หลังจากที่ Blogger หรือ Influencer ในเพจ Facebook กลายเป็นหนึ่งอาชีพที่ช่วยสร้างรายได้ ดูเหมือนว่าอาชีพนี้จะดึงดูดหลายๆ คนให้ผันตัวมาสู่ผู้ผลิตคอนเท้นต์บนโลกโซเชียล แน่นอนว่าในปัจจุบันจะมี Blogger สายต่างๆ มากมาย ทั้งสายกิน สายเที่ยว สายความงาม เป็นต้น ซึ่งแต่ละรายที่นำเสนอคอนเท้นต์เหล่านั้นล้วนแต่ต้องมีการเตรียมงานวางแผนเพื่อที่จะผลิตคอนเท้นต์ได้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค
และแน่นอนว่า Blogger แทบจะทุกสายต่างก็พบอุปสรรคครั้งใหญ่อย่างวิกฤติโรคระบาดที่ลุกลามไปทั่วโลก โดยเฉพาะสายท่องเที่ยวที่อาจจะโดนหนักที่สุด ขณะที่สายกินอาจต้องเปลี่ยนไปใช้บริการเดลิเวอรี่แทนการจู่โจมไปถึงร้าน เป็นต้น แต่ยังมี Blogger หรือ Influencer อีกหนึ่งสายที่เรียกว่าแทบไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อการผลิตคอนเท้นต์เลย นั่นก็คือ “สายแม่และเด็ก”
คอนเท้นต์คือไดอารี่มีเรื่องให้เกิดขึ้นได้ทุกวัน
ในงาน “iCreator Conference 2020” ในช่วงหัวข้อ “Parenting Influencers, How to Create Content in Niche Market” ที่จะมาคุยเรื่องของการก้าวเข้ามาสู่โลกของคอนเท้นต์แม่และเด็กว่ามีความยากหรือง่ายอย่างไร รวมไปถึงวิธีการทำอย่างไรให้มีรายได้จากคอนเท้นต์ประเภทนี้ที่เรียกได้ว่า เป็นคอนเท้นต์เฉพาะกลุ่มสายแม่ๆ ทั้งหลาย
โดยได้เชิญเพจดังด้าน Parenting ทั้ง คุณแม่การ์ตูนและน้องมาตรา จากเพจ แม่จ๋าๆ พามาตาไปเที่ยวหน่อย, คุณญาธิป พิริยะพงศ์ศักดิ์ (คุณแม่น้ำหวาน) จากเพจ Happy Mommy Diary และ คุณชฎาภรณ์ ฐานะศิริพงศ์ (คุณแม่อาย) จากเพจ Rocky Journey มาร่วมกันถอดรหัสแนวคิดและวิธีสร้างเพจแบบเฉพาะกลุ่มให้ปัง!!!
“เราทำเพจขึ้นมาเพื่อต้องการสร้างไดอารี่ของลูก จะเป็นการเล่าเรื่องเหมือนเล่าให้เพื่อนฟังอารมณ์เหมือนเม้าท์มอยส์ เน้นเรื่องพัฒนาการของลูปและที่เที่ยวต่างๆ” คุณแม่การ์ตูน “แม่จ๋าๆ พามาตาไปเที่ยวหน่อย”
“จากวันแรกที่ทำเพจ เราไม่คิดว่าจะมาไกลถึงวันนี้ เริ่มต้นจากการทำอาหารให้ลูกแล้วรู้สึกว่ามันสวยงามเลยโพสต์ลง Facebook พอทำมากเข้า เพื่อนๆ ก็เริ่มบ่น เลยคิดว่าน่าจะทำเป็นเพจ จากนั้นก็ฟีดทุกอย่างที่คิดว่าเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อเราและคนอื่นด้วย ซึ่งเราก็ให้ข้อมูลมาเรื่อยๆ จนถึงทุกวันนี้” คุณแม่น้ำหวาน “Happy Mommy Diary”
“ให้คิดว่า อะไรที่เราจะทำทุกวันแล้วไม่เบื่อ อะไรที่เราทำแล้วเป็นตัวเอง คือเราไม่ได้หวังว่า วันนี้เรามาเป็นผู้สร้างคอนเท้นต์ในเพจแล้วจะได้สปอนเซอร์ ไม่ได้คิดไว้ตั้งแต่วันแรกว่าจะมีรายได้เข้ามา เพราะช่วงแรกที่ทำเราจะเลือกทำจาก Passion โดยเฉพาะ Passion ของคุณแม่มันแรง เลยมีโมเม้นต์ต่างๆ และนำไปสู่การสร้างเพจ ซึ่งทั้งหมดเกิดจากความชอบของเรา ไม่ใช่เห็นคนนั้นทำแล้วก็อยากทำบ้าง ทั้งที่ไม่ชอบสิ่นนั้นจริงๆ” คุณแม่อาย “Rocky Journey”
นั่นจึงชี้ให้เห็นว่าเพจ ‘แม่และเด็ก’ เกิดจากความต้องการสร้างไดอารี่เพื่อบันทึกความทรงจำในช่วงระยะเวลาต่างๆ ของครอบครัว ไม่ว่าโมเม้นต์นั้นจะเป็นช่วงเวลาพิเศษหรือช่วงเวลาปกติทั่วไป และยังเป็นไดอารี่ในการบันทึกข้อมูลสำคัญทั้งกับครอบครัว พ่อแม่และลูกๆ
แนวคอนเท้นต์ที่แม่และเด็กทำแล้วโดน
อย่างที่ทราบกันดีว่า คอนเท้นต์แม่และเด็กส่วนใหญ่จะเน้นไปที่ความน่ารักของเด็ก ความฉลาดของเด็กๆ รวมไปถึงความผูกพันธ์กันในครอบครัว ซึ่งเรียกว่าเป็นตลาดเฉพาะกลุ่มและแน่นอนว่า เพื่อให้คอนเท้นต์น่าสนใจ การนำเสนอคอนเท้นต์ย่อมแตกต่างไปจากขนบเดิมๆ แต่จะทำคอนท้นต์ออกมาอย่างไรให้ยังคงความน่ารักสดใสของเด็กๆ และต้องไม่มีดราม่าเด็กๆ สะเทือนโลก
“ของเราจะเน้นเรื่องการท่องเที่ยวเป็นหลัก คือเราเคยใช้ชีวิตยังไงก็เอาลูกมาใช้ชีวิตกับเราด้วย สื่อผ่านรูปสวยๆ การแต่งตัวและความสดใสของเด็ก เป็นการเล่าเรื่องผ่านภาพ” คุณแม่การ์ตูน “แม่จ๋าๆ พามาตาไปเที่ยวหน่อย”
“สำหรับเพจ Happy Mommy Diary ก็จะตรงตัวตามชื่อเพจ เราทำขึ้นมาเพื่อเป็นไดอารี่ของแม่เล่มหนึ่ง ซึ่งมีความสุขมากๆ กับการมีลูก เราจะพูดทุกแง่มุมของความเป็นแม่ แม้ว่าจะเหนื่อยแต่ก็มีมุมที่มีความสุข ส่วนใหญ่จึงเน้นไปที่งานเขียน เพราะเราสามารถเขียนได้ตอนที่ลูกหลับแล้ว ซึ่งถ้าเป็นคอนเท้นต์วิดีโอคุณแม่หลายๆ คนอาจไม่ได้ดูเพราะลูกจะขอดูด้วย” คุณแม่น้ำหวาน “Happy Mommy Diary”
“ส่วนเพจ Rocky Journey ตะเป็นรูปบบผสมผสานทั้งวิดีโอและงานเขียน โดยจะเน้นเขียนความเป็นจริงไม่เน้นโลกสวยหรือดราม่า เพราะเพจแม่และเด็กไม่ต้องดึงดราม่าเพื่อให้เกิดไวรัล” คุณแม่อาย “Rocky Journey”
สำหรับประเด็น “ดราม่าเด็ก” ทั้ง 3 คุณแม่เห็นตรงกันว่า การสร้างกระแสไวรัลด้วยดราม่าเด็กจะเป็นเหมือนพลุ ไม่นานก็จบ ทำให้เกิดเป็นเพจแม่และเด็กไม่ได้ การเป็นตัวเองและมองโลกในแง่บวกดีที่สุด ต้องเข้าใจความแตกต่างของเด็กแต่ละคนที่ไม่เหมือนกันด้วย
เพราะเป็นเรื่องของเด็กจึงต้องเลือกเนื้อหาที่นำเสนอ
อาจเรียกได้ว่า เรื่องราวของเพจแม่และเด็กเป็นคอนเท้นต์ที่เรียบง่าย ไม่ยุ่งยากซับซ้อน เน้นความสดใสและเรื่องราวที่เป็นธรรมชาติของแม่และเด็ก แต่ก็ยังมีสิ่งที่ต้องใส่ใจอย่างมาก โดยเฉพาะเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับเด็ก ซึ่งส่วนใหญ่แล้วพ่อแม่จะเป็นคนเลือกคอนเม้นต์หลักในแต่ละตอน และบางภาพอาจดูน่ารักสดใส แต่ในความเป็นจริงแล้ว พ่อแม่อาจจะกำลังละเมิดสิทธิของเด็กอยู่โดยที่ไม่รู้ตัว
“หลายคนเข้าใจว่า รูปโป๊เปลือยของเด็กเป็นเรื่องน่ารัก แต่จริงๆ แล้วเป็นเรื่องสิทธิของเด็ก เด็กๆ ควรจะได้รับการปกป้องในส่วนนี้ ซึ่งเป็นเรื่องสิทธิของเด็กเป็นเรื่องส่วนตัวที่พ่อแม่ต้องปกป้องในตัวของลูก รวมไปถึงการเปิดเผยสถาบันการศึกษาของลูก หรือข้อมูลที่จะส่งผลกลับมายังลูก ที่สำคัญจะไม่มีการนำเสนอคอนเท้นต์แบบ Realtime ถ้าตอนนี้คอนเท้นต์ที่นำเสนอบอกว่าอยู่ที่ชลบุรี แสดงว่าจริงๆ แล้วตอนนี้ไม่ได้อยู่ที่นั่นแล้ว เพราะเราจะไม่รู้เลยว่าใครคิดอะไรยังไงกับลูกเรา” คุณแม่อาย “Rocky Journey”
“สำหรับเราไม่ได้ถึงขั้นว่าต้องห้ามเรื่องของโรงเรียนลูก เพราะการนำเสนอเรื่องราวจริงๆ ก็อาจมีบ้างที่เห็นชื่อย่อโรงเรียน ส่วนเรื่อง Realtime นั้นเพจแม่และเด็กไม่จำเป็นต้องลงคอนเท้นต์แบบ Realtime เลย นอกจากนี้โดยส่วนตัวลูกเริ่มโตขึ้น การนำเสนอคอนเท้นต์อะไรก็ต้องมีการถามความเห็นของเขาก่อน ถ้าเขาไม่ทำก็จะไม่ฝืน เพราะเขาเริ่มมีชีวิตของเขาเองแล้ว มีเพื่อนมีสังคม” คุณแม่น้ำหวาน “Happy Mommy Diary”
“เล่าถึง Case Study ของตัวเอง คือเราก็ป้องกันไม่ให้มีรูปโป๊เปลือย แต่มีรูปนึงที่แบบน่ารักมากแต่แอบเห็นแพมเพิสนิดนึง ตอนแรกเราคิดว่าไม่เป็นไร แต่พอลงไปก็มีการ Inbox มาบอกว่า กลัวน้องดูไม่ดีเห็นแพมเพิสมานิดนึง ก็ทำให้เรากลับมาคิดก่อนโพสต์มากขึ้น” คุณแม่การ์ตูน “แม่จ๋าๆ พามาตาไปเที่ยวหน่อย”
ดังนั้นการสร้างเพจแม่และเด็กจึงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ไม่ใช่การใช้ความคิดพ่อแม่เป็นศูนย์กลาง เพราะในหนึ่งโพสต์ต้องรับผิดชอบทั้งชีวิตเด็กและชีวิตของพ่อแม่ เพื่อไม่ให้เกิดกระแสดราม่า ที่สำคัญต้องรับผิดชอบต่อสังคมโดยพ่อแม่ต้องคิดเสมอว่าโพสต์นี้จะมีอิทธิพลต่อใครบ้าง คนที่เห็นโพสต์จะรู้สึกหรือคิดอย่างไรบ้าง
อย่างที่ทราบแล้วว่า ความท้าทายของเพจแม่และเด็กคือการทำอย่างไรไม่ให้เกิดเรื่องดราม่าเด็กขึ้นในเพจแม่และเด็ก โดยที่ยังคงต้องนำเสนอเรื่องราวคอนเท้นต์ความน่ารักสดใสของเด็กๆ และพ่อแม่ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะต้องผ่านกระบวนการความคิดและการตรวจสอบอย่างรอบคอบ ก่อนที่โพสต์หนึ่งโพสต์จะปล่อยออกไปสู่สาธารณะชน
“ทุกครั้งที่เราแชร์ประสบการณ์อะไรออกไป เราจะไม่สื่อออกไปว่าสิ่งที่เราทำคือสิ่งที่ถูก เราแค่นำเสนอว่าเราเป็นแม่แบบนี้นะ เพราะแม่ทุกคนมีสไตล์เป็นของตัวเอง มีบริบทในชีวิตที่แตกต่างกัน ดังนั้นเราจะไม่บอกว่าสิ่งนี้คือสิ่งที่ถูก เพราะแม่ทุกคนมีสิทธิเท่ากัน แม่ทุกคนรักลูกของตัวเองในบริบทของตัวเอง แล้วจะไม่มีดราม่าเด็ดขาดเพราะส่วนหนึ่งเป็นลูกชาย” คุณแม่น้ำหวาน “Happy Mommy Diary”
“พอลูกเรามีเพจ ลูกเราก็เหมือนลูกของประชาชน เราก็ต้องดูแลลูกของประชาชนให้ดีด้วย” คุณแม่การ์ตูน “แม่จ๋าๆ พามาตาไปเที่ยวหน่อย”
“บางคนมีการจับผิดว่าทำไมถึงทำแบบนี้ อยากจะบอกว่าบางทีแค่รูปเดียวหรือคลิปไม่สามารถบอกถึงชีวิตได้ทั้งชีวิต ฉะนั้นเราจึงต้องคิดให้ดีว่า ถ้าโพสต์ไปแล้วจะมีผลอะไรกลับมา ปกติก่อนจะโพสต์จะมีการดูซ้ำๆ ถึง 20 รอบเพื่อให้แน่ใจ” คุณแม่อาย “Rocky Journey”
การผลิตคอนเท้นต์ที่ความยากเพิ่มขึ้นตามการเติบโต
หลายคนที่สร้างคอนเท้นต์แม่และเด็กคงชินกับการนำเสนอเรื่องราวมาตั้งแต่เด็กยังตัวเล็กๆ ซึ่งเรื่องราวต่างๆ ก็จะเป็นเรื่องราวง่ายๆ เพราะส่วนใหญ่แม่จะเป็นคนคิดแล้วให้ลูกทำตาม แต่เมื่อลูกโตขึ้นแม่ก็ต้องพัฒนาและโตขึ้นตามการเติบโตของลูก เพราะฉะนั้นคุณแม่จึงต้องเติบโตไปกับลูก โดยเพจกลุ่มแม่และเด็กจะเป็นลักษณะชุมชน (Community) เป็นที่รวมของแม่ทั้งหลายเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกัน
“ในวงการแม่มีทั้งความเครียดและความกดดัน ในอินเตอร์เน็ตจะมีข้อมูลต่างๆ มากมาย ซึ่งข้อมูลเหล่านั้นมีทั้งที่เป็นคุณและโทษ คุณแม่มือใหม่เมื่อรับข้อมูลมากๆ ก็จะเกิดความเครียด เพจแม่และเด็กจะกลายเป็นเพื่อนที่มีหัวอกเดียวกัน” คุณแม่อาย “Rocky Journey”
“การทำเพจแม่และเด็กไม่ใช่การสื่อสารทางเดียว แต่เราก็ต้องการให้เขาสื่อสารกลับมา เพราะเราคืออาชีพเดียวกันคืออาชีพแม่ และไม่มีใครเข้าใจพวกเราได้มากกว่านี้อีกแล้ว” คุณแม่น้ำหวาน “Happy Mommy Diary”
เมื่อต้องผสานเรื่องของงานกับคอนเท้นต์เด็ก
อย่างที่มีการกล่าวไปข้างต้นว่า ส่วนใหญ่เพจแม่ลูกจะเน้นการเป็นไดอารี่ของลูก ดังนั้นคอนเท้นต์ส่วนใหญ่จึงเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นภายในครอบครัว ซึ่งบางครั้งคอนเท้นต์เหล่านั้นก็ไม่มี Engagement ที่สูงอะไรมากมาย ขณะที่งานในด้าน Influencer ก็ต้องสร้างสรรค์เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ธุรกิจได้ นั่นจึงทำให้เพจแม่ลูกจำเป็นต้องมีการสร้างสมดุลระหว่างคอนเท้นต์ของเพจและคอนเท้นต์ของลูกค้า
“ส่วนใหญ่เพจของเราจะเน้นไปที่การท่องเที่ยว ซึ่งก็คือการบันทึกความทรงจำในทุกช่วงชีวิต แต่เมื่อมีงานลูกค้าเข้ามาก็จำเป็นต้องสร้างสมดุลระหว่างงานของเพจเองและงานลูกค้า เราก็มีการปรึกษากับลูกในการสร้างคอนเท้นต์ ซึ่งยากมากในการดึงความเป็นธรรมชาติของเขาออกมา โดยที่เขาไม่รู้ว่าทำงานอยู่” คุณแม่น้ำหวาน “Happy Mommy Diary”
“ส่วนตัวชอบวิดีโอที่ Real มากกว่า ซึ่งเราไม่รู้หรอกว่าเป็นคอนเท้นต์ได้หรือเปล่า เราก็ถ่ายไปเรื่อยๆ แล้วค่อยดูว่าจุดนี้คนน่าจะชอบและสนุกไปกับลูกเราด้วย เราแค่ทำในสิ่งที่ชอบไม่ได้ทำเพื่อหวังให้เกิดผลตอบรับดี เราแค่ทำหน้าที่ของแม่และสื่อสารความสดใสของลูกให้คนอื่นดู” คุณแม่การ์ตูน “แม่จ๋าๆ พามาตาไปเที่ยวหน่อย”
“เพจแม่ลูกไหนที่มีรายได้จากการโฆษณา เราต้องจิตแข็งมากๆ เพราะไม่เช่นนั้นเราจะสูญเสียการเป็นตัวเอง ถ้าคอนเท้นต์นั้นขายมากเกินไป เราต้องปฏิเสธไปเพราะเราไม่ได้ดาราใหญ่ เราเป็นแค่ผู้ผลิตคอนเท้นต์ (Creator) เราไม่ใช่พรีเซ็นเตอร์ (Presenter) เราเป็นแค่ส่วนหนึ่งในการนำเสนอสินค้าโดยที่ไม่เสียตัวตน ที่สำคัญจะรับสินค้าอะไรต้องอ่านรายละเอียดและเอกสารให้ละเอียด เพราะการที่เราลงอะไรไปมีผลต่อลูกคนอื่นด้วย เราต้องซื่อสัตย์ต่อตัวเองและผู้รับข้อมูล” คุณแม่อาย “Rocky Journey”
เงินไม่ใช่ปัจจัยหลักในการเป็น Creator นี่คือหัวใจสำคัญของการสร้างเพจแม่ลูกที่คุณแม่อายนำเสนอ ขณะที่คุณแม่น้ำหวานชี้ว่า คุณแม่สามารถเลือกที่จะไม่รับงานได้ถ้าเห็นว่าไม่เหมาะหรือทำออกมาได้ไม่ดี ซึ่งต้องคุยกับลูกค้าตั้งแต่ต้นเพื่อสร้างความเข้าใจกับลูกค้า
ทั้งหมดนี้สรุปการทำคอนเท้นต์แม่และเด็กได้ว่า การเป็นตัวของตัวเองจะช่วยให้เกิดความน่าสนใจ ขณะที่การสร้างคอนเท้นต์ใหม่ๆ ที่ไม่ใช่การก็อปปี้คอนเท้นต์คนอื่นๆ ที่มี Engagement สูงๆ และเอามารวมๆ กัน จะช่วยสร้างคอนเท้นต์ที่มีผู้สนใจสูง ที่สำคัญไม่ต้องสร้างกระแสดราม่าให้กับคอนเท้นต์แม่ลูกเพื่อสร้างไวรัล เพราะเพจแม่ลูกที่มีภาพลักษณ์เชิงบวกช่วยให้เกิด Engagement ที่สูงกว่าและนำไปสู่การสร้างรายได้ต่อไป