Global Competitiveness Report 2019 ของ World Economic Forum (WEF) ได้มีการประกาศผลออกมาแล้ว โดย ‘ไทย’อยู่ในอันดับ 40 ลดลงจากปี 2018 ที่อยู่ในอันดับ 38 แม้คะแนนจะขยับขึ้นจาก 67.8 เป็น 68.1 แต่อันดับที่ลดลง ได้สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของบ้านเราที่อาจจะเสียเปรียบเมื่อแข่งขันกับประเทศอื่นบนเวทีการค้าโลก
ภาพที่เกิดขึ้น ทาง คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำการวิเคราะห์ตัวชี้วัดทั้งหมดจากผลข้อมูลจาก WEF โดยพบว่า
ดัชนีชี้วัดขีดความสามารถในการแข่งขันที่ทางไทยยังทำได้ไม่ดี มีด้วยกัน 4 ด้านหลัก ๆ ได้แก่
1.คะแนนด้านสภาพแวดล้อมหน่วยงานที่ลดลง จาก 55.1 เป็น 54.8 สะท้อนให้เห็นถึงการลดปัญหาการทุจริตที่ไม่ดีนัก
2.คุณภาพของโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งคะแนนลดลงจาก 69.7 เป็น 67.8 และอันดับตกจาก 60 เป็น 71
3.การพัฒนาทักษะของคนในประเทศ คะแนนลดลงจาก 63 เป็น 62.3 และอันดับลดลงจาก 66 เป็น 73 สาเหตุหลักเกิดจากทักษะของผู้สำเร็จการศึกษาแย่ลง และการสอนให้คิดเชิงวิพากษ์ที่ยังทำได้ไม่ดี
4.การลดช่องว่างในการแข่งขันของตลาดภายในประเทศ คะแนนใกล้เคียงเดิม คือ จาก 53.4 เป็น 53.5 แต่ในทางกลับกันประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ เวียดนาม ลาวและบรูไนกลับทำคะแนนได้โดดเด่นกว่าบ้านเราเมื่อเทียบกับปี 2018 ทำให้เรื่องนี้เป็นประเด็นที่ไม่ควรมองข้าม หากไทยต้องการได้เปรียบบนเวทีแข่งขันทางการค้าระดับโลก
ขณะที่ ดัชนีชี้วัดขีดความสามารถในการแข่งขันที่ไทยทำได้ดีและถือเป็นจุดเด่นของประเทศ ได้แก่
1. การควบคุมระดับเงินเฟ้อได้ดี เนื่องจากคะแนนด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาคดีขึ้นจาก 89.9 เป็น 90 และอันดับขึ้นจาก 48 เป็น 43
2.การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ จากคะแนนการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ ที่เพิ่มขึ้น จาก 71 เป็น 72 และอันดับสูงขึ้น จาก 23 เป็น 21 เนื่องจากความคล่องตัวของธุรกิจในประเทศไทยดีขึ้นจากทั้งเงื่อนไขต่างๆ ในการดำเนินธุรกิจที่ดีขึ้น และแนวคิดการเป็นผู้ประกอบการที่มากขึ้น
3.การมีสุขภาพดีและการมีอายุยืนยาวของคนในประเทศ มาจากตัวชี้วัดด้านสาธารณสุข (Health) ซึ่งได้คะแนนดีขึ้นจาก 87.3 เป็น 88.9
ดังนั้น หากสามารถแก้จุดอ่อนทั้ง 4 ด้านนี้ได้ บวกกับพัฒนาจุดแข็งอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลให้สามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยในเวทีโลกให้ดียิ่งขึ้น และส่งผลต่อการพัฒนาประเทศให้อยู่ในอันดับที่สูงขึ้นต่อไปได้ในอนาคต
สำหรับ Global Competitiveness Report ในปี 2019 มีประเทศที่ได้รับการจัดอันดับทั้งหมด 141 ประเทศ โดยอันดับ 1 ได้แก่ สิงคโปร์ ขณะที่แชมป์เก่า ‘สหรัฐอเมริกา’ ตกไปอยู่อันดับ 2 ส่วนอันดับ 3-10 ประกอบด้วย ฮ่องกง , เนเธอร์แลนด์ , สวิตเซอร์แลนด์ , ญี่ปุ่น , เยอรมนี , สวีเดน , อังกฤษ และเดนมาร์ก ตามลำดับ
ส่วนข้อสังเกตสำคัญในปีนี้ คือ เวียดนามเป็นประเทศที่มีอัตราการเจริญเติบโตแบบก้าวกระโดสูงที่สุดในโลก ซึ่งมีค่าดัชนีเพิ่มขึ้นถึง 3.5 คะแนน ทำให้อันดับขยับเพิ่มขึ้นได้ถึง 10 อันดับ จากอันดับที่ 77 เมื่อปีที่ผ่านมา ขึ้นเป็นอันดับที่ 67 ของโลกในปีนี้