มากกว่า 50% ของผู้บริโภค มักจะใช้เวลาอยู่ในเว็บไซต์น้อยกว่า 15 วินาที ซึ่งมันควรจะนานกว่านี้
คงต้องย้อนกลับมาดูว่า อะไรคือสาเหตุที่ทำให้คนที่เข้าเว็บไซต์กลับออกไปอย่างรวดเร็ว ลองจินตนาการดูว่า คุณกำลังเดินเข้าไปในงานปาร์ตี้ แล้วมันก็น่าเบื่อสุดๆ ไม่มีอาหารให้ทาน ไม่มีน้ำให้ดื่ม แถมยังไม่รู้จะคุยกับใคร คำตอบสุดท้าย ก็กลับบ้านดีกว่า เว็บไซต์เองก็เช่นกัน ที่ต้องทำหน้าที่เป็นเจ้าบ้าน ต้อนรับแขกเต็มกำลัง หรือจะปูพรมแดงเลยก็ได้
มาดูกันว่า อะไรคือ 3 เหตุผล ที่ทำให้คนเข้าเว็บไซต์ และรีบออกไปอย่างรวดเร็ว
คอนเทนต์น่าเบื่อ
การที่มีคนเข้าเว็บไซต์แล้วค้นพบว่า ไม่มีคอนเทนต์ไหนที่ดึงดูดพวกเขาได้เลย นั้นเป็นเรื่องที่น่าผิดหวังสุดๆ แล้วคอนเทนต์แบบไหนที่จะดึงดูดผู้อ่านได้ คำตอบคือ รีวิว และภาพที่สวยงาม โดยเฉพาะธุรกิจที่เน้นดีไซน์ ความสวยงาม ยิ่งต้องให้ความสำคัญกับเว็บไซต์ เพราะคงไม่มีใครอยากซื้อสินค้าจากภาพแย่ๆ
สำหรับขั้นตอนการพัฒนาเว็บง่ายๆ คุณต้องเปลี่ยน เปลี่ยนในที่นี้หมายถึง การทดสอบประเภทของคอนเทนต์ที่จะใช้ในเว็บ เช่น วิดีโอ ภาพ Podcast อินโฟกราฟฟิก บล็อก และรวบรวมเนื้อหาจากผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจนั้นๆ มานำเสนอ รวมถึงการให้ผู้เข้าชมเว็บไซต์ ร่วมแชร์ประสบการณ์ต่างๆ เกี่ยวกับสินค้าก็ได้
มากกว่า 90% ของผู้บริโภค จะรู้สึกเชื่อมั่นประสบการณ์ที่มาจากผู้ใช้งานจริง มากกว่าคอนเทนต์ที่มาจากแบรนด์ ดังนั้น แบรนด์เองก็ควรจะหาบุคคลที่สาม เพื่อมากระจายข้อมูลออกไป ในขณะเดียวกันก็ต้องรักษามาตรฐาน และความน่าเชื่อถือให้ได้ เพราะมีแบรนด์ไม่น้อยที่เลือกใช้วิธีนี้ แล้วสูญเสียความเชื่อมั่นจากลูกค้าไป
ยกตัวอย่างเช่น West Elm แบรนด์ผู้จำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ และของตกแต่งภายในบ้าน ก็ได้ตระหนักถึงปัญหานี้ จึงได้ปรับรูปแบบเว็บไซต์เพื่อดึงดูดให้ผู้ใช้อยู่ในเว็บนานขึ้น ด้วยการเปิดให้ลูกค้าได้รีวิว และอัปโหลดภาพลงในเว็บไซต์ จากภาพด้านล่างฝั่งขวา จะเป็นภาพจาก West Elm’s professional look book และภาพจากแบรนด์ ในส่วนของฝั่งซ้าย จะเป็นภาพจากลูกค้าของ West Elm ด้วยวิธีการง่ายๆ นี้ ก็ทำให้ผู้ใช้งานเพลิดเพลินกับการเข้าเว็บ
ไม่มีการนำทางที่ดี
สำหรับธุรกิจอีคอมเมิร์ซ หากต้องการขายสินค้า ก็อย่าทำอะไรให้ซับซ้อนมากนัก สมมติว่าถ้าลูกค้าต้องการซื้อสินค้าจริงๆ แต่ต้องคลิกต่ออีก 4 หน้า จนจะเจอปุ่ม “ซื้อสินค้า” แบบนี้คงไม่มีลูกค้าคนไหนอยากซื้อสินค้าแน่นอน
การนำทาง (Navigation) นั้นสามารถทำให้ผู้ที่เข้ามารับชมเว็บได้ถึงทุกหน้า ในขั้นตอนการออกแบบจึงต้องทำให้มีความสะดวกในการลิ้งก์ ไปยังหน้าต่างๆ ที่มีทั้งหมด โดยมีหลักการง่ายๆ คือ ต้องหาเจอได้ง่าย อ่านแล้วเข้าใจทันที ไม่สับสน ไม่พาหลงทาง และต้องมีลิ้งก์กลับมาที่หน้าหลักด้วย
ไม่มีอะไรให้ทำ
อ่านมาถึงตรงนี้ คงตอบคำถามได้ไม่ยากแล้ว อะไรคือแรงจูงใจที่ดีให้คนที่เข้าเว็บอยู่ต่อ….คำตอบคือ “คอนเทนต์ที่ดี” แต่แบรนด์ก็จำเป็นต้องสร้างแรงจูงใจในด้านอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะในส่วนการลงทะเบียน และยิ่งถ้าเป็นเว็บที่ต้องเสียเงินสมัครสมาชิก ก็ยิ่งต้องสร้างแรงจูงใจให้มากขึ้นไปอีก เพราะคุณจะมีหน้าที่เป็นเจ้าบ้าน ที่ต้องหากิจกรรมต่างๆ ให้พวกเขาทำ อย่าปล่อยให้พวกเขาเคว้งคว้าง ไม่รู้จะทำอะไร ไม่รู้ว่าต้องไปตรงไหน
ลองดูตัวอย่างง่ายๆ จาก Sears’ Craftsman ผู้จัดจำหน่ายเครื่องมือช่าง ได้สร้าง Craftsman Club เพื่อให้เพื่อนสมาชิกได้อัปโหลดข้อมูลในกลุ่ม เกี่ยวกับ DIY Projects เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ และแชร์เคล็ดลับต่างๆ รวมกัน ซึ่งมีคนหลายพันที่เข้ามายังเว็บไซต์ในแต่ละเดือน แต่ถ้าต้องการจะถาม หรือโพสโปรเจคของตัวเอง ก็ต้องลงทะเบียน แบบเสียเงิน
Sears ไม่ได้นำข้อมูล หรืออีเมลของลูกค้ามาใช้เพื่อขายสินค้าเท่านั้น แต่พวกเขาจะขอให้สมาชิกแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเว็บไซต์ และนำเสนอโปรเจคพิเศษร่วมกัน รวมถึงการจัดแข่งขันต่างๆ