“ใช้จินตนาการออกแบบอนาคต – ปั้นคนให้เป็น Super Human – ล้มเร็ว ลุกเร็ว” 3 ทางรอดองค์กรยุคใหม่

  • 922
  •  
  •  
  •  
  •  

TMA

การสร้างการเติบโตทางธุรกิจ เป็นสิ่งที่ทุกองค์กรให้ความสำคัญ แต่การสร้างการเติบโตแบบก้าวกระโดดเป็นสิ่งที่สำคัญมากกว่าสำหรับโลกอนาคต ด้วยการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งทางธุรกิจ รวมถึงพัฒนาบุคลากร

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) ได้จัดงาน TMA Thailand Management Day 2019 ภายใต้แนวคิด GROWTH: Building for the Future เพื่อมุ่งเน้นให้ทุกองค์กรเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาทางการตลาด และนำไปสู่หนทางการเติบโตที่ยั่งยืนในทุกมิติ

โดยเชิญกูรูต่างๆ ทั้งนักอนาคต และนักการตลาดมาเผยมุมมองเทรนด์แห่งโลกอนาคต ซึ่งจะเป็นโอกาสให้องค์กรต่างๆ ได้ปรับตัว และใช้เป็นแนวทางการทำงานต่อไป

 

ตั้งคำถามทุกวัน “อะไรคืออนาคต ?” และใช้ “จิตนาการ ออกแบบอนาคต”

มร. มาร์ติน วีซอฟสกี้ ประธานกรรมการบริหาร ด้านการออกแบบและนักอนาคตศาสตร์ ศูนย์นวัตกรรมของ SAP ผู้ซึ่งติดอันดับ 1 ใน 100 คนที่มีความคิดด้านนวัตกรรมในประเทศเยอรมัน กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า

เทคโนโลยี AI จะกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในอนาคต เพราะ AI มีขีดความสามารถที่แผ่ขยายไปได้กว้างมาก และเป็นอะไรได้มากกว่าที่เราคิดในปัจจุบัน

“เพราะปัจจุบันเริ่มมีการบรรจบกันของเทคโนโลยี ที่ทำให้จินตนาการที่เราคิดเป็นจริงได้ และจะเกิดขึ้นอย่างฉับพลันโดยไม่คาดฝัน” 

TMA

ยกตัวอย่างตุ๊กตาเพียงหนึ่งตัวสามารถพูดโต้ตอบกับมนุษย์ได้ ทั้งยังบันทึกเหตุการณ์ผ่านกล้องและเซ็นเซอร์ที่ติดไว้ที่ตาของตุ๊กตา เชื่อม WIFI สามารถโทรไปสั่งอาหารแล้วส่งทางโดรนให้กับเด็กที่เล่นตุ๊กตาแล้วหิว

หรือแม้กระทั่งส่งข้อมูลไปยังผู้ปกครองหรือตำรวจในกรณีเกิดเหตุการณ์ร้ายแรง จะเห็นได้ว่า Ecosystem ที่เกิดขึ้นกับสินค้าอย่างตุ๊กตาดังกล่าวมีหลายธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้อง และสามารถต่อยอดทางธุรกิจไปได้อีกหลายรูปแบบ

กับกระแสการท่องเที่ยวอวกาศที่กำลังเกิดขึ้นในเวลานี้ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ปัจจุบันมีหลายธุรกิจกำลังเกิดขึ้นมารองรับตลาดการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ดังกล่าว เช่น สตาร์ทอัพรายหนึ่งในยุโรปที่ใช้จรวดในการเก็บสะเก็ดดวงดาวนำมาวิเคราะห์หาเชื้อเพลิงไว้ใช้ในยามท่องอวกาศ หรือแม้แต่การทำเกษตรกรรม และอุตสาหกรรมบนดาวต่างๆ ด้วย

นี่เป็นแค่ตัวอย่างที่ มร.มาร์ติน หยิบยกขึ้นมาเพื่อสร้างให้ทุกคนฉุกคิด แต่จุดเริ่มต้นเพื่อที่จะไปให้ถึงอนาคตตามจินตนาการให้ได้นั้นจำเป็นต้องมาจากการการออกแบบอนาคตเสียก่อน

“การออกแบบอนาคตมาจากการจินตนาการ ซึ่งผมคิดว่าจินตนาการควรเป็นกิจกรรมทางธุรกิจ เพราะจะทำให้เราสร้างอะไรใหม่ๆ ขึ้นมาได้

อย่างเช่นปัญญาของเครื่องกลในวันนี้ที่เราเห็นกันล้วนมาจากสิ่งที่มนุษย์จินตนาการเมื่อหลายสิบปีก่อน ดังนั้นหน้าที่สำคัญที่สุดของมนุษย์ทุกคนคือ การตั้งคำถามในทุกๆ วันที่ตื่นขึ้นมาตอนเช้าว่า อะไรคืออนาคต หรืออนาคตควรมีหน้าตาแบบไหน”

TMA

 

AI” เสริมศักยภาพ “พนักงาน” ยกระดับมนุษย์เงินเดือนให้เป็น “Super Human”

มร.มาร์ติน ชี้ว่า AI จะเป็นเทคโนโลยีที่จะเข้ามาเพิ่มโอกาสให้กับธุรกิจในอนาคต คือ AI  เหมือนที่เวลานี้วงการแพทย์ได้นำ AI เข้ามาสนับสนุนการทำงานของแพทย์ และได้รับการพิสูจน์แล้วว่า ทำงานได้ดีกว่าแพทย์ในบางสาขา เพราะ AI มีความสามารถในการจดจำเคสการเจ็บป่วย ประวัติการรักษาคนไข้ได้ดีกว่า และสามารถนำบิ๊กดาต้ามาวิเคราะห์ข้อมูลความเจ็บป่วยที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

นี่จึงเป็นช่องทางที่ชี้ให้เห็นว่า องค์กรต่างๆ สามารถนำเทคโนโลยี AI มาปรับใช้ในการองค์กรให้เป็นตัวช่วยหรือส่งเสริมการทำงาน Manual Work ของพนักงาน ซึ่งจะทำให้พนักงาน Work Force กลายเป็น “Super Human” ที่มีเวลาหรือใช้สมองไว้สำหรับการเสาะหา หรือ Explore อะไรใหม่ๆ หรือแก้ปัญหาใหม่ๆ ให้กับองค์กรได้มากขึ้น

แน่นอนว่า Super Human เหล่านี้ก็จะต้องคาดการณ์อนาคตว่า ลูกค้าคือใครและมีความต้องการอย่างไรในอนาคต รวมถึงตั้งคำถามของพันธมิตรในอนาคตว่าจะเป็นใครด้วย เพื่อที่จะได้ร่วมมือกันกำหนดอนาคตให้ได้ผลลัพธ์ที่เร็วขึ้นกว่าเดิม

“ภายใน 10 ปีข้างหน้านี้องค์กรต่างๆ ต้องหาวิธีที่จะนำเทคโนโลยี AI มาทำงานร่วมทำงานกับมนุษย์ผ่านแพลตฟอร์มทางเทคโนโลยี ให้เกิดการพึ่งพาอาศัยกันทั้งในแง่ความคิดและตัดสินใจ เพื่อที่พนักงานจะได้เอาทักษะของมนุษย์ไปผลิตอะไรอย่างอื่นเพิ่มขึ้น” 

 

องค์กรยุคใหม่ ต้องรู้จัก “Fast Fail – Fast Forward”

อย่างไรก็ดี มร.มาร์ติน กล่าวว่า ความสามารถในการกำหนดหรือออกแบบอนาคตขององค์กรต่างๆ ขึ้นอยู่กับพื้นฐานอันแข็งแกร่งที่องค์กรมี ไม่ว่าจะเป็นองค์กรความรู้ ทรัพยากร และคุณภาพของพนักงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่องค์กรจำเป็นต้องเตรียมตัวในเรื่องนี้ให้พร้อมที่จะวางแผน สำรวจ และเสาะหา

โมเดลการทำงานลักษณะนี้ไม่จำเป็นต้องมีค่าใช้จ่ายสูงเสมอไป หากใช้วิธีพลาดให้เร็วที่สุดแล้วลุกขึ้นให้เร็วที่สุด (Fast Fail, Fast Forward) เพื่อไปถึงเป้าหมายในสิ่งที่คนอื่นมองไม่เห็น

 

กรณีศึกษาองค์กรไทยยักษ์ใหญ่ ฝ่าคลื่นยุค Disruption

สำหรับในประเทศไทย ที่ผ่านมาพบว่าอุตสาหกรรมการเงิน และการสื่อสารโทรคมนาคม เป็น 2 อุตสาหกรรมที่ถูก Digital Disruption อย่างรุนแรง

“เอสซีบี อบาคัส” และ “ทรู คอร์ปอเรชั่น” ในฐานะตัวแทนที่มาจากอุตสาหกรรมดังกล่าว ก็ได้เข้ามาร่วมแบ่งปันมุมมองเกี่ยวกับการทำงานเพื่อไม่ให้องค์กรถูก Disrupt

ดร.สุทธาภา อมรวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี อบาคัส จำกัด กล่าวถึงเทรนด์การแข่งขันในอีก 2-3 ปีข้างหน้าว่าจะมาจากทุกทิศทุกทาง โดยเฉพาะบริษัทข้ามชาติอย่างจีนและสหรัฐอเมริกา ที่มองเห็นโอกาสในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่ายังไม่มีใครเป็นเจ้าตลาดดิจิทัลแพลตฟอร์ม

และด้วยความที่บริษัทขนาดใหญ่หลายแห่งของจีน และสหรัฐ มีศักยภาพในการเข้าถึงข้อมูลลูกค้าก็จะกลายเป็น Player ที่เข้ามากินตลาดในธุรกิจต่างๆ ของไทย เหมือนอย่างที่ Amazon มี Market Power มากพอที่จะไปกินตลาดอื่นๆ

“คู่แข่งที่น่ากลัวคือ คู่แข่งที่เราไม่รู้จักก่อน ดังนั้นองค์กรต่างๆ ควรสร้าง Digital Capability เริ่มจากหาจุดแข็งขององค์กรให้เจอเพื่อตั้งโจทย์ทางธุรกิจถึงสิ่งที่จะเดลิเวอร์ให้กับผู้บริโภค

และสร้างคนให้มีจิตวิญญาณของ “การทดลอง” ที่สำคัญต้องหาพันธมิตรผนึกกำลังช่วยกันวางแผนเพื่อที่จะเกิดการก้าวกระโดดทางเทคโนโลยีให้เร็วยิ่งกว่าเดิม และทันกับการแข่งขันที่เปลี่ยนไป”

TMA_Technology-and-Digital-Disruption

ทางด้าน คุณพีรธน เกษมศรี ณ อยุธยา หัวหน้าคณะผู้บริหาร ด้านคอนเทนต์และมีเดีย บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวแนะนำเทคโนโลยีที่สำคัญในอนาคตว่า องค์กรต้องมีการสะสม Big Data อย่างเป็นระบบ และเพิ่ม Data Asset ด้วยการจับมือกับพันธมิตร ทางหนึ่งเพื่อสู้กับ Big Data ของ Player ข้ามชาติที่มีมากกว่า และยังเป็นการใช้ข้อมูลส่งต่อไปให้กับ AI ในการวิเคราะห์

อีกเทรนด์หนึ่ง คือ 5G ที่ทุกบริษัทต้องเข้าใจเพื่อนำมาปรับใช้ในอุตสาหกรรมตัวเอง ซึ่งการให้ความสำคัญใน 3 เทคโนโลยีดังกล่าวจะเป็นหนทางไปสู่ Customer Experience ทั้งในแง่ Functional Benefit และ Emotional Benefit

“องค์กรต่างๆ จำเป็นต้องปรับโครงการการทำงานให้เป็น Micro Organization โดยอาจใช้ AI เข้ามาช่วยทุ่นแรง และแบ่งธุรกิจออกเป็นเสี้ยวๆ ปลุกองค์กรให้ตื่นจาก Legacy ในอดีต แล้วทำงานแบบสตาร์ทอัพ และมี Agility ที่สำคัญต้องสร้าง Mindset ในการทำลองทำสิ่งใหม่ๆ อย่างมีจุดหมาย

ถ้าไม่ถึงจุดหมายจะทำยังไง จะหยุดหรือหาพาร์ทเนอร์ที่ทำเป็น ซึ่งการหาพาร์ทเนอร์เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จะสำคัญมากขึ้นในอนาคต นอกจากจะช่วยเสริมในสิ่งที่เราไม่ถนัดแล้ว ยังสามารถร่วมกันสร้างธุรกิจใหม่ได้ด้วย เหมือนอย่างที่เราเห็นการจับมือกันข้ามธุรกิจระหว่างค้าปลีก และเกมมิ่ง หรืออีคอมเมิร์ซกับแฟชั่น กลายเป็นธุรกิจใหม่แห่งโลกอนาคต” ดร. สุทธาภา กล่าวทิ้งท้าย

TMA_Technology-and-Digital-Disruption


  • 922
  •  
  •  
  •  
  •  
WP
อยู่ในแวดวงนิตยสารธุรกิจการตลาดกว่าสิบปี สนุกและชอบติตตามเทรนด์ ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมในแพลตฟอร์มดิจิทัล มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การตลาดและดิจิทัลร่วมกันนะคะ