แยบยล…”ฝากโปรโมท”ขั้นเทพจากมูลนิธิที่ทำให้เซเลบค่าตัวหลายล้านไม่กล้าปฏิเสธ

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

cats

ผลงานรางวัลจาก Asian Marketing Effectiveness and Strategies 2014 (AMES) ซึ่งเป็นงานประกวดแผนและแคมเปญมาร์เกตติ้งสำหรับปีนี้มีหลายรางวัลเข้าตากรรมการ โดยในปีนี้มีผู้ส่งผลงานเข้าประกวดกว่า 334 ชิ้นจาก 17 ประเทศ

หนึ่งในรางวัลที่ได้ Bronze จากสาขา Effectiveness – Charities, Public Health & Safety &Public Awareness Messages ของปีนี้คือผลงานจากมูลนิธิ Akanksha Foundation ของอินเดียที่กำลังประสบปัญหาการขาดแคลนครูสำหรับมูลนิธิอย่างหนัก ขึ้นชื่อว่าองค์กรการกุศลแล้ว เรื่องเงินช่างเป็นปัญหาใหญ่ยิ่งสำหรับพวกเขา มาลองดูการอธิบายและวิธีแก้ปัญหาของเขากันครับ

“เมื่อเรารู้ว่าเราต้องกระจายข่าวเพื่อตามหาอาจารย์สำหรับมูลนิธิ แน่นอนว่าเราไม่มีเงินมากพอที่จะไปทำป้ายโฆษณาหรือลงโฆษณาในทีวีหรอก ดังนั้นพวกเราเลยใช้ Twitter แล้วส่งวีดีโอที่เด็กๆ ถ่ายทำกันเองให้แก่ดาราดัง หวังว่าพวกเขาจะรีทวิตคลิปวีดีโอของพวกเราให้แก่ followers แถวยาวเหยียดของพวกเขา”

คลิปที่พวกเด็กๆ ช่วยกันทำโปรโมทหนัง

httpv://youtu.be/8vB08d_9q8c

trailer หนังอินเดียนเรื่อง KRRISH 3

httpv://youtu.be/MCCVVgtI5xU

วีดีโอที่พวกเด็กๆ ถ่ายทำจะเป็นมุกตลกๆ เช่น การแต่งตัวเหมือนดาราหนังไปโปรโมทตัวเองตามสถานที่สาธารณะ แล้วส่งคลิปดังกล่าวไปให้เจ้าตัวและบอกว่า “เพราะพวกเราโปรโมตหนัง ภาพยนตร์ของคุณถึงดังยังไงล่ะ ช่วยรีทวิตวีดีโอของเราเป็นการตอบแทนหน่อยได้ไหมค่ะ/ครับ”

เจอเด็กๆ อ้อนวอนขนาดนี้ มีหรือดาราและคนดังจะใจแข็งอยู่ได้ 4 เซเลบของวงการอินเดีย ทั้ง ดารา ผู้กำกับ นักเขียน ต่างช่วยรีทวิตข้อความขอความช่วยเหลือของเด็กและสร้างยอด reach ถึง follower กว่า 18.15 ล้านคน และมียอดคนมาสมัครเป็นครูเพิ่มผ่านแอพพลิเคชั่นกว่า 2 พันคน ซึ่งถือว่าเพิ่มขึ้นกว่า 150% โดยใช้งบประมาณ…0 บาท! (ยกเว้นค่าถ่ายทำละมั้ง?)

อย่างไรก็ตาม อย่าลืมว่าแคมเปญลักษณะนี้แทบจะถูกสงวนสิทธิ์ให้ใช้ได้กับองค์กรการกุศลหรือหน่วยงานรัฐบาลที่มีภาพลักษณ์ใสซื่อ ดูน่าสงสาร เนื่องจากมันเอื้อให้เกิด win-win situation กล่าวคือ ดาราก็ได้โปรโมทตัวเองอย่างสร้างสรรค์มากขึ้น ขณะที่เด็กๆ ก็ได้ช่องทางโปรโมทมูลนิธิ แต่หากเราเปลี่ยนองค์กรการกุศลเป็นลูกค้าเชิงธุรกิจ ความรู้สึก “น่ารักน่าเอ็นดู” อาจจะเหือดหายไปได้ เนื่องจากเซเลบอาจรู้สึกเหมือนกำลังถูกหลอกใช้ ขณะที่แม้พวกเขาจะยอมรีทวิตสิ่งเหล่านั้น ผลตอบรับจากผู้บริโภคก็อาจจะออกมาเป็นบวกหรือลบก็ยากจะเดาได้

สรุปว่า ทำแคมเปญให้องค์กรการกุศลนี่สนุกมาก เพราะสร้างสรรค์อย่างไรก็คงไม่มีใครกล้าว่าหรอกกระมัง #เด็กๆทำตาใสแป๋ว

ปิดท้ายด้วยประโยคที่พวกเขานำมาพรีเซนต์ในงานด้วยจาก William Arthur Ward นักเขียนอเมริกันชื่อดังผู้ประพันธ์ Fountains of Faith “การสอนเป็นมากกว่าการมอบความรู้ มันคือการมอบแรงบันดาลใจเพื่อการเปลี่ยนแปลงด้วย”


  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
อุ้งทีนหมี
เตาะแตะในโรงเรียนชายล้วนแถวยศเส ก่อนเติบโตต่อในมหาวิทยาลัยริมฝั่งน้ำเจ้าพระยา ที่สุดจับพลัดจับผลูเข้าทำงานในนแวดวงสื่อสารมวลชนมาแล้วกว่า 4 ปี โต้ลมโต้ฝนทั้งในวงการข่าวต่างประเทศ เยาวชน ธุรกิจ การเมือง สังคม ฯลฯ แต่สุดท้ายกลับลำมาหลงรักวงการมาร์เก็ตติ้งที่ข้ามน้ำข้ามทะเลไปขี่จิงโจ้เรียนปริญญาโทมา เลยตัดสินใจหันหางเสือออกสู่การผจญภัยครั้งใหม่อีกสักตั้ง