ฟัง ‘กูรู’ แนะทำ ‘ดิจิทัล มาร์เก็ตติ้ง’ เพื่อบุกตลาดจีนอย่างไรให้เวิร์ค

  • 671
  •  
  •  
  •  
  •  

ด้วยจำนวนประชากร 1,420 ล้านคน ทำให้จีนเป็นหนึ่งตลาดสำคัญที่หลายธุรกิจต้องการเข้าไปปักธงธุรกิจ และจากจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่มีมากถึง 829 ล้านคน โดย 98.6% ใช้ผ่านมือถือ ‘ดิจิทัล มาร์เก็ตติ้ง’ จึงถือเป็น Marketing Tools ที่ทรงพลังสำหรับเข้าถึงผู้บริโภคชาวจีน

อย่างไรก็ตาม จีน เป็นตลาดที่มีการซับซ้อนสูง บวกกับผู้บริโภคชาวจีนมีการใช้โซเชียล มีเดียและอยู่บนโลกออนไลน์ค่อนข้างสูง ยกตัวอย่างเช่น ภายใน 1 นาที ชาวจีนจะโพสต์ข้อความบน WeChat ถึง 486 ข้อความ , มีการใช้จ่ายผ่าน Alipay มีมูลค่ากว่า 15 ล้านหยวน , มีการโพสต์ข้อความบน weibo 1.65 ล้านข้อความ และค้นหาข้อมูลบน Baidu กว่า 4 ล้านครั้ง ฯลฯ

ดังนั้น การทำดิจิทัล มาร์เก็ตติ้ง ให้ ‘เวิร์ค’ และ ‘ปัง’ ในตลาดจีน จึงจำเป็นต้องศึกษา Insight  และเทรนด์ต่าง ๆ ให้ดีเสียก่อน

Influencers – Social Commerce 2 เทรนด์มาแรง

ชฎากร ธนสุวรรณเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอวีจี ไทยแลนด์ จำกัด

ชฎากร ธนสุวรรณเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอวีจี ไทยแลนด์ จำกัด ผู้ให้บริการด้านดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งในจีน ในเครือวายดีเอ็ม ไทยแลนด์ กล่าวว่า เทรนด์ดิจิทัล มาร์เก็ตติ้งที่มาแรงในจีน ได้แก่ Influencers Marketing และ Social Commerce โดย Influencers Marketing ตอนนี้กลายเป็นองค์ประกอบหลักที่สำคัญในกลยุทธ์ทางการตลาดของจีน

เพราะจากข้อมูลของฟรอสต์และซูลิแวน แสดงให้เห็นถึงยอดขายที่เกิดจาก Influencer คนจีน ที่สูงถึง 32.9 พันล้านหยวน (4.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในปี 2017 และคาดว่า จะสร้างการเติบโตต่อเนื่องถึง 40.4 % ในอีก 5ปีข้างหน้า นอกจากนี้ด้วย 80% ของแฟนคลับที่ติดตาม Influencer นั้นเป็นกลุ่มคนยุคมิลเลนเนียมหรือคนที่เกิดในช่วงปี ค.ศ. 1981-1996 (อายุ 23-38 ปี) ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงที่สุดในประเทศจีน ดังนั้น Influencer จึงมีความสำคัญอย่างมากสำหรับการทำดิจิทัล มาร์เก็ตติ้งในจีน

 “ผู้บริโภคจีน เชื่อ Influencers มากกว่าเพื่อน เพราะจีนตลาดใหญ่ มีข้อมูลมหาศาล เวลาจะซื้ออะไรจึงต้องการข้อมูล แต่ก็ไม่เชื่อข้อมูลจากที่แบรนด์ให้ ขณะที่เพื่อนเอง ผู้บริโภคจีนส่วนใหญ่มองว่า มีความรู้น้อยกว่า Influencer  ที่สำคัญกฎหมายจีนแรง Influencer  จึงไม่กล้าหลอก และกว่าจะมารีวิวมีการศึกษาและทดลองใช้เยอะมาก เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือสำหรับแจ้งเกิดในตลาด”

อย่ามองจำนวน ‘Follow’ อย่างเดียว

ปัจจุบัน Influencers ในจีนมีมากถึง 2-3 ล้านคน มีทั้งกลุ่มที่เป็นดารา บรรดาคนดัง และคนทั่วไป ซึ่งกลุ่มสินค้าที่มี Influencers มากที่สุด ได้แก่ กลุ่ม Beauty 30% รองลงมา กลุ่มสินค้า Fashion 15% ,อาหารและขนม 10% ที่เหลือคืออื่น ๆ

สำหรับการเลือกใช้ Influencers จีน อย่ามองที่จำนวนผู้ติดตาม หรือยอด Follow เพราะที่จีนสามารถปั๊มยอดได้ง่าย เช่น การจ้างให้ติดตาม Influencers ทำตัวให้เป็นกระแสขึ้นมา เป็นต้น โดยนอกจากเลือกให้เหมาะกับกลยุทธ์ทางการตลาดของสินค้าหรือแบรนด์แล้ว ประเด็นสำคัญ หนีไม่พ้นเรื่องความน่าเชื่อถือ รวมไปถึง Engagement จากผู้ที่เข้ามาคอมเม้นต์และลึกลงไปถึงการตอบคอมเม้นท์ของ Influencers แต่ละคน

“Influencers หลายคนรีวิวดี มีคนมาคอมเม้นท์เยอะ แต่หากตอบหรือพูดคุยกับบรรดาแฟน ๆ ไม่ดี ย่อมส่งผลเสียมาถึงสินค้าและแบรนด์ด้วย”

Social Commerce’ เครื่องมือที่ขาดไม่ได้                      

สำหรับ Social Commerce นั้น จะเข้ามาตอบโจทย์ผู้ซื้อและผู้ขายมากยิ่งขึ้น เนื่องจาก Social Media และ E-commerce เจ้าใหญ่ๆ มีการจับมือร่วมกันมากขึ้น เช่น อาลีบาบา ได้จับมือรกับ Weibo ขณะที่ WeChat ได้เป็นพาร์ทเนอร์ กับ JD.com เพื่อสร้างระบบโฆษณาที่สามารถเจาะความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างชัดเจนขึ้น เช่น นำประวัติการซื้อบน e-commerce มาวิเคราะห์กับเพจที่ผู้บริโภคนั้นติดตามบน Social Media

ส่วนรูปแบบ Content จะเป็น Video ที่มาแรง เห็นได้ชัดจากการที่ชาวจีนใช้เวลาในการดูวิดีโอเพิ่มมากขึ้น 7% ในปี 2018 ไปจนถึงเทคโนโลยี 5G ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

สำหรับสินค้าไทยยอดนิยม ตามข้อมูลใน Tmall แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ B2C ที่ใหญ่ที่สุดในจีน และ Taobao แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ C2C ที่ใหญ่ที่สุดในจีน แสดงตัวเลขในเดือน พฤษภาคม 2019 ว่า  สินค้าจากเมืองไทยที่ขายดีที่สุด ได้แก่ สินค้าในกลุ่มสกินแคร์ & เครื่องสำอาง, ผลไม้อบแห้ง และ ข้าว โดยมีมูลค่าการซื้อขายโดยรวมประมาณ 2 ล้านครั้ง/เดือน

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอวีจี ไทยแลนด์ ยังแนะนำว่า ผู้ประกอบการไทยควรมองหาโอกาสทางธุรกิจในเมืองกลุ่ม “New Tier One” คือ เมืองที่มีศักยภาพการเติบโตที่ขึ้นไปอยู่กลุ่มเมืองที่เจริญแล้ว (Tier One) ในจีน รวมทั้งควรศึกษาเรื่องข้อได้เปรียบที่ได้จากข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียนจีน (ACFTA) เนื่องจากในปี 2018 มีสินค้าไทยทั้งหมดที่ส่งออกไปจีนเพียง68.4% ที่ได้รับอานิสงค์จากข้อตกลงนี้

ที่สำคัญ ต้องจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า (Trademark) ในประเทศจีนทันทีที่เริ่มต้นเข้าไปทำตลาด เพื่อปกป้องสิทธิของการเป็นเจ้าของแบรนด์ และเลือกช่องทางในการทำดิจิทัล มาร์เก็ตติ้งให้ถูกทางที่เหมาะสมกับงบประมาณและเจาะได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย


  • 671
  •  
  •  
  •  
  •