“From New To Next Gen” เปิดใจคุยกับ 4 ครีเอทีฟตัวจี๊ดของวงการ ในทุกประเด็นที่คนโฆษณารุ่นใหม่ไม่ควรพลาด

  • 380
  •  
  •  
  •  
  •  

หนึ่งในหัวข้อการสนทนาที่น่าจับตามองที่สุดจากช่วงบ่ายของงาน B.A.D Talks 2016 งานสัมนาโฆษณาที่แบดที่สุด

15220035_1333067986713026_6506821916102723287_n

ซึ่งในช่วงนี้ ทางงานได้เชิญเหล่าครีเอทีฟตัวจี๊ด ที่เรียกได้ว่าเป็นความหวังใหม่แห่งวงการโฆษณาของประเทศไทยถึง 4 คน เริ่มจาก คุณป๋อม กิตติ ไชยพร, Founder & Creative จาก “ชูใจ & มานะ”, คุณเบิร์ท อนุวรรต นิติภานนท์, Executive Creative Director จาก “BBDO Bangkok”, คุณเล็ก ดมิสาฐ์ องค์ศิริวัฒนา, Creative Director จาก “Ogilvy & Mather Thaland” และ คุณปิ๊ก โรจนะ ฉั่วสกุล, Founder & Chief Creative Officer จาก “Storyteller Bangkok Co., Ltd.” มาสนทนากันในหัวข้อ “From New To Next Gen” ดำเนินรายการในช่วงนี้โดย คุณก้องพันธ์ อุปถัมภ์รุ่งพงศ์, Executive Creative Director, Far East DDB และ คุณวิลาวัณย์ สุรพงษ์ชัย, Managing Director, Plannova Co., Ltd. จะคุยกันในประเด็นใดบ้าง ไปอ่านด้วยกันเลยครับผม

คุณป๋อม กิตติ ไชยพร, Founder & Creative จาก “ชูใจ & มานะ”

15203391_1333068020046356_5247995092062098231_n

สำหรับ Creative ที่เรียกได้ว่าเป็น Young Blood เป็น New Gen ของวงการ แต่ละท่านมี Philosophy มีศรัทธาอะไรที่ทำให้มาอยู่ในจุดนี้ได้?

ป๋อม ชูใจ : “ผมว่าเราต้องเริ่มจากคำถามว่า “เรามีอาชีพอะไร?” ก่อน เรามีอาชีพเป็นครีเอทีฟ เป็นนักคิดโฆษณา เรามีหน้าที่อะไร ถ้าเรามีหน้าที่สร้างงานให้โด่งดัง ทำให้ขายสินค้าได้เยอะๆ ได้รางวัลเยอะๆ ส่งเงินให้ยานแม่เยอะๆ แข่งขันเยอะๆ ถ้าเรามีคิดแบบนั้น เราก็จะเป็นครีเอทีฟแบบนั้น แต่ในช่วงหลังๆผมได้ไปเจอกับคุณลุงชาวบ้านคนนึง ชื่อว่าคุณพ่อคำเดื่อง ภาษี แกพูดไว้ว่า “คนเราบนโลกนี้น่ะ มันไม่มีอาชีพหรอก แต่คนเราควรจะมีหน้าที่มากกว่า” ผมก็ได้กลับมาคิดว่าแล้วหน้าที่ของผมคืออะไร? แล้วผมก็ถามป๋าเขากลับไปว่า “หน้าที่คืออะไร?” เขาก็ตอบแบบยกตัวอย่างว่า “อย่างพระอาทิตย์ก็มีหน้าที่ให้แสงสว่าง ไส้เดือนก็มีหน้าที่ทำให้ดินอุดมสมบูรณ์ แต่ถ้าวันหนึ่งไส้เดือนคิดว่าตัวเองมีอาชีพไส้เดือน วันหนึ่งมันอาจจะงอแงขึ้นมาก็ได้ เพราะลูกค้าไม่ยอมจ่ายเงินที่มันทำให้ดินอุดมสมบูรณ์” เลยกลับมาเป็นคำตอบของทีมชูใจ เราจะคิดว่าเรามีหน้าที่อะไร? เราเป็นอาชีพสื่อสารมวลชน หน้าที่แรกเราคือทำประโยชน์ให้ลูกค้าของเรา อีกหน้าที่หนึ่งคือเราจะใช้ความคิดสร้างสรรค์ของเราสร้างประโยชน์ให้สังคมด้วยเราจะทำประโยชน์ให้มากที่สุด”

เบิร์ท BBDO : “ผมที่เริ่มงานที่ BBDO เราก็จะได้ยินตั้งแต่วันแรกเลยว่า “The Work The Work The Work” จากวันนั้นถึงวันนี้ก็ได้เรียนรู้มาว่า ลูกค้าจะมองเราผ่านงานนี่แหละ รวมไปถึง Consumer งานมันเป็นจุด Touch Point ที่เราจะเจอกับ Consumer ด้วย เพราะฉะนั้นผมเลยมีมิติกับ “The Work The Work The Work” 3 แบบ อย่างแรก เอางานเป็นตัวตั้ง แล้วทุกอย่างจะเป็นคำตอบทั้งหมดเลย อย่างที่ 2 คือ ใน 24ชม. คุณให้ Weight กับงานเยอะขนาดไหน ถ้ามันเยอะพอ มันจะทำให้ The Work อันแรกเป็นงานที่ดีที่สุด งานก็เหมือนลูก เราส่งลูกถึงฝั่งเท่านั้นจบ อย่างสุดท้ายก็คือเราก็จะไปโฟกัสกับงานอื่นๆต่อ””

เล็ก Ogilvy & Mather : “ก่อนอื่นอยากรู้ว่าในห้องนี้มีครีเอทีฟผญ.เยอะมั้ยคะ? (คนในห้องชูมือกัน) ประมาณ 20 คน คือเราไม่ได้มีปรัชญา แต่เรามีความลับมาเฉลย จริงๆแล้วครีเอทีฟผู้หญิงในประเทศน่ะมีน้อย สิ่งที่เราใช้มาตลอดก็คือ ใช้ความเป็นผู้หญิงในงาน ยกเว้นอารมณ์ ใช้ข้อดีของผู้หญิงทุกอย่าง อย่างเช่น เรารู้นะว่าเส้นผมที่อยู่ในรถของแฟนเราไม่ใช่ผมเรา (คนในห้องหัวเราะ) นั่นคือความละเอียดที่ตาของผู้หญิงมีมากกว่า ถ้าเราเอาเรื่องนี้ไปใช้ในงาน เราจะได้ละเอียดกว่าผู้ชาย และเราก็มีข้อดีของผู้หญิงอื่นๆอีกมากมาย เช่น เรามีความเห็นอกเห็นใจ ซึ่งนั่นจะทำให้ลูกน้องหรือลูกค้าชอบที่จะมาคุยกับเรา ทำให้เราเห็นปัญหาที่แท้จริงได้ ด้วยความ Sensitive ของเรา”

ปิ๊ก Storyteller BKK : “ส่วนตัวผม ผมไม่ค่อยเชื่อคำว่า “Success”เท่าไหร่ ผมว่ามันไม่มีตัวตนจริงๆ สำหรับผมมันมีแค่ “Glory” คือ Moment ที่เราชนะอะไรสักอย่าง กับ “New Challenge” ผมค่อนข้างเชื่อใน “New Challenge” มากกว่า และทุกครั้งที่เราเลือก “New Challenge” เราก็จะเจอ “Reward” ซึ่งผมคิดว่ามันสำคัญที่สุด นั่นคือ “Partnership” ในแต่ละช่วงชีวิตการทำงาน แม้กระทั่งตอนผมไปเซี่ยงไฮ้ผมก็ได้เจอคนใหม่ๆ และนั่นคือ Reward สำหรับผม ผมคิดว่าทุกคนมีช่วงที่ Enjoy กับ Glory แต่เราอย่าไปยึดติดกับมัน Don’t Stuck in The Past Glory

คุณปิ๊ก โรจนะ ฉั่วสกุล, Founder & Chief Creative Officer จาก “Storyteller Bangkok Co., Ltd.”

15171094_1333068103379681_8089800578810722726_n

อยากให้แต่ละท่านเล่า Uniqueness ในงานของตัวคุณเองหน่อยครับ

ปิ๊ก Storyteller BKK: “ผมว่า Uniqueness คือเราต้องเก่งกับมันมากๆ จุดเด่นที่ผมเชื่อว่าผมถนัดที่สุด ผมคิดว่าคือ “ความสนุกในการทำงานแต่ละวัน” ละกัน ผมเป็นครีเอทีฟที่ทำตัวคล้ายๆนักธุรกิจ ผมชอบคิด Business ผมชอบคิด Marketing และผมเชื่อว่าพื้นฐานของ Marketing อยู่ที่คำว่า “New – New” หน้าที่เราคือ เราต้องสร้าง Connections อะไรบางอย่างให้คนจะหยิบ Products หรือหยิบ Services ใหม่ๆ แต่ถ้าวันนี้ Services หรือ Products นั้นไม่ได้หอมหวนพอที่จะดึงให้เราไปหยิบ ผมก็เลยคิดว่า ถ้าผมจะช่วยลูกค้าในการหา “New – New” ให้กับแบรนด์ ที่สุดแล้วที่สุดเราจะเทิร์นสื่งนี้ให้มันเป็น “New Hope” ให้กับ Consumer ยังไง ? ผมรู้ทุกๆคนซื้อของแต่ละชิ้นนั้นไม่ใช่แค่จำเป็น แต่มันมี Hope อยู่ในสิ่งนั้นๆ ทุกคนอยากได้สื่งที่ตัวเองเชื่อว่ามันมีประสิทธิภาพ”

เล็ก Ogilvy & Mather : “จริงๆตอนที่เริ่มเข้ามาทำงาน เป็นคนชอบทำงานผญ. เพราะส่วนตัวแล้วสมัยที่เริ่มทำงาน รู้สึกว่างานโฆษณาอะไรที่เกี่ยวกับ Products ผู้หญิงในเมืองไทย ไม่เห็นจะโดนผู้หญิงเลยอะ ไม่มี Feminine Insight อะ เหมือนผู้ชายคิดอะ อย่างเช่น บอกให้เรา “อย่าแต่งหน้า” อะ บ้ารึเปล่า ถ้ามึงไม่เห็นกูแต่งหน้าจริงแล้วจะตกใจ (หัวเราะ) ดังนั้นหลายๆงานเราจะใส่ Insight เข้าไป โดยที่จะไม่ได้ใช้มันเพียงเพื่อจะขายของ แต่เราจะผลักดัน Products ให้เหมือนเป็นเพื่อนของ Consumer เวลาที่เขาจะซื้อเขาจะนึกถึงเรามากกว่า มันจะยั่งยืนกว่า”

เบิร์ต BBDO Bangkok : “ส่วนตัวผมเองผมมองว่า เวลาเราคิดงาน ส่วนมากเราจะไม่มีรูปแบบอะไรในหัว เราจะคิดเป็นนู่นเป็นนี่ได้ทั้งหมดเลย แต่เวลาทำออกมามันไม่ได้มีอิสระเท่ากับที่เราคิด สมัยก่อน Output มีจำกัด งานมักถูกถ่ายทอดออกมาใน Format ที่มีไม่มาก ซึ่งแตกต่างจากสมัยนี้ ที่มี Format หลายรูปแบบเต็มไปหมดเลย ไอเดียก็คือว่า ทำยังไงให้ของที่อยู่ในหัวเราน่ะ เวลางานเสร็จออกมา มันมี Output ที่เหมือนตอนคิดในหัว มีรูปแบบแบบใหม่ๆได้ โดยไม่ต้องไปอยู่ใน Format ที่มันถูกจำกัดใน Media output เดิมๆ สิ่งที่ผมเชื่อในเชิงของครีทีฟคือ เราเชื่อว่าบางไอเดียของเราเนี่ย มันสามารถที่จะสร้างอะไรบางอย่างให้กับพฤติกรรมผู้บริโภคได้โดยตรงเลย โดยไม่ต้องไปผ่าน Media Space (พ่อค้าคนกลางทางความคิดระหว่างงานกับ Target) คือตัวไอเดียเองนั้นมันสามารถ Deliver ตัวมันเองได้เลย”

ป๋อม ชูใจ : “มันก็เร็วจริงๆนะครับเรื่อง Social เนี่ยถ้ามองตัวเองเป็น Consumer เป็น User คนหนึ่งที่เล่น Social เนี่ย เราก็เล่นกันเก่งแหละ เล่นเก่งกว่าเวลาทำงานให้มันอีก ถ้าในเชิงของการทำงาน เราไม่สามารถ Respond ตลอดเวลาแบบ Real-time มันจะไม่มี Direction เพราะฉะนั้นถ้าเราจะมี Action กับยุคที่มันเร็วขนาดนี้เนี่ย อย่างน้อยเราต้องรู้ก่อนว่า Direction ของเราคืออะไร ในโลกที่มันเชี่ยวขนาดนี้ ถ้าเรามีแกนไว้ ถ้าเราจะทำอะไร อย่างน้อยมันก็จะสอดคล้องกับยุคสมัยได้ ทำยังไงให้แบรนด์มันเกี่ยวกับคนให้ได้”

การสื่อสารในทุกวันนี้มันรวดเร็วขึ้นมากๆ โดยเฉพาะสื่อ Social Media ที่มาเร็ว-ไปเร็วมาก ทุกท่านรับมือกับมันยังไงบ้าง?

ป๋อม ชูใจ : “สิ่งที่ผมและทีมชูใจคิดกันตลอดก็คือ เราจะปรับตัวตามให้ร่วมสมัยที่สุด แต่พอปรับตัวแล้ว สิ่งที่ต้องยืนยันว่าจะทำตลอดไปก็คือ “เราต้องไม่เปลี่ยนตัวตน” ด้วย เราเชื่อในจุดยืนของเรา เราอยากจะทำงานที่มันดี เราเรียกว่างาน “3ดี” ด้วย ดีต่อลูกค้า ดีกับผู้บริโภคและสังคม แล้วก็ดีกับเรา มันก็เลยรู้สึกว่า ถ้าเราเปลี่ยนตามกระแสแล้วต้องเปลี่ยนตัวเองด้วย มันก็จะไม่เป็นตัวเอง ในอนาคตเราอาจจะคิดแอพฯ หรือทำเทคโนโลยีที่มันล้ำแบบอวกาศมากๆ แต่ผมก็ยังรู้สึกว่า “ต้องทำให้มันมีประโยชน์อยู่” และนั่นคือสิ่งที่เราจะพยายามทำกันต่อไป”

เบิร์ท BBDO : “มันก็เร็วจริงๆนะครับเรื่อง Social เนี่ยถ้ามองตัวเองเป็น Consumer เป็น User คนหนึ่งที่เล่น Social เนี่ย เราก็เล่นกันเก่งแหละ เล่นเก่งกว่าเวลาทำงานให้มันอีก ถ้าในเชิงของการทำงาน เราไม่สามารถไปอยู่ใกล้กับ User ได้ขนาดนั้น ถ้าเรา Respond ตลอดเวลาแบบ Real-time มันจะไม่มี Direction เพราะฉะนั้นถ้าเราจะ Action กับยุคที่มันเร็วขนาดนี้เนี่ย อย่างน้อยเราต้องรู้ก่อนว่า Direction ของเราคืออะไร ในโลกที่มันเชี่ยวขนาดนี้ ถ้าเรามีแกนไว้ ถ้าเราจะทำอะไร อย่างน้อยมันก็จะสอดคล้องกับยุคสมัยได้ ทำยังไงให้แบรนด์มันเกี่ยวกับคนให้ได้”

เล็ก Ogilvy & Mather : “จริงๆ แล้วเรามองว่ามันเป็นโอกาส ยิ่งคอนเทนท์อายุมันสั้น นั่นแปลว่าทำงานอะไรไปแป๊บเดียวมันก็เปลี่ยนใหม่แล้ว เราจะได้โจทย์ใหม่ๆขึ้นมาเรื่อยๆ สิ่งที่เราสามารถทำได้ในฐานะครีเอทีฟคือ “เราเป็นแม่สื่อ” ที่ทำให้ Consumer อยากพูดเรื่องของแบรนด์ เพราะฉะนั้นงานที่ออกมาก็กลับมาเรื่องเดิมคือมันต้องมี Insight เรื่องที่แบรนด์อยากจะพูด เช่นฉันมีคุณประโยชน์ 10 ประการ แล้ววันรุ่งขึ้นคู่แข่งออกมา 11 ประการ คุณก็แพ้แล้ว แต่ว่าถ้าเราหาอะไรที่เป็นเรื่องที่ Consumer เค้าอยากเอาไปพูดต่อ มันก็จะมีอายุยาวกว่า”

ปิ๊ก Storyteller Bkk : “ผมคิดว่า ต่อให้โลกเปลี่ยนไปแค่ไหน มันทำให้เรามีเหตุผล  ผมใช้คำว่า “One Brand, One World.” คือไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหนบนโลก ถ้าเราเสิร์ชมันจะสื่อสารไปทางเดียวกันทั้งหมด เป็น Purpose ของ Brand ก็จะเหมือนกับคำตอบของพี่เบิร์ต คือแบรนด์จะต้องมีแกนในการสื่อสาร แล้วเราจะต้องทำให้มันมี Meaningful กับคนที่ต้องการสื่อสารด้วย  สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ยิ่งผ่านไปเร็วเท่าไหร่ แบรนด์ไอเดียเราต้องยิ่งชัดเจน วิธีเล่าแบรนด์ เราจะเล่าให้ Consumer  มีความเกี่ยวอย่างไร? ง่ายสุด คือเล่าชีวิตของเขา ในมุมมองที่เขาไม่เคยฟัง ในภาษาที่เขาไม่เคยได้ยิน ในรูปแบบที่เขาไม่เคยเห็น”

คุณเล็ก ดมิสาฐ์ องค์ศิริวัฒนา, Creative Director จาก “Ogilvy & Mather Thailand”

15220263_1333068076713017_8900192215873412556_n

เหตุผลที่อยากให้ตื่นขึ้นมาทำงาน  ฟังมาทั้ง 4 ท่านแล้ว แต่ละท่านก็ทำงานหนักกันใช้ได้เลย อยากถามว่า มันมี Challenge อะไรมั้ย ที่ทำให้อยากตื่นขึ้นมาทำงาน ?

ป๋อม ชูใจ : “คือผมก็อายุกลางคนแล้ว แต่ก็ยังทำงานหนักอยู่ แต่เรายังคลั่งอยู่ ยังชอบอยู่ ยิ่งช่วงนี้นี่หนักมากเลย เพราะช่วงนี้เป็นช่วงที่อั้นๆ คือทุกคนต่างทำงานเพื่อเตรียมไว้สำหรับปีหน้า ดังนั้น Challenge จริงๆของผมก็คือ หลังจากไปทำงานหนักมา ไปเทเลซีนมาดึกๆ เลิกตี 1 ตี 2 Challenge จริงก็คือ ต้องกลับไปแล้วไปส่งลูกไปโรงเรียนให้ทันตอนเจ็ดโมงครึ่ง ลูกอยู่เตรียมอนุบาล แล้วครูที่นี่ซีเรียสมาก ไม่ได้ตลกนะคือมันเป็น Motivation ของเราจริงๆ ต้องตื่นไปส่งลูกให้ทันแล้วก็ Balance ชีวิตตัวเองให้ได้ พอไปส่งลูกเสร็จก็กลับมานั่งดู Double Head ต่อ”

เบิร์ท BBDO : “ผมมองอีกมุมนึงดีกว่า คำถามที่ว่า “ทุกวันที่ตื่นมาคุณมี Challenge อะไร” จริงๆ ก็ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าแค่อยากจะทำงานให้มันออกมาดีที่สุด ถึงแม้ตื่นขึ้นมาไม่มี Challenge งานก็ต้องออกมาดี ผมไม่ได้อยากจะเอาตัวแปรอื่นจะมาเป็นข้ออ้างที่จะทำให้งานไม่ดีเข้ามาเยอะนัก ยิ่งมี Factor เยอะเท่าไหร่ งานก็มีแนวโน้มจะยิ่งไม่ดี เพราะเราเอางานเอาไอเดียไปขึ้นอยู่สิ่งที่มันคาดหวังไม่ได้ เพราะฉะนั้นคือ ถึงแม้คุณจะไม่มี Challenge งานคุณก็ต้องดี ถึงคุณจะมี Challenge งานคุณก็ต้องดี”

เล็ก Ogilvy & Mather : “ด้วยความเป็นผู้หญิงอยากตื่นขึ้นมาเพราะอิจฉาค่ะ ตื่นมาแล้วแบบงานดีเต็มไปหมดเลย เปิดเฟซบุคเจอเบิร์ทแชร์งานมา อิจฉาอะ คิดได้ไง สุดท้ายมันก็เลยกลับไปที่งานดีแหละค่ะ คือเราก็มี Passion ที่อยากจะตื่นมาทำงานดีๆแข่งกับเขา”

ปิ๊ก Storyteller Bkk : “ผมสนุกกับการตื่นมา สนุกกับการปั้นกระเป๋า Portfolioใบที่ 3 ผมคิดว่าทุกๆคนในที่นี้มีกระเป๋า Portfiolio คนละ 2 ใบ ใบแรกคือกระเป๋าใบที่เราใส่งานที่เราอยากจะโชว์คนอื่น ส่วนอีกใบคือใบที่เราใส่งานที่ไม่อยากจะโชว์ใคร ตอนวัยรุ่นเราก็อยากจะตื่นขึ้นมาเพื่อไปทำงานเติมใส่ในกระเป๋าใบแรก โดยที่เราพยายามจะซีลกระเป๋าใบที่สอง ซึ่งเราก็หนีมันไม่ได้หรอก เราก็ต้องเติมกระเป่าใบที่สอง พอตอนนี้ผมเริ่มทำออฟฟิศเอง ได้เริ่มรันทีมเป็นหัวหน้าตั้งแต่สมัยอยู่ที่จีนแล้ว ผมก็สนุกกับการหาความสามารถของน้องๆในทีม คือตื่นมาแล้วรู้สึกว่า การที่เรา Push หรือเราทำงานกับน้องๆในทีมเนี่ย อย่างแรก มันเติมความสนุกให้เรา และสอง ถ้าเราเจอความสามารถของน้องสักคนแล้วเราทำให้เขาฉายได้เนี่ย ผมว่ามันสนุกมากและผลของงานมันก็ดีขึ้นเอง และผมว่าผมเป็นหัวหน้าที่ Treat ลูกน้องไม่เท่ากัน เพราะถ้าเรา Treat เท่ากัน ผมว่าเราเป็นหัวหน้าที่ไม่แฟร์ เพราะลูกน้องทุกคนเค้าไม่สามารถที่จะต้องถูก Treat เท่ากัน เมื่อไหร่ที่เราใช้วิธีที่ผิด ก็จะเกิดการไม่เข้าใจกันแล้วเขาก็จะย้ายออกไป มันเป็นสัจธรรม”

เราเชื่อว่านักศึกษาหลายๆคน ในอนาคตก็อยากจะก้าวเข้ามาในวงการครีเอทีฟ มีคำแนะนำ สำหรับ Upcoming Next Gen มั้ย?

ปิ๊ก Storyteller Bkk : “ผมคิดว่า ทั้งวงการก็กำลังมองหา เอ่อ ขอใช้คำว่า “Sparker” แล้วกันนะ อย่าใช้คำว่า New Blood เลย New Blood คือเอามาเติมเต็มและพยายามจะทำให้เหมือนเลือดเก่า ผมมองว่าช่วงชีวิตในการทำงานของเรา เราจะได้เจอ Sparker ที่มันเป็นจุดเปลี่ยนแล้วเขาสามารถเปลี่ยนได้ ผมคิดว่าพี่ป๋อมก็เป็นคนนึงที่เป็น Sparker ที่วันหนึ่งลุกขึ้นมาทำ Agency ที่ให้ Value กับคุณค่าชีวิตของคนใน Society หรือทุกคนที่ได้รับการสื่อสารจากงานของเขา ผมเลยคิดว่า หน้าที่ของน้องๆคือ เป็นตัวเองที่ดีที่สุด เพราะว่าคนที่อยู่ตรงนี้ไม่ได้เข้าใจน้องๆ 100% และหน้าที่ของเราคือ อย่าทำให้เขาเป็นเหมือนเรา”

เล็ก Ogilvy & Mather : “จริงๆแล้วได้โอกาสมีลูกน้องที่เป็นคนรุ่นใหม่ อย่างหนึ่งที่ต้องยอมรับเลยว่าคนรุ่นนี้เก่ง เขาเป็นหลายอย่างมากเลย เขาเป็นทั้ง Illustrator เขาเป็นนักดนตรี เขาเป็นครีเอทีฟ เป็น Art Director ก็เลยรู้สึกว่านี่เป็นสิ่งที่เป็นความเก่งของเขา เป็นสิ่งที่ควรเก็บไว้ แต่สิ่งที่จะช่วยเติมเต็มความเก่งให้น้องๆได้คือข้อดีของคนรุ่นเก่า คือเขาจะเป็นคนที่ไม่เปลี่ยนใจง่าย อึดมาก อดทนมาก คือถ้าน้องๆนำจุดนี้ไปใช้ได้ก็จะเจ๋งมาก คือเราคาดหวังความโบราณจากคนรุ่นใหม่และก็คาดหวังความทันสมัยจากคนรุ่นเก่า”

เบิร์ท BBDO : “ขอเสริมหน่อยนะครับ ประเด็นคือคนรุ่นใหม่เขาเกิดมาในยุค Digital เขาเก่งแล้ว เขาเกิดมาเขาใช้เป็นเลย ถ้าเปรียบเทียบเป็น Agency แต่ก่อนใน Traditional Agency มัน Separate วิธีของคนที่คิดกับคนที่ทำแยกออกจากกันชัดเจนมาก แต่ในยุคที่เรากำลังเดินไปข้างหน้าเนี่ย มันมีแนวโน้มที่สองคนนี้กำลังจะเป็นคนเดียวกันมากขึ้น ถึงแม้เวลาคุณมีไอเดีย พอคุณทำจริงๆ คุณอาจจะไม่ใช่คนที่ทำมันจนเสร็จสมบูรณ์ แต่ว่าคุณต้องมี Input ในการทำ มีมุมมองเข้าไปในเพื่อให้สิ่งที่คิดทำได้ ไม่งั้นไอเดียมันจะกลายเป็นแค่บรีฟ ไม่สามารถผลิตออกมาได้จริง คิดได้ ต้องทำได้”

ป๋อม ชูใจ : “มีคำนึงที่ผมอยากขายน้องๆ หรือขายคนทั้งวงการเลยก็ได้ สำหรับผมมันเป็นคำที่เกิดขึ้นมาหลายพันปีแล้วแต่มันก็ยังทันสมัยอยู่ และมันจะทันสมัยต่อไปเรื่อยๆ  คือคำว่า “อิทธิบาท 4” มันคือที่จะนำทุกคนไปสู่ความสำเร็จจริงๆ นั่นก็คือ “ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา” เด็กรุ่นใหม่จะมีคำแรกเยอะ ฉันทะ คือ Passion คือความเสี้ยน คือความอยาก อยากเป็นครีเอทีฟ อยากทำงานดีๆ แต่สามข้อหลังยังมีน้อย “วิริยะ” คือความพากเพียร ความต่อเนื่อง อุตสาหะ สมัยนี้ทุกอย่างมันเร็วมาก แค่เรารออินเตอร์เน็ตโหลดช้าหน่อยเราก็ไม่รอกันแล้ว ซึ่งมันอาจทำให้เราขาดคุณธรรมข้อนี้ไป อีกข้อคือคำว่า “จิตตะ” คือคำว่า “ใจจดจ่อ” คือหลังจากเราเสี้ยนงานแล้วเราก็จะเจอกับอุปสรรคแน่นอน เราอาจเจอลูกค้าขโมยไอเดีย หรือลูกค้าบอกว่าไม่มีตังค์ ซึ่งมันก็จะทำให้เราท้อแท้ แต่ถ้าเรามีข้อนี้ เราก็จะไม่ละความพยายาม เราจะเพียรมากขึ้น ส่วนข้อสุดท้ายจะเป็นข้อที่สรุปรวมทั้งหมด “วิมังสา” คือการคิดใคร่ครวญกลับไปมอง 3 ข้อแรกใหม่ คือมันเป็นการตรวจสอบการมีสติอยู่เรื่อยๆ ผมไม่ได้มาเทศน์นะ (หัวเราะ) บังเอิญเดือนที่เราผมได้ไปอบรมกับลูกที่โรงเรียน ลูกเรียนโรงเรียนเชิงวิถีพุทธ แล้วมีพระอาจารย์มาสอน ซึ่งผมรู้สึกว่ามันไม่ใช่สิ่งที่เชยเลย มันคือสิ่งที่ทันสมัย มันคือสิ่งที่เราสามารถนำมาปรับใช้กับการทำงานของเราได้ นี่คือสิ่งที่ผมอยากจะฝากน้องๆเอาไว้นะครับ”

คุณเบิร์ท อนุวรรต นิติภานนท์, Executive Creative Director จาก “BBDO Bangkok”

15232166_1333068036713021_2899065763675020071_n

เรามีคำถามจากทางบ้านที่ถามผ่านเฟซบุคมานะครับ “บางครั้งเราผลิตงานครีเอทีฟออกมาแล้วมีคนนำไอเดียเดียวกับเราเนี่ยไปทำแล้วปังกว่า เราจะรับมือกับมันยังไง?”

เล็ก Ogilvy & Mather : “ปังกว่าด้วยหรอ? ยากเลย คือโดยส่วนตัวกำลังคิดว่า ถ้าเขาเอาไปแล้วทำไม่ดี เราจะโทรไปบอกเขาว่า “ทำให้ดีกว่านี้ทำยังไง” แต่ถ้าเขาทำออกมาได้ดีจริงๆ เราก็ต้องฉุกคิดว่า ที่เราคิดน่ะ ณ ตอนนั้น ไอเดียเดียวกันเนี่ย ถูกทำออกมาแล้วมันดีเนี่ย มันดีกว่าเพราะมันเป็นแบบนี้นี่เอง นั่นคือเราจะได้เห็นตัวอย่างที่ดี ได้เก็บมาเป็นข้อคิดที่ดี”

เบิร์ท BBDO : “คือถ้าตอบแบบดูดีหน่อยก็คือดีใจนะ มีคนเอางานเราไปก็อปเนี่ย แต่ไอ้ปังกว่าเนี่ยผมไม่เชื่อ (หัวเราะ) ไม่มีทางเลยที่เค้าจะปังกว่าคนที่คิดได้ แต่ถ้าตอบในแบบคนธรรมดาเลยก็คือ ผมมีความเห็นใจเขานะที่เขาเอาไอเดียเราไปก็อป เขาอาจคิดเองไม่ได้ ถ้าเขาเอางานเราไปศึกษา ก็อยากให้เรียนรู้ว่าวิธีคิดคืออะไร แล้วครั้งหน้าเขาจะทำงานด้วยตัวเองได้ ก็ให้งานเราเป็นครูก็แล้วกัน”

ปิ๊ก Storyteller BKK : “ไอเดียอยู่ในอากาศ ใครจะเอาไปใช้ก็ได้ ทุกคนคิดได้ แต่ว่าจะทำให้ปังกว่าหรือไม่ปังกว่าเนี่ย หนึ่งผมว่าเขาก็ต้องมีเซนส์ ผมเชื่อว่าครีเอทีฟเขาก็มีความภูมิใจนะ เวลาคิดงานแล้วถ้ารู้ตัวว่าเคยเห็นมาก่อน เขาก็ต้องทิ้งน่ะนะ ถ้าเป็นครีเอทีฟในสายเลือดโดยแท้จริง แต่ถ้าเอามาทำให้ปังกว่าก็ต้องถามตัวเองแล้วล่ะว่า “ยังจะดันทุรังทำเพื่ออะไร?”

ป๋อม ชูใจ : “ถ้าเป็นผม ผมก็จะมองย้อนมาที่ตัวเอง แสดงว่าไอเดียที่เราคิดอันนั้นมันยังไม่ดีพอ แสดงว่ามันยังไม่ดีที่สุดไง ผมเชื่อว่าหลายๆคนในที่นี้น่าจะเคยคิดกันบ้างแหละว่างานของเราดีที่สุดแล้ว ไม่รู้จะปรับมันยังไงแล้ว แต่ถ้ามีคนเอาของเราไปทำให้ดีกว่าได้ แสดงว่าเรายังทำได้ไม่ดีที่สุดไง เรายังทำได้แค่เจ็ด มันยังไม่ถึงสิบซะที ก็ถือว่ายินดีกับเขาไป เรายังต้องพัฒนาตัวเอง”

ถือว่าเป็นบทความที่มีความหลากหลายของรสชาติเลยจริงๆนะครับ ทั้งเฮฮา ดุดัน ขำขัน ทั้งยังมีมุมมองที่ให้แง่คิดจากธรรมะอีก เป็นบทสนทนาทรงคุณค่าที่ครบรสจริงๆ กับการเปิดอกคุยของ 4 ครีเอทีฟผู้เปรียบดั่งความหวังแห่งวงการโฆษณาในยุคปัจจุบัน น่าจะเป็นแรงบันดาลใจ หรือให้ข้อคิดดีๆหลายๆอย่างแก่ คนรุ่นใหม่ที่สนใจจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวงการโฆษณาในอนาคตได้ดีทีเดียวเชียวแหละครับ หวังว่าคนที่อ่านบทสัมภาษณ์นี้ จะได้ะไรกลับไปบ้าง ไม่มากก็น้อยนะครับผม

Copyright © MarketingOops.com


  • 380
  •  
  •  
  •  
  •  
คุณคมสัน
ชาวร็อคหัวรุนแรง นิยมฟังเพลงจากแผ่นเสียง เคยร่ำเรียนการคิดโฆษณา ปัจจุบันมาเขียนเรื่องเกี่ยวกับโฆษณาแทนแล้วนะ