อินไซต์นักกิน Food Delivery เปลี่ยน! “Order for One” โสดสั่งกินคนเดียว พบ “มื้อเย็น – ระหว่างวัน” ออเดอร์เพียบ

  • 350
  •  
  •  
  •  
  •  

Insight Food Delivery

ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ถือเป็นช่วงที่ธุรกิจ Delivery ในประเทศไทยแข่งขันกันอย่างดุเดือด ทั้งยังกลายเป็นเวทีแจ้งเกิดให้หลาย ๆ แบรนด์ หนึ่งในนั้น ก็คือ GET (เก็ท) ซึ่งเปิดตัวเป็นดาวรุ่งมาแรงโตเร็ว ยังไม่ครบ 1 ปีที่โดดเข้าสู่ถนน Delivery แต่กลับมีเที่ยวเดินทาง (ทั้ง Win และ Food) ครบ 10 ล้านทริปไปเมื่อเดือนที่ผ่านมา

แม้ตลาด Food Delivery จะช่วงชิงออเดอร์จากยอดนักกินชาวไทยกันอย่างเผ็ดร้อน และคาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดในปีนี้จะสูงถึง 33,000-35,000 ล้านบาท แต่นั่นก็เป็นเพียง 8% ของธุรกิจร้านอาหารเท่านั้น ขณะที่ร้านอาหารออฟไลน์ยังครองส่วนแบ่งอยู่ที่ 92%

ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนถึง “โอกาสเติบโตของ Food Delivery” ที่ยังสามารถเดินเกม เพื่อชิงผู้บริโภคจากร้านอาหารออฟไลน์ได้อีกมากโข สอดคล้องกับมุมมองของ GET น้องใหม่ของตลาดที่ขอลุยอย่างต่อเนื่องเพื่อชิงตำแหน่งเจ้าตลาด โดย คุณวงศ์ทิพพา วิเศษเกษม ผู้อำนวยการฝ่ายแพลตฟอร์มโอเปอเรชั่น GET ให้ข้อมูลว่า…

“จากเป้าหมายเป็นผู้นำเบอร์ 1 ของตลาดในสิ้นปี เราอาจจะต้องขยับออกไปก่อนและหันมาสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยการสร้างคอมมูนิตี้ระหว่างผู้ขับและร้านค้า เพื่อผลักดันให้ทุกส่วนเติบโตไปพร้อมกับยอดการใช้งาน GET ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทรานแซคชั่น 10 ล้านทริปของ GET ในปีนี้เทียบเท่ากับตลาดรวม Food Delivery ปีที่ผ่านมา”

Infographic GET food delivery

– ปัจจุบัน GET มียอดดาวน์โหลดแอปรวม 1.7 ล้านครั้ง ส่วนเที่ยวเดินทาง 10 ล้านทริปนั้น มี Food Delivery เป็นหลัก

– ในระบบมีจำนวนร้านอาหาร ทั้งสิ้น 20,000 ร้าน ซึ่งส่วนใหญ่เป็น SME

– จำนวนผู้ขับ ราว 30,000 คน (รวมทั้ง GET Win และ GET Food)

– GET ยังคงให้บริการในเขตกรุงเทพฯ เท่านั้น และมีให้บริการบางพื้นที่ใน จ.นนทบุรี

Insight การกินคนกรุงฯ เปลี่ยน!

Order for One : ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะ เทรนด์คนโสด ที่คนปัจจุบันเลือกดำเนินชีวิตเช่นนี้มากขึ้นหรือไม่ แต่พฤติกรรมการสั่งซื้ออาหารจาก GET สะท้อนว่า 67% ของออเดอร์จะเป็นการสั่งแบบ 1-2 เมนูต่อครั้ง จึงเข้าใจได้ว่าเป็นการกินคนเดียวตามวิถีคนโสด หรือมาจากการอาศัยอยู่แบบครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น แม้การสั่งหลาย ๆ เมนูต่อครั้งจะยังมีอยู่…แต่ก็น้อยกว่า

ผู้หญิง ชอบสั่ง! : “เพศหญิง” ใช้บริการ Food Delivery มากกว่า “เพศชาย” แบ่งเป็น 67% : 33% โดยลูกค้าส่วนใหญ่ของ GET อยู่ในวัย 18-54 ปี

GET Food 01
รายละเอียดมูลค่า Food Delivery ปีนี้

คนไทยกินเยอะ : มื้ออาหารที่มีออเดอร์สูงสุดของวัน คือ มื้อเย็น โดยเฉพาะเวลา 16.00-19.00 น. แต่ “ระหว่างมื้อ” ก็เป็นช่วงเวลาที่คนกรุงเทพฯ ชอบใช้บริการ Food Delivery ทั้งการสั่งเครื่องดื่ม ขนม หรืออาหารกินเล่น ซึ่งคิดเป็น 28% ของออเดอร์ในแต่ละวันทีเดียว

ชานมไข่มุก ครองใจทุกสถาบัน : หากพูดถึงเมนูยอดฮิตที่สั่งกันอย่างล้นหลามผ่าน Food Delivery คงหนีไม่พ้น “ชานมไข่มุก” ซึ่ง GET ก็เป็นเช่นนั้น โดยมียอดสั่งซื้อถึง 300,000 แสนแก้วต่อเดือน รองลงมา คือ ขนมปัง 190,000 ชิ้นต่อเดือน, เมนูอาหารเช้าที่กินได้ง่าย 120,000 จานต่อเดือน และหมูปิ้ง ราว 90,000 จานต่อเดือน

ปทุมวัน ย่านเด็ด : หากพูดถึงแหล่งรวมร้านอาหาร ซึ่งเป็นโลเคชั่นยอดนิยมของการสั่ง Food Delivery ก็คือ ย่านปทุมวัน เพราะนอกจากจะเป็นทำเลรวมห้างสรรพสินค้าหลายแห่งแล้ว ก็ยังมีการจราจรติดขัด ทำให้ผู้คนเลือกสั่งอาหารผ่านแอปรอกินของอร่อยอยู่ที่สำนักงานหรือบ้านแทนที่จะเดินทางไปด้วยตัวเอง

สั่งแต่เมนูเดิม – ร้านเดิม : พฤติกรรมที่น่าสนใจอย่างหนึ่งของคนใช้แอป Food Delivery คือ การที่ผู้ใช้งานนิยมสั่งเมนูเดิมจากร้านเดิม ซึ่ง GET นิยามลูกค้ากลุ่มนี้เป็น “Routine Lover” แต่ผู้ใช้ที่นิยมเข้าแอปมาค้นหาร้านอาหารด้วยการพิมพ์หาชื่อร้านเอง ก็มีอยู่มากเช่นกัน โดยทั้ง 2 พฤติกรรมนี้ถือเป็นการใช้งานหลัก ๆ ที่เกิดขึ้นผ่านแอป GET

GET Food 02
ความนิยมของแต่ละประเภทอาหาร จากผู้สั่งซื้อผ่าน GET

โปรโมชั่นดันยอดขาย…ได้ผลเสมอ!

นอกจากข้อมูลที่น่าสนใจเหล่านี้ คุณวงศ์ทิพพา ยังเล่าว่า ทุกครั้งที่ GET ร่วมกับร้านอาหารเพื่อทำโปรโมชั่น จะสามารถเพิ่มยอดขายให้สูงขึ้นเฉลี่ย 40% เลยทีเดียว และในช่วงสิ้นปีนี้ จะมีการทำโปรโมชั่นครั้งใหญ่เป็น Best Deal of the Year อาทิ มอบโปรโมชั่นลดราคาอาหาร 50% หรือสั่งซื้อครบโปรโมชั่นเพื่อรับส่วนลด 50%

“สถิติผู้ใช้ GET มีการซื้อซ้ำเฉลี่ย 4-5 ครั้งต่อเดือน ถือเป็นสถิติที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับ Food Delivery ในตลาดรวม แน่นอนว่าปัจจัยหลักมาจากโปรโมชั่นที่ GET ทำต่อเนื่องทุกเดือนและมีโปรโมชั่นใหญ่ประจำปี รวมถึงค่าส่งที่เรายังใช้เรทราคา 10 บาท ทำให้ยังแข่งขันได้ดี”

เปิดตัว GET Runner เดินซื้อ – ส่งอาหาร

นอกจากนี้ GET ยังได้เริ่มทดลองบริการรูปแบบใหม่ในชื่อ Runner (รันเนอร์) สำหรับการเดินซื้อและส่งอาหารภายในรัศมี 1 กิโลเมตร โดยเพิ่มเริ่มทดลองให้บริการประมาณ 1 สัปดาห์ (ในบางพื้นที่) อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน GET ใช้ระยะเวลาจัดส่งอาหารเฉลี่ย 28 นาที (นับตั้งแต่ลูกค้ากดสั่งซื้ออาหาร กระทั่งได้รับอาหาร)

“ระยะการสั่งซื้อที่ใกล้ที่สุดคือ 200 เมตร เช่น ร้านด้านล่างอาคารสำนักงาน ซึ่งพฤติกรรมผู้ใช้ที่สั่งซื้อจากร้านอาหารใกล้ ๆ มักเป็นการสั่งออเดอร์ใหญ่ เพื่อกินร่วมกันในออฟฟิศ หรือเพื่อน ๆ เป็นต้น”

ส่วนเทรนด์รักษ์โลกลดใช้พลาสติกนั้น มองว่าเป็นเพียงเทรนด์ที่ผู้คนให้ความสนใจผ่านสื่อ แต่ตอนนี้ก็มีบางร้านเริ่มปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์เป็นกล่องชานอ้อยบ้างแล้ว โดย GET วางแผนสนับสนุนไอเดียและแนะนำแนวทาง โดยยกตัวอย่างร้านที่เริ่มต้นปรับเปลี่ยน เพื่อให้ทางร้านได้เลือกและปรับให้เหมาะสมกับอาหารในแบบของตนเอง แต่ยังไม่ได้มีแผนจะปรับเปลี่ยนทั้งระบบแต่อย่างใด


  • 350
  •  
  •  
  •  
  •  
Ms.นกยูง
เมื่อโลกไม่เคยหยุดหมุน เราก็ไม่ควรหยุดเรียนรู้... ชวนคุณมาทำความรู้จักหลากหลายเรื่องราว ทั้งสาระและสีสันบนโลกดิจิทัลไปพร้อมกัน
CLOSE
CLOSE