เปิดครัว “บ้านส้มตำ” ทำร้านอาหารอีสานอย่างไรให้ได้ยอดขายร้อยล้าน! เล็งปั้นสินค้าเข้ารีเทล-โกอินเตอร์

  • 557
  •  
  •  
  •  
  •  

Baan Somtum

“ส้มตำ” 

“ตำข้าวโพด” 

“คอหมูย่าง”

“ลาบเป็ด”​

“ซุปหน่อไม้” 

ฯลฯ

เมนู อาหารอีสานที่คนไทยผูกพัน และชื่นชอบ เพราะด้วยเสน่ห์ของวัตถุดิบ – รสชาติ และเป็นอาหารที่ยิ่งรับประทานกันเป็นกลุ่มใหญ่ ไม่ใช่แค่ความอร่อย แต่คือโมเมนต์ที่ได้อยู่ด้วยกัน…

กลายมาเป็นจุดเร่ิมต้นของเชนร้านอาหารอีสาน บ้านส้มตำก่อตั้งขึ้นโดย คุณสุภาพร ชูดวง”​ แม้จะไม่เคยประกอบธุรกิจร้านอาหารมาก่อน แต่ด้วยความที่หลงใหลในเสน่ห์ของอาหารอีสาน เพราะความโดดเด่นด้านเอกลักษณ์ของรสชาติ รายละเอียดและความเรียบง่ายของวัตถุดิบ – กรรมวิธีการทำ

จึงได้ริเร่ิมสาขาแรกเมื่อ 14 ปีที่แล้วบนถนนพุทธมณฑล สาย 2 ถึงวันนี้มี 8 สาขาในรูปแบบ Stand Alone และเร็วๆ นี้เตรียมเปิดเพิ่มอีก 2 สาขาที่รามอินทราในปลายปีนี้ และบางนา ปี 2563 

ความพิเศษของบ้านส้มตำ สาขาบางนา จะไม่ได้ฉายเดี่ยวแบบสาขาอื่น แต่จะมาพร้อมกับร้านคาเฟ่แบรนด์ใหม่ อยู่ในโครงการเดียวกันที่ บ้านส้มตำ กรุ๊ป พัฒนาขึ้นบนที่ดิน 4 ไร่

ประเด็นแรกของการเริ่มต้นทำธุรกิจร้านอาหาร มาจากว่าเราชอบอาหารอะไร และอาหารประเภทนั้น ต้องไปได้ไกล และไปถึงระดับประเทศได้ ซึ่งด้วยความเป็นอาหารอีสานที่เรียบง่าย และวัตถุดิบการปรุงไม่ซับซ้อน แต่มีเสน่ห์ในตัวเอง และทุกร้านส้มตำมีเอกลักษณ์ของตัวเอง เราจึงหยิบยกอาหารอีสาน พัฒนามาเป็นร้านบ้านส้มตำ”​ คุณสุภาพร ชูดวง ประธานกรรมการบริหาร และผู้ก่อตั้ง บริษัท บ้านส้มตำ กรุ๊ป จำกัด เล่าที่มา 

Baan Somtum Founder

การเดินทางของ บ้านส้มตำ ในวันนี้เติบโตเป็นบ้านหลังใหญ่ขึ้น โดยมี Generation 2 เข้ามาบริหารคือ คุณสุวภัทร ชูดวงกรรมการบริหาร และ คุณพีรณัช ชูดวง กรรมการบริหาร

  • ปัจจุบันมีพนักงานกว่า 300 – 400 คน

  • ปี 2561 รายได้กว่า 70 ล้านบาท 

  • ปี 2562 ตั้งเป้ายอดขายแตะ 300 ล้านบาท 

  • ปี 2563 คาดการณ์ว่าจะมียอดขายไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท

MarketingOops! ชวนมาเปิดครัว เพื่อค้นคำตอบเคล็ดลับความสำเร็จของ “บ้านส้มตำ” จากร้านอาหารอีสานเล็กๆ ขยายกลายเป็นหนึ่งใน Major Player ของธุรกิจร้านอาหารอีสานในไทย ซึ่งมีมูลค่าตลาดรวม 16,000 ล้านบาท (ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ปี 2561) จากมูลค่าธุรกิจอาหารโดยรวมกว่า 400,000 ล้านบาท ได้อย่างไร ? 

Baan Somtum

 

1. ชื่อแบรนด์คอนเซ็ปต์แบรนด์ชัดเจน 

หัวใจของการทำร้านอาหาร คือ การใส่ใจ และการลงรายละเอียดทุกอย่าง นับตั้งแต่เรื่อง ชื่อแบรนด์ และ คอนเซ็ปต์แบรนด์”​ ชัดเจน

กว่าจะมาเป็นชื่อแบรนด์บ้านส้มตำ”​ คุณสุภาพรต้องการได้ชื่อที่สื่อไปยังผู้บริโภคได้ชัดเจน เมื่อได้ยินแล้ว รู้ทันทีว่าเป็นร้านอาหารที่ให้บริการอาหารประเภทไหน 

ในที่สุดตกผลึกออกมาเป็น บ้านส้มตำ เพราะต้องการสื่อถึงความเป็น Specialist ด้านส้มตำ ซึ่งมีการพัฒนาเมนูส้มตำใหม่ๆ ต่อเนื่อง ถึงปัจจุบันมีเกือบ 30 เมนู 

บวกกับคอนเซ็ปต์ ชูความเป็นอาหารอีสานแบบ “Homemade” ทั้งวัตถุดิบ และกรรมวิธีการทำ ผสานเข้ากับการออกแบบ และตกแต่งสถานที่ทั้งภายนอก-ภายใน ให้มีความเป็น “บ้าน”​ ทั้งตัวอาคาร และมีพื้นที่สีเขียว เพื่อให้รู้สึกเหมือนอยู่บ้าน 

Baan Somtum_bangrak

 

2. พัฒนาเมนูใหม่ต่อเนื่อง ในราคา 70 – 300 บาท พร้อมเปิดที่มาตำหลวงพระบาง ยอดขาย 2 ล้านจาน!

หนึ่งในกุญแจความสำเร็จของธุรกิจร้านอาหาร คือ พัฒนาเมนูส้มตำใหม่ๆ ต่อเนื่อง เข้ามาเติมเต็มเมนูประจำร้าน เพื่อสร้างความแปลกใหม่ และเมนูใหม่ที่ขายดี ถูกพัฒนาให้กลายเป็นเมนูประจำร้านต่อไป 

สำหรับบ้านส้มตำ ปัจจุบันมีเมนูส้มตำเกือบ 30 เมนู หนึ่งใน Signature Dish คือ “ตำหลวงพระบาง” ถือเป็นเจ้าแรกๆ ของร้านส้มตำในไทยที่ขายเมนูนี้ และถึงวันนี้ เฉพาะเมนูนี้ขายไปได้แล้วเกือบ 2 ล้านจานในระยะเวลา 14 ปี และล่าสุดเปิดตัวเมนูใหม่ ทำจากเนื้อไทยวากิว 

คุณสุภาพร เล่าที่มาของเมนูตำหลวงพระบางที่เป็นหนึ่งในเมนูขายดีของร้านบ้านส้มตำว่า เพื่อนของตนเอง เปิดร้านที่หลวงพระบาง วันหนึ่งพาเด็กที่ร้าน ซึ่งเป็นคนหลวงพระบางมาดูงานที่กรุงเทพฯ เมื่อมาเจอเรา เด็กคนนั้นถามว่าเคยทานตำหลวงพระบางไหม 

ด้วยความที่ที่ร้านมีวัตถุดิบอยู่แล้ว เลยลองให้ทำดู พอลองแล้ว จริงๆ เป็นเมนูที่ใช้เครื่องปรุงไม่ซับซ้อน คือ ใช้กะปิ และปลาร้า แต่ความแปลกใหม่อยู่ตรงที่มะละกอที่ถูกฝ่านเป็นแผ่นยาวๆ 

ขณะที่ราคาโดยเฉลี่ยของบ้านส้มตำอยู่ที่ 70 – 300 บาท โดยเมนูส้มตำประมาณ​ 70 – 80 บาท ขณะที่เมนูอาหารอื่นๆ ที่ไม่ใช่ซีฟู้ด และเนื้อวัว อยู่ที่ประมาณ​ 100 – 120 บาท และสำหรับเมนูซีฟู้ด และเนื้อ ราคา 200 – 300 บาท 

Baan Somtum
เมนูตำหลวงพระบาง ยอดขายรวม 2 ล้านจาน

 

3. ขยายสาขาในเมืองชานเมือง บนทำเลที่ใช่!  

ภายในเมษายน ปี 2563 “บ้านส้มตำ” จะมีทั้งหมด 10 สาขา กระจายไปพื้นที่นอกเมือง และในเมือง เพื่อให้ครอบคลุมทั้งกลุ่มคนทำงาน และกลุ่มครอบครัว ซึ่งสองกลุ่มนี้เป็น Core Target 

คุณสุวภัทร ชูดวง กรรมการบริหาร เล่าว่า โมเดลร้านบ้านส้มตำ มีทั้งโมเดลอยู่ชานเมือง จะออกแบบให้กลมกลืนไปกับชุมชนในโซนนั้นๆ และโมเดลในเมือง โดยใช้การเช่าพื้นที่ เฉลี่ยงบลงทุนต่อสาขา อยู่ที่ประมาณ 5 – 6 ล้านบาท ซึ่งก่อนที่จะขยายสาขาแต่ละแห่ง จะศึกษาทำเลก่อน มีกลยุทธ์การเลือกโลเกชั่น ประกอบด้วย 2 ส่วนสำคัญคือ 

  • ศึกษาว่าโลเกชั่นนั้นๆ มีความเป็นย่าน”​ ที่แข็งแรง คือ มีองค์ประกอบของความเป็น Community และมีความหนาแน่นของประชากรที่อาศัยอยู่ในโลเกชั่นนั้นๆ เช่น เป็นแหล่งสำนักงาน, ย่านที่พักอาศัย, เป็นย่านธุรกิจการค้า 

  • การเข้าถึง (Accessibility) คือ เดินทางสะดวก 

ตัวอย่างเช่น สาขาสาทร เปิดมา 10 ปีแล้ว มีจำนวนโต๊ะ 34 – 35 โต๊ะ (1 โต๊ะ มี 4 ที่นั่ง)​ ถึงวันนี้ยังคงเป็นหนึ่งในสาขาหลักที่สร้างยอดขายสูง มียอด turnover 8 – 10 รอบต่อวันต่อโต๊ะ เนื่องจากโลเกชั่น ทำให้ขายได้ทั้ง 7 วัน โดยในวันจันทร์ – ศุกร์ กลุ่มลูกค้าหลักคือ คนทำงานในย่านสาทร ขณะที่วันเสาร์ – อาทิตย์ เป็นกลุ่มครอบครัว

สาขาสุขุมวิท ที่ Cacthment Area ได้ถนนสองสายหลัก คือ พระราม 4  ตั้งแต่สาทร – พระราม 3 – คลองเตย กับโซนสุขุมวิท ทั้งเอกมัย – ทองหล่อ และเส้นรถไฟฟ้าสายสีเขียว 

Baan Somtum Gen2

 

4. เน้นขยายสาขารูปแบบ “Stand Alone” เพื่อสร้างประสบการณ์ลูกค้าได้ดีกว่า

นอกจากกลยุทธ์การเลือกโลเกชั่นแล้ว อีกกลยุทธ์การเปิดสาขาของ บ้านส้มตำเน้นขยายรูปแบบ “Stand Alone” มากกว่าจะเลือกไปอยู่ในศูนย์การค้า 

ผู้บริหารบ้านส้มตำ อธิบายว่า ถ้าขยายสาขาไปกับศูนย์การค้า หรือ Retail Developer ขนาดร้าน และการสะท้อนภาพความเป็นร้านบ้านส้มตำ จะถูกย่อลง 

อีกทั้งคนที่ไปเดินศูนย์การค้า เขาไม่ได้เลือกมาจากบ้านก่อนว่า วันนี้จะไปรับประทานร้านไหน แต่โดยพฤติกรรมผู้บริโภคส่วนใหญ่แล้ว จะไปถึงที่ศูนย์การค้าแล้ว ค่อยเลือกว่าจะรับประทานอาหารประเภทอะไร และร้านไหนดี

ตรงกันข้ามกับร้านอาหารที่เป็น Stand Alone ลูกค้าท่ีมาร้าน เป็นคนที่ตั้งใจมารับประทานอาหารที่ร้านจริงๆ 

นอกจากนี้การเป็นสาขาแบบ Stand Alone ทำให้สามารถออกแบบร้านได้อย่างเต็มที่ ทำให้บริหารประสบการณ์ลูกค้าดีกว่า และการมาใช้บริการของลูกค้า ทำให้เกิด Relationship กันจริงๆ ไมต้องให้ Retail Developer เรียกคนเข้ามาเดินที่โครงการ 

ความยากของการทำร้านอาหารที่เป็น Stand Alone คือ ความคาดหวังของลูกค้าที่มาใช้บริการที่ร้าน เพราะทุกคนต่างมีความคาดหวัง เพราะวันนี้ตั้งใจมาโดยเฉพาะ 

เพราะฉะนั้นเราจะบอกกับพนักงานเสมอว่า ความคาดหวังของลูกค้าที่มาบ้านส้มตำ จะสูงกว่าไปห้างฯ หรือศูนย์การค้า เพราะเขาตั้งใจมารับประทาน การดูแลลูกค้าต้องเพิ่มขึ้นเป็น 2 – 3 เท่า เพราะลูกค้ามาด้วยคามคาดหวัง เราต้องไม่ทำให้ลูกค้าผิดหวังกลับไป เรามองว่าการเปิดรูปแบบ Stand Alone สำหรับบ้านส้มตำเดินมาในทิศทางที่ถูกต้องแล้ว”​ คุณสุภาพร เล่าความท้าทายของการเปิดสาขา

Baan Somtum Sukhumvit
Photo Credit : facebook บ้านส้มตำ สาขาสุขุมวิท

 

5. ตั้งครัวกลางทำคู่มือพนักงาน สร้างมาตรฐานวัตถุดิบรสชาติทุกสาขาต้องเหมือนกัน

หัวใจสำคัญของธุรกิจร้านอาหาร คือ คุณภาพ และมาตรฐานที่ต้องเที่ยงตรง ยิ่งพัฒนาเป็นรูปแบบ Chain Restuarant ยิ่งต้องรักษาคุณภาพ – มาตรฐานให้ได้ 

ปัจจุบัน “บ้านส้มตำ” มีครัวกลางที่พระราม 3 ทำหน้าที่ควบคุมสูตรของเมนูต่างๆ ให้ได้มาตรฐาน โดยนำ Raw Material มาปรุงที่ครัวกลาง เช่น น้ำส้มตำ การหมักหมู หมักเนื้อ จากนั้นกระจายไปแต่ละสาขา โดย capacity ของครัวกลางแห่งนี้ รองรับได้ 10 สาขา 

นอกจากนี้ภายในครัวกลาง มีพื้นที่ Workshop ใช้สำหรับคิดพัฒนาสูตรใหม่ 

ดังนั้นแผนต่อไปหลังจากขยายครบ 10 สาขาแล้ว (สาขาที่ 10 ที่บางนา ปี 2563) จะปรับครัวกลาง โดยขณะนี้ได้ซื้อที่เตรียมไว้แล้ว ซึ่งอยู่ใกล้กับครัวกลางเดิม 

เราเร่ิมตั้งครัวกลาง หลังจากเปิดสาขาที่ 4 – 5 เพราะเราเห็นแล้วว่าต่อไปเมื่อมีการขยายสาขามากขึ้น เพื่อให้ได้มาตรฐานเดียวกันทุกสาขา ไม่สามารถปล่อยให้แต่ละสาขา ทำอาหารเองได้ เราจึงสร้างครัวกลาง 

Baan Somtum HQ
สำนักงานใหญ่บ้านส้มตำ (Photo Credit : Facebook Acki)

ขณะเดียวกันมีโปรแกรม Training พนักงานในร้าน ตั้งแต่พนักงานส่วนต้อนรับ เชฟ พนักงานเสิร์ฟ ทุกคนต้องผ่านขั้นตอนการอบรม ทำซ้ำ ทำบ่อยๆ จนเกิดความเคยชิน 

เพราะทางร้านมีความเชื่อว่าการฝึกฝน จะทำออกมาได้ดี แม้ว่าไม่มีประสบการณ์ก่อน

ดังนั้นพนักงานทุกคนต้องเรียนรู้ และเข้าใจคู่มือบ้านส้มตำ คือ ทุกอย่างต้องทำตามสูตร ตามขั้นตอน แม้กระทั่งเสียงตำส้มตำ การตัดถั่วฝักยาว หั่นมะเขือเทศ การสับมะละกอ เพราะทุกอย่างมีผลต่อรสชาติของอาหาร ทำให้รสชาติของอาาหรแต่ละสาขาเหมือนกัน และคงเอกลักษณ์ของบ้านส้มตำ 

การหมุนเวียนลูกค้าของร้านบ้านส้มตำ มี turnover เร็วมาก เราจึงต้องลงทุนอุปกรณ์ เช่น เครื่องย่างไก่จากต่างประเทศ เพื่อตอบโจทย์การขายที่เร็ว 

จุดยืนของเราเป็น Restaurant แต่ระบบต่างๆ ต้องลงทุนในสเกลของร้าน Fast Food อย่างสาขาบางรัก (ใน OP Garden) เราเอาระบบของ Fast Food เข้ามาใช้ เพราะถ้าเรายัง run ระบบเหมือนร้านอาหารทั่วไป จะให้บริการไม่ทัน”​

Baan Somtum HQ
สำนักงานใหญ่บ้านส้มตำ (Photo Credit : Facebook Acki)

Baan Somtum

 

6. สร้างโอกาสการขายใหม่ด้วย “Delivery”

“Food Delivery” กลายเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ของธุรกิจร้านอาหารในไทยไปแล้ว เป็นผลมาจากปัจจัยแพลตฟอร์ม Super App ทั้งหลาย เปิดบริการจัดส่งอาหาร และแข่งโปรโมชั่น กับเพิ่งจำนวนร้านค้าพาร์ทเนอร์​ ประกอบกับพฤติกรรมผู้บริโภคยุคนี้ ต้องการความสะดวกสบาย

ดังนั้น Food Delivery จึงเป็นช่องทงเข้าถึง ลูกค้าได้ทั่วถึง ไม่มีข้อจำกัดด้าน โลเกชั่นสาขา”​ 

บ้านส้มตำ”​ ให้บริการนี้ด้วยเช่นกัน โดยจับมือกับเป็นพาร์ทเนอร์กับ “Grab” และการขยายมาให้บริการ Delivery เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ยอดขายบ้านส้มตำ เติบโตอย่างก้าวกระโดด อย่างในปีที่แล้วอยู่ที่กว่า 70 ล้านบาท ขณะที่ปีนี้ ตั้งเป้ายอดขาย 300 ล้านบาท 

ร่วมกับการเพิ่มที่นั่งในร้าน และการเปิดสาขาพุทธมณฑล สาย 1 กับสาขาสุขุมวิท เป็นอีกแรงผลักดันให้ยอดขายโต

บางสาขา สัดส่วนรายได้จาก Delivery เป็น 15% และมีแนวโน้มโตขึ้นเรื่อยๆ ต่อไปเรามีแผนจะออกแบบพื้นที่ครว สำหรับรองรับ Delivery และ Grab โดยเฉพาะ 

Baan Somtum

 

Generation 2 เข้าสู่ยุคแตกเพื่อโต! “ปั้นโมเดลธุรกิจใหม่แบรนด์ใหม่ เสริมพอร์ตโฟลิโอปรับลุคทันสมัยพัฒนาโปดักต์วางขายรีเทลเล็งขยายสู่ต่างประเทศ”​

ทุกว้นนี้ทายาทรุ่น 2 ของ บ้านส้มตำ เข้ามาดูแลบริหารกิจการมากขึ้น โจทย์ใหญ่ของทายาทรุ่นนี้ คือ เป็นยุคแตกเพื่อโตอย่างรอบด้าน ประกอบด้วย

  • ปลุกปั้น Business Model ใหม่ ที่นอกเหนือจากการเปิดสาขาใหม่ทั่วไป คือ การพัฒนาที่ดินขนาด 4 ไร่บนทำเลบางนา เป็นสัญญาเช่า 9 ปี ใกล้กับเมกา บางนา และโครงการกฤษดานคร 21 ให้เป็นโครงการที่ภายในผสมผสานระหว่าง 3 องค์ประกอบ คือ Park + Cafe + Restuarant

1. ธุรกิจร้านอาหาร “บ้านส้มตำ” 

2. ธุรกิจ Cafe ภายใต้แบรนด์ใหม่ ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาชื่อ และร้านเครื่องดื่มนี้ จะมีบริการ drive thru 

การทำธุรกิจ Cafe จะเป็นจิ๊กซอว์ตัวใหม่ที่เข้ามาเติมเต็ม Business Portfolio ของส้มตำ กรุ๊ป ให้มีความหลากหลายของประเภทร้าน นำเสนอให้กับผู้บริโภคได้มากขึ้น 

3. พื้นที่สวน รองรับการจัดอีเว้นท์​ และลูกค้าที่มาใช้บริการที่ร้านบ้านส้มตำ และร้านคาเฟ่ 

ขณะนี้อยู่กำลังศึกษา “ชื่อโครงการ” 

โครงการที่บางนา เป็นโมเดลธุรกิจใหม่ จะทำให้บ้านส้มตำ กรุ๊ป ก้าวข้ามจากการเป็นร้านอาหารอย่างเดียว ไปสู่การสร้างพื้นที่ให้คนได้มาใช้ชีวิต หรือไลฟ์สไตล์ด้วยกัน โดยตีโจทย์ที่ดินขนาด 4 ไร่ สร้างคล้ายๆ Community Park ภายในมีทั้งร้านอาหารบ้านส้มตำ และธุรกิจใหม่คือ ร้านกาแฟ และมีสวน เพราะจากข้อมูลสำรวจ บางนายังขนาดพื้นที่สีเขียวขนาดย่อม มีแต่สวนขนาดใหญ่ คือ สวนหลวง .9” คุษพีรณัช ขยายความเพิ่มเติม

Baan Somtum Gen2

  • การเกิดขึ้นของโครงการที่บางนา จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของแบรนด์​ “บ้านส้มตำที่จะพลิกโฉมแบรนด์ดิ้งโฉมใหม่ และภาพลักษณ์ทันสมัย เพื่อขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มคนรุ่นใหม่ 

  • หลังเปิดโครงการที่บางนา จะปรับครัวกลางให้รองรับการเปิดสาขามากขึ้น ตามที่กล่าวไปข้างต้น

  • เล็งพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร สำหรับวางจำหน่ายผ่านช่องทางรีเทล เพื่อผลักดันแบรนด์ และสินค้าเข้าสู่ครัวเรือนคนไทย โดยคาดว่าจะได้เห็นภายใน 3 – 5 ปีนี้ 

มีอาหารหลายสูตรของบ้านส้มตำ ที่สามารถนำมาต่อยอดได้ เช่น น้ำจิ้ม หรือหมูหมัก เนื้อหมัก การหมักของเรา ทำให้ต่อไปนอกจากลูกค้ามาใช้บริการที่ร้านแล้ว ขณะเดียวกันสินค้าของบ้านส้มตำ จะเข้าไปอยู่ในครัวเรือนคนไทย

  • มีแผนจะขยายธุรกิจบ้านส้มตำไปยังต่างประเทศโดยสนใจประเทศที่ผู้คนที่อยู่ในประเทศนั้นๆ มีความเป็น Global Citizen 

วิสัยทัศน์ของบ้านส้มตำ กรุ๊ป คือ การก้าวสู่ความเป็นสากล เรามีแผนขยายตลาดต่างประเทศ โดยเบื้องต้น เรา plan ไว้ว่าอาจเป็นสิงคโปร์,​​ ฮ่องกง เพราะเป็นประเทศที่คนจากทั่วโลกมาอยู่ ทำให้มีความเป็น Gloal Citizen โดยขณะนี้ยังไม่สามารถตอบได้ว่าโมเดลการขยายไปตลาดต่างประเทศ จะเป็นรูปแบบไหน ต้องไปศึกษาก่อน” คุณสุวภัทร สรุปทิ้งท้าย

Baan Somtum_founder

Baan Somtum

Baan Somtum

 


  • 557
  •  
  •  
  •  
  •  
WP
อยู่ในแวดวงนิตยสารธุรกิจการตลาดกว่าสิบปี สนุกและชอบติตตามเทรนด์ ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมในแพลตฟอร์มดิจิทัล มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การตลาดและดิจิทัลร่วมกันนะคะ