’ ที่ได้รวบรวมผู้บริหารจากธนาคารชั้นนำของไทยอย่าง ธนาคารออมสิน, ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารกสิกรมาร่วมพูดคุยถึงบทบาทของ ธนาคาร กับเทรนด์ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ 

1.Social Bank การเป็นธนาคารเพื่อสังคม

 

นโยบายต่างๆ ไปจนถึงโครงการมากมายที่ทำเพื่อสังคม ยกตัวอย่างเช่น การปลูกป่า หรือการจัดทุนการศึกษาให้เด็กๆ ดูแล้วอาจเหมือนการทำ CSR ที่ทำแล้วจบไป แต่การเป็นธนาคารเพื่อสังคมคือการทำสิ่งเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง และต้องวัดผลได้ว่าสิ่งที่ทำลงไปสร้างผลกระทบในภาพรวมไปมากขนาดไหน

 

แน่นอนว่าการทำสิ่งนี้จะต้องใช้เงินมหาศาล โดยทางธนาคารออมสินได้ชูโมเดล CSV (Creating Shared Value) ผ่านสองส่วนหลักที่ส่งเสริมกันอย่างต่อเนื่องเป็นวงกลมไม่สิ้นสุด คือ การสร้างโอกาสด้านผลกำไร และเติบโตในธุรกิจ (Business Value) ซึ่งจะนำไปสู่การขยายขอบเขตการดำเนินงานเพื่อสังคมในมิติใหม่ไปเรื่อยๆ (Social Value)

 

โมเดลนี้ทำให้ธนาคารสามารถทำภารกิจเพื่อสังคมได้อย่างต่อเนื่อง เพราะได้ผลกำไรจากการดำเนินงานด้วย เมื่อกำไรมากขึ้น ก็ยิ่งช่วยคนได้มากขึ้นนั่นเอง

 

2.ESG Score จัดอันดับบริษัทด้านความยั่งยืน

 

หากมองไปที่เทรนด์การลงทุน ก็จะเห็นว่านักลงทุนหันมาให้ความสนใจกับการลงทุนในธุรกิจที่ไม่ใช่แค่เติบโตด้านผลกำไร แต่ต้องให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมด้วย ธนาคารจึงต้องทำหน้าที่เป็น ‘ผู้สแกน’ ธุรกิจต่างๆ โดยจัดทำเกณฑ์กำหนดระดับ ESG Score ของบริษัทต่างๆ ออกมาเป็นกลุ่ม อย่างธนาคารออมสินได้มีปัจจัยในการให้คะแนนกว่า 70 ปัจจัย เพื่อประเมินธุรกิจอย่างเข้มงวด

 

การจัดทำ ESG Score จะทำให้นักลงทุนมั่นใจว่าจะได้ลงทุนไปกับบริษัทที่มีเป้าหมาย และการดำเนินงานตรงตามที่คาดหวังจริงๆ ในฝั่งธุรกิจเองก็จะมีความตื่นตัวในการปรับตัวเข้ากับเทรนด์นี้เพื่อดึงดูดนักลงทุนด้วย

 

 

3.Responsible Banking สนับสนุนด้านสินเชื่อสำหรับองค์กรสีเขียว

 

ในฐานะธนาคารผู้ให้การสนับสนุนด้านการเงินให้กับธุรกิจต่างๆ และยังเป็นด่านแรกในการ ‘คัดกรอง’ บริษัทอย่างละเอียดด้วยว่าจะนำสินเชื่อที่ได้ไปยกระดับการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนมากน้อยแค่ไหน โดยในสินเชื่อขนาด 500 ล้านบาทขึ้นไปก็จะใช้ ESG Score ในการประเมินด้วย ทั้งยังมี Green Bond และ Green Loan เพื่อสนับสนุนธุรกิจสีเขียว โดยมีอัตราดอกเบี้ยที่ถูกลง

 

สำหรับธนาคารกสิกรเองได้มองว่า การประเมินเพื่ออนุมัติสินเชื่อนั้นจะต้องมีการกำหนดเกณฑ์ที่ละเอียดมากขึ้น เพราะธุรกิจแต่ละประเภทก็จะมีพื้นฐานการปล่อยคาร์บอน และก๊าซเรือนกระจกต่างกัน โดยตอนนี้ได้แบ่งธุรกิจออกเป็นสี่กลุ่ม คือ Food & Beverage, Hotel & Healthcare, Packaging & Plastic และ Automative Part & Hardware

 

สิ่งสำคัญที่สุดคือการ ‘เริ่มต้นจากตัวเอง’ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทางภาครัฐกำหนดให้ธนาคารเร่งเปลี่ยนองค์กรตัวเอง เป็น Net Zero เช่นเดียวกับธุรกิจอื่นๆ ด้วย ซึ่งทั้งสามแห่งก็ได้ดำเนินการไปแล้วมากมาย และมีเป้าหมายจะสำเร็จในช่วงปี 2050-2060

 

เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งมูฟเมนต์ที่ยังคงดำเนินอย่างต่อเนื่อง และธุรกิจควรให้ความสำคัญเพื่อไม่ให้ตกขบวน และเสียโอกาสในการแข่งขันด้วย อย่างในตอนนี้เองหลายภูมิภาคเริ่มออกมาตรการจำกัดสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเข้ามาในตลาด เช่น CBAM ของยุโรป กระทั่งอเมริกา หรือจีนเองก็เริ่มเดินหน้าแล้วเช่นกัน ซึ่งหากไทยไม่สามารถแข่งขันในเรื่องนี้ได้การแข่งขันไปเพราะเรื่องนี้ จะกระทบการส่งออกราว 40-45% ตีเป็นเม็ดเงินกว่า 4.1 ล้านล้านบาททีเดียว


  •  
  •  
  •  
  •  
  •