Family Mart ที่ญี่ปุ่นเริ่มแล้ว “ร้านค้าไร้พนักงาน” ช้อปง่ายแค่หยิบแล้วจ่าย ตั้งเป้า 1,000 สาขาในปี 2024

  • 712
  •  
  •  
  •  
  •  

อย่างที่ทราบว่าประเทศญี่ปุ่นประสบปัญหาด้านแรงงาน อันเนื่องมาจากประเทศญี่ปุ่นเข้าสู่ยุคสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ประกอบกับคนหนุ่มสาวของประเทศญี่ปุ่นนิยมเดินทางไปทำงานนอกประเทศ ส่งผลให้ธุรกิจในประเทศญี่ปุ่นโดยเฉพาะงานด้านบริการประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน ขั้นวิกฤต โดยเฉพาะในร้านสะดวกซื้อที่แทบจะต้องว่าจ้างผู้สูงอายุในพื้นที่เป็นผู้ดูแลร้านค้า ส่งผลให้ 1 ใน 3 ร้านสะดวกซื้อยอดนิยมของญี่ปุ่นอย่าง Family Mart เปิดตัวร้านค้า “ไร้พนักงาน (Unmanned Shop)” เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน

โดยร้านสะดวกซื้อ Family Mart ได้ทำการทดลองร้านค้าไร้พนักงานขึ้นที่สาขาในกรุงโตเกียว โดยภายในร้านที่ใช้ทดลองมีการติดตั้งกล้องวงจรปิดถึง 50 ตัว ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดของร้านค้ากว่า 50 ตร.ม. โดยกล้องเหล่านี้จะเป็นกล้องที่มีระบบ AI เข้ามาควบคุม โดยจะทำงานร่วมกับเซ็นเซอร์น้ำหนักที่ติดตั้งอยู่บนชั้นวางสินค้าแต่ละชนิด เพื่อตรวจสอบว่าลูกค้าหยิบสินค้าอะไรไปบ้าง เมื่อลูกค้ามาถึงเคาน์เตอร์เพื่อชำระเงิน ระบบจะระบุชื่อผลิตภัณฑ์ จำนวนและราคาสินค้าแต่ละชนิด รวมถึงราคารวมโดยจะแสดงบนจอภาพ และลูกค้าสามารถชำระเงินได้ทั้งเงินสดที่เครื่องคิดเงินหรือชำระผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์

โดย FamilyMart ตั้งเป้าเปิดร้านค้าไร้พนักงานประมาณ 1,000 แห่งภายในปี 2024 โดยถือว่าเป็นการปรับเปลี่ยนมาใช้ร้านค้าอัตโนมัติเต็มรูปแบบครั้งแรกในญี่ปุ่น ทั้งนี้เป็นผลมาจากการคลายข้อบังคับเมื่อปีที่ผ่าย หลังรัฐบาลญี่ปุ่นแก้กฎหมายที่กำหนดให้ร้านค้าทุกแห่งต้องมีพนักงาน (เจ้าหน้าที่) คอยดูแลให้บริการ ขณะที่ปัญหาการขาดแคลนแรงงานเข้าขั้นวิกฤต อีกทั้งธถรกิจในโลกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ระบบอัตโนมัติจึงกลายเป็นสิ่งสำคัญสำหรับธุรกิจค้าปลีกของญี่ปุ่น

นอกจากนี้ ระบบ AI ที่เข้ามาช่วยระบบการชำระเงินเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบที่สำคัญที่ช่วยขจัดความยุ่งยากในการอ่านบาร์โค้ด ที่สำคัญยังทำให้ลูกค้าขโมยของในร้านได้ยากขึ้น และเพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัวของลูกค้า ร้านค้าไร้พนักงานจะไม่มีการเก็บรวบรวมข้อมูลของลูกค้า (Data Privacy) ที่อาจนำไปสู่การระบุตัวบุคคล เช่น ภาพใบหน้าลูกค้า โดยที่ลูกค้าไม่จำเป็นต้องลงแอปฯ ใดๆ ก่อนใช้บริการร้านค้าไร้พนักงาน หรือการยืนยันตัวตนผ่านรูปแบบ BioMetric ก็ไม่มีความจำเป็น ที่สำคัญระบบ AI ยังช่วยตรวจสอบผู้ซื้อในกรณีที่เป็นสินค้าควบคุมอายุ เช่น บุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สามารถรองรับการใช้งานพร้อมกันได้ถึง 10 ราย

ร้านค้าอัตโนมัติอาจเรียกได้ว่า ต้องใช้งบประมาณค่าใช้จ่ายสูงกว่าการเปิดร้านค้าปกติถึง 20% แต่ในระยะยาวจะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านแรงงานลงได้จำนวนมาก โดยพนักงานจะทำหน้าที่เพียงรับสินค้าและเช็คสต๊อกสินค้าเท่านั้น โดยค่าแรงงานคิดเป็นสัดส่วน 60% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด ขณะที่ร้านสะดวกซื้ออย่าง Seven-Eleven Japan ได้ร่วมมือกับ NEC เพื่อทดลองร้านค้าอัตโนมัติที่ใช้ระบบการจดจำใบหน้าในการชำระเงิน หรือ Lawson ที่เปิดตัวเครื่องที่ช่วยให้ลูกค้าสามารถอ่านบาร์โค้ดของผลิตภัณฑ์ด้วยสมาร์ทโฟนตัวเองได้ แม้แต่ร้าย Kinokuniya ซูเปอร์มาร์เก็ตระดับไฮเอนด์ก็มีการเปิดร้านขายของชำเล็กๆ โดยใช้ระบบที่คล้ายกับ FamilyMart

 

Source: Nikkei


  • 712
  •  
  •  
  •  
  •