ย้อนรอยสายจิ้น! ตั้งแต่วงการสาว Y หนุ่ม Y จนถึงโลก ‘LGBTQ’ ทำเงินมากกว่าที่คิด

  • 82
  •  
  •  
  •  
  •  

นานมาแล้วเมื่อหลายสิบปีก่อนเราอาจจะเคยเห็นภาพในการ์ตูนญี่ปุ่น เป็นผู้ชายหน้าตาดีผอมสูง 2 คนจูบกันบ้าง กอดกันบ้าง เหมือนคู่รักยังไงยังงั้น หรือ ภาพยนตร์(นอก) กระแสที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความรักของคนเพศเดียวกัน ‘ชาย-ชาย’ กับ ‘หญิง-หญิง’ ก็มีให้เห็นบ้างเนืองๆ ซึ่งหลายคนก็น่าจะกระอักกระอ่วนใจอยู่ไม่น้อย หรืออาจจะงงๆ ว่านี่มันการ์ตูน/ภาพยนตร์อะไรหว่า?

แต่ในปัจจุบันเรียกว่า ‘สิ่งบันเทิง’ ต่างๆ เริ่มเปิดกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับประเด็น ‘ความหลากหลายทางเพศ’ หรือที่เราเรียกว่ากลุ่ม LGBTQ ในปัจจุบันนี้ ซึ่งในสมัยนั้นอาจจะยังไม่รู้จักกันด้วยซ้ำว่ามันคืออะไร

เรามาทำความรู้จักกับความหมายของ ‘LGBT(Q)’ กันก่อน

ในเดือนมิถุนายนของทุกๆ ปีทั่วโลกจะเฉลิมฉลองให้กับ ‘ชาวสีรุ้ง’ สัญลักษณ์ของชุมชนความหลากหลายทางเพศ โดยจารึกเอาไว้ว่าเป็น ‘Pride Month’ ทั้งนี้ ตัวอักษรย่อต่างๆ ของ LGBTQ ถูกนิยามเอาไว้ดังนี้

L = Lesbian (กลุ่มผู้หญิงที่ชอบผู้หญิงด้วยกัน)

G = Gay (ผู้ชายที่ชอบผู้ชาย) แต่บางตำราก็กล่าวรวมๆ ว่าคือคนที่ชอบเพศเดียวกัน (homosexual)

B = Bisexual (คนที่ชอบทั้งผู้ชายและผู้หญิง)

T = Transgender (กลุ่มคนข้ามเพศ) ก็คือผู้หญิงที่มีจิตใจเป็นผู้ชาย และผู้ชายที่มีจิตใจเป็นผู้หญิง

Q = Queer (กลุ่มคนที่ไม่จำกัดกรอบทางเพศของตนเองและผู้อื่น) ซึ่งเป็นคำศัพท์ใหม่ในวงการชาวสีรุ้งเมื่อปี 2017 คนส่วนใหญ่จะเรียกกันง่ายๆ ว่าเป็น ‘กลุ่มคนไร้เพศ’

จุดเริ่มต้นสายจิ้น (imagine) ที่มาของสาวก ‘หนุ่ม Y สาว Y’

ในสมัยก่อนเรื่องของความรักในเพศเดียวกันยังเป็นเรื่องใหม่และแปลกประหลาด จึงยังไม่มีคำเก๋ๆ ไว้เรียกเฉพาะกลุ่มอย่างทุกวันนี้ แต่จริงๆ แล้วใครจะรู้ว่า DNA ความเป็นหนุ่ม Y สาว Y เริ่มต้นมานานมากในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่จุดประกายคำจำกัดความดังกล่าวจนแผ่อิทธิพลเข้ามาในประเทศไทยแบบ (ลับๆ เฉพาะกลุ่ม) มากกว่า 10 ปีแล้ว

หนึ่งบทความของ Japan Today สำนักข่าวชื่อดังของญี่ปุ่น อธิบายเอาไว้ว่า คำว่า หนุ่ม Y สาว Y นั้นย่อมาจาก Yaoi (やおい) = ตัวละครชายรักชาย และ Yuri (ユリ) = ตัวละครหญิงรักหญิง ที่ปรากฏอยู่ใน ‘manga’ หรือหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่น หากแปลตามตัวนั้นมีความหมายว่า ‘ภาพตามอารมณ์’

www.zerochan.net

โดยคำนิยาม Y+Y สำหรับกลุ่มที่ชื่นชอบความรักในเพศเดียวกันถือกำเนิดขึ้นจาก ‘ซาคาตะ ยาซุโกะ และ ฮัตสุ รินโกะ’ นักวาดการ์ตูนมือสมัครเล่นที่มีส่วนเปลี่ยนประวัติศาสตร์โลกการ์ตูนของญี่ปุ่นตั้งแต่ในสมัย 1970 จนขยายอิทธิพลเข้ามาในไทย และด้วยความที่ไทยกับญี่ปุ่นค่อนข้างสนิทใกล้ชิดกัน วัฒนธรรม J-pop จากดินแดนปลาดิบจึงได้รับความนิยมอย่างมากในไทย ตั้งแต่หนังสือการ์ตูน Y ไปจนถึงแฟชั่นเสื้อผ้าและของใช้เฉพาะสาย Y เท่านั้น

ขณะที่คำว่า ‘สายจิ้น’ นั้นมาจากคำว่า imagine จินตนาการอันล้ำเลิศของหนุ่ม Y สาว Y นั่นเอง ซึ่งในปัจจุบันเราจะเห็นว่า การ์ตูนสาย Y ไม่ได้มีแค่ในแผ่นกระดาษอย่างเดิมแล้ว แต่มันถูกนำมาดัดแปลงกลายมาเป็น นิยายออนไลน์, การ์ตูน anime และภาพยนตร์ต่างๆ ปรับเปลี่ยนตามยุคสมัยพร้อมๆ กับการเข้ามาของอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยี

 

ความหลากหลายทางเพศ ทำให้เกิด ‘Pink Money’

แล้วคำว่า Pink Money ดูคุ้นหูกันบ้างมั้ย? คำๆ นี้ใช้เรียกสำหรับวัฒนธรรมการบริโภค หรือการใช้จ่ายเงินของกลุ่ม LGBTQ ซึ่งที่ผ่านมามีงานวิจัยจากหลายแห่งลงความเห็นตรงกันว่า อาจเกิดขึ้นจากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญทางด้านความหลากหลายทางเพศ และนักเคลื่อนไหวจากชาติตะวันตกที่ใช้ ‘สีชมพู’ แทนคำว่าสีรุ้ง

ความน่าสนใจอยู่ตรงที่ข้อมูลของกระทรวงการคลังสหรัฐอเมริกา ได้เผยผลการศึกษาเมื่อปี 2018 คาดการณ์ว่าในสหรัฐฯ มีประชากร LGBTQ ราว 5-10% ของประชากรทั้งหมด (อ้างอิงข้อมูลจากบุคคลที่ยอมเปิดเผยตน) ซึ่งความเป็นจริงน่าจะมีมากกว่านั้น โดยระบุว่า รายได้ต่อครัวเรือนสำหรับกลุ่มรักร่วมเพศ (ชาย) เฉลี่ยสูงถึง 176,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 5.5 ล้านบาท) และคู่รักร่วมเพศ (หญิง) อยู่ที่ 124,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 3.8 ล้านบาท) เปรียบเทียบกับคู่รัก (ชาย-หญิง) ที่มีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนน้อยกว่า อยู่ที่ 113,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 3.5 ล้านบาท)

ขณะที่สถาบัน UCLA’s Williams ในสหรัฐฯ ระบุว่า ไม่ใช่แค่ในสหรัฐฯ แต่ประเทศยุโรป และเอเชียหลายแห่ง แม้แต่ ‘อินเดีย’ ที่ขึ้นชื่อว่ามีความเป็นชาตินิยมสูง ก็ได้ส่งสัญญาณปลดล็อกให้กับ Pink Money และยกระดับสู่การเป็น Pink Economy ที่ขับเคลื่อนประเทศได้

ทั้งนี้ ข้อมูลจากหลายแห่งพบว่า ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันมี 4 อุตสาหกรรมหลักๆ ที่ทำเงินมากกว่าที่คิดจากกลุ่ม LGBTQ โดยมีธุรกิจดังต่อไปนี้

  • อุตสาหกรรมภาพยนตร์

ที่จริงแล้วภาพยนตร์ที่ดำเนินเรื่องเกี่ยวกับรักร่วมเพศในชาติตะวันตก น่าจะเป็นโซนแรกๆ ที่มีการเล่าถึงอย่างชัดเจน แม้จะยังไม่มีคำนิยามอย่างเป็นทางการเรียกว่า LGBT(Q = บรรจุในปี 2017) แต่ก็ถือว่าความคุ้นเคยนี้ค่อยๆ แทรกซึมลงไปในการรับรู้ของผู้คน ถูกถ่ายทอดไปกับภาพยนตร์หลายๆ เรื่อง หนึ่งในนั้นที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าภาพยนตร์เกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศสร้างรายได้อย่างมหาศาลไม่ต่างกัน เช่น เรื่อง ‘The Birdcage’ (1996) ดูจากมูลค่าที่ทำรายได้อย่างถล่มทลายถึง 124 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 3.8 พันล้านบาท)

ยังมีอีกหลายๆ เรื่องที่ทำรายได้อย่างมหาศาลไม่แพ้กัน อย่างเรื่อง The Talented Mr. Ripley(1999) ที่โกยรายได้ไปกว่า 81 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 2.5 พันล้านบาท), Philadelphia (1993) ทำเงินไปได้ 77 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 2.4 พันล้านบาท)

www.barnesandnoble.com

ขณะที่ Box Office ได้สรุปภาพยนตร์เกี่ยวกับ LGBTQ ที่คนยังชอบเข้าดูบ่อยเกิน 10 ครั้งขึ้นไป ได้แก่ The Imitation Game(2014), Alexander(2004), Moonlight(2016), The Hours(2002) และ The Danish Girl(2015) เป็นต้น

www.en.wikipedia.org
  • อุตสาหกรรมการ์ตูน/Anime:

ในยุคแห่งอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยี สัดส่วนของคนที่ชอบอ่านนิยายออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่จำนวนของผู้อ่านที่ชอบอ่านเป็นหนังสือการ์ตูนเล่มก็ยังมีอยู่สูง อย่างผลสำรวจโดย Japan Poll(2015) ใน 500 คนที่เป็นผู้แนะนำหนังสือมังงะสาย Y (Yaoi เยอะกว่า Yuri มากๆ) ในร้านขายหนังสือ 456 แห่งในเอเชีย แนะนำ Top 5 ที่เป็น best seller และมียอดตีพิมพ์สูงซึ่งเป็นสาย Y-aoi เท่านั้น ได้แก่

  1. Ten Count (Rihito Takarai)
  2. Escape Journey (Tanaka Ogeretsu)
  3. Dakaretai Otoko 1-i ni Odosarete Imasu (Hashigo Sakurabi)
  4. Koketsu Dining
  5. Yondaime Ooyamato Tatsuyuki (Scarlet Beriko)

นอกจากนี้ ผลสำรวจจาก syfywire ชาแนลโทรทัศน์ชื่อดังของสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ภาพยนตร์/ซีรีย์ anime ของญี่ปุ่นสำหรับสาวก LGBTQ ต้องไม่พลาด Top 5 ได้แก่

  1. Gravitation
  2. Yuri! on Ice
  3. Sasameki Noto (Whispered Words)
  4. No. 6
  5. Hourou Musko (Wandering Son)
  • อุตสาหกรรมทัวร์

ไม่ว่าจะเพศไหนสถานะใด การท่องเที่ยวก็ยังเป็นสิ่งที่ทุกคนชื่นชอบเสมอ แต่สิ่งที่เหล่าบริษัททัวร์เห็นคือ โอกาสที่กำลังมาและน่าจะเป็นเทรนด์แห่งการท่องเที่ยวใหม่ก็คือ ‘Pink Tour’ ซึ่งเป็นคำนิยามที่ นิตยสาร Forbes India ใช้พูดถึงแพ็คเกจทัวร์แบบใหม่ที่เลือกเจาะตลาดไปที่ชาว LGBTQ โดยกลุ่มผู้ใหญ่ LGBTQ ในอินเดีย มีจำนวนกว่า 55 ล้านคน เป็นสัดส่วนกลุ่มที่มีความหลายหลายทางเพศขนาดใหญ่ที่สุดของโลก

ที่น่าสนใจคือ กลุ่มดังกล่าวมีรายได้สูง ไม่มีภาระเรื่องครอบครัวและลูก ซึ่งอินเดียถือว่าเป็นสังคมลูกดกจึงมีค่าใช้จ่ายสูง ที่สำคัญพร้อมใช้ชีวิตสนุกแบบสุดเหวี่ยงมากกว่าผู้บริโภคเพศชายและหญิง

ขณะที่ใน ‘จีน’ แม้จะเป็นชาติคอมมิวนิสต์แต่ในแต่ละปีก็มีสัดส่วน LGBTQ ที่กล้าเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงมากขึ้น และคาดการณ์ว่าในปัจจุบันมีประชากรชาวสีรุ้งประมาณ 70 ล้านคน คิดเป็นมูลค่าตลาดราวๆ 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 9.4 ล้านล้านบาท)

  • อุตสาหกรรมแต่งงาน

แม้ว่าโลกในปัจจุบันมีหลายประเทศที่ไม่อนุญาตให้ ‘รักร่วมเพศ’ แต่งงานกันได้ แต่อย่างน้อยก็มีถึง 24 ประเทศที่อนุญาตพวกเขา งานแต่งงานครั้งนึงในชีวิตของพวกเขาหลังจากที่ต้องผ่านอุปสรรคมามากมาย ดังนั้น  budget สำหรับชาวสีรุ้งก็ไม่ได้น้อยหน้าไปกว่าคู่รักแต่งงานชาย-หญิงเลย บางคู่มีมูลค่ามากกว่าด้วยซ้ำไป

สำรวจของ Gallup poll ระบุว่า เฉพาะแค่ในสหรัฐฯ ประเทศเดียวมีคู่รัก LGBTQ แต่งงานใน 50 มลรัฐที่อนุญาต เพิ่มขึ้นกว่า 10.2% ในปี 2019 โดยเฉลี่ยในแต่ละคู่ใช้งบประมาณสำหรับงานแต่งงานอยู่ระหว่าง 35,000-40,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 1-1.2 ล้านบาท)

ทั้งนี้ มีหลายสถาบันที่เซ็ตทีมสำหรับการวิจัยด้าน LGBTQ  หนึ่งในนั้นก็คือ สถาบัน Williams ในรัฐแคลิฟอร์เนีย โดยชี้ว่า ตั้งแต่ปี 2017-2019 อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับชาว LGBTQ ได้รับความสนใจ และรัฐบาลหลายประเทศยอมรับว่า ‘Pink Money’ มีนัยยะสำคัญต่อเศรษฐกิจประเทศ เช่น เทศกาลเฉลิมฉลอง หรือ ขบวนพาเหรดชาวสีรุ้งที่กระตุ้นการท่องเที่ยว

คล้ายๆ กับที่ ‘เอ็นไวโร (ไทยแลนด์)’ บริษัทวิจัยชั้นนำระดับโลก ได้ประเมินไปก่อนหน้านี้ว่า ในปี 2020 เทรนด์พฤติกรรมผู้บริโภคจะเปลี่ยนไป ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมด้านเพศมากขึ้น รวมถึงใส่ใจเรื่องความหลากหลายทางเพศด้วย ซึ่งผลิตภัณฑ์หรือธุรกิจที่มี target เป็นคนกลุ่มนี้จะได้รับความนิยมมาก

 

 

ที่มา : japantoday, nolasia, forbes


  • 82
  •  
  •  
  •  
  •  
prakai
'ชีวิต' ต้องมีสีสันหลากหลาย เหมือนกับความรู้ที่มีหลายมิติ ทั้งไลฟ์สไตล์, การตลาด, ดิจิทัล, ประเพณี-วัฒนธรรม
CLOSE
CLOSE