กาลครั้งหนึ่ง RS เบอร์ 2 ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่เมืองไทย กับวันนี้สู่ “ธุรกิจ คอมเมิร์ซ”

  • 1.1K
  •  
  •  
  •  
  •  

ธุรกิจ RS
กาลครั้งหนึ่ง RS เบอร์ 2 ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่เมืองไทย กับวันนี้สู่ “ธุรกิจ คอมเมิร์ซ” กับยอดขายนิวไฮทุกไตรมาส

ในที่สุดวันนี้ที่รอคอยของ “เฮียฮ้อ” สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) หรือ  RS ก็ใกล้จะมาถึงแล้ว เพราะเมื่อวันที่ 14 มี.ค. ที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ออกประกาศแจ้งนักลงทุนว่า ในวันที่ 29 มี.ค. นี้ หุ้น RS จะย้ายจากหมวดธุรกิจสื่อและส่ิงพิมพ์ (Media & Publishing) ไปยังหมวดธุรกิจพาณิชย์ (Commerce) ตามที่บริษัทได้ยื่นขอไป

ประกาศดังกล่าวถูก เฮียฮ้อ นำไปทวีต พร้อมกับข้อความดังต่อไปนี้ “RS ย้ายหมวดเป็นธุรกิจพาณิชย์อย่างสมบูรณ์แบบ มีผล 29 มี.ค.นี้ -ธุรกิจ MPC เติบโตก้าวกระโดด ทำสถิติยอดขายสูงใหม่อย่างต่อเนื่อง-และเร่งขยายธุรกิจตามกลยุทธ์ทั้งแนวตั้งและแนวราบ #RSpassiontowin” 

“การย้ายหมวดธุรกิจของ RS สู่กลุ่มพาณิชย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ถือเป็นก้าวสำคัญประกาศชัดว่า RS เข้าสู่การดำเนินธุรกิจยุคใหม่อย่างสมบูรณ์แบบ โดยธุรกิจใหม่ MPC คือแกนหลักที่กำลังเติบโตอย่างแข็งแกร่งและทำยอดขายนิวไฮทุกไตรมาส การจับมือกับพันธมิตรใหม่อย่างไทยรัฐ ฟีดแบคดีมาก #RSpassiontowin”

นัยแฝงของการย้ายหมวด

RS-new model

ปัจจุบัน RS มี 3 ธุรกิจหลัก ประกอบด้วย ธุรกิจเพลง ธุรกิจสื่อ และธุรกิจพาณิชย์หลายช่องทาง (MPC : Multi-Platform Commerce) โดยผลประกอบการในปี 2561 ปรากฏว่า รายได้จากธุรกิจ MPC มีมูลค่าประมาณ 2,127 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 55.6% ของรายได้จากการขายและบริการทั้งหมดของ RS ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 3,827 ล้านบาท ขณะที่รายได้จากธุรกิจเพลงซึ่งเป็นธุรกิจแรกเริ่มของ RS เหลือสัดส่วนเพียง 9.3% นี่จึงเป็นเหตุผลที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ อนุมัติให้ย้ายหุ้น RS ไปอยู่หมวดพาณิชย์ 

นัยของการย้ายหมวดบนกระดานครั้งนี้ นอกจากจะทำให้ต่อไป การประเมินมูค่าความถูกแพงของกิจการ (PE) ของหุ้น RS จะต้องอ้างอิงกับ PE ของหมวด Commerce ซึ่งสูงกว่ากลุ่มสื่อ หรืออาจทำให้ต้องแยกรายได้ของส่วนธุรกิจสื่อและธุรกิจเพลง ออกจากธุรกิจพาณิชย์​ แล้วประเมินราคาแยกส่วน แต่ที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้นคือ ต่อไปนี้ สถานะธุรกิจของ RS จะเปลี่ยนจาก “ธุรกิจสื่อที่ขายสินค้า” แต่จะกลายเป็น “ธุรกิจพาณิชย์ที่มีสื่อเป็นของตัวเอง” อย่างชัดเจน​

และในงานแถลงวิสัยทัศน์ปี 2562 ของ RS เฮียฮ้อประกาศชัดเจนว่าเป้ารายได้ของ RS ปีนี้จะทะลุ 5,000 ล้านบาท ซึ่งนั่นแปลว่าจะถือเป็นรายได้ที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 37 ปีนับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท โดย “หัวจักร” สำคัญคือ LIFESTAR BIZ ซึ่งเป็นแพลตฟอร์ม “ขายตรง” พร้อมกับเปิดตัวสินค้าใหม่กว่า 100 รายการ ซึ่งจะดันให้สัดส่วนรายได้จากธุรกิจ MPC สูงถึง 60% ของรายได้จากการขายและบริการทั้งหมดของ RS ขณะที่รายได้จากธุรกิจเพลงจะเหลือไม่เกิน 10%

ยังจำได้ไหม…RS กับกระแสเพลงโดนใจวัยรุ่นยุค 80-90

RS-เฮียฮ้อ
“เฮียฮ้อ” และ “เฮียจั๊ว” สองพี่น้องผู้ก่อตั้ง RS

ยิ่งอาณาจักรของ RS ขับเคลื่อนด้วยธุรกิจ MPC แรงเท่าไหร่ ชื่อและภาพอดีตอันรุ่งเรืองของความเป็น “ค่ายเพลงย่านลาดพร้าว” เมื่อกว่า 20 ปีก่อนของ RS ก็ยิ่งเลือนลางลง จนหลายคนอาจจำไม่ได้แล้วด้วยซ้ำว่า กาลครั้งหนึ่ง RS ก็คือ 1 ใน 2 ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ของเมืองไทย และเคยครองบัลลังก์ค่ายเพลงขวัญใจวัยรุ่นมาช่วงระยะเวลาหนึ่ง  

หลายคนอาจลืมไปแล้วว่าครั้งหนึ่งอดีตศิลปินนักร้องชื่อดังอย่าง แร็ปเตอร์, เต๋า-สมชาย เข็มกลัด, นุ๊ก-สุทธิดา, โดม-ปกรณ์ ลัม, ฟิล์ม-รัฐภูมิ, เจมส์-เรืองศักดิ์ D2B, โฟร์-มด, ลิฟต์-ออย, กิ๊บซี่-กิ๊ฟซ่า-เบลล์-แนนนี่ (girly berry), และวงไอน้ำ เป็นต้น หรือรุ่นใหญ่คุณภาพคับแก้วอย่าง อิทธิ พลางกูร, หินเหล็กไฟ, อริสมันต์ วงศ์เรืองรอง, เสือ-ธนพล, ปาน-ธนพร ฯลฯ ล้วนเติบโตมาจากค่าย RS

ย้อนกลับไปดูเส้นทางอาณาจักร RS พบว่ากิจการของ RS เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2519 โดยเฮียฮ้อและพี่ชาย (เฮียจั๊ว – เกรียงไกร เชษฐโชติศักดิ์) ได้จัดตั้งบริษัทชื่อ “Rose Sound” โดยทำธุรกิจตู้เพลงและอัดเพลงจากแผ่นเสียงลงเทป ภายใต้ตรา “ดอกกุหลาบ” แต่ธุรกิจเพลงเริ่มต้นเมืือปี 2525 จึงเปลี่ยนมาทำธุรกิจค่ายเพลงที่เน้นตลาดวัยรุ่น โดยใช้ชื่อบริษัทว่า “อาร์.เอส.ซาวด์” โดยศิลปินดังกลุ่มแรกๆ ก็เช่น วงอินทนิล วงคีรีบูน วงฟรุตตี้ และวงเรนโบว์ เป็นต้น​ (1 ปีก่อนที่ GRAMMY จัดตั้งบริษัท)

ในปี 2527 เกิดผลงานเพลงภายใต้ชื่ออัลบั้ม “รวมดาว” และ “นพเก้า” ซึ่งเป็นการนำเพลงลูกกรุงที่เคยได้รับความนิยมมาทำใหม่แล้วให้ศิลปินในสังกัดร้องตอบโต้กันระหว่างชายหญิง ว่ากันว่าประสบความสำเร็จอย่างสูงจนบริษัทปลดหนี้ได้เลย​

ต่อมา ในปี 2535 บริษัทได้ทำการเปลี่ยนชื่อเป็น “บริษัท อาร์.เอส. โปรโมชั่น 1992 จำกัด” โดยเหตุที่ระบุปีนี้ เนื่องจากเป็นปีที่ตึก RS ย้ายไปอยู่ที่ลาดพร้าว พร้อมกับประกาศจุดยืนเป็น “บริษัทบันเทิงครบวงจร” และตั้งบริษัทลูกเพื่อทำธุรกิจสื่อบันเทิงอื่นๆ อาทิ รายการวิทยุ รายการโทรทัศน์ ละคร ภาพยนตร์ และในยุคนี้เอง ที่ RS เริ่มมีภาพลักษณ์ที่แข็งแกร่งในตลาดพรี-ทีน (Pre-teen) และกลุ่มวัยรุ่น ด้วยการสร้างศิลปินวัยรุ่นดาราโด่งดังขึ้นมาหลายคน​ ​ 

RS ลูกทุ่ง
ตัวอย่างศิลปินลูกทุ่งชื่อดังจากค่าย RSiam

ขณะที่ปี 2544 RS จัดตั้ง บริษัท อาร์ สยาม จำกัด เพื่อผลิตเพลงไทยลูกทุ่งและเพลงเพื่อชีวิต ซึ่งประกอบด้วย นักร้องลูกทุ่งชื่อดังที่หลายคนรู้จักจนถึงวันนี้ เช่น หนู มิเตอร์, บ่าววี, หลวงไก่, โปงลางสะออน, กระแต อาร์สยาม, ใบเตย อาร์สยาม, จินตหรา พูนลาภ เป็นต้น  

เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ในหมวด “มีเดีย”​ กลุ่มอุตสาหกรรมบริการ​

ในปี 2546 “อาร์.เอส.โปรโมชั่น” เข้าซื้อขายในตลาดฯ เป็นครั้งแรกภายใต้หมวดสื่อ ซึ่ง ณ วันนี้ มี 3 สายธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจเพลง ธุรกิจสื่อ (โทรทัศน์ วิทยุ และสิ่งพิมพ์) และธุรกิจผลิตภาพยนต์และละคร โดยปี 2546 บริษัทมีรายได้ 1,961.27 ล้านบาท เติบโตจากปี 2545 ถึง 67% และมีกำไรสุทธิ 107.81 ล้านบาท เติบโต 81% ซึ่งผลประกอบการดังกล่าวมาจากการออกอัลบั้มใหม่ถึง 78 อัลบั้ม และมีอัลบั้มรวมฮิตอีก 181 อัลบั้ม ทั้งปีขายสินค้าเพลงได้ถึง 8 ล้านแผ่น 

แม้ว่ารายได้รวมของบริษัทจะยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่นับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา รายได้จากการขายสินค้า (ซีดี/ดีวีดี) ในธุรกิจเพลงเริ่มมีสัดส่วนลดลงเรื่อย เนื่องจากปัญหาสำคัญ ได้แก่ “เทปผีซีดีเถือน” และคลื่นความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในธุรกิจเพลงครั้งใหญ่คือ MP3 ที่เริ่มส่งผลให้พฤติกรรมการบริโภคเพลงเปลี่ยนไป กระทั่งปี 2550 ทัศนคติของผู้บริโภคในเรื่องการดาวน์โหลด MP3 ละเมิดลิขสิทธิ์เป็นเรื่องปกติ ส่งผลกระทบอย่างชัดเจนต่อรายได้ของ RS จนทำให้รายได้รวมของบริษัทเริ่มลดลงเรื่อยๆ 

อย่างไรก็ดี RS มีความพยายามที่จะปรับกลยุทธ์ในการทำงานเพลงเพื่อให้ตอบสนองกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค โดยในปี 2550 นี้เองที่เริ่มเกิดค่ายเพลงเจาะกลุ่มประชากรวัยรุ่นชื่อว่า “กามิกาเซ่ (​Kamikaze)” ซึ่งรุ่นแรกประกอบด้วย 22 ศิลปินวัยรุ่นชื่อดังในยุคนั้น เช่น โฟร์-มด, ขนมจีน, เฟ-ฟาง-แก้ว เป็นต้น​ 

ในปี 2549 บริษัทเปลี่ยนชื่อเป็น “บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน)” และในปี 2552 RS ก็เร่ิมรุกสู่การเป็นเจ้าของสื่อทีวี โดยเริ่มจากสถานีโทรทัศน์ดาวเทียม ธุรกิจสื่อมีรายได้เติบโตขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งปี 2556 ที่ธุรกิจสื่อกลายเป็นธุรกิจที่มีสัดส่วนรายได้เกิน 50% ทำให้ RS ยิ่งมั่นใจในธุรกิจนี้มาก จนยอมทุ่มทุน 2,325 ล้านบาท เพื่อประมูลใบอนุญาตทีวีดิจิทัล 

ละครช่อง 8
หลายหลายผลงานละครที่ลงในช่อง 8 มีบางเรื่องใช้ศิลปินในสังกัดของ RS มาเป็นตัวแสดงนำ

ในปี 2557 RS ได้นำ “ช่อง 8” ที่เคยออกอากาศบนระบบโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมมาออกอากาศในระบบดิจิทัลแทน ส่งผลให้รายได้รวมของ RS ในปี 2557 ทะยานขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์กว่า 4,300 ล้านบาท โดยมาจากธุรกิจสื่อถึง 78%

และปี 2557 นี้เองที่ RS เริ่มต่อยอดธุรกิจสื่อในมือด้วยธุรกิจสุขภาพและความงามผ่าน บริษัท ไลฟ์สตาร์ จำกัด โดยแบรนด์ “มาจีค (Maqique)” สำหรับผลิตภัณฑ์บำรุงผิว แบรนด์ “รีไวฟ์ (Revive)” สำหรับผลิตภัณฑ์บำรุงผม และมีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแบรนด์ “เอส.โอ.เอ็ม.” เพราะมองว่ามูลค่าตลาดสุขภาพและความงามมีขนาดใหญ่กว่าแสนล้านบาทและมีอัตราการเติบโตสม่ำเสมอ 

ในเวลาเดียวกัน ธุรกิจขายสินค้ายังกระตุ้นให้เกิดวงจรรายได้ให้กับกลุ่มธุรกิจอื่นในเครือ RS อีกด้วย เช่น รายได้ค่าโฆษณาในธุรกิจสื่อทีวีและวิทยุในมือ RS รวมถึงรายได้จากการบริหารศิลปินนักร้องในสังกัด RS อีกด้วย

ตรงกันข้ามกับธุรกิจเพลงที่ซบเซาลงเรื่อยๆ กระทั่งในปี 2560 บริษัทได้ปิดค่ายกามิกาเซ่ลงอย่างไม่เป็นทางการ หลังฉลองครบรอบ 10 ปีไปไม่นาน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ RS เริ่มปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่

Turn-around หลังปรับโครงสร้างครั้งใหญ่

“การไม่ยึดติดกับความสำเร็จในอดีต และต้องเข้าใจว่าไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวใดๆ เพื่อให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ สิ่งสำคัญอยู่ที่การเรียนรู้และเข้าใจเรื่องราวในอดีต ค้นหาจุดแข็ง ลบจุดอ่อน พัฒนาตัวเราตามการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย เพื่อให้มีสายตาที่แม่นยำและสามารถคาดการณ์อนาคตได้ดีขึ้น ผนวกกับการหลอมรวมกันของสัญชาตญาณของการอยู่รอดและสัญชาตญาณของการเอาชนะ และทัศนคติเชิงบวก พร้อมทั้งทุ่มเทฝ่าพันทุกอุปสรรค และนั่นจะเป็นพลังที่ก้าวสู่ความสำเร็จ” 

ข้อความดังกล่าวปรากฏอยู่บนหน้าสารจากประธานฯ ในรายงานประจำปี 2560 ตามมาด้วยเนื้อหาที่บอกว่า ในปีนั้นธุรกิจ RS เริ่มกลับมามีรายได้ที่เติบโตขึ้นกว่า 16% โดยมีจุดเปลี่ยนสำคัญ (Transformation) คือธุรกิจสุขภาพและความงามทำรายได้สูงเป็น 6 เท่าจากปี 2559 พร้อมกับมีการตั้งเป้าเอาไว้ว่าธุรกิจนี้น่าจะก้าวขึ้นมาเป็นธุรกิจหลักในปี 2561 

นึ่จึงเป็นเหตุให้ RS ตัดสินใจย้ายหมวดธุรกิจตั้งแต่กลางปี 2561 ด้วยความมั่นใจมากว่าธุรกิจนี้จะก้าวขึ้นมาเป็น “ธุรกิจดาวรุ่ง” ของ RS โดยไม่ยึดติดว่าบริษัทมีที่มาอย่างไร หรือธุรกิจเพลงะและธุรกิจสื่อเคยสร้างความสำเร็จและชื่อเสียงให้กับบริษัทมามากตลอดกว่า 30 ปี

RS Commerce Model
ธุรกิจ LifeStar เติมเต็มและต่อยอดธุรกิจเดิม

เนื่องจากกลยุทธ์การหารายได้ในธุรกิจสุขภาพและความงามของ RS มีที่มาจากหลายช่องทาง ทั้งช่อง 8, วิทยุช่อง COOL, Call Center 1781, ช่องทางออนไลน์ (เว็ปไซต์และสื่อโซเชี่ยล) ช่องทางรีเทลร้านค้า และช่องทางขายตรง “LifeStar BIZ” ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วประเทศเป็นตัวแทนจำหน่าย ประกอบกับมีการขยายจากสินค้ากลุ่มเครื่องสำอางไปสู่สินค้าภายในบ้าน เช่น เครื่องครัว เครื่องแต่งกาย และล่าสุดคือขายวัตถุมงคล RS จึงเปลี่ยนชื่อกลุ่มธุรกิจนี้เป็น “ธุรกิจพาณิชย์หลายช่องทาง (MPC)” 

โดยธุรกิจนี้เกิดจากคอนเซ็ปต์ของเฮียฮ้อที่ว่า “เปลี่ยนผู้ชม/ผู้ฟัง ซึ่งมีอยู่กว่า 10 ล้านคน มาเป็นลูกค้า” ซึ่งปัจจุบันฐานลูกค้าธุรกิจ MPC ของ RS มีอยู่กว่า 1.1 ล้านคน โดยเพิ่มจำนวนขึ้นทุกเดือน ยอดใช้จ่ายเฉลี่ย 2,000 บาทต่อครั้ง และกว่า 70% ของฐานลูกค้าที่ซื้อสินค้ามากกว่า 1 ครั้ง 

และเมื่อไม่นานมานี้ RS ยังได้เริ่มขายสินค้าทางช่องไทยรัฐทีวี ซึ่งคาดว่าจะสามารถเพิ่มฐานลูกค้าให้กับ RS ได้ถึง 3 แสนราย และอาจทำให้ยอดขายเพ่ิมขึ้นได้ถึง 500 ล้านบาท นอกจากนี้ ในปีนี้ RS ยังมีแผนเพ่ิมจำนวน Call Center และความหลากหลายของสินค้า รวมถึงเพิ่มฐานลูกค้าเป็น 1.5-2 ล้านคน พร้อมกันนี้ยังมีแผนจะขยายตลาดไปในกลุ่มประเทศ CLMV ในช่วงปลายปีนี้

ด้วยแผนการเติบโตนี้เองทำให้เฮียฮ้อกล้าประกาศในงาน RS Vision 2019 ที่จัดขึ้นปลายปี 2561 ว่าปี 2562 นี้ RS จะมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท สูงสุดตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท โดยมีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจ MPC ถึง 60% ขณะที่ธุรกิจสื่อจะอยู่ที่ 30% และธุรกิจเพลงและการจัดอีเวนต์รวมอันอยู่ที่ 10%  

ในช่วง 1-2 ปีนี้ยังไม่ทิ้งธุรกิจเพลง

แม้ธุรกิจเพลงจะเริ่มลดความสำคัญต่อเครือบริษัทของ RS ลงเรื่อยๆ แต่ที่ผ่านมา RS ก็ยังมีความพยายามจะรักษาธุรกิจนี้เอาไว้ คงไม่ใช่เพื่อ “Legacy” แต่เพราะธุรกิจเพลงยังเป็น “ต้นน้ำ” ที่สร้างคอนเทนต์ที่จะนำไปใช้ต่อยอดในธุรกิจอื่น

RS performance 2018
ผลประกอบการปี 2561 ของ RS (จากคำอธิบายและวิเคราะห์ฐานะทางการเงินฯ วันที่ 15 ก.พ. 2562)

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา RS ได้มีการปรับโมเดลธุรกิจของกลุ่มธุรกิจเพลงอย่างมาก จากเดิมที่เคยมีหลากหลายแบรนด์/ค่ายเพลง ก็ลดเหลือเพียงแบรนด์เดียวคือ “อาร์สยาม (RSIAM)” พร้อมกับปรับภาพลักษณ์ของแบรนด์ ไม่ให้จำกัดเฉพาะเพลงลูกทุ่ง แต่เป็นค่ายเพลงที่ผลิตผลงานหลากหลายแนวดนตรี ​พร้อมกับลดจำนวนศิลปินนักร้องในสังกัดจากที่เคยมีร่วม 100 กว่าคน เหลือเพียง 30 คน ที่บริษัทจะผลิตเพลงให้และรับบริหารจัดการการับงานให้

สำหรับโมเดลการผลิตเพลง RS จะใช้แนวคิดให้ศิลปินนอกสังกัดหรือศิลปินหน้าใหม่มีส่วนร่วมในการลงทุนผลิตและวางแผนผลงานเพลงร่วมกับบริษัท​ในรูปแบบกึ่งพันธมิตรทางธุรกิจแล้วแบ่งกำไรจากการขายลิขสิทธิ์เพลง (Benefit Sharing) ซึ่งช่วยให้บริษัทสามารถบริหารจัดการต้นทุนการผลิตได้แม่นยำขึ้น ขณะที่ศิลปินเองก็ได้รักษาคุณภาพและมาตรฐานผลงานของตน

จากผลประกอบการปี 2561 ขณะที่ธุรกิจเพลงของค่ายฝั่งลาดพร้าวเริ่มถดถอยจนเหลือไม่ถึง 10% คู่แข่งในธุรกิจเพลงตลอดกาลจากย่านอโศก อย่าง บมจ.จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ (GRAMMY) ยังมีรายได้จากธุรกิจเพลงเพิ่มขึ้น 22% อยู่ที่ 3,738 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนรายได้สูงกว่า 50% ของรายได้รวมของ GRAMMY โดยรายได้ส่วนใหญ่มาจากการเติบโตของธุรกิจโชว์บิซ (ShowBiz) โดย  MarketingOops! มีเรื่องราวการปรับตัวในธุรกิจนี้จากฝั่งของ GRAMMY ใน Episode ถัดไป

สำหรับธุรกิจพาณิชย์ของ GRAMMY หรือที่รู้จักกันในนามธุรกิจซื้อขายสินค้าโฮมช้อปปิ้ง ภายใต้แบรนด์ “โอ ช้อปปิ้ง” มีรายได้ในปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 2,306 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนราว 19%

ด้านรายได้รวมปี 2561 ของ GRAMMY อยู่ที่กว่า 6,984 ล้านบาท ซึ่งแม้รายได้จะค่อนข้างสูง แต่ต้นทุนขายและบริการก็สูงถึง 4,364 ล้านบาท เมื่อบวกกับค่าใช้จ่ายในการบริหารและการขายอีกกว่า 2,200 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายต่างๆ สุดท้ายแล้วเลยเหลือกำไรสุทธิเพียง 15.4 ล้านบาท

ขณะที่ RS แม้จะมีรายได้รวมเพียงประมาณ 3,827 ล้านบาท แต่กลับมีกำไรสุทธิ 516 ล้านบาท เนื่องจากธุรกิจพาณิชย์ ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของ RS นั้นมีอัตรากำไรขั้นต้นสูงถึงกว่า 60%

รวมนักร้อง RS

นี่คือตำนานของอดีตค่ายเพลงยักษ์ใหญ่แถวหน้าของไทย ​ที่ครั้งนึงเคยได้ผลิตเพลงในดวงใจ และสร้างนักร้องขวัญใจคนไทยยุค 80-90 มาแล้วมากมาย และวันนี้ RS ได้ปล่อยวาง Legacy เพื่อไปสร้าง Chapter ใหม่​ในแลนด์มาร์คใหม่ ที่เรียกว่า “Commerce” 

Copyright @ Marketing Oops!


  • 1.1K
  •  
  •  
  •  
  •  
Tummy
เมื่อไหร่ที่หยุดพัฒนาตัวเอง ถึงแม้เราไม่ได้ถอยหลัง แต่โลกก็จะทิ้งเราไว้ข้างหลังและหนีห่างออกไป จนวันหนึ่งเมื่อตื่นมา เราอาจรู้สึกแปลกแยก ... มาเปิดโลกทัศน์ แล้วสนุกกับทุกความเคลื่อนไหวในโลกใบนี้ไปพร้อมกันนะคะ