มาวิเคราะห์กัน ทำไมจีนส่งสัญญาณล้าหลัง เห็นได้ชัดจากความนิยม ChatGPT

  • 1
  •  
  •  
  •  
  •  

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เป็นที่ยอมรับว่าจีนเกิดการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเทคโนโลยี AI ที่ถึงขนาดจีนประกาศเป็นนโยบายโดยกำหนดเป้าหมายการเป็นผู้นำเทคโนโลยี AI ในระดับโลกสยบยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐฯ จนส่งผลให้เศรษฐกิจโลกย้ายข้างมาอยู่ฝั่งซีกโลกตะวันออก ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ประเทศจีนตกขบวนเทคโนโลยีในยุคอินเทอร์เน็ตและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของจีน

ความยิ่งใหญ่ของเทคโนโลยีจีนส่งผลให้ธุรกิจด้านเทคโนโลยีของจีนหลายแห่งกลายเป็นบริษัทระดับโลกโดยเฉพาะ TikTok ที่ถือเป็นผู้เล่นรายใหม่ใน Social Media แต่สามารถ Disrupt Big Tech ระดับโลก ทว่าหลังจากนั้นเรื่องราวเทคโนโลยีของจีนก็ดูเหมือนจะซาลง ไม่หวือหวาเหมือนในอดีตที่ผ่านมา จนกระทั่งถึงการกำเนิดของ ChatGPT ที่เป็นสัญญาณบ่งบอกให้รู้ว่าเทคโนโลยีของจีนกำลังถูกฝั่งซีกโลกตะวันตก Disrupt อยู่ในขณะนี้

 

เมื่อผลกำไรอยู่เหนือไอเดีย

Xu Chenggang นักวิจัยชาวจีนจาก Stanford Center on China’s Economy and Institutions วิเคราะห์ว่า ช่วงทศวรรษ 1990 บริษัทเทคโนโลยีในจีนทั้งหมดเป็นธุรกิจภาคเอกชนที่ได้รับเงินทุนจากต่างประเทศ ส่งผลให้เกิดการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว และด้วยแนวคิดธุรกิจ Startup ส่งผลให้บริษัทด้านเทคโนโลยีจากจีนเพิ่มขึ้นเป็นดอกเห็ด จนกระทั่งช่วงกลางทศวรรษ 2010 จีนก็กลายเป็นมหาอำนาจทางเทคโนโลยีที่มีศักยภาพทัดเทียมกับสหรัฐฯ

บริษัทเทคโนโลยีของจีนจำนวนมาก เริ่มมีมูลค่าพอๆ กับบริษัทในสหรัฐฯ อย่างเช่น แอปฯ ส่งข้อความอย่าง WeChat และบริการชำระเงินออนไลน์อย่าง AliPay ส่งผลให้เงินลงทุนจาก VC ทั่วทุกมุมโลกเริ่มหลั่งไหลเข้ามาสู่ธุรกิจ Startup ในประเทศจีน ขณะที่รัฐบาลจีนก็เริ่มมองเห็นโอกาสจึงมีการสนับสนุนเพื่อสร้าง Unicorn หรือ Startup ที่มีมูลค่ามากกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมีจำนวนธุรกิจ Startup มากพอๆ กับ Silicon Valley

แต่ธุรกิจ Startup จำเป็นต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ขณะที่ Startup จีนกลับพุ่งเป้าไปที่รายได้เป็นหลัก และลืมที่จะเพิ่มเงินลงทุนในด้านการพัฒนาและวิจัย (R&D) เพื่อหานวัตกรรมใหม่ๆ ออกมา ซึ่งยังไม่สามารถสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำในระยะเวลาอันสั้น และมีแนวโน้มที่จะลดการลงทุนในด้านการพัฒนาและวิจัยเทคโนโลยีระยะยาวมากขึ้น

 

2 ปัจจัยที่ทำให้จีนยังไม่หลุดกรอบ

ChatGPT เทคโนโลยี AI ที่ได้รับการสนับสนุนจาก Microsoft สร้างความฮือฮาไปทั่วโลก ขณะที่จีนเองก็เคยมีการพัฒนาเทคโนโลยี AI ด้านภาษาคล้ายๆ กับ ChatGPT แต่ก็ไม่เป็นที่นิยมแม้แต่ในประเทศจีน ซึ่ง Xu Chenggang มองว่าส่วนหนึ่งเกิดจากเทคโนโลยีส่วนใหญ่ที่จีนพุ่งเป้าพัฒนา ไม่ค่อยเกี่ยวกับการใช้คำพูดในการออกคำสั่งหรือสื่อสาร แต่ส่วนใหญ่มักจะเน้นไปที่เรื่องของการพิมพ์หรือรูปภาพอย่าง Deepfake เป็นหลัก รวมถึงนโยบายควบคุมเทคโนโลยีของจีน

ChatGPT ถูกแบนในจีน

ขณะที่อีกส่วนหนึ่งเกิดจากการเติบโตของเทคโนโลยีจีนกระจุกตัวอยู่เฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่ อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า เมื่อธุรกิจเริ่มมีขนาดใหญ่ เป้าหมายของธุรกิจจึงพุ่งเป้าไปที่การสร้างรายได้ ขณะที่ธุรกิจขนาดเล็กของจีนไม่มีเงินเพียงพอที่จะพัฒนาเทคโนโลยีต่อไปได้ เมื่อธุรกิจขนาดเล็กของจีนไม่สามารถพัฒนาได้ ก็จะทำให้ไม่เกิดเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่ๆ ออกมา

ดูเหมือนว่ารัฐบาลจีนก็เริ่มเห็นปัญหาเหล่านี้เช่นกัน จึงมีการกำหนดนโยบายสนับสนุนธุรกิจเทคโนโลยีที่พัฒนาด้านภาษาการสื่อสารผ่านเทคโนโลยี AI ซึ่งในอดีตช่วงที่จีนกำลังพัฒนา Startup เทคโนโลยีก็เคยใช้นโยบายในรูปแบบคล้ายกันนี้มาก่อน โดยรัฐบาลจีนได้ทุ่มทุนวิจัยด้านปัญญาประดิษฐ์เป็นจำนวนมาก ผ่านศูนย์การเรียนรู้ Beijing Academy of Artificial Intelligence

ถือว่าเป็นบทเรียนของจีนที่ต้องจดจำว่า เทคโนโลยีที่เพิ่งคิดค้นขึ้นมาได้ก็สามารถถูก Disrupt ลงได้ง่ายๆ เช่นกัน ถ้าเพียงเผลอแว๊บเดียว เพราะบนโลกใบนี้ยังมีผู้คนเก่งๆ อีกมาก และคนเหล่านั้นมักจะอยู่ในประเทศคู่แข่งอย่างสหรัฐฯ เพราะในอดีตจีนเคยตกอยู่ในสถานะประเทศด้อยพัฒนา เนื่องจากตกขบวนเทคโนโลยี ซึ่งรัฐบาลจีนประกาศชัดเจนว่า จะไม่ให้เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอย่างแน่นอน

 

Source: New York Times


  • 1
  •  
  •  
  •  
  •  
Gigolo
เมื่อเทคโนโลยีอยู่ใกล้กับชีวิตทุกคน มารู้เท่าทันเทคโนโลยีเพื่อใช้มัน แต่อย่าให้เทคโนโลยีมันใช้เรา