Priceza จัดสัมมนา “Priceza Thailand E-Commerce Trends 2024” โดย คุณธนาวัฒน์ มาลาบุปผา CEO & Co-Founder of Priceza, ที่ปรึกษา และนายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย ฉายภาพ 5 เทรนด์อุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศไทยในปีนี้
เทรนด์ที่ 1: แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซกลับมาแข่งขันดุเดือด – Pinduoduo ยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซจีนอันดับ 4 เข้ามาท้าชิงตลาดไทย
– มูลค่ายอดขาย GMV ตลาดอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปี 2023 อยู่ที่ 172,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
– คาดการณ์มูลค่ายอดขาย GMV ตลาดอีคอมเมิร์ซในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปี 2024 อยู่ที่ 199,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
– ตลาดอีคอมเมิร์ซ ประเทศไทย มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยมูลค่า 28,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 980,000 ล้านบาท รองจากอันดับ 1 คือ อินโดนีเซีย มูลค่า 78,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
– e-Markeplace ยังคงเป็นช่องทางอันดับ 1 ด้วยส่วนแบ่ง 55% รองลงมา Social Commerce 28%, Quick Commerce 11% และ e-Tailers หรือ Vertical Platform เช่น แพลตฟอร์มออนไลน์สินค้าสุขภาพและความงาม แพลตฟอร์มออนไลน์สินค้ากีฬาและการออกกำลังกาย แพลตฟอร์มออนไลน์สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ 6%
– ส่วนแบ่งการตลาดแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในภูมิภารนี้ อันดัน 1 คือ Shopee 29% ตามมาด้วย LAZADA 11%, Tokopedia 9% และ TikTok 9%
– ในตลาดอินโดนีเซีย TikTok Shop ถูกรัฐบาลแบน ทำให้บริษัทแม่ TikTok ตัดสินใจเข้าซื้อกิจการ goto เจ้าของบริษัท Tokopedia และ Gojek ในอินโดนีเซีย ส่งผลให้ปัจจุบัน ByteDance บริษัทแม่ของ TikTok ครองส่วนแบ่งการตลาดอีคอมเมิร์ซ อันดับ 2 ของตลาดอินโดนีเซีย ทำให้การแข่งขันปี 2024 มีสองผู้เล่นใหญ่คือ Shopee, TikTok ขณะที่ LAZADA หล่นไปอยู่อันดับ 3
– TikTok Shop เติบโตอย่างรวดเร็ว และด้วยความที่คนไทยชอบทดลองของใหม่ เมื่อมีโปรโมชันก็พร้อมใช้จ่าย ส่งผลให้ TikTok Shop ประเทศไทย กลายเป็นตลาดใหญ่อันดับ 2 ของภูมิภาคนี้ โดยสินค้าขายดีคือ กลุ่ม Beauty และ Personal care
– เมื่อ 5 – 6 ปีที่แล้ว อีคอมเมิร์ซ ประเทศจีนถูกครองโดย Alibaba และ JD.com แต่ปัจจุบันเกิดผู้เล่นหน้าใหม่คือ Pinduoduo และ Douyin (แพลตฟอร์มวิดีโอสั้นในเครือ ByteDance สำหรับทำตลาดในจีน บริษัทเดียวกับ TikTok)
– คาดการณ์ว่าภายในช่วงครึ่งปีแรกปี 2024 Pinduoduo ยักษ์อีคอมเมิร์ซอันดับ 4 ของจีน จะเข้ามารุกตลาดอีคอมเมิร์ซ ประเทศไทย ด้วยการเปิดตัว Temu ช้อปปิ้งออนไลน์ หลังจากก่อนหน้านี้เมื่อปี 2022 เปิดตัวในสหรัฐฯ ยุโรป จากนั้นปีที่แล้วเปิดตัวที่ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย
โมเดลการทำตลาดของ Temu ใช้วิธีซัพพลายสินค้าจากโรงงานผลิตในจีนมาขายให้กับผู้บริโภคโดยตรง ซึ่งสินค้าส่วนใหญ่เป็น Non-braded Product ขายในราคาถูก
– อีคอมเมิร์ซแต่ละแพลตฟอร์มจะมี “จุดยืน” ของตัวเองอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น Shopee ผู้นำตลาด เน้นความหลากหลายของสินค้า, LAZADA โฟกัสบริการ LazMall, TikTok Shop ในฐานะผู้ท้าชิง ยังคง subsidize โปรโมชั่นต่างๆ เพื่อดึงคนมาช้อป
เทรนด์ที่ 2: Content และ Commerce รวมเป็นเนื้อเดียวกัน – ธุรกิจตามล่าหานายหน้าขาย Affiliate
– ปัจจุบันถนนทุกสายวิ่งผ่าน “Content –> Commerce –> Payment –> Delivery” โดยแต่ละแพลตฟอร์มพยายามเก็บ traffic ของตัวเอง จึงสร้างกำแพงของตัวเอง เช่น TikTok เดิมทีอนุญาตให้ร้านค้า หรือแบรนด์แปะลิงค์ช้อปออนไลน์อื่นๆ แต่ปัจจุบันหลังจากมี TikTok Shop แล้ว ทำให้เกิดการหลอมรวม Content และ Commerce เข้าด้วยกัน จึงครบจบในแอปฯ
– คาดการณ์ปี 2024 YouTube จะเน้นวิดีโอแนวตั้ง และแข่งในตลาดอีคอมเมิร์ซมากขึ้น ด้วย YouTube Shopping โดยหลอมรวม Content – Commerce เข้าด้วยกัน
– Amazon จับมือกับ Meta เพื่อเชื่อมต่อการใช้งานแพลตฟอร์ม Amazon ซึ่งเป็นอีคอมเมิร์ซ เข้ากับแพลตฟอร์ม Social Media
– Shopee และ LAZADA กำลังขยับมาในทิศทางการหลอมรวมระหว่าง Content และ Commerce เพื่อเพิ่ม conversion rate บนแพลตฟอร์ม
– ปี 2024 เป็นปีที่ธุรกิจตามล่าหา Influencer และทำ Affiliate Marketing เพราะคนที่ทำหน้าที่เชื่อม Content กับ Commerce คือ Influencer โดยพบว่า 81% ของผู้บริโภคไทยบอกว่า ซื้อสินค้าตาม Influencer แนะนำ ดังนั้นคาดว่าในไทยจะแจ้งเกิดนัก Live มากขึ้น
เทรนด์ที่ 3: เส้นทางสายไหมยุคใหม่ เชื่อมอีคอมเมิร์ซไทย-จีนเข้าด้วยกัน ส่งผลสินค้าจีนจะเข้ามาตลาดไทยมากขึ้น
– ปัจจัยมหภาค Geopolitics ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ส่งผลให้เกิดการกีดกันทางการค้าระหว่างกันมากขึ้น ในขณะที่รัฐบาลจีน กำหนดวิสัยทัศน์ต้องการเป็นโรงงานการผลิตของโลก และส่งออกสินค้าไปทั่วโลก
นี่จึงทำให้สินค้าจีน ต้องหาตลาดอื่นนอกเหนือจากสหรัฐฯ โดยมองมายังตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่ง “ประเทศไทย” คือหนึ่งในเป้าหมายการทำตลาดสินค้าจีน โดยรัฐบาลไทยได้เซ็น MOU อีคอมเมิร์ซกับจีน
ส่งผลให้สินค้าจีนเข้ามาตลาดไทยมากขึ้น ใน 2 รูปแบบคือ
1. CBEC Direct Mailing: ไม่ต้องขอใบอนุญาตนำเข้า ไม่ต้องขอใบรับรองมาตรฐานความปลอดภัยสินค้า ไม่ต้องเสียภาษีศุลกากร ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับสินค้าราคาต่ำกว่า 1,500 บาท ห้ามขายออฟไลน์ ให้ขายเฉพาะออนไลน์
2. CBEC Boned Warehouse: เอาสินค้าจีนมาตั้งรอไว้ในคลังสินค้าในไทย โดยไม่ต้องขอใบรับรองมาตรฐานความปลอดภัยสินค้า ไม่ต้องเสียภาษีศุลกากร ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับสินค้าราคาต่ำกว่า 1,500 บาท ห้ามขายออฟไลน์ ให้ขายเฉพาะออนไลน์
เทรนด์ที่ 4: New Retail ค้าปลีกยุคใหม่เติบโต การขายผสานช่องทาง Online & Offline สร้างประสบการณ์ใหม่ให้ลูกค้า
พฤติกรรมการช้อปของผู้บริโภคยุคนี้ กระโดดไปกระโดดมา ไม่ว่าจะหาข้อมูลบนออนไลน์ก่อน จากนั้นดูสินค้าจริงที่ร้านออฟไลน์ จากนั้นรอโปรโมชั่น หรือรอเก็บโค้ด แล้วซื้อจากช่องทางออนไลน์ ขณะเดียวกันหาข้อมูลบนออนไลน์ และไปซื้อที่ร้านออฟไลน์
– 59% ของคนไทยหาข้อมูลบนออนไลน์ แล้วไปซื้อออฟไลน์
– 53% ของคนไทยดูสินค้าหน้าร้าน แล้วซื้อบนออนไลน์
เพราะฉะนั้นค้าปลีกยุคใหม่ ยอดขายการทำธุรกิจต่างๆ ไม่ว่าจะทำธุรกิจออนไลน์ หรือออฟไลน์จะไม่ได้แบ่งยอดขายเป็นออนไลน์ และออฟไลน์อีกต่อไป แต่ยอดขายจะมาจาก 3 ส่วนหลักคือ
– ออนไลน์
– ออฟไลน์
– Omni-channel
เทรนด์ที่ 5: ค่าโฆษณาออนไลน์สูงต่อเนื่อง และงบโฆษณาถูกย้ายไปลงกับ Retail Media E-Commerce มากขึ้น
หลังจากปี 2021 Apple เปิดฟีเจอร์ App Tracking Transparency โดยถามผู้ใช้งานว่าอนุญาตให้แอปพลิเคชันนั้นๆ ส่งข้อมูลไปสู่แอปฯ อื่นหรือไม่ โดยพบว่าผู้ใช้งานส่วนใหญ่ไม่อนุญาต
– ปี 2024 Google Chrome จะมาในแนวทางเดียวกับ Apple คือ นโยบาย Privacy First ซึ่งจะส่งผลให้ Facebook ได้ข้อมูลจากผู้ใช้งานน้อยลง
– ด้วยเหตุนี้เองคาดการณ์ว่างบโฆษณาของแบรนด์ต่างๆ ในปีนี้จะ shift ไปยังช่องทาง Retail Media E-Commerce มากขึ้น เนื่องจากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซมี First-party Data ซึ่งมีความสำคัญสำหรับการดำเนินธุรกิจ
