3 จุดอ่อน “OTOP ไทย” กับ 5 เคล็ดลับความสำเร็จ 20 แบรนด์ไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก

  • 2.3K
  •  
  •  
  •  
  •  

Thai-Brand-Local-Brand

ถึงแม้ประเทศไทย ไม่ได้เป็นแหล่งผลิตของโลก และไม่ได้มีแบรนด์ระดับ World-class มากนัก เมื่อเทียบกับประเทศที่ก่อร่างสร้างแบรนด์มายาวนาน 

แต่เมื่อพูดถึงระดับการยอมรับ พบว่าสินค้า “แบรนด์ไทย” และ “แบรนด์ท้องถิ่น” เป็นที่ยอมรับในตลาดโลก และหลายผลิตภัณฑ์ – หลายแบรนด์มีชื่อเสียง และได้รับความนิยมในกลุ่มคนต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยว ที่มาไทย แล้วไม่พลาดซื้อกลับไป หรือส่งออกไปตลาดต่างประเทศ 

สาขาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล หรือ ซีเอ็มเอ็มยู (CMMU) ให้นิยาม “สินค้าไทย” กับ “สินค้าท้องถิ่น” ไว้ว่า

สินค้าไทยคือ สินค้าที่ผลิตในประเทศไทย ใช้วัตถุดิบที่มีในประเทศไทย ผลิตเพื่อจําหน่ายให้กับคนไทยและชาวต่างชาติ เป็นสินค้าที่รู้จักในคนวงกว้างผ่านการทําการตลาดและประชาสัมพันธ์ 

สินค้าท้องถิ่นคือ สินค้าที่ลักษณะเฉพาะที่ผลิตและจําหน่ายในแต่ละท้องถิ่นนั้นๆ เริ่มต้นจากภูมิปัญญา วิถีชีวิต ประเพณี และได้รับการพัฒนาต่อยอด ด้วยความคิดสร้างสรรค์มากข้ึน แต่อาจยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง 

Thai Brand

 

3 จุดอ่อนโอทอปไทย

ดร.บุญยิ่ง คงอาชาภัทร ผู้ช่วยคณบดี ด้านการสื่อสารองค์กร และหัวหน้าสาขาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล หรือ ซีเอ็มเอ็มยู (CMMU) ฉายภาพสถานการณ์สินค้าไทยว่า ข้อมูลจากกรมพัฒนาชุมชน พบว่า สินค้าในโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือ โอทอป (OTOP) ในปี 2561 มียอดจำหน่ายสูงถึง 1.9 แสนล้านบาท 

อย่างไรก็ตาม เมื่อดูข้อมูลเชิงลึกจะพบว่า สินค้าโอทอปที่มีกว่า 20,000 กว่าราย กลับมีสินค้ามากกว่า 40% ของโครงการโอทอปทั้งหมดที่ยังไม่สามารถก้าวสู่ความเป็นมาตรฐานสากลหรือแข่งขันในตลาดโลกได้ 

หรือหากเปรียบเทียบยอดจำหน่ายสินค้าโอทอป กับผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ในปี2561 ก็จะคิดเป็นเพียง 1.2% เท่านั้น ซึ่งถือว่ายังน้อยมาก 

ดังนั้น หากผลักดันสินค้าโอทอปไทยให้ถูกช่องทาง ก็จะสามารถเพิ่มรายได้ให้กับประเทศไทยได้อีกหลายเท่าตัว 

OTOP OTOP OTOP OTOP

อย่างไรก็ตามพบว่าสินค้าโอทอปไทยยังมีจุดอ่อนสำคัญ 3 ด้านหลัก คือ 

1. “การตลาด” สินค้าไม่มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น คือ สินค้ามีลักษณะใกล้เคียงกัน ไม่มีความแตกต่าง บรรณจุภัณฑ์ หีบห่อไม่สวยงามและทันสมัย 

2. “ตั้งราคาไม่สอดคล้องกับต้นทุนของสินค้า” ทำให้ประสบปัญหาทางการเงินจนเกิดภาวะขาดทุน 

3. “ขาดช่องทางการจำหน่าย” ส่งผลให้ผู้บริโภคไม่สามารถเข้าถึงสินค้า และไม่มีการทำการประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่างๆ ทำให้ผู้บริโภคไม่รู้จักแบรนด์และสินค้า

Thai Brand-Local Brand

 

3 องค์ประกอบของแบรนด์ไทยแบรนด์ท้องถิ่นที่ดี 

องค์ประกอบพื้นฐานของ “สินค้าไทย และสินค้าท้องถิ่นที่ดี” ที่ CMMU รวบรวมในไทย และต่างประเทศ 15 งานวิจัย สรุปออกมาเป็นองค์ประกอบด้วย 3 ด้าน คือ 

1. เอกลักษณ์ (Identity) คือ ลักษณะเฉพาะที่ไม่มีใครเหมือน ทำให้เป็นจุดเด่น เป็นท่ีรู้จัก และจดจำได้ ที่บ่งชี้สินค้าท้องถิ่นนั้นๆ 

Thai Brand-Local Brand-Identity

2. ภูมิปัญญาท้องถิ่น (Wisdom) องค์ความรู้ ความสามารถ ทักษะ ความเชื่อ วัฒนธรรม การใช้ชีวิต และประสบการณ์ของคนในท้องถิ่นที่สั่งสมมายาวนานจากรุ่นสู่รุ่น จนเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของกลุ่มชน หรือชนชาติ หรือคนท้องถิ่นนั้นๆ 

Thai Brand-Local Brand-Wisdom

3. ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) การพัฒนา ดัดแปลง ปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้ทันสมัย มีประสิทธิภาพ – ประสิทธิผล และสร้างมูลค่าเพิ่มใหักับแบรนด์ – สินค้าไทย 

Thai Brand-Local Brand-Creativity

นักศึกษาปริญญาโทสาขาการตลาด CMMU ได้เปิดข้อมูลงานวิจัย “ถอดรหัสสูตรลับแบรนด์ไทย” จากแบบสอบถามออนไลน์จำนวน 1,032 ราย เพื่อศึกษาการรับรู้สินค้าและกระบวนการตัดสินใจซื้อสินค้าไทยและสินค้าท้องถิ่น และสัมภาษณ์เชิงลึกของผู้บริโภคในแต่ละเจนเนอเรชั่น ในเขตกรุงเทพฯ จำนวน 30 ราย เพื่อศึกษา Customer Journey และปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อ “สินค้าท้องถิ่น” และ “สินค้าไทย” 

 

ตามดู Customer Journey และปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าท้องถิ่น 

ด้วยความที่ “สินค้าท้องถิ่น” เป็นสินค้าที่สะท้อนเอกลักษณ์ และภูมิปัญญาของท้องถิ่นนั้นๆ แต่ยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากนัก ดังนั้นเมื่อศึกษา “Customer Journey” พบว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่รู้จักสินค้าท้องถิ่นจากการไปท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ หรืองานแสดงสินค้า 

จากนั้นทดลองซื้อมาบริโภค หรือใช้ และเมื่อใช้แล้ว หรือบริโภคแล้ว รู้สึกพึงพอใจต่อสินค้าท้องถิ่นนั้นๆ อยากกลับไปซื้อซ้ำ แต่ปรากฏว่าเจออุปสรรคสำคัญ คือ สินค้าหาซื้อไม่ได้ หรือจำชื่อแบรนด์ไม่ได้ 

นั่นเท่ากับว่า สินค้าท้องถิ่นนั้นๆ พลาดโอกาสการขาย และการรักษาลูกค้าไปทันที! 

Thai Brand-Local Brand-Customer Journey Local Product

ขณะที่ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อ ประกอบด้วย 5 ปัจจัยดังนี้ 

1. ความแตกต่าง สะท้อนเอกลักษณ์ของท้องถิ่น

2. การบอกต่อจากคนใกล้ชิด ทำให้อยากลองซื้อ ลองใช้ ลองชิม 

3. คุณภาพดี อร่อย สะอาด

4. ทำแบรนด์ดิ้ง และแพ็คเกจจิ้ง ที่แตกต่างจากคู่แข่ง

5. ช่องทางจำหน่ายต้องชัดเจน และควรเพิ่มโอกาสการขายมากขึ้น ด้วยช่องทางออนไลน์ 

Thai Brand-Local Brand-Customer Journey Local Product

 

ตามดู Customer Journey และปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าไทย 

สำหรับ “สินค้าไทย” เป็นสินค้าที่ใช้วัตถุดิบในไทย ผลิตในไทย เมื่อพูดถึงชื่อแบรนด์คนจะคุ้นหู เคยเห็น หรือรู้จักเป็นอย่างดี จึงมีฐานตลาดใหญ่กว่าสินค้าท้องถิ่น 

ดังนั้น “Customer Journey” ของสินค้าไทย จึงเร่ิมจากผู้บริโภคต้องการหาสินค้าที่ตอบโจทย์ชีวิตประจำวัน จึงหาข้อมูล เช่น จากรีวิว หรือได้รับแมสเสจจากการสื่อสารของแบรนด์ 

จากนั้นหาซื้อสินค้า ไม่ว่าจะผ่านช่องทางออฟไลน์ หรือออนไลน์ก็ตาม ในขณะเดียวกันผู้บริโภคพิจารณาถึงคุณสมบัติสินค้าโดนใจ เช่น ผลิตจากวัตถุดิบแท้ ธรรมชาติ มีมาตรฐานที่ได้รับการการันตี ราคาเหมาะสมกับคุณภาพ และทำ Storytelling แล้วจึงตัดสินใจซื้อ 

Thai Brand-Local Brand-Thai Product

เมื่อเจาะลึกปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อของแบรนด์ไทย ประกอบด้วย 

1. คุณภาพ ถือเป็นหัวใจหลัก ต้องดีจริงตามโฆษณา 

2. ราคาต้องมีความเหมาะสมไม่แพงกว่าแบรนด์ต่างประเทศ 

3. แบรนด์ต้องมีการสื่อสารไปยังผู้บริโภค มีการรีวิวผ่านสื่อสังคมออนไลน์ 

4. สินค้าจะเอกลักษณ์ในเรื่องบรรจุภัณฑ์และการทำแบรนด์จะต้องแตกต่างไม่เหมือนใคร มีความทันสมัยและน่าเชื่อถือ  

นอกจากนี้จากการทำแบบสอบถาม ยังพบว่า การที่ผู้บริโภคเลือกใช้สินค้าไทยนั้นไม่ได้ต้องการเลือกซื้อสินค้าไทยเพราะสะท้อนถึงความเป็นไทย แต่มุ่งเน้นที่คุณภาพของสินค้าเป็นหลัก”  

สอดคล้องกับผลของการสัมภาษณ์เชิงลึก ถึงปัจจัยที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญมากที่สุดในการตัดสินใจซื้อแบรนด์ท้องถิ่นและแบรนด์ไทย คือคุณภาพของสินค้าเป็นหลักเช่นกัน

ดังนั้น ผู้ประกอบการควรมีความใส่ใจด้านคุณภาพ เพื่อให้แบรนด์เข้าไปอยู่ในใจผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น

Thai Brand-Local Brand-Thai Product Factor

 

5 เหตุผลที่ทำให้ผู้บริโภคไม่ซื้อสินค้าไทย”​

จากพฤติกรรมการซื้อสินค้าไทย และสินค้าท้องถิ่นแล้ว คราวนี้มองในอีกมุมหนึ่งถึงสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผูบริโภคไม่ซื้อสินค้าไทย และสินค้าท้องถิ่น พบว่า

39% ผู้บริโภคไม่วางใจสินค้าจากไม่มีรีวิว-ไม่มีคำแนะนำ

42% ประสิทธิภาพของสินค้าไม่ตรงตามความคาดหวัง

45% รูปแบบบรรจุภัณฑ์ไม่ดึงดูดความสนใจ

57% ช่องทางจำหน่ายไม่ทั่วถึง

58% การสื่อสารข้อมูลสินค้าไม่เพียงพอ และไม่เข้าถึงผู้บริโภค

Thai Brand-Local Brand-Buying Factor

 

ถอดรหัสสร้างแบรนด์ไทยให้ปัง! และหลุดพ้นกับดักทางธุรกิจ ผ่านกรณีศึกษา 20 แบรนด์ไทย 

จากการเก็บข้อมูลการศึกษาวิจัยจากกรณีตัวอย่างของแบรนด์ไทยที่ประสบความสำเร็จกว่า 20 แบรนด์ สามารถถอดรหัสสูตรลับฉบับแบรนด์ไทย Decoding the success : Thai Local Brand เพื่อมาแก้ไขปัญหาของแบรนด์ท้องถิ่น และแบรนด์ไทยเผชิญอยู่ รวมทั้งยังเป็นการช่วยยกระดับแบรนด์ให้ประสบความสำเร็จทั้งตลาดภายในและต่างประเทศ ประกอบไปด้วย 5 ด้านสำคัญ คือ

Thai Brand

Thai Brand-Local Brand-Key Strategy

1. มองหาภูมิปัญญาในการต่อยอด (Roots of wisdom) 

มองหาโอกาสและภูมิปัญญาต่อยอด พัฒนาให้เป็นสินค้าที่มีเอกลักษณ์ มีความโดดเด่น สะท้อนถึงวัฒนธรรม วิถีชีวิต รวมถึงความเป็นอยู่ของสังคมไทย เพื่อสร้างเอกลักษณ์ให้สินค้ามีความแตกต่างจากสินค้าทั่วไปที่มีขายตามท้องตลาด

ตัวอย่างแบรนด์ที่ต่อยอดรากฐานภูมิปัญญาไทย ได้แก่ 

“Blue Elephant” ได้ต่อยอดภูมิปัญญาอาหารไทยของร้าน Blue Elephant ขยายออกมาเป็น “ผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมรับประทาน และเครื่องปรุงรส” เป็นการต่อยอดจากร้าน เข้าสู่ครัวในบ้าน

“Pakamian” ต่อยอดภูมิปัญญาผ้าขาวม้าไทย ด้วยการเปลี่ยนจากผ้าขาวม้าธรรมดา ให้พลิกโฉมกลายเป็นสินค้าไลฟ์สไตล์หลากหลายประเภท โดยยังคงเอกลักษณ์ลายตารางหมากรุกของผ้าขาวม้าราชบุรี

“แป้งตรางู” ความเย็นจากรุ่นสู่รุ่น ถึงปัจจุบันมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีหลากหลายประเภทสินค้า เช่น สเปรย์ตรางู ทิชชู่เปียก น้ำมันหอมระเหย 

“ข้าวต้มมัดแม่นภา” ต่อยอดจากขาวต้มมัดห่อใบตองที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี นำมาออกแบบและผลิตให้อยู่ในแพคเกจจิ้งที่ช่วยยืดอายุสินค้า สามารถขายเข้าค้าปลีกสมัยใหม่ และส่งออกต่างประทเศ

“All Coco” ต่อยอดจากการส่งออกมะพร้าวน้ำหอม มาเป็นผลิตภัณฑ์น้ำมะพร้าวหลากหลายรูปแบบ 

Thai Brand-Local Brand-Key Strategy

 

2.คุณภาพไทยมาตรฐานโลก (Product Quality) 

ในปัจจุบันมีการแข่งขันทางธุรกิจสูง เรื่องของคุณภาพจึงถือเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคใช้ในการตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการ ทำให้ผู้ผลิตต้องใส่ใจในกระบวนการและวางมาตราฐานของสินค้าของตนให้เป็นที่ยอมรับโดยทั่วกัน

ตัวอย่างแบรนด์ในเรื่องนี้คือ 

“กาแฟดอยช้าง” กาแฟไทย มาตรฐานระดับโลก โดยผลกาแฟสุกเต็มที่จะเก็บด้วยมือ จากนั้นคัดเอาเฉพาะเมล็ดที่สมบูรณ์ และเข้าสู่กระบวนการกะเทาะเปลือกทันทีภายใน 24 ชั่วโมงภายหลังการเก็บเกี่ยว ได้ออกมาเป็นกาแฟกะลาเปียก นำไปหมักแห้ง 24 ชั่วโมง และนำไปหมักเปียกต่ออีก 24 ชั่วโมง 

จากนั้นตากให้แห้งด้วยแสงอาทิตย์เป็นระยะเวลา 7-8 วัน แล้วจึงเข้าสู่กระบวนการผลิตกาแฟสาร มีการแยกเกรดของกาแฟสารเป็น 4 เกรด ซึ่งกาแฟสารที่ถูกคัดเกรดจะถูกนำมาคั่ว และบรรจุลงถุงฟอยล์ 4 ชั้น ที่มีวาลว์ระบายอากาศทางเดียว

“Folkcharm” เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายผลิตจากฝ้ายแท้จากธรรมชาติ 100% โดยช่างภูมิปัญญาท้องถิ่นมาผลิตทำให้สินค้ามีความปราณีต คุณภาพ และใส่ใจทุกขั้นตอน

“hempThai” สินค้าไลฟ์สไตล์ที่ใช้วัตถุดิบ “ใยกัญชง” มีคุณสมบัติเด่นที่ความยืดหยุ่น และทนทาน โดยในกระบวนการผลิต ต้องการใช้วัตถุดิบให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้ทุกอย่างเป็น Zero Waste

Thai Brand-Local Brand-Key Strategy

 

3.โดดเด่นด้วยความแตกต่าง (Product Differentiation) 

การสร้างสรรค์สินค้าให้มีความแตกต่างโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ไม่ว่าจะเป็นการใส่นวัตกรรม การใส่แนวคิดและความคิดสร้างสรรคต่างๆเข้าไปในสินค้า ตลอดจนการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้มีความแตกต่างจากท้องตลอด

ตัวอย่างแบรนด์ที่โดดเด่นในเรื่องนี้ ได้แก่

“THANN” แบรนด์เครื่องหอม และ Skincare ผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติที่ดังทั้งในไทย และระดับโลก และถือเป็นผู้ประกอบการไทยรายแรกๆ ที่กล้าฉีกกรอบการดีไซน์แบรนด์ และแพ็กเกจจิ้งแบรนด์ไทย ให้มีความเป็นสากล สะท้อนได้จากการได้รับเลือกให้เป็นผลิตภัณฑ์ให้บริการลูกค้าในเครือโรงแรมแมริออท มากกว่า 400 แห่งทั่วโลก และอยู่บนสายการบินชั้นนำของโลก 

“คุณยายปลั่ง” แบรนด์ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้บุคคล ที่ใช้วัตถุดิบสมุนไพรไทย มีจุดเด่นด้านกลิ่น และสูตรที่พัฒนาตามธาตุเจ้าเรือน คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ที่ผู้บริโภคแต่ละคนมีธาตุแตกต่างกัน  

“กล้วยตากจิราพร” เป็นแบรนด์ไทยที่โดดเด่นสร้างความแตกต่างของสินค้าที่เห็นกันอยู่ทั่วไปอย่างกล้วยตาก ให้กลายเป็นสินค้าที่ได้รับการเพิ่มมูลค่า และสร้างความแตกต่าง ด้วยการเป็นกล้วยตากออร์แกนิค และพัฒนารสชาติให้มีความหลากหลาย เช่น กล้วยตากเคลือบช็อคโกแลต, เคลือบชาเขียว

“Moddii” ขนมไทยใส่กระป๋อง นำนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์มาใช้ เพื่อยืดอายุขนมไทยนานขึ้น และส่งออกไปต่างประเทศ และสามารถกินได้ทุกที่ทุกเวลา เพราะลดน้ำตาลลง ให้ทานง่าย และท่านได้ทุกวัน

“น้ำมันมวย” ผลิตภัณฑ์บรรเทาอาการปวดของไทย ที่เกิดจากภูมิปัญญาของคนไทย ตอบโจทย์ทั้งนักกีฬา ผู้ออกกำลังกาย หรือคนทั่วไปที่มีอาการปวดเมื่อย และปัจจุบันได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีหลากหลายรูปแบบ มีทั้งชนิดน้ำ, ครีม, สเปรย์

Thai Brand-Local Brand-Key Strategy

 

4.สร้างเรื่องให้จดจำ (Brand Storytelling) 

การที่แบรนด์สร้างเรื่องเล่าถือเป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างแบรนด์กับผู้บริโภคผ่านสินค้าหรือบริการ ตลอดจนการตกแต่งร้าน บรรจุภัณฑ์ หรือแม้กระทั่งเรื่องราวเบื้องหลังเกี่ยวกับขั้นตอนการผลิต ล้วนส่งผลให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่น การจดจำ และการมีส่วนร่วมระหว่างแบรนด์และผู้บริโภค

ตัวอย่างแบรนด์ที่โดดเด่นในเรื่องนี้ ได้แก่

“กมล” (Kamon Indigo) เรื่องเล่าจากต้นฮ่อม ใช้วัตถุดิบต้นฮ่อมของจังหวัดแพร่ มาผสานกับการออกแบบแฟชั่น ทำให้ได้สินค้าที่เป็นสีธรรมชาติ และมีดีไซน์ 

“วรรณี” (Varni) จากหัตถกรรมกระจูดวรรณีของจังหวัดพัทลุง วันนี้ได้ต่อยอดขยายออกไปสร้างศูนย์การเรียนรู้หัตถกรรมกระจูด – โฮมสเตย์ – พัฒนาสถานที่ท่องเที่ยวชุมชน เพื่อให้แขกผู้มาเยือนได้เรียนรู้ “เรื่องราว และวิถีกระจูด” ผ่านสถานที่ท่องเที่ยวท้องถิ่น – การอยู่ในชุมชน – การทดลองทำผลิตภัณฑ์กระจูด – ที่พักที่ตกแต่งด้วยกระจูด 

“Dhanabadee” (ธนบดี) แบรนด์เซรามิคของลำปาง ที่หลายคนรู้จักกันในฐานะผู้ผลิต “ชามตราไก่” รายใหญ่ มีชื่อเสียงทั้งในไทย และระดับโลก ทุกวันนี้นอกจากผลิตสินค้าเซรามิคแล้ว ยังเปิดพิพิธภัณฑ์เซรามิค เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของตระกูลธนบดี ต้นกำเนิดชามตราไก่ และเซรามิคต่างๆ ในลำปาง 

“Karmakamet” เอกลักษณ์ความหอมแห่งเอเชีย เป็นแบรนด์ที่เกิดจากความตั้งใจ ความศรัทธา ความเชื่อของเอเชีย พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องหอม ที่สะท้อนรากเหง้าความเป็นเอเชีย ถึงปัจจุบันขยายสินค้า-บริการทั้งของตกแต่งบ้าน, ร้านอาหาร คาเฟ่

Thai Brand-Locla Brand_Storytelling

 

5. พลังแห่งการบอกต่อ (Advocacy) 

เป็นสิ่งที่ทุกแบรนด์ต้องการและต้องทำให้ได้ คือ เมื่อแบรนด์เข้าถึงผู้บริโภคได้ผ่านการสื่อสารครบทั้ง 4 เรื่องที่ผ่านมา แบรนด์ที่มีเรื่องราวโดนใจผู้บริโภค ผู้บริโภคจะทำหน้าที่บอกต่อเรื่องราวดี ๆ ของแบรนด์ให้ผู้บริโภครายอื่น ๆ ต่อกันไปในวงกว้าง ซึ่งบางทีสามารถช่วยให้จากแบรนด์ที่ไม่เป็นที่รู้จัก สามารถเป็นที่รู้จักจนขยายเป็นวงการในระดับประเทศได้

“Maison Craft” แบรนด์หัตถกรรมพื้นบ้าน ที่กลายเป็นของตกแต่งบ้านสวยงาม มีจุดเร่ิมต้นของการเป็นที่รู้จัก โดยเฉพาะในกลุ่มคนต่างประเทศ มาจากจัดแสดงงานเล็กๆ และออกบูธ ปรากฏว่าได้การตอบรับดีจากลูกค้าต่างประเทศ ถึงวันนี้ลูกค้า 70% คือกลุ่มลูกค้าต่างประเทศ

“หมาใจดำ” เหล้าพื้นบ้านของเชียงใหม่ จำหน่ายในเชียงใหม่ เป็นที่รู้จักในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่อยู่ในเชียงใหม่ก่อน จากนั้นดังในกลุ่มนักท่องเที่ยว และขยายมายังคนกรุงเทพฯ 

“น้ำปลาร้า รสมือแม่” เป็นสินค้าที่มีการใช้พรีเซนเตอร์ “แซ็ค ชุมแพ” และทำ Music Markeitng ให้แซค ชุมแพ มาร้องเพลงรสมือแม่ เพื่อสื่อสารแบรนด์ และความคิดถึงบ้านเกิดของคนอีสาน เพราะคนอีสานจากบ้านมาทำงานในเมือง ทำให้เข้าถึง insight คนอีสาน และโดนใจผู้ฟังจำนวนมาก ขณะเดียวกันในด้านช่องทางจำหน่าย ได้ขายผ่านร้านสะดวกซื้อ ทำให้เข้าถึงสินค้าง่ายขึ้น บวกกับมีการบอกต่อ ทำให้แบรนด์นี้เป็นที่รู้จัก 

Thai Brand-Local Brand_Advocacy


  • 2.3K
  •  
  •  
  •  
  •  
WP
อยู่ในแวดวงนิตยสารธุรกิจการตลาดกว่าสิบปี สนุกและชอบติตตามเทรนด์ ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมในแพลตฟอร์มดิจิทัล มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การตลาดและดิจิทัลร่วมกันนะคะ